Tags:
Node Thumbnail

สืบเนื่องจากการที่แผนแม่บท ICT แห่งชาติฉบับที่ 2 ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 แต่ผมเพิ่งจะได้มีโอกาสมายุ่งเกี่ยวและศึกษาแผนแม่บทนี้อย่างละเอียด จึงอยากนำมาสรุปให้ทุกท่านได้ย้อนมามองสาระสำคัญของแผนแม่บทนี้อีกสักครั้ง

ผมคิดว่าเราทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชน Blognone ไม่ควรจะมองข้ามแผนแม่บทนี้ อย่างน้อยก็น่าจะพอเห็นภาพและเข้าใจในระดับหนึ่งว่าการบริหารระดับประเทศตั้งใจจะพา ICT ของประเทศไทยไปในทิศทางใด เราจะได้ร่วมแรงร่วมใจกัน มุ่งพัฒนาให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อก่อให้เกิดศักยภาพอันสูงสุด

บทความชิ้นนี้เป็นการผสมผสานระหว่างข้อความดั้งเดิมจากแผนแม่บท การสรุปความจากแผนแม่บท และความเห็นส่วนตัวในบางส่วนเท่าที่จำเป็นครับ

เนื้อหาของบทความนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  • สรุปผลการวิเคราะห์ปัญหาด้าน ICT ของประเทศไทย
  • สรุปวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผนแม่บท
  • สรุปแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านของแผนแม่บท

สรุปผลการวิเคราะห์สถานภาพด้าน ICT ของประเทศไทย

ในส่วนบทแรก ๆ ของแผนแม่บทเป็นการวิเคราะห์สถานภาพทางด้าน ICT ของประเทศไทย ซึ่งได้จากการวัดจากดัชนีมาตรฐานต่าง ๆ และการทำ SWOT เป็นต้น ซึ่งสรุปออกมาได้ 5 ประเด็นดังต่อไปนี้

  1. สถานภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน - ผลการวิเคราะห์พบว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านการพัฒนาโครงข่ายหลัก (Backbone Network) แต่ปัญหาอยู่ที่โครงข่ายระดับปลายทาง (Last Mile Access) ที่ไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม และด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นผลให้พื้นที่ห่างไกลและกลุ่มคนบางกลุ่มเช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น ยังไม่สามารถเข้าใช้งานได้ดีนัก ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารดั้งเดิมเช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น (แผนแม่บทใช้คำว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศ)

  2. สถานภาพของประชาชนทั่วไป - ผลการวิเคราะห์พบว่า คนไทยมีการใช้ ICT ในระดับต่ำ ส่วนผู้ที่เข้าถึง ICT แล้วนั้นก็ยังไม่ใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง กล่าวคือใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก อีกทั้งมีการใช้งาน ICT ที่ไม่เหมาะสมอยู่มาก ซึ่งดูได้จากปริมาณของเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ที่มีเป็นจำนวนมาก

  3. สถานภาพด้านบุคลากรทาง ICT - ยังขาดบุคลากรทางด้าน ICT อีกมาก ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ

  4. สถานภาพด้านบุคลากรในภาครัฐ - ก็ยังขาดบุคลากรทางด้าน ICT ทั้งคุณภาพและปริมาณเช่นกัน โดยเน้นด้วยว่าเกิดจากผลตอบแทนต่ำและขาดแรงจูงใจที่เหมาะสม

  5. สถานภาพด้านการบริการจัดการ - ประเทศไทยมีหน่วยงานทางด้าน ICT เป็นจำนวนมากพอสมควร แต่มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน ต่างคนต่างทำ ไม่เป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน การกำกับดูแล การจัดการงบประมาณ เป็นต้น เป็นผลให้งานต่าง ๆ ขาดการบูรณาการ ขาดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และขาดการประเมินผลและติดตามผลอย่างจริงจัง

จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ผมคิดว่าข้อ 2 เป็นข้อที่ประชาชนทุก ๆ คนต้องตระหนักและพยายามปรับปรุงให้นำสิ่งที่ประเทศของเราได้ลงทุนไปมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ครับ การใช้ ICT เสพสื่อบันเทิงผมว่าก็ไม่เป็นไร แต่ควรจะใช้ทำอย่างอื่นเป็นจริงเป็นจังด้วยเท่านั้นเอง ผมขอตัวอย่างง่าย ๆ ครับ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยติด Facebook กันงอมแงม และกระหน่ำโหลดภาพยนต์และเพลงกันทั้งวันทั้งคืน การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนและพัฒนาตัวเองนั้นน้อยมาก ถ้าแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็นับว่าน่าเป็นห่วงนะครับ

สรุปวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย

จากสถานภาพปัจจุบันของประเทศไทยดังที่วิเคราะห์ข้างต้น เรามาดูกันครับว่ากระทรวงไอซีทีได้วางแผนอะไรไว้บ้างเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวครับ

วิสัยทัศน์

ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) ด้วย ICT

วิสัยทัศน์ คือ จินตนาการของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราทำตามแผนแม่บทนี้ครับ คำสำคัญอยู่ที่วลีที่ว่า ด้วย ICT วลีนี้สะท้อนให้เห็นความต้องการที่จะให้ ICT เข้าไปแทรกอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ดังนั้นสิ่งที่แผนนี้อยากให้เกิดขึ้นคือ สังคมของเราจะเป็นสังคมที่แข็งแกร่ง อุดมปัญญาและอุดมไปด้วยการใช้งาน ICT อย่างมีวิจารณญาณ รู้เท่าทัน ชาญฉลาด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

