Tags:
Node Thumbnail

ทิ้งช่วงไปนานสักหน่อย ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายในซีรีย์ Firefox Summit โดยจะพาไปดูผลงานของ Mozilla Labs

สถาปัตยกรรมการพัฒนาแบบเปิด

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปกล่าวถึงแนวคิดของ Firefox และซอฟต์แวร์รุ่นใหม่หลายๆ ตัวกันก่อน ปัญหาอมตะอันหนึ่งของวงการซอฟต์แวร์คือ ควรจะเพิ่ม/ไม่เพิ่มฟีเจอร์อะไรลงไปในซอฟต์แวร์รุ่นถัดไปที่จะพัฒนา การเพิ่มฟีเจอร์ไม่ใช่เรื่องที่อยากจะทำก็ทำได้เลยทันที ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ต้องใช้เวลาและแรงงานโปรแกรมเมอร์
  • การเพิ่มฟีเจอร์มีโอกาสเกิดบั๊กใหม่สูง
  • ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาต้องถูกแสดงให้ผู้ใช้เห็น ซึ่งแปลว่าเมนูกับปุ่มใหม่ๆ จะเพิ่มเข้ามา ทำให้หน้าตาของโปรแกรมดูรกรุงรังมากขึ้น
  • โปรแกรมบริโภคหน่วยความจำมากขึ้น ต้องการสเปกเครื่องสูงขึ้น ทำงานได้ช้าลง

ตัวอย่างที่ทุกคนรู้จักดีแน่นอนคือ Microsoft Office ซึ่งเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เข้ามาทุกรุ่น แต่ปรากฎว่าจากสถิติมีคนใช้ฟีเจอร์ซับซ้อนน้อยมาก (เพราะเอาเข้าจริง คนส่วนใหญ่ใช้พิมพ์รายงาน จดหมายราชการกันเท่านั้น) ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องแก้ปัญหาเรื่อง UI หลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นเมนูแบบซ่อนได้ (ถ้าจำไม่ผิดมาใน Office 97) หรือคลิปหนีบกระดาษแสนรักของทุกคน จนกระทั่งมาเป็น Ribbon ใน Office 2007

แนวทางใหม่สำหรับแก้ปัญหานี้คือ พัฒนาเฉพาะส่วนหลัก (core) ของโปรแกรมที่สำคัญ และมั่นใจว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์เหล่านี้แน่ ส่วนฟีเจอร์เฉพาะทางอื่นๆ ที่ผู้ใช้ไม่เยอะมากนัก ก็เปลี่ยนมันมาเป็นส่วนเสริมที่สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งเองได้แทน โดยตัวโปรแกรมหลักจะเปิดช่องทางสำหรับสร้างและติดตั้งส่วนเสริมเหล่านี้ได้อย่างสะดวก

ถ้าไม่นับ Firefox และ extension ทั้งมวล ซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ใช้หลักการนี้ก็อย่างเช่น Eclipse, Drupal, WordPress เป็นต้น (OpenOffice.org ก็กำลังพยายามดำเนินรอยตามความสำเร็จนี้อยู่) สถาปัตยกรรมแบบนี้ก็เรียกกันง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่า Open Architecture ครับ

ข้อดีอีกอย่างของวิธีนี้คือ extension จะเป็นการทดสอบฟีเจอร์หรือไอเดียใหม่ๆ ว่าเวิร์คหรือไม่เป็นการล่วงหน้า แทนที่จะสร้างฟีเจอร์ใหม่ในตัวโปรแกรมหลักซึ่งไม่มีใครรู้ว่าคนจะใช้เยอะแค่ไหนก่อนทดลองใช้จริงๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ทำแล้วคนจะไม่ใช้ (ซึ่งเปลือง UI + เปลืองแรมตามที่เขียนไปแล้ว) ก็ทำเป็น extension ที่ไม่บังคับโหลด มาให้คนลองก่อนดีกว่าว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วเวิร์คหรือเปล่า

