Tags:
Node Thumbnail

เวลาพูดถึงสตาร์ตอัพในยุคนี้ เรามักหมายถึงสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Tech Startup กันเป็นส่วนใหญ่ แต่การแข่งขันของโลกธุรกิจในปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีพื้นๆ กับไอเดียดีๆ อาจไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขันในโลกความเป็นจริง เพราะลำพังไอเดียนั้นสามารถเลียนแบบกันได้ และเทคโนโลยีก็สามารถตามทันกันได้ไม่ยาก สตาร์ตอัพหลายรายที่แม้จะมีชื่อว่าเป็นเทคสตาร์ตอัพ แต่การแข่งขันจริงๆ มักไปอยู่ที่ปริมาณเงินทุนที่ทุ่มแข่งขันกับคู่แข่งที่พัฒนาฟีเจอร์กันทันอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการเทคสตาร์ตอัพในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือหลายคนพยายามสร้างแพลตฟอร์มจับคู่ซื้อขายจำนวนมาก หรือที่หลายคนอาจจะเรียกแนวทางนี้ว่า “Uber for X” ที่สร้างแพลตฟอร์มจับคู่ แพลตฟอร์มเหล่านี้หลายครั้งก็ประสบความสำเร็จขึ้นมาจริง อย่างเช่นการรับส่งอาหาร หรือการรับส่งพัสดุต่างๆ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแพลตฟอร์มเหล่านี้กลับต้องวนอยู่กับการแข่งขันที่ดุเดือดตลอดเวลา จากคู่แข่งที่เกิดขึ้นใหม่และแพลตฟอร์มที่ใกล้เคียงกันหันมาเปิดบริการที่ทับซ้อนกันได้เรื่อยๆ

No Description

เมื่อมีแนวคิดทางธุรกิจ และเทคโนโลยีที่จะมาเป็นตอบสนองแนวคิดนั้นแล้ว ธุรกิจใหม่ๆ จึงต้องคิดด้วยว่าความได้เปรียบในระยะยาวคืออะไร และในตอนนี้ธุรกิจจำนวนมากก็มักลงทุนกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เรียกว่า Deep Tech เพื่อสร้างความได้เปรียบนี้

เทคโนโลยีประเภท Deep Tech คืออะไร

Deep Tech เป็นชื่อเรียกของกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ เป็นเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนายาวนาน และผลของการพัฒนาจะสร้างทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความลับทางการค้า หรือสิทธิบัตร ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้สูงกว่าในระยะยาว
เทคโนโลยีที่เราเห็นในกลุ่มนี้ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์, เทคโนโลยีหุ่นยนต์, คอมพิวเตอร์ควันตัม, เทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์หรือพลังงานหมุนเวียน

ตัวอย่างของเทคโนโลยีในกลุ่มนี้ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านอวกาศยานอย่าง SpaceX, เทคโนโลยีทางการแพทย์ อย่างการพัฒนายาหรือกระบวนการรักษาใหม่ด้วยแนวทางที่ต่างออกไป, เทคโนโลยีด้านพลังงานที่เสนอทางเลือกในการผลิตหรือใช้พลังงานที่ต่างออกไปอย่างชิ้นเชิง หรืออีกตัวอย่างคือบริษัทหุ่นยนต์อย่าง Boston Dynamics ที่มุ่งสร้างหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว

หนึ่งในบริษัทที่เราเห็นผลลัพธ์จากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยาวนานเช่นนี้คือ DeepMind ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2014 เท่านั้น และพัฒนาเทคโนโลยีอยู่เงียบๆ อยู่ถึงสามปี แม้แต่ตอนที่กูเกิลเข้าซื้อบริษัท (คาดว่ามูลค่าถึง 500 ล้านดอลลาร์) ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าบริษัทนี้ทำอะไร แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว DeepMind ก็ประกาศว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของตัวเองที่ชื่อว่า AlphaGo ปัญญาประดิษฐ์สำหรับเกมโกะที่มีความซับซ้อนสูงจนไม่สามารถคำนวณการเดินหมากทุกตาได้เหมือนหมากรุก AlphaGo สามารถเอาชนะผู้เล่นระดับมืออาชีพได้เป็นครั้งแรกในโลก แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าผู้เล่นที่ทดสอบกับ AlphaGo ในตอนแรกอาจจะฝีมือไม่ดีพอ แต่การแข่งขันกับแชมป์โลกอย่าง Lee Sedol และ Fan Hui ก็พิสูจน์ว่า DeepMind ได้ฝ่ากำแพงขีดจำกัดของปัญญาประดิษฐ์ได้อีกระดับหนึ่งแล้ว

