Tags:
Node Thumbnail

ผู้อ่าน Blognone อาจคุ้นเคยกับหน้าจอขนาดใหญ่ที่ร้าน AIS Shop สาขา Central World มีเกมเตะลูกฟุตบอลหรือโบว์ลิ่งจากหน้าจอเป็นช่วงๆ บริษัทที่ทำงานดังกล่าว EXZY อีกหนึ่งสตาร์ทอัพของไทยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะจับตลาดด้านแอพบนหน้าจอ Display และโซลูชันด้าน Interactive ได้อย่างโดดเด่น

Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งบริษัททั้งสามคน ได้แก่ คุณลิงค์ จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา, คุณป๊อป เนนิน อนันต์บัญชาชัย และคุณแนน ลลิล อนันต์บัญชาชัย ถึงแนวคิดและวิสัยทัศน์ของบริษัทในการก่อตั้ง ตลอดจนถึงการเติบโตและคำแนะนำให้คนที่อยากทำสตาร์ทอัพครับ

alt="exzy"

จากภาพ (ซ้ายไปขวา): คุณลิงค์ จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา, คุณแนน ลลิล อนันต์บัญชาชัย และคุณป๊อป เนนิน อนันต์บัญชาชัย

จุดเริ่มต้นและแนวคิด

ในทีมผู้ก่อตั้ง คุณลิงค์และคุณป๊อป เป็นเพื่อนกันมาก่อน โดยคุณป๊อปทำบริษัทเกมมาก่อน ส่วนคุณลิงค์มีพื้นฐานจากสายงานด้านงานขาย (retail) เป็นพื้นฐาน ส่วนคุณแนนเป็นพี่น้องกับคุณป๊อป ถูกดึงตัวเข้ามาช่วยในทีมในฐานะคนดูแลด้านธุรกิจเป็นหลัก น่าสนใจว่าจุดเริ่มต้นของ EXZY ไม่ได้ใช้วิธีระดมทุนตามสมัยนิยม แต่ใช้เงินลงทุนของตัวเองทั้งหมด

ประวัติของ EXZY เกิดจากการที่ทีมมองว่าโซลูชันไอทีสำหรับงานด้านการขายปลีก (retail) ยัง “ดีไม่พอ” เมื่อเทียบกับความสามารถของเทคโนโลยีในตลาด ทำให้ตัดสินใจหันมาเจาะผลิตภัณฑ์ด้านนี้ โดยมีแนวคิดว่านำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด มาปรับแต่งโดยเพิ่มปัจจัยด้านคุณภาพและการออกแบบที่น่าสนใจเข้ามา

EXZY เลือกแพลตฟอร์มโต๊ะ Microsoft PixelSense (เวลานั้นยังใช้ชื่อว่า Microsoft Surface) เป็นจุดตั้งต้นของบริษัท ด้วยเหตุผลว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในตอนนั้น ถึงแม้ว่าตัวฮาร์ดแวร์มีราคาแพงมาก (ประมาณ 400,000 บาท) แต่ทีมงานก็เชื่อว่ามีลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อ

alt="WP_20141208_18_31_11_Pro"

ช่วงแรกการพัฒนาโซลูชันบน PixelSense/Surface ทำได้ลำบากเพราะไม่มีโต๊ะของจริงให้ทดสอบ ทุกอย่างถูกพัฒนาขึ้นบน SDK โดยต้อง “มโน” เอาเองว่าผลลัพธ์จริงๆ เป็นอย่างไร และในระยะแรก การนำเสนอผลงานให้ลูกค้าจึงต้องใช้คลิปวิดีโอในการนำเสนอไปก่อน

ทีมงานลงทุนบินไปสัมผัสโต๊ะของจริงที่งาน CES ในลาสเวกัส และเข้าไปเจรจากับซัมซุงในฐานะผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ PixelSense จนได้เข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์พัฒนาแอพพลิเคชัน อย่างไรก็ตาม งานแรกของ EXZY กลับไม่ได้ทำในเมืองไทย เพราะลูกค้ารายแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือโรงแรมหรูในอินโดนีเซียที่กล้าลองสั่ง PixelSense มาใช้งาน

