Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

NASA อัพเดตข่าว Tiangong-1 ระบุว่าสถานีอวกาศร้างของจีนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผู้พบเห็นขณะมันตกผ่านชั้นบรรยากาศ มีเพียงข้อมูลบางส่วนจากระบบเซ็นเซอร์เฝ้าระวังขยะอวกาศ ทั้งนี้การคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าหากมีเศษวัตถุหลงเหลือจากการเผาไหม้ในระหว่างที่ Tiangong-1 เสียดสีกับชั้นบรรยากาศจริง เศษวัตถุเหล่านั้นจะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก

ก่อนหน้านี้การคำนวณเวลาและตำแหน่งที่ Tiangong-1 จะตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศนั้นทำนายได้ยาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมทั้งจากชั้นบรรยากาศชั้นบนสุดเอง รวมทั้งผลกระทบจากอนุภาครังสีจากดวงอาทิตย์ ทำให้คำนวณและประเมินแรงต้านอากาศในระหว่างการตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ยาก แม้ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ Tiangong-1 จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจริง หน่วยงานด้านอวกาศทุกสำนักก็ยังไม่อาจระบุได้ชัดว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเหนือพื้นที่ไหนของโลก

No Description

กระทั่งช่วงไม่กี่นาทีก่อนการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของ Tiangong-1 ก็ยังมีรายงานออกจาก 2 หน่วยงานที่คลาดเคลื่อนกันเรื่องตำแหน่งที่ Tiangong จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ (และบริเวณที่เศษชิ้นส่วนอาจตกลงถึงพื้นโลก) โดยทาง JFSCC (Joint Force Space Component Command) ของสหรัฐฯ ใช้ระบบเซ็นเซอร์สำรวจอวกาศและโปรแกรมคำนวณแนวโคจรช่วง 2-3 รอบสุดท้ายของ Tiangong-1 ได้ว่าการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศน่าจะเกิดบริเวณเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ในขณะที่ CSME (China Manned Space Engineering Office) ของจีนในตอนแรกระบุว่าเป็นบริเวณใกล้ Sao Paulo ประเทศบราซิล ก่อนจะปรับข้อมูลใหม่โดยระบุว่าเป็นตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

แต่ในเวลาต่อมา JFSCC ได้เปลี่ยนรายงานและยืนยันตรงกันกับ CSME ว่า Tiangong-1 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจริง โดยข้อมูลจาก CSME บอกว่า Tiangong-1 เข้าสู่บรรยากาศในเวลา 00.15 GMT ส่วน JFSCC ระบุเวลา 5.16 pm PST ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 7.15 น. เช้าวันที่ 2 เมษายนนี้ ตามเวลาประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องตำแหน่งการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของ Tiangong-1 ซึ่งแม้ JFSCC และ CSME ระบุตรงกันว่าเป็นบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ Jonathan McDowell นักดาราศาสตร์จาก Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics อ้างว่าตำแหน่งที่แท้จริงที่ Tiangong-1 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศนั้นแม้จะอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เกิด ณ บริเวณใกล้เคียงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตาฮิติ ไม่ใช่พื้นที่สุสานยานอวกาศแถวตอนใต้ของมหาสมุทร

ทั้งนี้การรายงานข้อมูลเรื่องการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของ Tiangong-1 อาศัยข้อมูลจากการติดตามตำแหน่งของสถานีอวกาศร้างในช่วงการโคจรไม่กี่รอบสุดท้ายกันเป็นหลัก ยังไม่มีรายงานผู้พบเห็นเหตุการณ์ หรือหลักฐานภาพถ่ายหรือชิ้นส่วนใดที่จะยืนยันเรื่องตำแหน่งการตกสู่โลกได้ นั่นจึงหมายถึงไม่อาจยืนยันได้ว่ามีเศษวัตถุหลงเหลือตกลงถึงผิวน้ำกลางมหาสมุทรจริงหรือไม่