ถ้าไม่เวิร์คก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเวิร์คมากๆ ก็จับมันมารวมกับตัวโปรแกรมหลักเสียเลย ผู้ใช้โปรแกรมของเราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปดาวน์โหลด extension เพิ่มเอาเองทุกครั้ง

ย่อหน้าเมื่อกี้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนา Firefox ถ้าใครติดตามใกล้ชิดหน่อย จะเห็นว่าทั้งใน Firefox 1.5, 2.0 และ 3.0 นั้น ได้นำเอาโค้ด (หรือบางทีก็เฉพาะแนวคิด) ของ extension บางตัวใส่เข้ามาในส่วนหลักของโปรแกรมเรื่อยๆ อย่างที่ผมนึกออกตอนนี้ อันที่ถูกรวมเข้ามาคือ ระบบจัดการแท็บที่พัฒนาขึ้นชัดเจนระหว่าง Firefox 1.0 ถึง 2.0 (ไม่เปลี่ยนมากนักใน 2.0 มา 3.0) หรือ Session Saver ซึ่งเคยเป็น extension มาก่อน

Mozilla Labs

วกเข้าเรื่องว่า Mozilla Labs เกี่ยวอะไรด้วย? ปัจจุบัน Firefox ถูกดาวน์โหลดไปแล้วเกิน 500 ล้านครั้ง มีผู้ใช้จำนวนมากมาย และมีไอเดียนำเสนอๆ เยอะมากว่า Firefox ในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ไอเดียหลายอันโชคดีถ้าผู้เสนอเขียนโปรแกรมเป็น ก็จะพัฒนาเป็น extension ออกมาให้เราได้ลองใช้กัน แต่ในขณะที่บางไอเดียแจ่มมาก แต่กลับไม่มี extension เกิดขึ้นมา เพราะไม่มีคนทำ

ทาง Mozilla ซึ่งเดิมพัฒนาแต่ตัวโปรแกรมหลักของ Firefox ไม่ได้ทำ extension จึงเห็นช่องว่างตรงนี้ และตั้ง Mozilla Labs ขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยวิจัยของ Mozilla สำหรับค้นหาทิศทางในอนาคตของเบราว์เซอร์ ผ่านการสร้าง extension จากไอเดียต่างๆ ที่มีคนเสนอเข้ามา (และ Mozilla Labs เห็นว่าน่าสนใจ) เช่นเคยว่าถ้าไอเดียเหล่านี้เวิร์ค มันก็มีโอกาสจะเข้าไปอยู่ใน Firefox ได้อย่างไม่ยากนัก (เพราะคนทำ Firefox ก็นั่งอยู่ข้างๆ คนทำ Mozilla Labs ตะโกนบอกกันได้เลย "เฮ้ย เอาเข้าหน่อยนะ" :P)

งาน Firefox Summit ครั้งนี้ เกือบครึ่งนึงของหัวข้อทั้งหมดเป็นของโชว์จากทาง Mozilla Labs โครงการย่อยต่างๆ เสมือนเป็นการนำไอเดียมาโชว์ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา (ซึ่งเป็นกลุ่มนักพัฒนาที่ใกล้โครงการ Mozilla ที่สุด) ทดลองและให้ความเห็นแบบใกล้ชิดเป็นการภายใน ก่อนจะเปิดตัวออกไปให้คนบนอินเทอร์เน็ตได้ลองใช้กันอีกต่อหนึ่ง (ดังนั้นข่าวของ Mozilla หลายๆ ชิ้นที่ลงในสื่อทั้งไทยและเทศช่วงหลังๆ นี้ ผมรู้ล่วงหน้า เพียงแต่เพิ่งมีโอกาสได้เขียนลง Blognone แบบละเอียดก็สายไปเกือบเดือน)