การสร้างแอพ PixelSense ให้กับโรงแรมในอินโดนีเซียประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ทีมงานก็ได้รับรู้ข้อมูลว่า PixelSense อาจไม่เหมาะกับการใช้งานในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบันเทิงที่นำโต๊ะไปวางเป็นโต๊ะอาหารที่ปล่อยให้ลูกค้าของร้านสัมผัสกันโดยตรง จนอาจเสียหายได้ง่าย โดยอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกว่าคือค้าปลีก ที่ใช้ PixelSense ในฐานะเครื่องมือช่วยขายของพนักงานขาย ใช้เดโมข้อมูลให้ลูกค้าดูแทนที่จะให้ลูกค้าลองเล่นเองโดยไม่มีคนอธิบาย

ตัวอย่างลูกค้ารายล่าสุดของ EXZY คือบูตของรถยนต์ค่าย Mini ในงาน Motor Expo ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ โดยใช้โต๊ะ PixelSense สร้างแอพช่วยขายรถ Mini ซึ่งพนักงานขายสามารถเดโมความสามารถ หรือปรับสี-ออพชั่นของรถยนต์ให้ลูกค้าดูได้บนจอ

alt="WP_20141208_18_42_03_Pro"

ธุรกิจในปัจจุบัน

ปัจจุบัน EXZY รับงานพัฒนาโซลูชันด้านการแสดงผลทุกประเภท ทั้งการนำจอภาพขนาดใหญ่ไปติดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสดงข้อมูลอย่างเดียว หรือโซลูชันที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานผ่านกล้องหรือเซ็นเซอร์ Kinect (แบบเดียวกับร้าน AIS ที่ Central World)

การที่ EXZY มีศักยภาพทั้งด้านเทคโนโลยี การออกแบบ และการเข้าไปช่วยลูกค้าสร้าง workflow ในการทำงานที่เหมาะสมกับธุรกิจเดิม ทำให้รูปแบบธุรกิจของ EXZY จึงยืนอยู่ตรงกลางระหว่าง System Integrator ที่เน้นขายฮาร์ดแวร์ชุดมาตรฐาน (ไม่รับงานปรับแต่งหรือสร้างแอพ) กับ Digital Agency ที่เน้นรับงานทั้งแคมเปญ (แต่ไม่มีความสามารถด้านเทคนิคเท่าไรนัก) กลายเป็นจุดแตกต่างซึ่งทำให้ตัวบริษัทโดดเด่นขึ้นมาในวงการนี้

ทีมงานระบุว่า ความต้องการโซลูชันด้านการแสดงผลในปัจจุบันมีเยอะมาก เพราะลูกค้าเห็นโซลูชันจริงตามสถานที่ต่างๆ แล้วอยากมีบ้าง และผลงานเดิมของ EXZY ทำให้เกิดการบอกต่อ ส่งผลให้ตอนนี้ EXZY มีงานติดต่อเข้ามาเกินกว่าที่ทีมงานปัจจุบันประมาณ 10 คนจะสามารถทำได้หมด และบริษัทก็พยายามทำงานเน้นคุณภาพตลอดเวลา เพราะในสายธุรกิจแนวนี้ ผลงานจะเป็นเสมือนโชว์รูมของบริษัทเองไปในตัว

คุณลิงค์ระบุว่า งานในปัจจุบัน กว่า 90% เป็นเรื่องของโซลูชันหน้าจอ (display solution) ที่ผนวกการออกแบบประสบการณ์เข้าไปด้วย ซึ่งทีมงานเองมองว่า จริงๆ เรื่องของหน้าจอนั้นไม่จำกัดแค่จอแสดงผลขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหน้าจอต่างๆ แม้กระทั่งสมาร์ทโฟนด้วย ทีม EXZY ให้ความสำคัญกับการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และตอนนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Virtual Reality และ Augmented Reality อย่างจริงจัง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีด้านการแสดงผลเช่นกัน

alt="WP_20141208_19_21_14_Pro"

ข้อคิดถึงสตาร์ทอัพไทย

ในฐานะบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่มีผลงานมาพอสมควร Blognone จึงขอความเห็นของ EXZY ต่อวงการสตาร์ทอัพในไทยด้วย

ทีมงานระบุว่าสิ่งแรกที่สตาร์ทอัพต้องให้ความสำคัญ คือระมัดระวังด้านการใช้เงิน และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ทำแล้วต้องได้ผลอย่างไรบ้าง