เหตุการณ์สถานีอวกาศ Tiangong-1 ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศกลับสู่พื้นโลกนี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต หรือส่งผลใดๆ ต่อการเมือง, วัฒนธรรม หรือการประกอบธุรกิจขององค์กรหรือหน่วยงานใดโดยตรง แต่ข่าวนี้น่าจะสร้างความรู้ตระหนักเรื่องขยะอวกาศให้กระจายออกเป็นวงกว้างได้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้มีขยะอวกาศลอยคว้างอยู่นอกชั้นบรรยากาศโลกมากมายหลายหมื่นชิ้น

No Description

แม้ว่าขยะอวกาศพวกนั้นจะไม่ได้น่ากลัวในประเด็นที่ว่าจะตกสู่โลกแล้วมีวัตถุตกถึงพื้นจนก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคน หากแต่มันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์หรือสถานีอวกาศที่โคจรอยู่นอกโลกได้ด้วย (ใครที่เคยดูภาพยนตร์ Gravity ก็คงจำฉากที่ขยะอวกาศพุ่งเข้าชนยานของเหล่าตัวเอกจนเสียหายย่อยยับได้) ถ้าวันหนึ่งขยะอวกาศที่ลอยคว้างเหล่านั้นโดยไม่อาจควบคุมทิศทางและอัตราเร็วได้พุ่งเข้าชนดาวเทียม หรือสถานีอวกาศที่ใช้งานอยู่ ความสูญเสียย่อมส่งผลกระทบต่อคนบนพื้นโลกอย่างแน่นอน

ที่มา - NASA Space Flight, BBC

Get latest news from Blognone

Comments

By: Higps
iPhoneWindows
on 2 April 2018 - 16:27 #1041876

แค่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ยังไม่ตกถึงพื้นโลกนะครับ
ขณะที่ตอบกระทู้ ยังอยู่ที่ความสูง 148 กม จากพื้นโลก (ข้อมูลจาก orbit tracker ของ satview.org)

By: Holy
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 2 April 2018 - 17:52 #1041891 Reply to:1041876
Holy's picture

ตกไปตั้งแต่เช้าแล้วครับ ใน satview เองขึ้นข้อความว่า

USSTRATCOM OFFICIAL MESSAGE

The TIANGONG 1 satellite reentered the atmosphere Apr/02/2018 at 00:16 UTC with an approximate error of +/- 1 minute(s)

Eventually, even if the satellite has already reentered it still may be being plotted on the map, which shows its hypothetical location if it is still in Earth orbit. (tip)

แปลง่ายๆ คือตกไปตั้งแต่ 00:16 UTC แล้ว แต่ยัง plot เส้นทางตามทฤษฎีไว้อยู่

By: tfctaf
Windows PhoneUbuntuWindows
on 2 April 2018 - 18:59 #1041906 Reply to:1041891

ผมว่า คำว่าตก กับเข้าสู่ขั้นบรรยากาศโลก คนละความหมายนะครับ ประมาณว่ามันอาจจะเผาไหม้หมด ก่อนตกโดนพื้นโลกตกลงหรือมหาสมุทร

By: Pinery
ContributoriPhoneAndroidIn Love
on 3 April 2018 - 10:37 #1042046 Reply to:1041906

จะตกหรือเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ก็คือจุดจบของ Tiangong-1 เหมือนกันครับไม่ว่าจะถึงพื้นดินหรือไม่

ข่าวในวงการอวกาศของ Tiangong-1 ก็คือการหาจุดจบของมันนี่แหละครับนั่นคือการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ (ถ้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว การเผาไหม้ก็ใช้เวลาไม่กี่นาทีและความสูงจะร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว ประดุจว่าตกได้เหมือนกัน แต่ถึงพื้นหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้)

By: topty
Contributor
on 3 April 2018 - 21:49 #1042205

ซึง่แม้ -> ซึ่งแม้