หลังจากที่ผมเขียนบทความไปในตอนที่แล้ว ก็มาคิดว่าผมน่าจะเขียนบทความเกี่ยวกับบล็อกอีกสักสองสามตอน เท่าที่จะมีความบันดาลใจให้เขียนได้

วันนี้ผมจะเขียนต่ออีกตอนหนึ่ง "ศาสตร์และศิลป์ในการเขียนบล็อก"

หลายท่านอาจจะมีข้อกังขาว่า จะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์อะไรกับการเขียนบล็อก นึกอะไรได้ก็เขียนๆไป นั่นละการเขียนบล็อกแบบไทยๆ เรามาดูกันว่า เราจะเขียนกันอย่างไร?

คำว่า "ศาสตร์" แปลตรงตัวก็คือ ความรู้ ข้อมูลต่างๆ และอาจจะรวมถึงแหล่งที่จะค้นหาความรู้หรือข้อมูลต่างๆ การเขียนบล็อกนั้น คุณจะต้องศึกษาก่อนว่าคุณจะเขียนในแนวไหน (Theme)คุณมีความรู้หรือข้อมูลที่จะเขียนเพียงพอหรือไม่ ข้อสำคัญคุณจะเขียนให้ใครอ่าน ถ้าเป็นหลักการตลาดเขาเรียกว่า กลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มเป้าหมายที่คุณจะเขียนให้เขาอ่านนั้น เขาชอบเข้าเว็บแบบไหน เพราะถ้าเลือกกลุ่มเป้าหมายผิด หรือเลือกกลุ่มเป้าหมายถูก แต่ผิดเว็บที่จะสื่อสาร ทุกอย่างก็จะจบแบบเสียเวลาเสียความรู้สึก และคุณจะเริ่มรู้สึกท้อถอยกับการเขียนบล็อก

ในการเขียนคุณควรจะใช้ภาษาที่ถูกต้อง คำสะกด การันต์ หากจะให้ดีควรจะมีหนังสือพจนานุกรมฉบับย่อไว้ใช้ใกล้ตัวสักเล่มก็จะช่วยคุณได้มาก หากเว็บนั้นมีอุปกรณ์ให้คุณลงภาพประกอบได้ ก็ควรจะลงภาพที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ไม่ควรจะลงภาพมากจนเกินไป จะทำให้มีปัญหาตอนเข้าดูจะโหลดช้า คนดูบล็อกคุณจะเบื่อหน่ายและจะไม่เข้ามาดูบล็อกคุณอีก

การเขียนบล็อกควรจะอัพเดทบล็อกบ่อยๆเท่าที่คุณจะมีเวลาทำได้ ไม่ควรจะทิ้งระยะห่างนานไปจนคนดูมีความรู้สึกว่าคุณคงจะเลิกเขียนไปแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเขียนบล็อกดีแค่ไหน ถ้าคุณขี้เกียจเขียนบล็อกบ่อยๆก็คงไม่มีความหมายอะไร

รูปแบบการเขียนบล็อกอื่นๆเช่น การเลือกใช้ขนาดตัวอักษร การใช้สีตัวอักษรประกอบเพื่อให้ดูน่าสนใจ การกำหนดย่อหน้าของข้อความที่เหมาะสม ไม่ใช่เขียนติดกันไปทั้งหน้า จะทำให้ไม่น่าอ่าน

อีกคำหนึ่งคือ "ศิลป์" หมายถึงรูปแบบของหน้าบล็อก ซึ่งในความเป็นจริง บล็อกที่เขียนตามเว็บไซต์ฟรีทั้งหลาย เขามักจะมีรูปแบบกำหนดเป็นมาตรฐานให้อยู่แล้ว บางเว็บไซต์อาจจะมีรูปแบบให้เลือกมาก บางเว็บอาจจะมีรูปแบบให้เลือกน้อย คุณก็ต้องเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ บางเว็บอาจจะให้คุณตกแต่งหน้าตาของบล็อกได้ คุณก็ควรจะตกแต่งพอประมาณ ไม่ควรโหลดอะไรมาลงจนดูรกรุงรัง ส่วนประกอบที่คนเขียนบล็อกนิยมโหลดมาลงก็มีเช่น รูปปฏิทิน รูปนาฬิกา ภาพการ์ตูนสวยๆ (สำหรับบล็อกผู้หญิง)ตัวนับสถิติคนเข้าดูบล็อก อาจจะใส่โลโกของเราเอง เปลี่ยนสีพื้นหลังของบล็อก เป็นต้น

ส่วนจะหาเว็บไซต์ที่ไหนมาโหลดรูปประกอบลง ก็เป็นเทคนิคของคนเขียนบล็อกจะต้องค้นหาเอา แต่หาไม่ยากหรอก

ทั้งหมดเท่าที่ผมเขียนมานี้อาจจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเขียนบล็อกของคุณ หากผมคิดอะไรได้อีกจะนำมาเขียนให้อ่านกันในโอกาสต่อไป

Get latest news from Blognone