คุณลิงค์บอกว่าในยุคปัจจุบัน การทำตัวผลิตภัณฑ์ให้ดีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนย่อมไปไม่รอด ดังนั้น คนทำสตาร์ทอัพต้องคิดให้แตกตั้งแต่แรกทั้งผลิตภัณฑ์และแผนธุรกิจ แล้วลงมือทดสอบ ถ้าทำไปสักพักแล้วยังไม่เวิร์คก็ควรเลิกแล้วไปหาโมเดลธุรกิจใหม่จะดีกว่าดันทุรังทำต่อไป ซึ่งคุณลิงค์มองว่าระยะเวลาทดลองที่เหมาะสมคือ “4 เดือน” (จากประสบการณ์ส่วนตัว) แต่บริษัทอื่นอาจมีระยะเวลาที่เหมาะสมแตกต่างกันไปตามแต่ละแนวทางธุรกิจ

สิ่งต่อมาที่ต้องสนใจมากเช่นกันคือ “ทีมงาน” ซึ่งทีมผู้ก่อตั้งเองต้องรู้จักกันอย่างดีพอ ก่อนมาร่วมกิจการด้วยกัน ตรงนี้คุณลิงค์และคุณป๊อปบอกว่าเดิมทีเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่ ม.เกษตรกันอยู่แล้ว แต่ขนาดเป็นเพื่อนร่วมรุ่นอยู่ก่อน กว่าจะมาร่วมก่อตั้ง EXZY ด้วยกันได้ ก็ยังพูดคุยกันเรื่องแนวทางของบริษัทเป็นระยะเวลานานเกือบปีกว่าจะลงตัว

ส่วนทีมงานที่เป็นพนักงานซึ่งรับมาเพิ่มในภายหลัง ก็จำเป็นต้องรู้จักตัวตนให้ชัดเจนด้วย EXZY มีกระบวนการสัมภาษณ์พนักงานหลายชั้น โดยต้นทางของกระบวนการมีสองแบบคือสมัครเข้ามาตามปกติ และอีกแบบคือมีคนแนะนำมาอีกที จากนั้นจะเรียนรู้ตัวตนของผู้สมัครอย่างละเอียด พูดคุยสื่อสารกันก่อนทางโทรศัพท์หรืออีเมล มอบโจทย์โปรแกรมมิ่งให้ทดสอบ ถ้าไปด้วยดีจะนัดเข้ามาสัมภาษณ์ และให้ทดลองทำงานแบบ workshop ที่บริษัทก่อนหนึ่งวัน (พร้อมจ่ายค่าจ้าง) เพื่อทดสอบว่าเข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทได้ดีแค่ไหน

สิ่งสุดท้ายของการทำสตาร์ทอัพคือเรื่องของความตั้งใจ ความอดทน ในการทำสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน เนื่องจากชีวิตการทำสตาร์ทอัพมีอุปสรรคระหว่างทางมากมาย ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมทำให้ไปไม่ได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ ทาง Blognone ได้มีโอกาสไปลองเล่นโซลูชันต่างๆ ของทาง EXZY อยู่พอสมควร ซึ่งหลายตัวน่าสนใจและมีให้ลองเล่นบ้างแล้วในสถานที่จริง ซึ่ง EXZY สามารถนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในตลาด (existing technology) นำมาประกอบเป็นโซลูชันที่น่าสนใจได้หลากหลายอย่างมาก ซึ่งก็ต้องรอติดตามผลงานของ EXZY ที่จะนำไปใช้ในพื้นที่สาธารณะอีกหลายๆ แห่งกันต่อไป

ขอบพระคุณทาง EXZY ที่ให้โอกาสทางทีมงานของ Blognone สัมภาษณ์และให้ลองสัมผัสโซลูชันหลายตัวที่น่าสนใจจำนวนมากในครั้งนี้ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 14 December 2014 - 20:49 #772784
mr_tawan's picture

ป๊อบดูอ้วนขึ้นนะครับ :)


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 14 December 2014 - 22:18 #772796
panurat2000's picture

โซลูชัน / โซลูชั่น

  • ต้องมีความสม่ำเสมอ (consistency) สะกดชื่อคำใดไปแล้ว ต้องเขียนให้เหมือนกันทุกครั้ง

มีเกมเตะลูกฟุตบอลหรือโบวลิ่งจากหน้าจอเป็นช่วงๆ

โบวลิ่ง => โบว์ลิ่ง

เนื่องจากชีวิตการทำสตาร์ทอัพมีอุปสรรคระหว่างทางมากมาย ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว

ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ?