พันธกิจ

  • พัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ทั้งบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Professionals) และบุคลากรในสาขาอาชีพอื่น ๆ ทุกระดับ ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง

  • พัฒนาโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสารความเร็วสูงที่มีการกระจายอย่างทั่วถึง มีบริการที่มีคุณภาพ และราคาเป็นธรรม เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศหลักที่ทุกภาคส่วนสามารถใช้ในการเข้าถึงความรู้ สร้างภูมิปัญญา และภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคเศรษฐกิจของประเทศ

  • พัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทีมมีธรรมาภิบาล โดยมีกลไก กฎระเบียบ โครงสร้างการบริหารและกำกับดูแล ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบบริหารจัดการประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

พันธกิจคือภารกิจหลักที่ต้องทำ เป็นหัวข้อกว้าง ๆ เพื่อกำหนดกรอบเป็นหลักในการพัฒนา โดยสรุปแล้วแผนแม่บทฉบับนี้ก็จะมุ่งเน้นการพัฒนาสามด้านหลักได้แก่ คน โครงข่าย และการจัดการ

วัตถุประสงค์

  • เพื่อพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Professional) ให้มีปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และบุคลากรในสาขาอาชีพต่าง ๆ ทุกระดับ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ พัฒนา และใช้ ICT อย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง

  • เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นความมีเอกภาพ การบูรณาการ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม โดยใช้กลไกความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) อย่างเหมาะสม

  • เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตสู่การเพิ่มคุณค่า (Value Creation) ของสินค้าและบริการบนฐานความรู้และนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

  • เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและปัจเจกบุคคล โดยการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ ในกิจการของครัวเรือนและชุมชน รวมถึงในการแสวงหาความรู้ สร้างภูมิปัญญาการมีส่วนร่วมในระบบการเมืองการปกครอง และในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองและลดปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ

  • เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ในประเทศ การวิจัยและพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมไทย และเอกลักษณ์ของคนไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

โดยสรุปก็คือเน้นไปที่การพัฒนาความเข็งแกร่งทางด้าน ICT ให้กับ คน สังคม และธุรกิจ

เป้าหมาย

  • ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ มีความรอบรู้ สามารถเข้าถึง สร้างสรรค์ และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณ รู้เท่าทัน มีคุณธรรมและจริยธรรม (Information Literacy) ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน

  • ยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โดยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงสุด 25% (Top Quartile) ของประเทศทีีมีการจัดลำดับทั้งหมดใน Networked Readiness Index

  • เพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

เป้าหมายก็คือ สิ่งที่เป็นตัววัดว่าต้องทำเท่าใดจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ สรุปจากดัชนีทั้งสามก็คือ จำนวนผู้ใช้งานที่มีคุณภาพ อันดับในดัชนีชี้วัด และสัดส่วนในอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ของประเทศ

สรุปแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน

จากผลการวิเคราะห์สถานภาพของ ICT ในส่วนแรก และนำมาสู่การตั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ซึ่งเป็นกรอบกว้าง ๆ ของแนวทางที่จะทำ ซึ่งต้องนำมาแตกออกเป็นยุทธศาสตร์ย่อยอีกเพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ แผนแม่บทฉบับนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์ทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. การพัฒนากำลังคนด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน

  2. การบริหารจัดการระบบ ICT ระดับชาติอย่างมีธรรมาภิบาล

  3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

  4. การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ

  5. ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ

  6. การใช้ ICT เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

โดยแต่ละยุทธศาสตร์มีรายละเอียดโดยสรุปดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากำลังคนด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน

ยุทธศาสตร์แรกเป็นเรื่องของการพัฒนาคน โดยแบ่งเป็นสองส่วนหลักได้แก่

  1. การพัฒนาบุคลากรทางด้าน ICT อันได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ที่อยู่ในภาคการศีกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยเน้นไปที่การพัฒนาอาจารย์ การปรับปรุงการเรียนการสอน และส่งเสริมให้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้นำโอเพ่นซอร์สมาใช้ในการเรียนการสอนให้มากขึ้นด้วย นอกจากจะพัฒนาบุคลากรในภาคการศึกษาแล้ว ยังต้องพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยเน้นพัฒนาให้ได้คุณภาพมาตรฐานในระดับสากล

  2. การพัฒนาประชาชนทั่วไป ในส่วนนี้ได้แบ่งมาตรการเป็น 5 ข้อย่อย อันได้แก่

  • การนำ ICT มาใช้ในการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ และการสร้างสังคมเรียนรู้ออนไลน์ของนักเรียน

  • สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ทาง ICT ในชุมชนทั้วไป เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

  • ส่งเสริมทักษะทาง ICT ให้แก่แรงงานในสถานประกอบการต่าง ๆ ให้สามารถใช้ ICT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ทาง ICT แก่สังคมผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ

  • ผลักดันให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะทางด้าน ICT แก่บุคลากรภาครัฐ

ข้อนี้ชัดเจนมาก และคงไม่ต้องขยายความอะไรครับ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริหารจัดการระบบ ICT ระดับชาติอย่างมีธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์ที่ 2 นี้เน้นที่กลไกการบริหารจัดการ ICT ของรัฐ อันได้แก่