AlphaGo เป็นตัวอย่างของการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางเทคเทคโนโลยีก่อนจะหาทางใช้งานจริงจัง ทีมงาน DeepMind มุ่งสร้างปัญญาประดิษฐ์แบบ deep learning ประสิทธิภาพสูง ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานคล้ายสมองมนุษย์มากขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยให้มนุษย์สอนหลักการแต่อย่างใด เพียงปล่อยให้ AlphaGo ทดลองเล่นเกมไปเรื่อยๆ จากการเล่นแบบเดาสุ่ม AlphaGo สามารถพัฒนาตัวเองจนเข้าใจกฎกติกา และเริ่มสร้างเทคนิคขั้นสูงได้เท่าเทียมกับที่มนุษย์พยายามสร้างหลักการของเกมโกะมานับร้อยนับพันปี

เทคโนโลยีที่ Deep Mind ได้แปลงออกมาเป็นผลลัพธ์ได้มากมาย ที่บริษัทเปิดเผยออกมาคือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ควบคุมการใช้ไฟฟ้า ทำให้ระบบทำความเย็นในศูนย์ข้อมูลของกูเกิลมีประสิทธิภาพพลังงานดีขึ้นถึง 40% เมื่อพิจารณาว่ากูเกิลมีศูนย์ข้อมูลจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วโลก ประสิทธิภาพเช่นนี้ก็สร้างความได้เปรียบต้นทุนมหาศาล

ตัวอย่างเช่น DeepMind เป็นตัวอย่างของบริษัทที่สร้างขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นหลักแล้วหาโมเดลธุรกิจภายหลัง แต่ธุรกิจส่วนมากนั้นเริ่มจากโมเดลธุรกิจก่อน

บริษัทอย่าง Amazon เริ่มจากโมเดลธุรกิจที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาคือการค้าปลีกออนไลน์ แต่ Amazon กลับพัฒนาหรือลงทุนกับเทคโนโลยีระดับสูงในกลุ่ม Deep Tech อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการก่อตั้งบริษัท

Amazon ลงทุนกับเทคโนโลยีขั้นสูงหลายอย่างที่ทำให้เว็บค้าปลีกกลายเป็นอาณาจักรเทคโนโลยีได้อย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่การลงทุนพัฒนาศูนย์ข้อมูลประสิทธิภาพสูงด้วยตัวเอง ตัวโกดังสินค้าของ Amazon ก็ยังลงทุนกับบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ในโกดัง ลดคนและความผิดพลาดลง สุดท้ายคือการลงทุนกับปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ จนนำไปพัฒนาต่อจนกลายเป็นร้าน Amazon Go ร้านค้าปลีกแบบมีหน้าร้านจริง แต่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าทั้งหมดได้โดยไม่ต้องพบพนักงานแม้แต่ครั้งเดียว

No Description

ในประเทศไทยเอง บริษัทเช่น Meticuly พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติโดยใช้ไทเทเนียม ที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคสูงกว่าเครื่องพิมพ์สามมิติทั่วไปที่ใช้พลาสติกอย่างมาก เทคโนโลยีการผลิตเช่นนี้นำไปสู่การสร้างกระดูกเทียมสำหรับผู้ป่วย โดยสามารถสร้างชิ้นส่วนทดแทนได้รวดเร็วและตรงกับรูปร่างของผู้ป่วยมากกว่าการนำเข้ากระดูกเทียมสำเร็จรูปจากต่างประเทศ

กระดูกเทียมจาก Meticuly เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่เป็นการร่วมมือระหว่าง startup กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับข้อเสนอเงินลงทุนจาก Digital Ventures

การไม่ลงทุนใน Deep Tech จะมีผลต่อการแข่งขันในระยะยาวของประเทศ

ในมุมกลับกันสตาร์ตอัพที่เราเห็นความสำเร็จอย่างรวดเร็วอย่าง Uber กลับอาศัยเทคโนโลยีที่เลียนแบบได้ไม่ยากนัก
Uber อาศัยความได้เปรียบที่เริ่มต้นก่อนและการขยายตลาดไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทอื่นๆ แทบตามไม่ทันในช่วงแรก แต่ภายในเวลาไม่กี่ปี คู่แข่งก็เริ่มพัฒนาขึ้นจนแข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสหรัฐฯ บ้านเกิดของ Uber เอง คู่แข่งอย่าง Lyft ก็เริ่มครองตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ Uber ต้องถอนตัวออกมาจากหลายประเทศที่แข่งขันสูง และแพ้ให้กับบริษัทท้องถิ่น เช่น ตลาดจีนที่มี Didi, ตลาดรัสเซีย และล่าสุด Uber ต้องถอนตัวออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไป โดยควบรวมกิจการไปกับคู่แข่งอย่าง Grab