ผมโชคดีได้นั่งกินข้าวเย็นติดกับ Chris Beard ซึ่งเป็นหัวหน้าของ Mozilla Labs (เนื่องจากมีเก้าอี้ว่างอยู่ตรงข้างพี่แกพอดี) เลยได้คุยกันเรื่องนี้นิดหน่อย ไม่มีข้อมูลพิเศษอะไรมากเพราะว่าพูดใน session ปกติอยู่แล้ว (แถมคำถามหลายๆ อันจากบรรดาแฮกเกอร์ ก็เล่นเอาคนของ Mozilla Labs ตอบไม่ถูกเสียด้วยซ้ำ) ข้อมูลที่ได้มาคือปัจจุบัน Mozilla Labs มีพนักงานประจำประมาณ 8-9 คน นั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ Mozilla ในแคลิฟอร์เนีย แถมล่าสุดยังได้ทีมออกแบบ usability จากบริษัท Humanized เพิ่มมาอีก 3 คน (ข่าวนี้ใน TechCrunch) ซึ่งในนี้มี Aza Raskin ลูกชายของ Jef Raskin คนออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ของแมคอินทอชเครื่องแรกสุดอีกด้วย (Aza นี่เด็กมากๆ เกิดปี 1984 เอง แต่ตอนนี้มีตำแหน่งเป็น Head of User Experience ของ Mozilla Labs ไปแล้ว)

ส่วนข้อมูลของแต่ละโครงการย่อย จะแทรกไว้ในส่วนของแต่ละโครงการนะครับ หน้าโครงการทั้งหมดของ Mozilla Labs อยู่บนเว็บไซต์

Weave

Weave Logo

โครงการ Weave เป็นหนึ่งในสองโครงการหลักของ Mozilla Labs (อีกอันคือ Prism) โครงการนี้ Chris Beard เป็นคนพัฒนาเอง

Weave นี้ออกมาให้เล่นกันนานแล้ว และก็เชื่อว่ามีหลายคนลองเอาไปเล่นกันแล้ว ถ้าใครสนใจคงทดลองกันได้ไม่ยาก สรุปสั้นๆ มันเป็นบริการเก็บ Bookmarks และข้อมูลอื่นๆ ของ Firefox (เช่น รหัสผ่าน, History) ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของ Mozilla และสามารถ sync ข้ามไปยัง Firefox บนเครื่องอื่นๆ ที่สำคัญถ้าดูจากภาพนี้ จะเห็นว่าเป้าหมายสำคัญของมันคือ Fennec (อ่านรายละเอียดของ Fennec ได้ในตอนที่สอง)

alt="Weave"

หลายคนอาจบอกว่า มันต่างกับบริการคล้ายๆ กันอย่าง Opera Link, MobileMe, Google Browser Sync หรือ Foxmarks อย่างไร ถ้าดูเฉพาะความสามารถก็ต้องบอกว่าเหมือนกัน แต่เนื่องจาก Mozilla เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร จึงมองเรื่องการเก็บข้อมูลไว้บนเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ Mozilla ด้วย (โดยการเปิดซอร์สส่วนเซิร์ฟเวอร์ของ Weave) สำหรับคนที่เป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวที่จะเอาประวัติการท่องเว็บ (ที่คุณก็รู้ว่าเว็บอะไร) ไปไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของ Mozilla ก็สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ Weave ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (เป็น WebDAV + โปรโตคอลเพิ่มเติมของตัวเอง) ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองได้

ส่วนถ้าใครขี้เกียจทำเซิร์ฟเวอร์เอง จะใช้เซิร์ฟเวอร์ของ Mozilla เค้าก็เตรียมแก้ปัญหานี้โดยใช้ public key เข้ารหัสข้อมูลก่อนส่งครับ รายละเอียดเรื่องการเข้ารหัสฟังดูค่อนข้างยุ่งยากสำหรับผู้ใช้ปกติ (แค่สอนว่า public key คืออะไรก็ยากแล้ว) ต้องรอดูว่าทาง Mozilla จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

