Tags:
Forums: 

การประชุม “Thailand Diabetes Leadership Forum” ได้รับความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก มูลนิธิเบาหวานโลก และบริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ในการประชุมระดับผู้นำเพื่อหาแนวทางในการจัดการโรคเบาหวานที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก มูลนิธิเบาหวานโลก และบริษัทโนโว นอร์ดิสค์จัดประชุมความร่วมมือ “Diabetes Leadership Forum” จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลก 382 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน ในจำนวนนี้มี 3.2 ล้านคนของประชากรไทยที่เป็นโรคเบาหวาน จากอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานที่เป็นภัยเงียบมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีหน่วยงานหลายภาคส่วนเพิ่มความตื่นตัวในการป้องกันและควบคุมเบาหวานมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานที่จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ ฯพณฯ มิเคล เหมนิธิ วินเธอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ดร. อาเนอร์ส ไดกอร์ด ประธานมูลนิธิเบาหวานโลก และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ หน่วยต่อมไร้ท่อและ เมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี แถลงเปิดการประชุมความร่วมมือ “Diabetes Leadership Forum” เพื่อสร้างความตระหนักต่อสถานการณ์ของโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นโรคเรื้อรังที่มีความร้ายแรงติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง ผู้ป่วยต้องการการรักษาที่ต่อเนื่องเพื่อจะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น โดยปกติผู้ป่วยเบาหวานจะมีอายุสั้นลง 6-8 ปี ผู้ป่วยจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตนเองเพื่อควบคุมน้ำตาลให้ดีขึ้น ผู้ป่วยจำนวน 6 รายใน 10 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานก่อนอายุ 60 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ดังนั้นการวินิจฉัยเบาหวานอาจมีผลต่อเนื่องกับการจ้างงานและรายได้ของครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของแต่ละครอบครัวเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายของโรคเบาหวานคิดเป็นร้อยละ 12 ของค่าใช้จ่ายรวมด้านสุขภาพของทั่วโลก ในประเทศไทยโรคเบาหวานสร้างภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์มากถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี

หน้า 1/3

ปัจจุบัน ประชากรไทยมากกว่า 1 ล้านคนไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวาน มีประชากรมากถึง 4 ล้านอยู่ในระยะก่อนเป็นโรคเบาหวาน คือ มีระดับน้ำตาลสูงกว่าคนปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะเข้าเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน คนกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคต สมาพันธ์เบาหวานโลก ให้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2578 จะมีประชากรไทยมากถึง 1.1 ล้านคนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจัดการกับการระบาดของโรคเบาหวานและผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย โดยการป้องกันการเพิ่มจำนวนผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานแล้วจะต้องสามารถเข้าถึงการรักษาและได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่แรกและได้รับการรักษาเพื่อป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

ดร. อาเนอร์ส ไดกอร์ด ประธานมูลนิธิเบาหวานโลก กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคนี้ว่า ปัจจุบันมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคเบาหวานทั่วโลกราว 382 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ในทุกประเทศ รวมทั้งเป็นโรคที่มีความร้ายแรงในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนซึ่งมีอันตรายและมีค่าใช้จ่ายสูงอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ตาบอด และการถูกตัดเท้าหรือขาหรืออาจรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้

สมาพันธ์เบาหวานโลกให้ข้อมูลว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพียงครึ่งเดียวที่ได้รับการวินิจฉัย และในจำนวนนี้ มีเพียง 1 ใน 3 ที่สามารถควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ข้อมูลของสมาพันธ์เบาหวานโลก ระบุว่า
ในแต่ละวันจะมีประชากรไทยจำนวน 180 รายเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน หรือเกือบ 8 รายต่อชั่วโมง

โดยก่อนหน้านี้ นางมาร์การเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เคยระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการปัญหาการแพร่กระจายของโรคเบาหวานว่า “ถ้าเราไม่จัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากโรคเหล่านี้ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่แม้แต่ประเทศที่รํ่ารวยที่สุดก็ไม่สามารถแบกรับได้”

ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเบาหวานอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นมูลนิธิเบาหวานโลกจึงให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันและการรักษาโรคเบาหวาน โดยสนับสนุนโครงการเพื่อควบคุมโรคเบาหวานให้ดีขึ้น โดยประเทศไทยมีหลายโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเบาหวานโลก

ด้านศาตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวรรณี กล่าวว่า “ความท้าทายของสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทยคือมีผู้ป่วยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างเพียงพอ และผู้ป่วยจำนวนมากร่วมมือในการรักษาไม่ดีพอ”

ปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 6.4 ของประชากรไทยวัยผู้ใหญ่เป็นโรคเบาหวาน หรือประมาณ 3.2 ล้านคน และจำนวนจะเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านคนในปี 2578 หรือคิดเป็นสัดส่วนประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 12 รายจะเป็นโรคเบาหวาน

หน้า 2/3

ขณะที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ได้เสนอแนะการพัฒนาแนวทางป้องกันปัญหาการแพร่กระจายโรคเบาหวานไว้ 5 แนวทาง ได้แก่

  1. เรื่องการคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรกลุ่มเสี่ยง และมีการคัดกรองประจำปีเพื่อค้นหา
    โรคแทรกซ้อนในประชากรที่เป็นโรคแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการแล้ว
  2. ควรค้นหาและแก้ไขปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ควบคุมโรคได้ไม่ดี ควรให้ ความสำคัญกับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ และหาทางป้องกันเพื่อชะลอหรือลดการเกิด
    โรคแทรกซ้อน
  3. นโยบายควรมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
  4. ควรมีระบบการเฝ้าติดตาม และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาทั้งในระดับพื้นที่
    และระดับประเทศ
  5. การรณรงค์เพื่อสุขภาวะที่ดีเพื่อป้องกันโรคเบาหวานควรผ่านทางการให้ความรู้เป็นขั้นตอน
    และการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่สาธารณะครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านความร่วมมือ
    ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

สำหรับแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรเน้นการรักษาแบบองค์รวมโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากจะทราบความต้องการของผู้ป่วยและให้ผลการรักษาที่ดีกว่า โดยมีงานวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า การควบคุมปัจจัยเสี่ยงแบบเข้มงวดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือด สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดอัตราการเกิดไตวายได้อย่างมีนัยสำคัญ

กรณีศึกษา : การคัดกรองและรักษาภาวะโรคแทรกซ้อนทางตาของผู้ป่วยเบาหวานในชนบทของประเทศไทย

โรคแทรกซ้อนทางตาเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย และการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกจะช่วยชะลอการดำเนินโรคและป้องกันตาบอด แต่การคัดกรองและรักษาโรคแทรกซ้อนทางตาของผู้ป่วยเบาหวานในชนบทยังมีข้อจำกัด ประเทศไทยได้จัดทำโครงการคัดกรองและรักษาโรคแทรกซ้อนทางตา โดยจัดให้มีรถตรวจตาเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถตรวจตาโดยใช้กล้องดิจิตอลและให้การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2552 ได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากมูลนิธิเบาหวานโลก (World Diabetes Foundation) และสถานเอกอัครราชทูตประเทศเดนมาร์ก สนับสนุนการทำงานโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

Get latest news from Blognone