Tags:
Node Thumbnail

เว็บ Infoworld ออกรายงานวัดประสิทธิภาพของบริการประมวลผลจากเซิร์ฟเวอร์ในกลุ่มเมฆ เพื่อวัดประสิทธิภาพราคาของแต่ละราย โดยวัดจากสามเจ้าหลัก ได้แก่ อเมซอน, กูเกิล, และไมโครซอฟท์

เครื่องที่ใช้ของทั้งสามเจ้าแบ่งเป็น (รายการเครื่องเป็น Amazon EC2, Google Compute Engine, และ Windows Azure ตามลำดับ)

  • เครื่องประเภท 1 คอร์ ได้แก่ m1.medium แรม 3.75GB, n1-standard1 แรม 3.75GB, Small VM แรม 1.75GB
  • เครื่องประเภท 2 คอร์ ได้แก่ c3.large แรม 3.75GB, n1-highcpu-2 แรม 1.8GB , Medium VM แรม 3.5GB
  • เครื่องประเภท 8 คอร์ ได้แก่ m3.2xlarge แรม 30GB, n1-standard-8 แรม 30GB, Extra Large VM แรม 14GB

    ทั้งหมดทดสอบด้วย Dacapo Benchmark ชุดทดสอบจาวา ผลทดสอบคือ

  • กูเกิลเร็วกว่าใน 13 ชุดทดสอบ ผลเวลารวมทุกการทดสอบใช้เวลารัน 575 วินาที เทียบกับ 719 วินาทีของอเมซอน, และ 834 วินาทีของไมโครซอฟท์

  • เมื่อรวมค่าใช้จ่ายรวมในการรัน กูเกิลยังคงถูกกว่าอยู่ดี มีค่าใช้จ่ายในการรันงานทั้งหมด 3.78 เซนต์ (เทียบตามเวลา) ส่วนไมโครซอฟท์ตามมาที่ 3.8 เซนต์ และอเมซอน 5 เซนต์
  • แต่ไมโครซอฟท์ชนะในแง่ของราคา สำหรับเครื่องรุ่นเล็ก โดยรันงานในต้นทุนเพียง 0.67 เซนต์แม้จะใช้เวลานานที่สุด
  • เครื่อง n1-standard-8 ของกูเกิลดูจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด มันทำคะแนนดีที่สุดใน 11 ชุดทดสอบจาก 14 ชุด

ประเด็นประสิทธิภาพที่แท้จริงเป็นเรื่องที่หากใครจะใช้บริการประมวลผลกลุ่มเมฆควรทดสอบกับงานตัวเองเสียก่อน เพราะแต่ละแพลตฟอร์มมีข้อได้เปรียบต่างกันไป โดยเฉพาะนโยบายการอัพเกรดซีพียูที่แม้จำนวนคอร์เท่ากัน แต่หลายครั้งก็เป็นคอร์คนละรุ่นกัน แถมยังมีเรื่องของการจูนซอฟต์แวร์ที่ต่างกันอีกด้วย

Urs Hölzle วิศวกรฝ่ายศูนย์ข้อมูลของกูเกิลระบุว่าแม้จะชนะในหลายการทดสอบแต่กูเกิลก็ยังไม่พอใจกับประสิทธิภาพตอนนี้นัก โดยต้องยอมบางอย่างเพื่อเปิดบริการให้ทันในปีที่แล้ว

ที่มา - Infoworld, +Urs Hölzle

Get latest news from Blognone