ธุรกิจหลักของ Uber อาจจะไม่ได้ใช้ Deep Tech มากนัก แต่ Uber ก็พยายามปรับตัวให้ต่อสู้ในเกมระยะยาวได้ โดยลงทุนกับเทคโนโลยีรถไร้คนขับที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถโดยสารอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ หากวันหนึ่งกฎหมายเปิดทางให้รถไร้คนขับสามารถให้บริการได้จริง บริษัทเรียกรถยนต์ที่พร้อมก่อนก็จะได้เปรียบอย่างสูง
บทเรียนของการไม่ลงทุนกับเทคโนโลยีระดับสูงอาจจะร้ายแรงกว่าเพียงแค่ต้องถอยออกจากบางตลาด เช่น Yik Yak เครือข่ายสังคมออนไลน์เน้นความนิรนามที่เคยระดมทุนได้ถึง 73 ล้านดอลลาร์ ที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 400 ล้านดอลลาร์ แต่ความนิรนามกลับทำให้ Yik Yak กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีการด่าทอกันมากมาย และผู้ใช้ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนต้องปิดบริการไปในปี 2017

การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างผิดๆ กำลังเป็นสิ่งท้าทายสำคัญของเฟซบุ๊ก ที่ Mark Zuckerberg ให้การกับรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าไม่มีทางจ้างคนมาตรวจสอบข้อความได้มากเพียงพอ และทางเดียวที่จะทำให้การคัดกรองมีประสิทธิภาพคือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มาคัดกรองข้อความส่วนใหญ่ เว็บที่เป็นเพียงบริการรับฝากข้อความหรือภาพก็กลายเป็นบริการที่ต้องการเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อให้อยู่รอดได้ในระยะยาว

ที่ผ่านมาการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศอยู่กับภาครัฐและหน่วยงานการศึกษาเสียมาก แต่งานวิจัยกลับถูกแบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจนคืองานวิจัยพื้นฐาน (basic research) และงานวิจัยประยุกต์ที่มุ่งเน้นการนำไปใช้งานจริงในระยะเวลาไม่นานนัก หากมีการลงทุนในระดับ Deep Tech เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมจริงก็จะเป็นสะพานเชื่อมงานวิจัยทั้งสองรูปแบบ โดยงานวิจัยที่ยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้ในเวลาอันสั้นก็มีโอกาสได้รับการลงทุนจากเอกชนด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันในไทย ได้มีโครงการ U.REKA นำโดย Digital Ventures (ในเครือไทยพาณิชย์) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเติมเต็มนี้ ด้วยการสรรหาสตาร์ตอัพ ที่ประกอบไปด้วยนักวิจัย ทั้งอาจารย์, นักศึกษา, และผู้สนใจเทคโนโลยีกลุ่ม Deep Tech นี้มาร่วมกันพัฒนาเป็นสินค้าและบริการ โดยโครงการเตรียมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาออกสู่ตลาดจริง โครงการ U.REKA ได้รับความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 7 แห่ง Knowledge Exchange (KX) รวมทั้งพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยีจาก Microsoft เพื่อร่วมกันสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงรุ่นใหม่ขึ้นมาในประเทศ ซึ่งตอนนี้เปิดรับสมัครถึง 15 พ.ค. โดยสตาร์ตอัพสาย Deep Tech ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ u-reka.co

การลงทุนวิจัยพัฒนากับการสร้างความได้เปรียบในระยะยาวของธุรกิจคงเป็นสิ่งคู่กันมาเป็นเวลานาน แต่ในโลกของสตาร์ตอัพที่หลายครั้งคู่แข่งก็เข้ามาเร็วกว่าที่คิด โลกยุคอินเทอร์เน็ตทำให้บริษัทที่อยู่คนละจังหวัดหรือคนละประเทศกลายมาเป็นคู่แข่งโดยตรงกันได้ง่ายๆ การลงทุนวิจัยและพัฒนากับเทคโนโลยีระดับสูง และการสร้างความได้เปรียบที่ชัดเจนจากเทคโนโลยีนั้นคงเป็นทางรอดสำคัญที่ไม่จำกัดแค่ในระดับบริษัทหรือธุรกิจใดเท่านั้น แต่เป็นความการสร้างความได้เปรียบของประเทศในระยะยาวที่จะยังคงแข่งขันกับโลกได้ในยุคต่อไป โครงการ U.REKA อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของประเทศที่จะมีความหวังที่จะแข่งขันต่อไปในอนาคต แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันสนับสนุนการลงทุนระยะยาวนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบของประเทศไปพร้อมๆ กัน

Get latest news from Blognone

Comments

By: In2theBlue
AndroidWindows
on 24 April 2018 - 11:45 #1046203
In2theBlue's picture

แต่มันก็ไร้ค่าเมื่ื่ื่ื่ื่ื่อกูเกิ้ลเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ทางการทหารซะได้ ไม่อยากจะเชื่อ