Tags:
Node Thumbnail

วันนี้เป็นวันปรับปรุงความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต หรือ Safer Internet Day ที่จัดโดยสหภาพยุโรป เรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมช่วยกันทำให้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยขึ้นในทุกมิติ ตั้งแต่การระมัดระวังการกลั่นแกล้งออนไลน์ (cyberbullying) ไปจนถึงความมั่นคงปลอดภัย ในโลกไอทีเองบริษัทต่างๆ ก็ออกมาร่วมกันเปิดตัวโครงการใหม่ๆ และแนะนำเทคนิคในการป้องกันตัวเอง

ทวิตเตอร์เปิดตัว Twitter Trust & Safety Council กรรมการที่ปรึกษาที่จะช่วยให้ทวิตเตอร์วางนโยบายและพัฒนาบริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัย กรรมการนี้ตั้งมาจากนักวิจัย, นักวิชาการ , องค์กร, หรือกลุ่ม ที่ทำงานด้านสื่อ, สิทธิชนกลุ่มน้อย, การกลั่นแกล้งออนไลน์, ไปจนถึงกลุ่มช่วยเหลือสุขภาพจิต รวมทั้งหมด 40 องค์กร

ทางด้าน Dropbox ออกมาแนะนำความปลอดภัยออนไลน์สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ได้แก่ ใช้รหัสผ่านให้ต่างกันในทุกๆ ที่, เปิดใช้กระบวนการยืนยันตัวสองขั้นตอน, ตรวจสอบความปลอดภัยเสมอ โดยเฉพาะเมื่อทำอุปกรณ์หาย, อัพเดตซอฟต์แวร์ต่อเนื่อง, ระวังถูกเว็บปลอมหลอก, ระวังการใช้อินเทอร์เน็ตในที่สาธารณะ เช่นร้านกาแฟ เปิดใช้ VPN เมื่อทำได้ ติดตั้งฟิล์มกันการแอบมอง และล็อกรหัสผ่านโทรศัพท์

Google Adwords เปิดตัวระบบป้องกันบอตเน็ตรุ่นใหม่เพื่อต่อสู้กับบอตที่พยายามคลิกโฆษณาหลอกๆ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ โดยเครื่องเหล่านี้มีมากกว่าห้าแสนเครื่องเป็นกลุ่มใหญ่ๆ สามกลุ่ม ตอนนี้ระบบของ Adwords สามารถกรองคลิกเหล่านี้ออกจากระบบได้เป็นจำนวนมากแล้ว โดยฟิลเตอร์นี้มีผลทั้ง DoubleClick Bid Manager และ Google Display Network

กูเกิลร่วมกับ Medium จัดเสวนาโต๊ะกลมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยจากหลายบริษัท ได้แก่

  • Patrick Heim จาก Dropbox ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องศึกษาข้อจำกัดของมนุษย์ และสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยคนทั่วไปสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย
  • Sam Quigley จาก Square ออกมาเตือนว่าข้อมูลส่วนตัวถูกซื้อขายในโลกใต้ดินกันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน และมีการใช้งานเพื่อกรรโชกทรัพย์จากเจ้าของข้อมูล การปกป้องข้อมูลส่วนตัวจึงต้องปกป้องทั้งหมด
  • Joel de la Garza จาก Box เตือนถึงข้อมูลจำนวนมากที่เรากำลังสร้างขึ้นจากอุปกรณ์รอบตัว และทำให้เราเสียความเป็นส่วนตัวไป ตั้งแต่ข้อมูลการเงิน, สุขภาพ, และการเข้าสังคม อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่เราไม่ตั้งใจ และในอนาคตต้องมีกระบวนการควบคุมข้อมูลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Gerhard Eschelbeck จากกูเกิล ระบุว่าโจทย์ใหญ่คือการยืนยันตัวตนที่ต้องง่ายกว่าทุกวันนี้ ที่แม้จะกระบวนการยืนยันตัวตนสองขั้นตอนและการใช้กุญแจยืนยันตัวตนแล้ว แต่ในอนาคตเราอาจจะยืนยันตัวตนได้โดยไม่ต้องพกอะไรเพิ่มเติม
  • Alex Stamos จากเฟซบุ๊ก ระบุว่าปัญหาใหญ่ของความปลอดภัยคือแนวทางการปิดบังข้อมูลระหว่างกัน ทำให้แต่ละคนไม่รู้ว่ามีใครเจอภัยประเภทใดบ้าง ขณะที่ผู้โจมตีโจมตีเหยื่อด้วยเครื่องมือเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ และหากในอนาคตมีความร่วมมือกันมากขึ้นก็จะสามารถปกป้องผู้ใช้ได้ดีขึ้น
  • Michael Coates จากทวิตเตอร์ ระบุว่าอุตสาหกรรมควรมีการวางสิทธิ์ของผู้ใช้ในด้านความปลอดภัยร่วมกัน โดยความปลอดภัยพื้นฐาน ได้แก่ การดูแลบริการอย่างต่อเนื่องไม่ให้มีช่องโหว่, การเข้ารหัสเมื่อมีการส่งข้อมูลสำคัญ, และการอุดช่องโหว่ที่พบใหม่ในเวลาอันสั้น เขายังแสดงความกังวลว่าในอนาคตภาครัฐบางส่วนจะพยายามทำให้เทคโนโลยีปกป้องความเป็นส่วนตัวกลายเป็นของผิดกฎหมาย เขาเรียกร้องให้จัดการกับการใช้เทคโนโลยีไปใช้ในอาชญากรรมเป็นกรณีๆ ไป โดยไม่กระทบต่อภาพรวมของการปกป้องผู้ใช้

alt="upic.me"

Get latest news from Blognone