  1. การปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ICT ให้มีความเป็นเอกภาพและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

  2. ปรับปรุงกลไกการจัดการงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ ICT ให้คุ้มค่าและลดความซ้ำซ้อน

  3. พัฒนากฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ICT โดยเน้นที่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการปรับปรุงจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับ ICT ให้เน้นที่ความคุ้มค่าของงานมากกว่าราคาเพียงอย่างเดียว

ขอขยายความนิดนึงครับ กล่าวคือ หน่วยงานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับ ICT ของรัฐนั้นมีอยู่หลายหน่วยงาน อาทิเช่น กระทรวง ICT หรือ เนคเทค ซึ่งอยู่ภายใต้ สวทช. ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานนี้ ในปัจจุบันคงจะมีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ทิศทาง และการพัฒนาต่าง ๆ ที่ยังไม่มีเอกภาพเท่าที่ควร ยุทธศาสตร์นี้จึงมุ่งปรับปรุงตรงจุดนี้เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้มีบทบาทที่ชัดเจน มีเอกภาพมากขึ้น และมีผลงานและการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการมากขึ้นครับ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ยุทธศาสตร์นี้มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างทาง ICT ของประเทศในด้านต่าง ๆ อันได้แก่

  1. การประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐในเรื่อง ICT

  2. การขยายโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น

  3. สนับสนุนการเข้าถึง ICT เพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ห้องสมุด และชุมชน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  4. สนับสนุนการใช้งาน ICT ทีเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน เช่น การสาธารณสุขพื้นฐาน และการเตือนภัย เป็นต้น

  5. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงข่าย อันได้แก่ การจัดสรรคลื่นความถี่ การจัดทำฐานข้อมูลของโครงข่ายในประเทศ และมีนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้มาตรฐานสากล

  6. เสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของโครงข่าย ICT พื้นฐานและของหน่วยงานของรัฐ

ยุทธศาสตร์นี้ระบุทิศทางของการพัฒนาโครงข่ายครับ ว่านอกจากจะให้ทั่วถึงแล้ว ยังระบุชัดเจนเลยว่าเน้นไปที่การศึกษา สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน เป็นสำคัญ ดังนั้นหากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนต้องการจัดทำโครงการและของบประมาณสนับสนุนในการสร้างหรือขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ถ้าการใช้งานของโครงข่ายเน้นไปในสามด้านนี้ ท่านก็จะอ้างได้ว่าได้ทำตามแผนยุทธศาสตร์ ICT ของประเทศ ก็อาจจะเพิ่มโอกาสการได้งบประมาณนะครับ :-)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 นี้เน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพทางด้าน ICT ของบริการของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน โดยมีมาตรการสำคัญได้แก่

  1. เพิ่มศักยภาพของหน่วยงานกลางที่ดูแล ICT ของภาครัฐทุกหน่วยงาน

  2. ให้ทุกกระทรวงพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองแบบบูรณาการ นั่นคือต้องสามารถทำงานเข้ากับระบบบริการของกระทรวงอื่นอย่างเป็นเอกภาพด้วย

  3. เพิ่มศักยภาพการดำเนินงานด้าน ICT ของหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดและการปกครองส่วนท้องถิ่น

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ หน่วยงานภาครัฐทั้งหลายต่างก็มีหน่วยงานย่อยของตนเองอยู่ทั่วประเทศ เช่นกระทรวงสาธารณสุขก็มีสถานีอนามัยประจำจังหวัด อำเภอ และตำบลอยู่มากมาย กรมตำรวจก็มีโรงพักอยู่ทั่วประเทศ หน่วยงานเหล่านี้มีความต้องการใช้ ICT เพื่อติดต่อสื่อสารกัน แต่หน่วยงานเหล่านี้อาจไม่เชี่ยวชาญในระบบ ICT และสร้างระบบ ICT ของตนเองไปคนละทิศละทาง ดังนั้นจึงควรมีหน่วยงานกลางที่ดูแลเกี่ยวกับ ICT เช่น ออกแบบสถาปัตยกรรม กำหนดมาตรฐานการักษาความปลอดภัย กำหนดรูปเทคนิคในการเก็บข้อมูล เป็นต้น ให้กับหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน ซึ่งก็น่าจะทำให้ผลที่ได้คือได้มาตรฐานและเป็นเอกภาพมากขึ้นดังในหัวข้อย่อยที่ 2 และ 3 นั่นเอง ตัวอย่างของหน่วยงานในลักษณะนี้ก็มีอยู่แล้วคือ สบทร. แต่ปัจจุบันก็ไม่แน่ใจว่ามีหน่วยงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหรือเปล่า

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ

ยุทธศาสตร์นี้มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถและความแข้มแข็งของอุตสาหกรรม ICT ของประเทศ โดยมีมาตรการที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ICT รายใหม่

  2. ยกระดับมาตรฐานและบริการ ICT ให้เทียบเท่าระดับสากล ต่อยอดการพัฒนาเดิม และส่งเสริมการผลิตเทคโนโลยีต้นน้ำ

  3. ส่งเสริมการรวมตัวและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ICT

  4. ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม ICT ทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ

  5. ส่งเสริมการผลิตและบริการซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในประเทศไทย

ยุทธศาสตร์นี้ก็ค่อนข้างชัดเจนครับ ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็ยังคงอยู่ในแผนของประเทศไทยอีกวาระหนึ่ง :-)