แต่ที่ผมว่าน่าสนใจกว่าคือการเตรียมพร้อมสำหรับ Fennec ซึ่งถ้าสมมติว่ามันเสร็จ เราก็จะหยิบมือถือขึ้นมา แล้วเปิดเว็บจาก Bookmark ชุดเดียวกับ Firefox บนพีซีได้ทันที

alt="Weave Web Interface"

นอกจากจะ sync ข้ามไปยัง Firefox ตัวอื่นๆ แล้ว ฟีเจอร์อีกอันหนึ่งของ Weave ที่ยังไม่เสร็จดีนักคือการแชร์ Bookmark (คล้ายๆ Delicious) ตอนนี้ที่มีโชว์คือแสดง Bookmark ของเราผ่านเว็บอินเทอร์เฟซให้กดได้สะดวกๆ ถ้าใช้ผ่านเบราว์เซอร์ตัวอื่น

Chris Beard เล่าข้อมูลวงในผมสองอย่างว่า การตัดสินใจพัฒนาระบบของ Weave บน WebDAV นั้นผิดพลาด เพราะเอาจริงแล้ว WebDAV ห่วยมาก (เค้าว่ามาแบบนี้ผมไม่เคยลองเอง) อีกเรื่องคือเนื่องจาก Weave แข่งกับ Foxmarks โดยตรง ทาง Mozilla จึงโดนโจมตีว่าแข่งกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์ 3rd party ด้วย

Prism

alt="Prism"

อันนี้หลายคนก็น่าจะเล่นกันอีกแล้วเช่นกันนะครับ ออกมานานแล้ว อธิบายง่ายๆ Prism คือ Adobe AIR เวอร์ชันของ Mozilla (ตัดส่วนที่เป็น Flash ออกไป เหลือแต่ HTML/JavaScript ถือเป็น RIA แบบง่ายๆ)

เหตุผลที่เกิด Prism ก็คือ web app ในปัจจุบันนี้มีความสามารถเพิ่มขึ้นมา เช่น Gmail, Google Reader หรือโปรแกรมในตระกูล Zoho Office คือมีความสามารถมากจนเกือบแทนโปรแกรมแบบเดิมๆ ได้แล้ว (ผมเชื่อว่าคนบางกลุ่มที่ทิ้ง Outlook หรือ Thunderbird มาใช้ Gmail เป็นอีเมลหลักกันมากพอสมควร)

การใช้ web app ผ่านเว็บเบราว์เซอร์มีปัญหาตรงที่ว่า บางกรณี (เน้นว่าบางกรณี) เราไม่ได้อยากได้ฟีเจอร์หรูหราในเบราว์เซอร์ ไม่ว่าจะเป็น Bookmark หรือช่องค้นหา เราอยากได้แค่โปรแกรมที่แสดงผล HTML ที่ทำให้เราเปิด Gmail (หรือ web app อื่นๆ) เท่านั้นเอง แถม web app ที่เปิดมักมีอยู่ไม่กี่อันเท่านั้น ตัวอย่างการใช้งานก็อย่างเช่น พวกระบบ kiosk ตามร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว หรือร้านเน็ต เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่มักต้องการใช้งานเฉพาะทาง (เช่น ค้นหาสินค้า อ่านเมล อัพโหลดภาพ) การติดตั้งเว็บเบราว์เซอร์เต็มรูปแบบ อาจมีปัญหาในการดูแล เช่น ความปลอดภัย หรือพวกมานั่งเล่นเว็บที่เราไม่ต้องการให้เปิด

Prism จึงเป็นทางออกของคนกลุ่มนี้ Prism เอามาเฉพาะส่วนแสดงผลของ Firefox และส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นอีกนิดหน่อย แล้วสามารถบังคับให้เปิด URL ได้เพียงแค่อันเดียว (ดังนั้นมันจะไม่มี URL bar) เป็น single site browser แถมอนุญาตให้เปลี่ยนไอคอนได้ นั่นแปลว่าด้วย Prism เราสามารถสร้างโปรแกรม Gmail (แบบหลอกๆ) บนเดสก์ท็อปได้ทันที การใช้งานเหมือน Gmail ปกติทุกประการ แต่จำกัดไม่ให้เข้าถึงฟีเจอร์อื่นๆ ของ Firefox ได้

alt="Prism Icon"

