Tags:
Node Thumbnail

IBM เป็นบริษัทไอทีสายองค์กรที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจที่สุดในรอบปีนี้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายอย่าง ตั้งแต่การควบกิจการ Red Hat ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของ IBM ในตลาดคลาวด์ มาสู่การแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ Arvind Krishna

ต้องยอมรับว่า IBM ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในตลาด public cloud ที่มีผู้เล่น 3 รายใหญ่ AWS, Azure, Google Cloud แต่บริษัทก็ยังไม่ถอดใจ และเดินหน้าลุยในตลาดคลาวด์ต่อไป โดยซีอีโอ Arvind Krishna ก็ประกาศไว้ว่าจะใช้ hybrid cloud และ AI เป็นผลิตภัณฑ์หัวหอกของ IBM ในอนาคตหลังจากนี้

Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และรองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน ถึงทิศทางของ IBM ในยุคซื้อ Red Hat โดยเฉพาะธุรกิจในประเทศไทย

คุณปฐมา เคยเป็นกรรมการผู้จัดการของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ก่อนกลับไปทำงานกับไมโครซอฟท์บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา และตัดสินใจย้ายกลับมาไทยแบบถาวร ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ IBM Thailand ในช่วงปลายปี 2018

IBM Cloud ยังมีจุดเด่นที่คู่แข่งไม่มี

คุณปฐมายอมรับว่าตลาดคลาวด์ทั่วโลกถูกครอบครองโดยผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย แต่ก็ระบุว่า IBM Cloud มีจุดเด่นที่ทำให้บริการของตัวเองแตกต่างจากคู่แข่ง (key differentiators) แบ่งได้ออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

1) ค่าใช้จ่าย

เหตุผลหลักในการใช้คลาวด์คือความยืดหยุ่น แต่คนที่ย้ายมาใช้คลาวด์มักประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าถ่ายโอนข้อมูล (data transfer) เข้า-ออกจากคลาวด์ ซึ่งหลายคนไม่ได้คำนวณงบประมาณตรงนี้ไว้ แถมบางครั้งค่าข้อมูลอาจสูงถึง 30% ของค่าคลาวด์ทั้งหมดด้วยซ้ำ

IBM มองเห็นถึงปัญหาตรงนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วจึงประกาศว่าทราฟฟิกขาเข้า (inbound data transfer) จะฟรีทั้งหมด และทราฟฟิกขาออก (outbound data) จะให้ฟรีสำหรับเซิร์ฟเวอร์แบบ Bare Metal คิดเป็นปริมาณ 5TB ต่อเดือน (ถ้าอยู่ในยุโรปหรือสหรัฐได้ 20TB ต่อเดือน ในเอเชียเป็น 5TB) ช่วยให้ลูกค้าประหยัดงบประมาณตรงนี้ลงได้มาก เมื่อเทียบกับคลาวด์คู่แข่งแล้ว ปริมาณข้อมูลขาออก 5TB ราคาประมาณ 400-600 ดอลลาร์ต่อเดือน

ส่วนทราฟฟิกระหว่างศูนย์ข้อมูลของ IBM ทั่วโลกที่วิ่งผ่าน private network ของ IBM เองจะฟรีทั้งหมด สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีศูนย์ข้อมูลกระจายอยู่หลายประเทศ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกมากเช่นกัน

No Description

นอกจากค่าใช้จ่ายด้านทราฟฟิก IBM ก็พยายามลดค่าบริการด้านอื่นๆ หากทำได้ เช่น บริการ managed OpenShift ที่มีบนคลาวด์แทบทุกเจ้า แต่ IBM ไม่คิดเงินค่ารัน master node ในขณะที่คู่แข่งคิดเงินเต็ม เป็นต้น

2) ความปลอดภัย

ผู้ให้บริการด้านไอทีทุกเจ้าพูดถึงความปลอดภัยทั้งนั้น แต่เนื่องจากลูกค้าของ IBM อยู่ในธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลอย่างหนัก (เช่น สายการเงิน) ด้านความปลอดภัยจึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ

ตัวอย่างบริการด้านความปลอดภัยของ IBM คือ Cloud Hyper Protect Crypto Services ที่ช่วยเก็บรักษาคีย์เข้ารหัสที่ระดับฮาร์ดแวร์เฉพาะ (hardware security module หรือ HSM) ซึ่ง IBM เป็นรายเดียวในอุตสาหกรรมไอที ที่มีฮาร์ดแวร์ความปลอดภัยผ่านมาตรฐานความปลอดภัย FIPS 140-2 Level 4 ของรัฐบาลสหรัฐ (รายอื่นได้มากที่สุดที่ Level 3)

บริการอีกตัวที่น่าสนใจคือ Cloud Data Shield ซึ่งเป็นการรันคอนเทนเนอร์ในพื้นที่ปลอดภัยของหน่วยความจำ (secure enclave) เพื่อป้องกันการเจาะเข้ามาดึงข้อมูลจากหน่วยความจำโดยตรง

3) ความเปิดกว้าง

IBM Cloud เน้นการใช้เทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ไม่ผูกติดกับผู้ขายรายหนึ่งรายใด แกนหลักของ IBM Cloud ในปัจจุบันคือ Red Hat OpenShift ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Kubernetes ที่โอเพนซอร์สอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีโอเพนซอร์สตัวอื่นด้วย เช่น

บริการตัวใหม่ล่าสุดของ IBM คือ Cloud Satellite ซึ่งเป็นการนำบริการจากคลาวด์ของ IBM ไปรันแบบ on-premise เพื่อให้ได้ hybrid cloud ที่มีความสามารถเหมือนกันทุกที่ (ลักษณะเดียวกับ AWS Outpost หรือ Azure Arc) ก็รันอยู่บน OpenShift และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สตัวอื่นๆ อย่าง Istio หรือ Razee

No Description

วิดีโอแนะนำ IBM Cloud Satellite ซึ่งปัจจุบันยังมีสถานะเป็นรุ่นทดสอบ

ทิศทางของ IBM หลังซื้อกิจการ Red Hat

คุณปฐมายังเล่าถึงทิศทางของ IBM หลังควบกิจการ Red Hat เสร็จสมบูรณ์ ว่าอยากให้มองว่า IBM เป็นพาร์ทเนอร์เชิงยุทธศาสตร์กับ Red Hat แต่ยังแยกกันบริหารเพื่อความคล่องตัว ทั้งสองบริษัททำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะด้านงานขายและการทำตลาด มีทีมเฉพาะที่เรียกว่า synergy team ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ในแง่ผลิตภัณฑ์ IBM Cloud เป็นคลาวด์เจ้าแรกที่รองรับ OpenShift เวอร์ชัน 4.3 ก่อนคนอื่น และตอนนี้ซอฟต์แวร์ของ IBM เองถูกพัฒนาเข้าสู่ยุคคอนเทนเนอร์ รองรับ OpenShift อย่างเต็มที่ ใช้ชื่อทำตลาดว่า IBM Cloud Pak สามารถรันบนคลาวด์ยี่ห้อไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคลาวด์ของ IBM แต่ IBM เป็นคนจัดชุดซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละอุตสาหกรรม

คุณปฐมาเล่าว่าในไทยตอนนี้มีลูกค้าองค์กรที่ใช้งาน Red Hat OpenShift แล้ว โดยมาจากกลุ่มธนาคารที่เป็นฐานลูกค้าของ IBM มายาวนาน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐกำลังลองทำ government blockchain อยู่ด้วย