By: johnny.sayasane
ContributorWindows PhoneSymbianWindows
on 15 December 2014 - 00:44 #772820
johnny.sayasane's picture

Inspiration... o_O


ສະບາຍດີ :)

By: Similanblu
AndroidWindows
on 15 December 2014 - 11:15 #772899

เห ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็น digital agency/production house ที่เลือก "แพลตฟอร์มแปลก" มาให้บริการมากกว่านะ ทำไมถึงเรียกว่าสตาร์ตอัพล่ะครับ

ในความเข้าใจของผม ถ้ายังต้องสร้าง/ปรับแต่งงานให้ลูกค้าเป็นรายๆ ไป ก็ถือเป็น consultant business (software house - production house - digital agency - etc.) นะครับ ไม่ใช่สตาร์ตอัพ ถ้าเป็นสตาร์ตอัพต้องมีโปรดักส์อย่างสองอย่างที่สเกลได้ คือทำครั้งเดียว ขายได้หลายๆ เจ้า ถ้ามีการปรับแต่ง การสร้างคอนเทนท์ ก็จะเป็นการทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคทุกเจ้าพร้อมๆ กัน

(เอาง่ายๆ คือถ้ารายได้ของบริษัทแปรผันโดยตรงกับหัวพนักงานนี่ ก็เป็น consultant แน่ๆ )

startup ไม่ได้แปลว่า บริษัทไอทีเปิดใหม่ บริษัทไอทีขนาดเล็ก นะครับ แต่คือบริษัทที่มีโปรดักส์และมีศักยภาพในการโตสูง (high growth potential) ต่อให้เป็นบริษัทยา บริษัทวิจัยพันธุ์พืช บริษัทอวกาศ ก็เป็นสตาร์ตอัพได้ ถ้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้แล้วทำซ้ำขายได้ในสเกลใหญ่

แต่ถ้าการรับงาน consultant นี้ เป็นแค่ช่องทางปั๊มเงินชั่วคราวของ EXZY (เพราะไม่เคยระดมทุน) แต่ระหว่างนี้ก็ได้ซุ่มพัฒนาโปรดักส์ของตัวเองอยู่ตลอด และใช้ลูกค้า media solution ของบริษัทเป็นหนูลองยาเพื่อเก็บแนวทางพัฒนาอยู่ ในอนาคตจะออกโปรดักส์ตัวใหม่มาที่บริษัทหรือ digital agency อื่นๆ สามารถนำไปใช้สร้างโฆษณาให้ลูกค้าได้เองโดยไม่ต้องให้นักพัฒนาของ EXZY ทำงานให้ เช่นนั้นก็อาจเรียกว่าสตาร์ตอัพ (ในอนาคต) ได้ครับ

By: PaPaSEK
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 15 December 2014 - 11:48 #772908 Reply to:772899
PaPaSEK's picture

สตาร์ทอัพในที่นี้คงหมายถึงบริษัทที่เพิ่งเริ่มครับ

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 15 December 2014 - 11:50 #772910 Reply to:772899
mr_tawan's picture

A startup company or startup is a company, a partnership or temporary organization designed to search for a repeatable and scalable business model.[1] These companies, generally newly created, are in a phase of development and research for markets. The term became popular internationally during the dot-com bubble when a great number of dot-com companies were founded.

Wikipedia

ผมเป็นการเป็น Consult ก็เข้าข่ายนะ


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: Similanblu
AndroidWindows
on 16 December 2014 - 12:26 #773224 Reply to:772910

คีย์เวิร์ดคือ repeatable and scalable ครับ

By: pizzicato
ContributoriPhoneUbuntu
on 22 December 2014 - 09:18 #774885
pizzicato's picture

ผมชอบบริษัทนี้มากๆ เลยครับ เห็นครั้งแรกในประกาศรับสมัครงานใน Blognone งานดูน่าสนใจมากๆ
แถมบริษัทอยู่ห่างจากบ้านผมแค่ 2 กิโลเอง!

ในประกาศผมชอบตรงประโยคนี้ครับ "หรือคิดว่าบริษัทเราควรมีตำแหน่งอื่นเพิ่มเติม โปรดติดต่อ..." ดู Open minded มากๆ ครับ

ตอนนี้ยังชอบงานที่ทำอยู่ แต่อยากหาโอกาสส่ง resume ไปนั่งคุยด้วยนะครับ!!


positivity