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การใช้ ICT เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์นี้่ส่งเสริมภาคการผลิตต่าง ๆ ให้สามารถนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน มาตรการต่าง ๆ ของยุทธศาสตร์นี้ได้แก่

  1. สร้างความตระหนักและเพิ่มขีดความสามารถด้าน ICT ให้กับผู้ประกอบการ

  2. เสริมสร้างกลไกและความเชื่อมันในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

  3. ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ เช่น การเกษตร การสาธารณสุข และการท่องเที่ยว เป็นต้น

  4. ส่งเสริมให้ SME เข้าถึงและนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และหาช่องทางทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้กับสินค้าชุมชน (OTOP)

  5. ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ในประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กรต่าง ๆ

ยุทธศาสตร์นี้เน้นชัดเจนครับเกี่ยวกับการนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเต็มที่ และผลักดันให้ ICT เป็นเบื้องหลังที่สนับสนุนให้สิ่งที่กิจการที่ทำอยู่แล้วแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ฝากก่อนจบ

บทความนี้เป็นสรุปสาระสำคัญทั้งหมดของแผนแม่บทที่ผมพยายามจะเรียบเรียงให้กระชับ อ่านง่าย และเข้าใจครับ เพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าหมายของ ICT ของประเทศร่วมกัน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภาคส่วนใดของสังคมทั้งภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนทั่วไป ทุกท่านล้วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ICT ของประเทศไทยทั้งสิ้น ส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยมากที่สุดตรงที่ว่า อยากให้คนไทยใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ครับ ถ้าเราตระหนักตรงนี้ ช่วยกันบอกต่อ ปลูกฝัง และสร้างตัวอย่างให้เห็นมากขึ้น สังคมโดยรวมก็จะเริ่มปรับตัวและพัฒนาตามครับ

ที่มา – ข่าวเก่า blognone, ดาวน์โหลดแผนแม่บท ICT แห่งชาติฉบับที่ 2

Get latest news from Blognone

Comments

By: platalay
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 9 November 2010 - 14:45 #230358

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ยุทธศาสตร์นีุ้ม่งเน้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างทาง ICT ของประเทศในด้านต่าง ๆ อันได้แก่

คำว่า นี้มุ่งเน้น พิมพ์พลาดครับ นอ อี อุ ไม้โท มอ ไม้เอก งอ

By: lch
ContributoriPhoneUbuntu
on 9 November 2010 - 16:45 #230379 Reply to:230358

แก้แล้วครับ ขอบคุณครับ

By: powerpat
iPhoneAndroid
on 9 November 2010 - 16:24 #230377
powerpat's picture

ขอบคุณครับ ยาวมากๆ

By: bow_der_kleine
WriterAndroidUbuntu
on 9 November 2010 - 16:29 #230378
bow_der_kleine's picture

"ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) ด้วย ICT"

เริ่มด้วยการเลิกการเซนเซอร์ อย่างอื่นค่อยว่ากัน เพราะหากเขียนประโยคนี้มา แต่การเซนเซอร์ยังคงอยู่ ทุกอย่างที่เขียนต่อจากนั้นก็หมดความหมาย

By: pittaya
WriterAndroidUbuntuIn Love
on 9 November 2010 - 18:26 #230409 Reply to:230378
pittaya's picture

จริง!


pittaya.com

By: bean3g
Windows PhoneUbuntu
on 10 November 2010 - 10:08 #230640 Reply to:230378

ถ้าเขียนเป็น "ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญหา (Trouble Thailand) ด้วย MICT"
จะถูกต้องกว่า

By: kittipat
ContributorAndroidUbuntu
on 10 November 2010 - 13:38 #230700 Reply to:230640

+100

By: bow_der_kleine
WriterAndroidUbuntu
on 10 November 2010 - 16:01 #230753 Reply to:230640
bow_der_kleine's picture

+100

By: rattananen
AndroidWindows
on 9 November 2010 - 16:52 #230383

อยากจะช่วยออกความคิดหรือช่วยพัฒนาบ้าง
แต่มีปัญญาแค่ดู

By: oooki
ContributoriPhoneRed HatSymbian
on 9 November 2010 - 16:52 #230385

เหมือนไม่นานมานี้ยังมีคนบอกว่าไม่จำเป็นอยู่เลย ระดับผู้บริหารยังคิดแบบนี้แล้วมันจะพัฒนาได้มั้ย

By: khajochi
WriteriPhoneIn Love
on 9 November 2010 - 18:06 #230406
khajochi's picture

อ่านแล้วมันช่างดูกว๊างงงง กว้าง เหมือนสำนวนหาเสียงยังไงชอบกล


แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com

By: bow_der_kleine
WriterAndroidUbuntu
on 9 November 2010 - 19:36 #230420 Reply to:230406
bow_der_kleine's picture

โดยปกติการวางแผนเชิงนโยบายควรวางไว้กว้าง ๆ ครับ แต่กว้างขนาดนี้ก็เกินไป ผมตามไปอ่านเอกสารฉบับจริง (แบบผ่าน ๆ) ก็มีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมอยู่บ้าง แต่นโยบายก็กว้าง และกระจายมากจริง ๆ จนผมสงสัยว่าด้วยบุคคลากร และงบที่มีจำกัด จะทำได้ขนาดนั้นหรือเปล่า จะดีกว่าไหมหากจะฟันธงไปเลยว่าจะสนับสนุนด้านไหนเป็นพิเศษ

