Tags:
Forums: 

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านกฎหมายและนโยบายบรอดแบนด์ในเอเชียแปซิฟิค

ในงาน ITU Telecom World 2016 หัวเว่ยและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดปาฐกถาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ กฎหมายและนโยบายบรอดแบนด์ในเอเชียแปซิฟิค ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมเผย รายงานสมุดปกขาวเรื่อง กฎหมายและนโยบายด้านบรอดแบนด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ผลักดันการพัฒนาติดตั้งบรอดแบนด์ให้รวดเร็วขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมได้เรียกร้องให้มีนโยบายบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาและเร่งให้เกิดการติดตั้งเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

alt="Mr. Houlin Zhao"

มร. จ้าว โฮ่วหลิน เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานปาฐกถา โดยเริ่มจากการแสดงความซาบซึ้งใจต่อหัวเว่ยที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดปาฐกถาของสหภาพโทรคมนาคมฯ ในวันนี้ รวมถึงการที่หัวเว่ยเข้าร่วมเป็นสมาชิกระยะยาวของสหภาพโทรคมนาคมฯ ด้วย เขาชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีไอซีทีและโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในขณะที่บรอดแบนด์ได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของผู้คน เราจึงไม่อาจนึกถึงช่วงเวลาที่ไม่มีบรอดแบนด์เน็ตเวิร์คหรือแอพลิชั่นต่าง ๆ ได้เลย ดังนั้น รัฐบาลควรกำหนดให้บรอดแบนด์เป็นนโยบายสำคัญและมุ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

alt="Mr. Jin Yuzhi"

ความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีความแตกต่างกันอย่างมาก ตลอดจนการเชื่อมโยงสื่อสารในภูมิภาคก็หลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ตามข้อมูลของมร. จิน อี่จือ รองประธานบริหารของหัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์ จัดอยู่ในกลุ่มผู้นำระดับโลก โดยมีอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ถึงร้อยละ 95 ในขณะที่พม่า บังคลาเทศ กัมพูชา กลับมีประชากรน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่สามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ได้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านในงานกล่าวด้วยว่า ประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากรัฐบาลมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้โครงสร้างพื้นฐานเติบโตและเพิ่มการเชื่อมโยงสื่อสารภายนอกด้วย

มร. จิน กล่าวอีกว่า “บรอดแบนด์ควรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แห่งชาติ รัฐบาลควรจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านโทรคมนาคมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ เคเบิลใต้ทะเลหรือบนบก รวมถึงดาต้าเซ็นเตอร์และการพัฒนาเครือข่ายอื่น ๆ”

ในระหว่างงานปาฐกถา หัวเว่ยและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศยังได้เปิดตัว รายงานสมุดปกขาวเรื่อง กฎหมายและนโยบายด้านบรอดแบนด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ผลักดันการพัฒนาติดตั้งบรอดแบนด์ให้รวดเร็วขึ้น โดยรายงานสมุดปกขาวฉบับนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ เป็นผู้นำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างกลุ่มพันธมิตรที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน และพัฒนานโยบายด้านโทรคมนาคมที่เป็นมิตรกับบรอดแบนด์ นอกจากนี้ รัฐบาลควรปรับปรุงการผนวกรวมโครงสร้างพื้นฐานและหาแนวทางที่จะทำให้กระบวนการในการรับสิทธิ์ไม่ซับซ้อน ควรกำหนดให้อาคารสร้างใหม่และโครงการปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ต้องมีการเชื่อมต่อไฟเบอร์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนในการชดเชยสำหรับการเรียกคืน และริเริ่มการตั้งกองทุนบริการสากล รัฐบาลยังควรวางกรอบการทำงานด้านไอซีทีที่ครอบคลุมรอบด้าน ขยายการเชื่อมต่อไฟเบอร์กับนานาประเทศ ลดทอนข้อจำกัดต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม นักลงทุน และผู้วางโครงข่ายสาธารณูปโภค อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้มากขึ้น และใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศในภูมิภาคยังเห็นด้วยกับความจำเป็นในการเร่งติดตั้งบรอดแบนด์แห่งชาติเพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นได้ โดยผู้นำในหน่วยงานกำกับดูแลของโปรตุเกส ไทย กัมพูชา อินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้พูดคุยถึงการพัฒนาบรอดแบนด์ในประเทศของตน และกล่าวถึงความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้น รวมถึงทางออกของปัญหาต่าง ๆ ทุกฝ่ายได้พูดว่า พวกเขาหวังที่จะให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากยิ่งขึ้น และพวกเขากำลังทำงานเพื่อกำหนดนโยบายด้านโทรคมนาคมแห่งชาติที่สมบูรณ์มากขึ้น และปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนด้านไอซีที เพื่อกระตุ้นการพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติในประเทศของตน

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ได้กล่าวว่า หัวเว่ยเป็นหนึ่งในผู้จัดหาโซลูชั่นด้านไอซีทีระดับโลก มีความเชี่ยวชาญในฐานะเป็นที่ปรึกษาด้านไอซีทีของอุตสาหกรรม อีกทั้งคร่ำหวอดด้วยประสบการณ์ยาวนานในการส่งมอบโซลูชั่นบรอดแบนด์แห่งชาติที่ประสบความสำเร็จ และมีการดำเนินธุรกิจทั่วโลกรวมถึงระบบการฝึกอบรมมืออาชีพด้านโทรคมนาคม หัวเว่ยมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิค เพื่อพัฒนาศักยภาพบรอดแบนด์ของแต่ละประเทศ และสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่สามารถเชื่อมโยงสื่อสารกันได้ดียิ่งขึ้น

ในงานปาฐกถาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีราว 200 คนจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ งาน ITU Telecom World จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 และเป็นงานเอ็กซ์โปที่ใหญ่และสำคัญที่สุดงานหนึ่งของโลก โดยปีนี้จัดขึ้นในธีม “ก้าวไกลฉับไว เร่งพัฒนานวัตกรรมไอซีทีเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” (Better Sooner, Accelerating ICT innovation to Improve Lives Faster)

                                  -จบ-
Get latest news from Blognone