ลองนึกถึงการเอา Prism มาใช้สร้างโปรแกรม Gmail, Google Calender, Google Reader และ Google Docs (หรือจะเป็น Zoho ก็ได้) เราจะได้ RIA แบบง่ายๆ ที่ใช้แทน Microsoft Office ได้ทันที แถมมีไอคอนที่ผู้ใช้คุ้นเคยบนเดสก์ท็อปให้เสร็จสรรพ

ถ้า Weave คือการทำให้เราย้ายไปใช้เบราว์เซอร์บนเครื่องใดๆ ก็ได้ Prism ก็กลับกัน คือทำให้ใครมาใช้เว็บได้โดยไม่ต้องผ่านเบราว์เซอร์โดยตรง แน่นอนมันไม่เหมาะสำหรับทุกคน

ผมเห็นศูนย์หนังสือจุฬาใช้วิธีตั้งคอมไว้ แล้วให้ลูกค้าค้นหาหนังสือจากเว็บของศูนย์หนังสือฯ โดยตรง นี่เป็นกลุ่มลูกค้าของ Prism แบบตรงเป๊ะเลยครับ

Test Pilot

alt="Mozilla Labs Test Pilot"

โครงการนี้ยังไม่มีให้ลอง แต่ไอเดียน่าสนใจมากครับ

ตามหลักการเก็บสถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ โดยทั่วไปแล้วมีให้เลือก 2 แบบ

  1. เจ้าของเว็บต้องใส่สคริปต์นับคนเข้าชม (เช่น Truehits หรือ Google Analytics) วิธีนี้ได้ตัวเลขจริง แต่ว่าข้อเสียก็คือต้องใส่สคริปต์ แถมเก็บได้แค่บางเว็บเท่านั้น
  2. แทนที่จะนับจากแต่ละเว็บ ก็ไปนับที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแทน โดยติดตั้งซอฟต์แวร์พิเศษสำหรับติดตามพฤติกรรมผู้ใช้เว็บ วิธีนี้จะเก็บข้อมูลได้เกือบทุกเว็บ แต่ว่าข้อเสียคือไม่แม่น เพราะเป็นการประมาณค่าจากกลุ่มสำรวจจำนวนนิดเดียวของผู้ใช้เว็บเท่านั้น ค่ายที่ใช้วิธีนี้คือ Alexa (ผ่าน Alexa Toolbar), Compete และอื่นๆ ที่จัดอันดับเว็บดังทั่วโลกบ่อยๆ

จะเห็นว่าไม่มีทางไหนที่สมบูรณ์เต็มร้อย เราคงหวังให้ทุกเว็บในโลกใส่ตัวนับยี่ห้อเดียวกันได้ยาก (ในหลายกรณี จำนวนทราฟฟิกถือเป็นความลับทางการค้า) ทางเลือกอื่นๆ ที่พอเป็นไปได้คือประมาณตัวเลขเอาจากsearch engine (เช่น Google Trend) แต่วิธีนี้มีแนวโน้มไปยังเว็บที่ถูกหลัก SEO มากกว่า

วิธีประเมินแบบของ Alexa จึงน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ปัญหาของ Alexa คือจำนวนคนที่ติดตั้ง Alexa Toolbar มีน้อยมาก โอกาสตีความมาเป็นทราฟฟิกรวมของเว็บจึงมีโอกาสผิดพลาดสูง

