Tags:
Forums: 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า ในปี 2557 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ไทย มีมูลค่ากว่า 2.03 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น มูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับธุรกิจ (B2B) 1.23 ล้านล้านบาท, มูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับผู้บริโภค (B2C) 0.41 ล้านล้านบาท และมูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับภาครัฐ (B2G) 0.39 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ปี 2558 เติบโตต่อเนื่อง 3.65% มูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท

ETDA ดำเนินการสำรวจครั้งนี้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติมูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยให้มีความครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจสามารถนำผลการสำรวจไปใช้ประกอบการวางนโยบายและแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถปรับตัวสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ Digital Economy ของรัฐบาล

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า “การสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซมีความสำคัญ เพราะองค์กรภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนธุรกิจและแผนการตลาด เพื่อที่จะปรับตัวได้ทันในการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ภาครัฐก็สามารถที่จะกำหนดนโยบายส่งเสริมได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ผู้นำธุรกิจต่อการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทาง ETDA ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้มาตลอด จึงทำการสำรวจข้อมูลดังกล่าวอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าข้อมูลสนับสนุนที่ดีจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อีคอมเมิร์ซของประเทศเติบโตขึ้นทัดเทียมประเทศอื่น ๆ ได้”

ETDA ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนรวมทั้งสิ้น 502,676 ราย โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม 2558 เพื่อสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2557 พร้อมทั้งศึกษาและคาดการณ์มูลค่าในปี 2558 ผลที่ได้พบว่า ปี 2557 ประเทศไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งสิ้น 2,033,493.4 ล้านบาท เป็นมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B จำนวน 1,234,226.18 ล้านบาท (60.69 %) ผู้ประกอบการ B2C จำนวน 411,715.41 ล้านบาท (20.25 %) และผู้ประกอบการ B2G จำนวน 387,551.76 ล้านบาท (19.06 %) โดยในส่วนของมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2G จะมาจากมูลค่าที่ได้จากการสำรวจซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการขายออนไลน์กับภาครัฐโดยตรง ไม่ผ่านวิธีการประมูลงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของภาครัฐ (e-Auction) จำนวน 7,496.30 ล้านบาท (0.37 %) อีกส่วนหนึ่งจะมาจากมูลค่าที่ได้จากการจัดซื้อจัดจ้างโดย e-Auction ที่ได้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง จำนวน 380,055.46 ล้านบาท (18.69 %)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า E-Commerce ในปี 2557 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 630,159.13 ล้านบาท (38.1%)
- หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 440,614.78 ล้านบาท (26.6%)
- หมวดอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 264,863.87 ล้านบาท (16.02%)

ส่วนแนวโน้มมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า เติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 2,107,692.88 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B จำนวน 1,230,160.23 ล้านบาท (58.32 %) มูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2C จำนวน 474,648.91 ล้านบาท (22.57 %) และมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2G จำนวน 402,883.74 ล้านบาท (19.11 %)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการคาดการณ์มูลค่าในปี 2558 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร 658,909.76 ล้านบาท (38.4 %)
- หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 350,286.83 ล้านบาท (20.4 %)
- หมวดอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง 325,077.48 ล้านบาท (19.0 %)

ทั้งนี้ จากการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น พบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย (รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ) มีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น โดยในปี 2558 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 3.65 % โดยมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2C ในปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจาก ปี2557 คิดเป็น 15.29 % และมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2G ในปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจาก ปี2557 คิดเป็น 3.96% แต่มีเพียงมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B ในปี 2558 ที่หดตัวลงจาก ปี2557 เพียงเล็กน้อย คิดเป็น 0.34 % ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยมีผู้สนใจลงทุน ค้าขาย รวมถึงใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในส่วนของการศึกษาเพื่อวิเคราะห์มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยครั้งนี้ มีขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1) การสำรวจด้วยแบบสอบถามออนไลน์ (Online Survey) จากกลุ่มผู้ประกอบการที่มีมูลค่าการขายออนไลน์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อปี และ 2) การสัมภาษณ์เชิงลึก (Face to Face Interview) กับกลุ่มผู้ประกอบการมีมูลค่าการขายออนไลน์มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี โดยได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงอนุมาน จัดแบ่งหรือแสดงผลออกมาเป็น 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. การผลิต 2. การค้าปลีกและการค้าส่ง 3. การขนส่ง 4. การให้บริการที่พัก 5. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 6. การประกันภัย 7.ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 8. กิจการบริการด้านอื่น ๆ

ทั้งนี้ การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการเพิ่มขึ้นในด้านการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ จะส่งผลให้ในอนาคตธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงมีแนวโน้มเติบโตไปได้อย่างมากขึ้นและยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศที่จะขยายช่องทางการค้าไปสู่รูปแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้มีช่องทางเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไม่ซบเซาอีกต่อไป

Get latest news from Blognone