หากจะกำหนดทิศทางแบบไปทุกทิศทาง มันก็คือไม่มีทิศทางนั่นแหละ

By: kittipat
ContributorAndroidUbuntu
on 9 November 2010 - 19:22 #230414

ยังอ่านไม่จบ แต่สงสัยว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาด้าน backbone จริงๆ หรือ แล้วทำไมการเชื่อมต่อไปต่างประเทศมันถึงเต่านัก

By: kittipat
ContributorAndroidUbuntu
on 9 November 2010 - 20:29 #230431

ส่งเสริมการผลิตเทคโนโลยีต้นน้ำ

ต้นถึงแค่ไหนกันหนอ จะได้เห็น CPU สัญชาติไทยไหมหนอ เอาแค่ไปซื้อแบบจาก ARM มาผลิตก่อนก็ได้

By: tomyum
ContributorAndroidWindows
on 9 November 2010 - 22:20 #230466 Reply to:230431
tomyum's picture

ผลักดัน Android เป็น OS แห่งซาติ!

By: bean3g
Windows PhoneUbuntu
on 10 November 2010 - 10:10 #230643 Reply to:230466

ผลักดัน Linux ดีกว่าไหมครับ ไม่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเจ้าของ

By: neverlock on 10 November 2010 - 23:37 #230880 Reply to:230431

น่าจะหมายถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็น Opensource หรือ Open platform ต่างๆ นะครับ

By: kittipat
ContributorAndroidUbuntu
on 13 November 2010 - 04:38 #231516 Reply to:230880

คือผมมองว่าการพัฒนาแต่ซอฟท์แวร์ทำให้ต้องเล่นเกมของผู้ตามตลอดเวลา ไม่มีทางแซงได้เลย อย่างอินเดียถึงจะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพัฒนาซอฟท์แวร์มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นมีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นนวัตรกรรมออกมา ไม่เหมือนกับอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่สามารถผลักดันอะไรใหม่ๆ ออกมาได้ เพราะว่ามีอุตสาหกรรมที่ครบวงจร

By: toppukuma on 9 November 2010 - 22:23 #230467

Sophisticate strategy..... horrible implementation

By: jane
AndroidUbuntu
on 10 November 2010 - 00:50 #230532
jane's picture

ของการศึกษา กำลังทำ backbone ไปถึงอาชีวะ ทุกแห่ง อย่างน้อย 1Gbps

และทุกๆ จังหวัด มี bandwidth อย่างน้อย n x 10Gbps(ตอนนี้ DWDM ทยอย up แล้ว กำลังรอ Router ขนมาติดตามโหนดทุกจังหวัด)
ตามแผนงาน อาชีวะทุกแห่ง ได้ใช้ 1Gbps เดือน เมษา ปี 2554

ส่วนโรงเรียน 3000 โรงเรียนจะได้ bandwidth 100Mbps เริ่มใช้งานได้ราวปี 2555

By: kittipat
ContributorAndroidUbuntu
on 10 November 2010 - 02:17 #230552 Reply to:230532

ทุกๆ จังหวัด มี bandwidth อย่างน้อย n x 10Gbps(ตอนนี้ DWDM ทยอย up แล้ว กำลังรอ Router ขนมาติดตามโหนดทุกจังหวัด)

เฉลี่ยต่อหัวแล้วน้อยมากนะครับ

By: jane
AndroidUbuntu
on 10 November 2010 - 19:09 #230809 Reply to:230552
jane's picture

Bandwidth มีเท่าไหร่ ก็ไม่พอครับ ต้องเอาเงินไปถม อย่างเดียว

แต่ที่ทำๆ ไป เร็วกว่า ip star หรือ leased line 2Mbps จาก TOT แน่นอน

By: LazarusSP1
ContributoriPhone
on 10 November 2010 - 01:16 #230544

มีคนคิด ไม่มีคนทำ?

By: ipangsu on 10 November 2010 - 06:37 #230561

ไม่อยากคาดหวัง...

By: iAmbAsE
Android
on 10 November 2010 - 09:31 #230618
iAmbAsE's picture

ผมไม่อยากบ่น

แต่ขอเปลี่ยนเป็นให้กำลังใจผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนทุกประการ

By: lawender
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 10 November 2010 - 12:05 #230674

เห็นผลงานการบล็อคคลิปศาลรธน.ล่าสุด
ก็เลิกหวังอะไรกับกระทรวงแล้วล่ะครับ

แผนงานมันก็ดีนะครับ
แต่ผลงานมันไม่มี หลังๆเจ้ากระทรวงแต่ละคน ก็แบบ...
บางคน email ยังใช้ไม่เป็น แล้วจะอ่านแผนรู้เรื่องไหม

By: week
Windows PhoneBlackberry
on 10 November 2010 - 18:33 #230792

ในแผนไม่เห็นมีบอกระยะเวลา ว่าจะให้บรรลุตามเป้าหมายเมื่อไหร่ หรือผมอ่านตกไป?

