Tags:

ขออนุญาตเอาบทความที่เขียนได้ดีมาเผยแพร่ครับ

ก่อนที่รัฐบาลอิหร่านจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 12 มิ.ย. เพียงไม่กี่วัน นิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ เสนอบทความเกี่ยวกับ "ทวิตเตอร์" (Twitter) เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ที่ความหมายของชื่อคือ "เสียงร้องของนก" และเป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนทั่วโลกเขียนบันทึกสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เพื่อ "สื่อสาร" ถึงคนอื่นๆ ในสังคมโดยตรงผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ

ไทม์ยกย่องว่าการบันทึกข้อความสั้นหรือ "ไมโครบล็อกกิ้ง" (Micro-blogging)เช่นทวิตเตอร์ คือ "การสื่อสารรูปแบบใหม่" ที่จะเปลี่ยนแปลงความคุ้นชินเดิมๆของผู้เสพสื่อยุคสิ่งพิมพ์

เมื่อกลับมาพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่การประท้วงครั้งใหญ่ในอิหร่านทวีความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่า ทวิตเตอร์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนชนิดที่สื่อมวลชนกระแสหลักในอิหร่านยังไม่อาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่า เพราะกลยุทธ์แทรกแซงสื่อของรัฐบาลว่าด้วยการขอความร่วมมือสื่องดรายงานข่าวที่ "เป็นภัยต่อความมั่นคง" และการส่งเจ้าหน้าที่ไปคุมสื่อแต่ละประเภทเพื่อสอดส่องการรายงานข่าวก็ยังเป็นวิธีที่ถูกใช้กันอยู่

การรายงานผ่านทวิตเตอร์โดยโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเปรียบได้กับ "นกเสรี" ที่ส่งสารให้ประชาชนอิหร่านเข้าถึงข้อมูลที่รัฐบาลพยายามปกปิดไม่ว่าจะเป็นการโกงเลือกตั้ง ซึ่งผู้อยู่ในเหตุการณ์ถ่ายคลิปและอัพโหลดขึ้นบล็อกให้ดูกันจะจะว่าเจ้าหน้าที่บางคนเร่งให้ปิดคูหาเลือกตั้งก่อนเวลาและบางที่ก็มีปัญหาบัตรเลือกตั้งไม่พอทำให้ผู้ต้องการลงคะแนนให้คู่แข่งของฝ่ายรัฐบาลถูกตัดโอกาสในการใช้สิทธิ์

เมื่อ "กองกำลังบาซิจ" (Basij Militia) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมาใช้ความรุนแรงกับประชาชน ทั้งการขี่มอเตอร์ไซค์พุ่งชนหรือยิงปืนกราดเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ ล้วนถูกบันทึกไว้โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ (เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย) ก่อนจะนำภาพและเสียงที่ได้ไปเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์และบล็อกต่างๆ

แต่ถึงมีหลักฐานขนาดนี้ ทั้งผู้นำรัฐบาล "ประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มาดิเนจาด" และผู้นำสูงสุดของอิหร่าน "อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี" ก็ยังยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีการโกงเลือกตั้งและกล่าวหาอีกว่าพวกที่ออกมาคัดค้านผลการเลือกตั้งคือ "กลุ่มก่อการร้าย" ส่วนสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลรายงานว่าผู้ชุมนุมก่อเหตุรุนแรงขึ้นก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังเข้าสลาย

แม้รัฐบาลอิหร่านจะพยายามปกปิดความจริงแค่ไหน สิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐานมากมายบนเครือข่ายออนไลน์ ทางอินเตอร์เน็ตที่เผยแพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงคนได้ทั่วโลก แต่ไม่แน่ใจนักว่าผู้นำอิหร่านทั้ง 2 ฝ่ายจะกล้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่...

ตติกานต์ เดชชพงศ

ที่มา : ไทยรัฐ

Get latest news from Blognone