No Description

คำแนะนำต่อองค์กรไทยยุคคลาวด์

คุณปฐมาบอกว่าจากที่มีประสบการณ์สาย enterprise มายาวนาน (นับตั้งแต่อยู่กับไมโครซอฟท์) ยังไม่เห็นลูกค้าองค์กรรายใดย้ายงาน 100% ขึ้นมาอยู่บนคลาวด์ ดังนั้นงานที่รันแบบ on premise ยังคงมีอยู่เสมอ และไม่ใช่งานทุกประเภทจะเหมาะสำหรับคลาวด์ ทั้งในแง่เทคนิค (ยังไม่ถูก modernized ให้เป็นคอนเทนเนอร์) หรือในแง่ค่าใช้จ่ายที่การรันแบบ on premise อาจถูกกว่า

ดังนั้นองค์กรใดที่ต้องการย้ายขึ้นคลาวด์คงต้องดูความเหมาะสมเป็นกรณีไป ซึ่ง IBM มีความเชี่ยวชาญตรงนี้ เพราะนอกจากความรู้ทางเทคนิคแล้ว ยังเข้าใจเรื่องกฎระเบียบ (regulation) ของแต่ละอุตสาหกรรม สามารถแยกแยะได้ว่างานแบบไหนติดขัดกฎระเบียบข้อใด ควรนำมาอยู่บนคลาวด์หรือไม่

กรณีศึกษาที่ดีคือ Bank of America หนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจย้ายระบบ core banking ขึ้นคลาวด์ไปเรียบร้อยแล้ว การย้ายระบบแบบนี้มักมีความซับซ้อนสูงเพราะติดกฎระเบียบด้านการเงิน แต่เนื่องจาก IBM เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงมีบริการที่เรียกว่า Financial Services Public Cloud ที่เตรียมไว้รอลูกค้าฝั่งธนาคารอยู่แล้ว เตรียมเรื่องความปลอดภัย, regulation, compliance มาให้เสร็จสรรพ ช่วยลดระยะเวลาและอุปสรรคลงไปได้มาก

No Description

ส่วนลูกค้าองค์กรในไทย แม้ย้ายขึ้นคลาวด์กันไปเยอะแล้ว แต่ยังไม่ค่อยได้ย้ายระบบสำคัญๆ (mission critical) ขึ้นคลาวด์กันมากนัก พอมาเจอปัญหา COVID-19 ที่ทำให้คนเข้าไปยังสำนักงานได้ยาก จึงเป็นตัวเร่งให้องค์กรเริ่มย้ายระบบ mission critical ขึ้นคลาวด์กันเร็วขึ้น

พอตัดสินใจย้ายมาคลาวด์แล้ว ปัญหาที่พบบ่อยกลับไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่เป็นเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะองค์กรไทยโดยเฉพาะสายธนาคาร มักทดลองใช้คลาวด์หลายๆ ตัวเพื่อลองผิดลองถูกหรือเอาไว้เปรียบเทียบกัน แต่พอต้องย้ายงานสำคัญๆ ที่ต้องใช้ปริมาณทรัพยากรมากๆ การใช้คลาวด์หลายยี่ห้อจะทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น เริ่มบีบให้องค์กรต้องเลือกว่าจะใช้คลาวด์รายใดรายหนึ่งไปเลย

Get latest news from Blognone

Comments

By: blackdoor on 18 June 2020 - 18:55 #1163409
blackdoor's picture

จริง ๆ IBM ควรเป็นผู้นำ Cloud
แต่ทำไมเริ่มช้าจัง

อยากให้ Cloud แต่ละเจ้าพิจารณามาเปิด Zone Server ที่ไทยบ้าง

By: GyG on 18 June 2020 - 21:40 #1163423 Reply to:1163409
GyG's picture

มี Huawei Cloud มาแล้วเจ้านึงครับ

By: Ford AntiTrust
ContributorAndroidBlackberryUbuntu
on 18 June 2020 - 22:36 #1163429 Reply to:1163409
Ford AntiTrust's picture

ดูมาตราฐานการใช้กฎหมายในไทยแล้ว เค้าคงเปิดรอบๆ ไทยแทนแหละครับ