By: lch
ContributoriPhoneUbuntu
on 11 November 2010 - 12:54 #231066 Reply to:230792

แผนนี้สำหรับปี 2552 - 2556 ครับ

By: Tinuviel on 10 November 2010 - 21:51 #230839

อ่านจบแล้ว แต่รู้สึกเหมือนมีแต่ถ้อยคำสวยหรูฟังยาก เหมือนจะเท่ห์ ทางปฏิบัติทำไม่ได้

เอาจริงๆ สบทร. ทำอะไร แต่ละหน่วยงานก็ยังจ้างพัฒนากันเองตามใจชอบ

การยุบหน่วยงานรัฐที่ทำงานซ้ำซ้อน เอาจริงๆ ทำได้หรือเปล่า ใครจะยอมยุบหน่วยงานตัวเอง ตกงาน เสียหน้า ต่างคนต่างก็โฆษณาผลงานกันใหญ่ (ละไว้ก่อนว่าผลงานจริงหรือผลงานเอาหน้า ค่อยว่าอีกที)

พูดมากไปก็เหมือนบ่น เพราะทำอะไรไม่ได้

By: l2aelba
iPhoneAndroid
on 11 November 2010 - 03:04 #230931
l2aelba's picture

ขอไำม่อ่านครับ รอคนรุ่นใหม่มาเป็นหัวหน้ากระทรวงแล้วจะอ่านครับ

By: lch
ContributoriPhoneUbuntu
on 11 November 2010 - 13:22 #231078

บอกตามตรงว่า ผมอ่านคอมเม้นแล้วก็สะเทือนใจเหมือนกันนะครับ

ผมเข้าใจและเห็นด้วยนะครับ ดูแนวโน้มแล้ว รัฐบาลและกระทรวงก็คงทำไม่ได้หลายอย่างตามที่เขียนไว้ ผมก็เห็นด้วยตามนั้นจริง ๆ และก็เห็นว่าควรตำหนิบุคคลหรือองค์กรดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายข้อนะครับ ที่เป็นบทบาทของเราในฐานะประชาชนทั่วไป และก็มีอีกหลายส่วนที่เกีี่ยวข้องกับสาขาอาชีพต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐก็เช่น ครู อาจารย์ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่าง ๆ ภาคเอกชนก็เช่น บริษัทต่าง ๆ อาจจะนำเรื่องการใข้งาน ICT เข้ามาอยู่ในแผนบ้าง เป็นต้นครับ

ผมขอยกตัวอย่างร้านสุกี้ mk นะครับ ระบบข้างในผมไม่ทราบว่าเค้ามีอะไรบ้าง แต่ในฐานะผู้บริโภคผมก็เห็นว่าว่าเค้านำ pda มาสั่งอาหาร ซึ่งก็คิดว่าใช้กับธุรกิจได้ดีนะครับ ตรงนี้ก็น่าจะเป็นตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านบางท่านนำการใช้งาน ICT แบบนี้มาใช้บ้าง ถ้ามันไม่คุ้มไม่อะไร ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าโอกาสเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ก็อาจจะค่อยคิดอีกที แค่นี้ เราก็มีความพยายามที่จะช่วยให้แผนแม่บทมันเดินหน้าไปนะครับ

อีกอย่างคือ แผนแม่บทนี้ เหมือนเป็นแผนการแก้ปัญหานะครับ ซึ่งปัญหาก็มีหลายข้อ ไม่ใช่ข้อเดียว ถ้าข้อใดยังแก้ไม่ได้ อีก 4 ปีข้างหน้าก็ต้องมาแก้ปัญหาเดิม ก็ย้ำอยู่กับที่ ถ้าข้อใดแก้ได้ งวดถัดไปก็เอาเวลาไปแก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อไป

ดังนั้น สำหรับประชาชน แผนเค้าบอกว่าเรายังใช้ ICT ไม่เกิดประโยชน์ สมมติว่าเราช่วยกันจนกระทั่งคนไทยเข้าถึงและใช้ ICT ได้มีประโยชน์ คุ้มค่า ก็เหมือนส่วนของเราได้แก้ปัญหาไปแล้ว เราก็น่าจะภูมิใจ ส่วนเรื่องของหน่วยงานรัฐที่ซ้ำซ้อนเอย การศึกษาเอย ถ้าเค้าไม่ทำ เค้าก็ต้องแก้กันต่อไปไงครับ สิ่งที่เราทำถึงแม้มันไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่มันก็จะมีส่วนช่วยนะครับ

By: SnowBEE
AndroidWindows
on 11 November 2010 - 14:57 #231118

"แผนแม่บท ICT แห่งชาติ"

ผมดีใจนะครับที่มีแผนนี้ ได้อ่านแ้ล้วก็รู้สึกดีรู้สึกถึงอนาคตของประเทศ

อาจจะทำได้ไม่ 100 % เพราะมันคือแผนและมีปัจจัยหลายๆอย่าง

ที่สำคัญที่สุดคือตัวบุคคล

ตัวบุคคลที่ว่า ไม่ใช่แค่พนักงานภาครัฐ เพียงแค่ฝ่ายเดียว มันหมายถึงเอกชนและประชาชนต้องร่วมกันด้วย

ใช่ที่ว่าพนักงานภาครัฐ มีส่วนสำคัญและหลายๆคนชอบด่า

ผมรู้ว่าทำไม พนักงานภาครัฐ ถึงไม่มีประสิทธิภาพ

เหตุผลคือ คนมีประสิทธิภาพชอบมานั่งบนนั่งด่าในกระทู้ ไม่อ่านก็ยังด่า ไม่รู้เรื่องก็ด่าไว้ก่อน ไม่ยอมสมัครงานไปเป็นพนักงานภาครัฐ เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศเจริญๆ

ปล.นักการเมือง คือ ปัจจุบันและจะเป็นอดีต
ส่วนพวกเราคือ ปัจจุบันและอนาคต ไม่ต้องรอคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเกิดหรอกครับ แค่คุณคิดอยากทำงานเพื่อชาติ แล้วลงมือทำ ประเทศก็จะไม่เป็นแบบปัจจุบัน

By: platalay
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 12 November 2010 - 04:32 #231270 Reply to:231118

ตัวบุคคลที่ว่า ไม่ใช่แค่พนักงานภาครัฐ เพียงแค่ฝ่ายเดียว มันหมายถึงเอกชนและประชาชนต้องร่วมกันด้วย
ใช่ที่ว่าพนักงานภาครัฐ มีส่วนสำคัญและหลายๆคนชอบด่า
ผมรู้ว่าทำไม พนักงานภาครัฐ ถึงไม่มีประสิทธิภาพ
เหตุผลคือ คนมีประสิทธิภาพชอบมานั่งบนนั่งด่าในกระทู้ ไม่อ่านก็ยังด่า ไม่รู้เรื่องก็ด่าไว้ก่อน ไม่ยอมสมัครงานไปเป็นพนักงานภาครัฐ เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศเจริญๆ

ก่อนอื่นขอถามว่า คุณเคยทำงาน ร่วมงานกับภาครัฐมั่งรึปล่าว ลองทำดูแล้วจะรู้ว่าทำไมคนมีประสิทธิภาพส่วนมากถึงไม่ยอมไปร่วมงานกับภาครัฐ

เก่งแต่ไม่มีอำนาจ เลียแข้งเลียขาเจ้านายไม่เป็นก็เท่านั้น
สู้พวกโง่ๆแต่เลียเก่งไม่ได้ แถมคนที่ถูกเลียยังเป็นคนโง่ที่มีอำนาจอีก

By: SnowBEE
AndroidWindows
on 12 November 2010 - 11:01 #231341 Reply to:231270

ทุกวันนี้ก็ยังร่วมงานอยู่ครับ ทำจนรู้ว่าการโกงกินมีอยู่ทุกๆตารางนิ้ว

คนพวกนี้มีอยู่มากกกกกกกกกกกกก (คนดีๆมีประสิทธิภาพก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน)

แล้วทางแก้ละครับ
ผมก็ยังคิดว่าทางแก้ก็คือ คนดีๆมีประสิทธิภาพต้องเข้าไปแทนที่คนพวกนี้ (ไม่ใช่เข้าไปแล้วก็กลายเป็นคนพวกนี้)
ชึ่งไม่ใช่มาวิจารณ์แผนของประเทศโดยที่ยังไม่ได้อ่านอะไรเลย และก็ไม่ได้บอกแค่ว่าปล่อยๆมันไป

By: Tinuviel on 11 November 2010 - 17:07 #231159

เอาทีละเรื่อง อย่างเรื่องหน่วยงานรัฐซ้ำซ้อน ดร.ท่านที่เป็นคนเขียนแผนก่อตั้งแต่ละหน่วยเมื่อสิบปีก่อน ท่านยังเคยออกมาบ่นเองในงานประชุมสัมมนา แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายทุกหน่วยงานมาทำอย่างเดียวกัน คือจัดอบรม-สัมมนา 555 (มันง่ายดีหนิ ใช้งบเปลืองดีด้วย) ขนาด ดร. ท่านคนเขียนแผนเอง ยังทำอะไรไม่ได้เลย แต่ช่วงหลังนี้ก็รู้สึกว่าค่อยๆ ดีขึ้นแล้วนะ การที่การทำงานของรัฐจะดีขึ้นมันก็ต้องเกิดจากการผลักดันของพวกเราๆ นี่แหละ ดันแล้วต้องดันต่อไปเรื่อยๆ อย่าปล่อยมือ สนับสนุนและให้กำลังใจคนที่เป็นตัวแทนเราเข้าไปทำงานด้วย ไม่งั้นเขาเหนื่อยหมดแรง เลิกทำ เราก็จะมาบ่นกันอีก

ส่วนที่เราทำได้

  • -การผลักดันผ่านสมาคมวิชาชีพหรือสมาคมการค้า (ATCI, ATSI, กลุ่ม opensource, ฯลฯ) ซึ่งผู้ประกอบการไม่ว่าเล็กใหญ่ ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ฟีดแบ็กข้อมูลเข้าไปที่สมาคมมากๆ และไปลงคะแนนเลือกตัวแทนให้เข้าไปทำงานในสมาคมให้มีประสิทธิภาพ

  • -กดดันทางสื่อต่างๆ อย่างเช่นที่ blongnone นี่เป็นต้น ;) ดูสิ พรบ. กสทช. ผ่านแล้วเห็นป่าว คงจำนวนกรรมการ 11 คนเท่าเดิมด้วย

  • -หมั่นตรวจสอบและเผยแพร่ อย่างเช่นการเอาแผนแม่บทมาย่อยให้คนทั่วไปอ่านนี้ก็ดี การติดตามการใช้งบประมาณของภาครัฐและเอามาเผยแพร่ก็ดี เป็นการสร้างกลไกการตรวจสอบจากประชาชนเอง แม้รัฐไม่กำหนดเกณฑ์หรือกระบวนวิธีประเมินผลโครงการว่าสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร เราจัดการตรวจสอบกันเอง (แต่ต้องมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลด้วยนะ)

