Tags:
Forums: 

ท่ามกลางกระแสถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องผู้ให้บริการโทรศัพท์มีสิทธิเก็บเงินจำนวน 107 บาท เมื่อผู้บริโภคจ่ายเงินล่าช้าหรือไม่ ทีโอทีเผลอเปิดประเด็นใหม่ รับเองว่าทำผิดประกาศ กทช. เต็มๆ เพราะเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณใหม่ หรือ reconnection ทั้งที่ผู้บริโภคจ่ายเงินช้าเพียงเดือนเดียว ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่า การระงับการใช้จะทำได้เมื่อผู้ใช้บริการผิดนัดชำระสองเดือนติดต่อกัน

สืบเนื่องจากปัญหาเรื่อง 107 บาท ที่ผู้ใช้โทรศัพท์ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการ ภายหลังจากที่ผิดนัด หรือค้างชำระค่าบริการ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บเป็นจำนวนเงิน 100 บาท หรือ 200 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ก็จะกลายเป็นเงินที่ถูกเรียกเก็บ 107 บาท หรือ 214 บาท แล้วแต่ข้อกำหนดของผู้ให้บริการ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่า ดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์หรือมาตรฐานใด ทำให้ สบท.จัดเสวนาวิชาการ “หลากหลายมุมมอง : กรณีค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ 107/214 บาท เมื่อผิดนัดชำระค่าบริการ” ขึ้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย ทั้งนักวิชาการด้านกฎหมาย บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนผู้บริโภค

ในวงเสวนาตอนหนึ่งมีผู้บริโภคจากจังหวัดตราดได้หยิบยกประเด็นที่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) มีหนังสือตอบกรณีที่นายจินดา เจริญสุข ได้ร้องเรียนต่อสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จากการที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บเงินค่าต่อบริการโทรศัพท์ ซึ่งค้างชำระค่าบริการเป็นเงิน 107 บาท โดยความในหนังสือของทีโอทีตอนท้ายระบุว่า

“จากกรณีดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการระงับการให้บริการและการเรียกเก็บค่าต่อบริการของโทรศัพท์หมายเลข ....ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ได้กำหนดในประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ดังนั้น บมจ. ทีโอที จึงขอแจ้งยกเลิกการเรียกเก็บค่าต่อบริการและขอแจ้งให้ท่านขอรับเงินคืน เป็นเงิน 107 บาท”

อย่างไรก็ดี นายมังกร ปานสุวรรณ ตัวแทนจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน ) ซึ่งร่วมในการเสวนาด้วยชี้แจงว่า เหตุที่บริษัทยกเลิกการเรียกเก็บค่าต่อบริการ 107 บาทในกรณีดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องค่าต่อบริการ 107 บาท หากเป็นเพราะบริษัทตรวจสอบแล้วพบว่า กรณีที่ร้องเรียนนั้นเป็นการระงับการใช้บริการที่ผิดกับประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการ โทรคมนาคม พ.ศ. 2549

“เนื่องจากตามระเบียบเดิมของทีโอทีแล้ว ถ้าผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการเพียงงวดเดียวก็จะถูกตัดสัญญาณระงับการให้บริการชั่วคราว แต่หลังจากที่ กทช. มีประกาศออกมา บริษัทก็ได้มีประกาศเป็นการภายในองค์กรว่า ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้งวดเดียวให้ดำเนินการคืนค่าบริการ 107 บาทไป” ตัวแทนทีโอทีกล่าว

สำหรับประกาศ กทช. ที่มีการอ้างถึงคือประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 หมวด 4 ว่าด้วยการระงับการใช้บริการและการให้บริการโทรคมนาคม ข้อ 28 (6) ซึ่งมีข้อความระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ผู้ให้บริการมีสิทธิระงับการให้บริการโทรคมนาคมเป็นการชั่วคราวต่อ

ผู้ใช้บริการก็ได้ เมื่อผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน

หลังการแก้ต่างของทีโอทีที่กลับกลายเป็นการสารภาพว่า มีการตัดสัญญาณระงับการให้บริการโดยผิดประกาศของ กทช. ดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้าข่ายจงใจกระทำผิดหรือไม่ เนื่องจากทางทีโอทีก็ทราบดีถึงกฎระเบียบเรื่องนี้ แต่ยังคงตัดสัญญาณระงับการให้บริการเมื่อผู้บริโภคผิดค้างค่าโทรศัพท์เพียงงวดเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ นายจินดา เจริญสุข เจ้าของกรณีร้องเรียนยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า หลังจากที่ตนร้องเรียนทีโอทีครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 จนกระทั่งทีโอทียอมคืนเงิน 107 บาทแล้ว แต่ล่าสุดนี้ยังคงเกิดเหตุการณ์เช่นเดิมซ้ำอีก กล่าวคือ ทางทีโอทีได้ตัดสัญญาณระงับการให้บริการชั่วคราวและเรียกเก็บเงิน 107 บาท หลังจากที่ผิดนัดชำระค่าบริการ 1 เดือน

“ตามใบแจ้งหนี้ที่มาในเดือนมกราคม เบอร์ของผมค้างจ่ายมาแล้ว 1 เดือน รวมงวดนี้ก็เป็น 2 เดือน แต่กำหนดวันชำระได้ถึง 7 กุมภาพันธ์ 2552 ผมให้คนไปจ่ายในวันที่ 22 มกราคม แต่ก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท ตอนแรกก็ยังคิดแค่ว่าเป็นเรื่อง 107 บาทที่ทีโอทีกลับคำ แต่พอมาตอนนี้จึงรู้เพิ่มเติมอีกว่าเป็นการทำผิดระเบียบ กทช. โดยตรงอีกเรื่องหนึ่งเลย”

นายจินดากล่าวต่อไปว่า อยากให้ ทีโอที มีมาตรฐานในการทำงาน และเป็นระบบมากกว่านี้ ไม่ใช่ใช้ความเคยชินที่ทำมาแต่เดิม เพราะปัจจุบันมีประกาศของ กทช. ออกมาแล้วว่า บริษัทมีสิทธิตัดสัญญาณก็ต่อเมื่อผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการ สองงวด แล้วเท่านั้น อีกทั้งบริษัทก็เพิ่งถูกร้องเรียนที่ทำให้ทราบปัญหา แต่กลับไม่แก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีร้องเรียนของนายจินดาเมื่อเดือนสิงหาคมนั้น จากการตรวจสอบกับ สบท. พบว่า เป็นการตัดสัญญาณที่ไม่ได้ผิดตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เพราะเป็นการค้างชำระค่าโทรศัพท์ในสองงวดจริง กรณีดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทชี้แจง แต่เป็นเรื่องของการเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาทที่ยังคงเป็นประเด็นว่าบริษัทบริการโทรศัพท์ต่างๆ สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นที่โต้แย้งกันของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคกำลังจะเคลื่อนไหวเรียกร้องกันต่อไป

Get latest news from Blognone
By: demon69gt on 7 February 2009 - 21:29 #84494

อยากให้ใช้วิธีกับค่าไฟด้วย แมร่งจ่ายช้านิดเดียวตัดเลย แถมต้องไปเสียค่าต่อแพงด้วย ไกลด้วย