โครงการ Test Pilot อาศัยหลักการเดียวกัน แต่ชดเชยจุดอ่อนของ Alexa ที่มีจำนวนคนติดตั้งทูลบาร์น้อย มาเป็นการฝังเอาความสามารถนี้เข้ามาใน Firefox เลย (ตอนนี้ยังไม่มีนะครับ) เมื่อเทียบปริมาณคนใช้ Firefox กับ Alexa Toolbar แล้ว ความแม่นยำในการตีค่าจะละเอียดกว่ากันมาก

Test Pilot ยังเป็นแค่ไอเดีย เราคงจะเห็นโครงการนี้ออกมาในรูป extension ก่อน ถ้าเวิร์คคงเข้ามารวมกับ Firefox ในอนาคต ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวมีคุยกันบ้างแล้ว โดย Chris Beard เล่าว่า ลักษณะน่าจะเป็น off by default และผู้ใช้ต้องเป็นคนเปิดใช้ความสามารถนี้เอง

คนที่ชื่นชอบไอเดียของ Test Pilot มากคือ Michael Arrington แห่ง TechCrunch อ่านบล็อกที่เขาเขียนถึง Test Pilot ครับ (ตอนที่สอง)

Ubiquity

alt="Ubiquity"

โครงการนี้เปิดตัวในงาน Firefox Summit จากนั้นสามสี่วันถึงเริ่มลงในบล็อกของทีมพัฒนา ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวโครงการต่อสื่อไป และเปิดให้ดาวน์โหลดมาลองใช้กันแล้ว (จากที่ผมดูใน Twitter ก็มีคนแถวนี้หลายท่านลองใช้กันแล้ว)

ถ้าถามผมว่าไป Firefox Summit แล้วอะไรน่าตื่นเต้นที่สุด ก็ต้องบอกว่า Ubiquity นี่ล่ะครับ

อธิบายแบบสั้นที่สุด Ubiquity คือการท่องเว็บเวอร์ชันคอมมานด์ไลน์

อธิบายแบบยาวขึ้นมาหน่อย มันคือ Quicksilver หรือ GNOME Do เวอร์ชันใช้กับเว็บ แทนที่จะเป็นโปรแกรม

แต่วิธีอธิบายที่ดีที่สุด ดูวิดีโอง่ายกว่าครับ

Ubiquity เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการนำ Semantic Web มาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนการทำงานของ Ubiquity คือจะอ่านข้อมูลภายในเว็บเพจที่เราระบุ แล้วตีความข้อมูลส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้อง (เช่น วันที่ ที่อยู่ ชื่อคน URL อีเมล) จากนั้นนำข้อมูลส่งต่อไปยัง web application (เช่น Gmail, Google Calendar, Google Maps, Facebook, Twitter, Flickr) ตามช่องทาง API ที่ web app เหล่านั้นเปิดไว้ให้

Ubiquity จะคล้ายกับ GreaseMonkey คือเปิดให้นักพัฒนาอื่นๆ สร้างปลั๊กอินหรือสคริปต์สำหรับบริการต่างๆ ได้ (แปลว่าในอนาคต เราสามารถโพสต์บล็อกลง Exteen ด้วย Ubiquity ได้ถ้ามี API และมีคนทำปลั๊กอิน) ยิ่งมีคนสร้างปลั๊กอินทั้งฝั่งอ่านและส่งข้อมูลมากเท่าไร Ubiquity ก็ยิ่งมีประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น

คนออกแบบ Ubiquity พยายามสร้างให้คำสั่งของ Ubiquity ออกมาเป็นภาษาธรรมชาติ เป็นประโยคสนทนาธรรมดาที่คนทั่วไปสามารถคาดเดาได้ง่ายว่าต้องสั่งอย่างไร ไม่ต้องเรียนรู้คำสั่งเฉพาะทางเหมือนกับ Terminal ของยูนิกซ์ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดแข็งหนึ่งของ Ubiquity

ผมแนะนำว่าลำพังแค่อ่านคำบรรยาย ไม่เห็นภาพเท่าลองเอง คนใช้เว็บนี้มี Firefox กันเกือบหมด เข้าไปโหลด Ubiquity มาลองเล่นกันเลยน่าจะดีกว่า

ประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ของ Ubiquity คือการ localization ครับ หนึ่งในทีมงานพัฒนา Ubiquity พูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องมาก พี่แกเลยขึ้นมาโชว์การพิมพ์คำสั่ง Ubiquity เป็นภาษาญี่ปุ่นให้ดู (คือทั้งตัวคำสั่งและข้อมูลที่ป้อน เป็นญี่ปุ่นล้วน) ถ้าเทียบเป็นภาษาไทยก็จะแนวๆ นี้

เพิ่มเว็บนี้ลงปฏิทิน

สำหรับ Ubiquity ภาคภาษาไทยคงจะซับซ้อนหน่อย เพราะมีเรื่องการตัดคำ และการถอดเสียงภาษาอังกฤษเข้ามาด้วย (เช่น "อีเมลหน้านี้" "อีเมลเว็บนี้" "อีเมล์หน้านี้" "อีเมล์เว็บนี้")

ถ้าสนใจ Ubiquity ผมแนะนำให้อ่านบล็อกของ Jono หนึ่งในนักพัฒนา ส่วนทีมงานอีกคนที่พัฒนาแนวคิดของ Ubiquity คือ Aza Raskin นั่นเอง

Mozilla Labs Concept Series

Mozilla Labs Concept Series

จะเห็นว่าแนวทางการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ของ Mozilla Labs จะออกมาในรูปแบบของ extension ซึ่งในหลายๆ ครั้ง เราพบว่าคนมีไอเดียที่น่าสนใจจำนวนมาก เขียนโปรแกรมไม่เป็น (ถึงแม้ว่าการสร้าง extension ด้วย XUL นั้นจะง่ายกว่าการพัฒนาด้วย native language อยู่พอตัวแล้ว) ทาง Mozilla Labs จึงต้องหาทางออก ไม่ให้ไอเดียเหล่านี้ต้องหายไปกับสายลม ซึ่งทางออกนั้นก็คือ Mozilla Labs Concept Series

Concept Series คือตลาดนัดไอเดียที่เปิดให้ใครก็ได้ส่งไอเดีย (หรือที่ทาง Mozilla Labs เรียกว่า "concept") เข้ามา โดยไอเดียเหล่านี้จะอยู่ในรูปภาพวาด วิดีโอ screenshot mockup หรือเป็นโปรแกรมจริงๆ ที่รันได้แล้วก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด เป้าหมายของ Concept Series คือก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียเจ๋งๆ กันในวงกว้าง

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ ทางฝั่ง GNOME/KDE นั้นทำกันมานานแล้วในเว็บ gnome-look/kde-look แต่ที่น่าตื่นเต้นหน่อยคือ Mozilla Labs ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่อย่างบริษัท Adaptive Path ให้ออกแบบคอนเซ็ปต์ของเบราว์เซอร์ยุคอนาคตอย่าง Aurora ตามที่หลายๆ คนได้เห็นกันไปบ้างแล้ว

(หมายเหตุ Aurora นี้ยังเป็นแค่วิดีโอนำเสนอไอเดีย ตอนนี้ออกมา 3 ตอนแล้วจากทั้งหมด 5 ตอน) ตัวอย่างอีกอันคือ Bookmark and History ที่ผมเขียนไปในตอนแรก

สำหรับรายการไอเดียทั้งหมดที่มีคนส่งเข้ามา ดูได้จาก Mozilla Labs Forum

นอกจากนี้ Mozilla Labs ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ทดลองทำอีกมาก หลายโครงการเลิกพัฒนาต่อแล้ว ด้วยเหตุผลทั้งว่าไม่ประสบความสำเร็จ หรือขาดคนทำ ดูรายละเอียดในหน้า Projects ของ Mozilla Labs ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: champ
FounderWriter
on 11 September 2008 - 21:52 #64528
champ's picture