  • -สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง อย่าทะเลาะกันเอง ช่วยกันทำสิ่งที่เกิดผลงอกเงย

เรื่องการใช้ ICT ในภาคเอกชน เป็นเรื่องของเอกชน เขาจะทำก็เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ถ้าไม่คุ้มจะทำทำไม ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เขาจะต้องมาทำเพียงเพื่อ "บรรลุแผนแม่บทฯ" ในทำนองเดียวกัน การมุ่งจะทำแต่ผลงานให้ได้ชื่อว่าบรรลุตามแผนแม่บทโดยไม่ได้มองถึงผลลัพธ์และประโยชน์ที่แท้จริง ก็เป็นหายนะไม่แพ้กัน

ประเด็น "คนมีประสิทธิภาพไม่ยอมไปสมัครงานภาครัฐ" -- ประเทศนี้เสรีประชาธิปไตยหรือเปล่าคะ คนๆ หนึ่งมีสิทธิทำในสิ่งที่เขาอยากทำค่ะ อุดมการณ์อย่างเดียวไม่พอค่ะ รัฐสร้าง environment ที่จะดึงดูดคนเก่งให้อยากทำกับรัฐสิคะ ทำอย่างไรหรือคะ วนกลับไปดูย่อหน้าข้างบน

By: bow_der_kleine
WriterAndroidUbuntu
on 11 November 2010 - 20:04 #231201 Reply to:231159
bow_der_kleine's picture

+4096

By: lch
ContributoriPhoneUbuntu
on 12 November 2010 - 06:49 #231276 Reply to:231159

+1024

By: AcMeRPG on 12 November 2010 - 12:11 #231361

"อย่าทะเลาะกันเอง"
+1

By: Virusfowl
ContributorAndroidSymbianWindows
on 12 November 2010 - 16:33 #231396

ที่อยากเห็นมั่กๆ ตอนนี้ก็คือ แผนแม่บทการใช้คลื่นความถี่ ออกมาสักทีเต๊อะ

คำผิดนะครับ (เยอะมากๆ เกือบขี้เกียดลิสมาละ) แต่ก็ดี ถือว่าได้อ่าน 2 รอบ อิๆ

  • พัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทีมมีธรรมาภิบาล = ที่มี
  • โดยสรุปก็คือเน้นไปที่การพัฒนาความเข็งแกร่งทางด้าน = แข็งแกร่ง
  • ของประเทศทีีมีการจัดลำดับทั้งหมดใน = ที่มี
  • เพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสในระบบเศรษฐกิจของประเทศ = "สื่อสารใน" มี ส เกินมาครับ
  • การพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ที่อยู่ในภาคการศีกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา = ศึกษา
  • อีกทั้งยังส่งเสริมให้นำโอเพ่นซอร์สมาใช้ในการเรียนการสอนให้มากขึ้นด้วย = โอเพนซอร์ส เข้าใจว่าตรงนี้มี ไม้เอก เกินมา เทียบจากคำอื่นในบทความ
  • สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ทาง ICT ในชุมชนทั้วไป = ทั่วไป
  • สนับสนุนการใช้งาน ICT ทีเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน = ที่เกี่ยว
  • กำหนดมาตรฐานการักษาความปลอดภัย = การรักษา ร ตกไปตัวนึงครับ
  • ยุทธศาสตร์นี้มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถและความแข้มแข็งของอุตสาหกรรม ICT = เข้มแข็ง
  • ยุทธศาสตร์นี้่ส่งเสริมภาคการผลิตต่าง ๆ = นี้ ถูกแล้ว แต่มี ไม้เอก เกินมาครับ
  • เสริมสร้างกลไกและความเชื่อมันในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ = เชื่อมั่น ไม้เอก ตกไปครับ
  • ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ในประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กรต่าง ๆ = ในการประหยัด หรือเปล่าครับ ตกคำว่า การ ไป

ป.ล. เห็นคำว่า "โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ" ในแผนพัฒนาต่างๆ แล้วแอบงง ว่าคนปกติไม่มีปัญหาเหล่านี้ด้วยหรือไง ทำไมต้องเน้นเฉพาะ คนกลุ่มนี้ด้วยอ่า แต่ก็ถือว่าดีที่เขาเน้นเป็นพิเศษ จะได้ได้อะไรพิเศษๆ มากกว่ากลุ่มอื่นด้วยแหละ (มั้ง?)


@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.

By: mk
FounderAndroid
on 14 November 2010 - 23:01 #231949 Reply to:231396
mk's picture

แผนแม่บทคลื่นความถี่ ต้องรอตั้ง กสทช. ได้ครบคณะก่อนครับ จึงจะมีอำนาจทำได้

By: Virusfowl
ContributorAndroidSymbianWindows
on 17 November 2010 - 20:43 #232934 Reply to:231949

ทราบครับ ถึงบอกว่าอยากเห็นเร็วๆ +


@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.

By: kowito
Android
on 15 November 2010 - 17:54 #232170 Reply to:231396

ขี้เกียด = ขี้เกียจ
ลิส = ลิสต์

By: lch
ContributoriPhoneUbuntu
on 14 November 2010 - 10:35 #231821

+10 ขอบคุณหลาย ๆ ครับ :-)

By: tahra
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 28 April 2011 - 20:07 #283264

ผมอ่านยังไม่หมดหรอกครับ แต่ก็ขอบคุณครับที่แบ่งปันความรู้