น่าสนใจแทบทุกโปรเจกต์เลยครับ

ขอบคุณมากๆ ครับที่รายงานให้อ่าน :-)

By: adamy
iPhoneAndroidBlackberryUbuntu
on 11 September 2008 - 22:43 #64530

ขอบคุณมากๆครับสำหรับ Series นี้ ... ได้ความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางและอนาคตของ Browser + การแข่งขันในตลาดในอนาคตของ Browser ขึ้นเยอะเลยครับ

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

:: Take minimum, Give Maximum ::

By: tr
Writer
on 11 September 2008 - 23:27 #64531

ลืมไปแล้วนะเนี่ยว่าแปะตอนที่ 3 ไว้

Ubiquity ใช้ดีนะ

By: mk
FounderAndroid
on 12 September 2008 - 00:07 #64536 Reply to:64531
mk's picture

จริงๆ ไม่ลืมแต่ว่าขี้เกียจเขียน พอเขียนเสร็จเจอ Chrome กับ LHC มาแรงพอดีเลยหลบให้เขาก่อน

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 12 September 2008 - 01:43 #64540 Reply to:64536
lew's picture

Chrome ดันอันดับขึ้นไปได้ 20+

เจอ LHC นี่ 100+ เลย

LewCPE


lewcpe.com, @wasonliw

By: evo_toon
ContributorAndroid
on 11 September 2008 - 23:52 #64533

ขอบคุณมากครับ ที่มาเล่าสู่กันฟัง

By: BonBon
iPhone
on 11 September 2008 - 23:58 #64535

รูปหมาย่างน้อยใน slide น่ารักมาก

By: Wizard.
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 12 September 2008 - 14:27 #64560
Wizard.'s picture

Prism ใช้กับเครื่องที่ไม่ได้ลง Firefox ได้ไม๊ครับ ?

By: lancaster
Contributor
on 12 September 2008 - 14:30 #64561 Reply to:64560

ได้ครับ

By: mementototem
ContributorJusci's WriterAndroidWindows
on 12 September 2008 - 17:55 #64578
mementototem's picture

Ubiquity น่าใช้มากเลยครับ ผมเคยลอง Gnome DO แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แฮะ ๆ งง กับมันมากเลย

ส่วนบน Windows ผมลอง Launchy ใช้เข้าเว็บ ทำอะไรสารพัดได้สะดวกดี ชอบคอนเซ็ปท์แบบนี้ครับ


Jusci - Google Plus - Twitter

By: KnightBaron
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 12 September 2008 - 20:55 #64596
KnightBaron's picture

เคยใช้ Prism อยู่พักนึงครับ แต่เลิกใช้เอาก็เพราะ Chrome ออกมานี่ล่ะ

Yume Nikki

By: Chengings
Contributor
on 13 September 2008 - 00:59 #64613
Chengings's picture

ไม่รู้่ว่าเกี่ยวหรือเปล่า เน็ตที่บ้านกับมหาลัยใช้ Weave แล้วมันไม่ sync กันเลย แถม sign in ไม่ค่อยติดด้วย ------- หมาไฟ


หมาไฟ

By: atheist
AndroidUbuntuWindows
on 13 September 2008 - 06:38 #64632 Reply to:64613

Weave ยังห่างไกลคำว่าสมบูรณ์ยิ่งนัก -*- ผมลงแล้วใช้กับข้อมูลทดสอบอย่างเดียว
รอให้เข้าเฟสหลังๆ ก่อนดีกว่า
ตอนนี้ขาด Foxmark ไม่ได้เลย และสงสัยจะเป็นลูกค้า Foxmark ไปอีกนาน

By: Chengings
Contributor
on 13 September 2008 - 13:50 #64658 Reply to:64632
Chengings's picture

Foxmarks เหมือนกันครับ ไว้เวอร์ชั่นถัดๆ ไปจะมาทดสอบต่อ ตอนนี้ disable ไปก่อน ------- หมาไฟ


หมาไฟ