Tags:
Node Thumbnail

บทความพิเศษโดย ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ต้นฉบับอยู่ที่ Viewpoints for Thailand ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่ต่อ โดยมีการดัดแปลงรูปแบบนำเสนอเล็กน้อยครับ

การประชุมวิชาการประจำปี STKS “New Trends in Library and Information Management”

และ

การสแกนหนังสือโบราณที่ประเทศพม่า

เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๓ ทางศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. (STKS) ได้มีการจัดการประชุมประจำปี ในบรรยากาศที่ตั้งว่า New Trends in Library and Information Management โดยผมได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอหัวข้อ "Library Management Innovation in 2010" กับทีมงานของ สวทช. จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง

แนวโน้มของห้องสมุดที่กำลังเปลี่ยนแปลงแน่นอน หากยังมองไม่ไกลมากนักน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนสี่ด้านในช่วง ๕ ปีข้างหน้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ น่าจะเป็นที่ใฝ่หาของผู้ใช้ห้องสมุด และในเวลาเดียวกัน ก็น่าจะเป็นเหตุผลหลักด้วยว่า ทำไมจึงยังต้องมีห้องสมุดอยู่ในสถาบันต่างๆ เพื่อบริการในสิ่งที่เหนือกว่าการเข้าร้านหนังสือ หรือการทำงานกันอยู่ที่หน้าจออินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว แนวทางที่นำเสนอ ตั้งใจจะสื่อกับบรรณารักษ์ทั้งหลายในประเทศไทยว่า งานของห้องสมุดมีความสำคัญ หากเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ดี ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้ และน่าจะได้งบประมาณมาสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานต่อไป

แนวโน้มสี่ด้านที่ผมนำเสนอ คือ

  1. เรื่องการจัดพื้นที่ การทำหน้าตาของห้องสมุดให้เป็นที่น่าสนใจ
  2. บริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับห้องสมุด
  3. บริการด้านเอกสารและบริการถ่ายเอกสาร โดยการส่งทางอีเมล
  4. บริการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Digital Archive

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดได้จาก NSTDA Blog ที่บันทึกการบรรยายโดยคุณ cha-baa

หากผมมีเวลาเขียนลงใน Thaiview Blog แห่งนี้ ก็จะพยายามนำภาพต่างๆที่พบเห็นมาแสดงว่าแต่ละเรื่อง เปลี่ยนแปลงไปทางไหน ในวันนี้ ขอพูดถึงประเด็นเดียวก่อน คือ สองประเด็นแรก ว่าด้วยการจัดพื้นที่ การทำหน้าตาของห้องสมุดให้เป็นที่น่าสนใจ กับการบริการออนไลน์

สิ่งที่เราจะพบบ่อยๆ คือ คือ ห้องสมุดหลายแห่ง จะทยอยกันยกเลิกพื้นที่วางหิ้งหนังสือในห้องสมุด เปลี่ยนเป็นที่วางคอมพิวเตอร์แก่ผู้ใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า หนังสือยอดนิยม และหนังสือเก่าแก่โบราณมากๆ หากมาทำเป็น eBook ก็จะสามารถใช้งานได้ดีเท่ากัน ประหยัดกระดาษ และไม่ต้องเดินไปหาให้เสียเวลา และที่สำคัญคือ เครื่องคอมพิวเตอร์มันทำงานได้หลายอย่าง (ต่อเน็ตค้นหาข้อมูล อ่านข่าวจากสื่อสาธารณะ เขียนบทความ เขียนหนังสือ ตัดต่อรูปภาพ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ) และในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา เราเริ่มเป็นเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออกวางตลาด เริ่มด้วย Kindle ของ Amazon.com ตามด้วยของ Sony และรายอื่นๆ ล่าสุดคือ Apple iPad ซึ่งเปิดตัวเมื่อมกราคม ๒๕๕๓ และจะวางตลาดในต้นเดือนเมษายนนี้

หนังสือเล่ม จะอยู่คู่กับเราไปอีกเป็นร้อยปี แต่อาจจะมีจำนวนน้อยลง และคนยุคใหม่อาจจะอ่านด้วยวิธีที่ต่างไปจากคนรุ่นเก่าๆ ความเปลี่ยนแปลงนี้ ยังเดาไม่ได้ว่าจะจบอย่างไร ที่แนๆ่ก็คือ มีสิ่งพิมพ์บางชนิด เช่นการอ่านข่าวทาง นสพ. ที่น่าจะถูกแทนที่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ห้องสมุดคลจะลดพื้นที่หิ้งหนังสือ (ไม่ได้ยกเลิก) แต่มีบางแห่ง ที่กล้าที่จะทำถึงระดับยกเลิก และได้รับการต่อต้านจากผู้ที่ชอบหนังสือเล่มอย่างมาก ดังตัวอย่างข้างล่างนี้

Welcome to the library. Say goodbye to the books.


Voice from Boston
เพื่อนของเราคนหนึ่ง เขียนลงใน NSTDA Blog เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมขอคัดย่อมาเล่าให้อ่านกันดังนี้

James Tracy ครูใหญ่โรงเรียน Cushing Academy ซึ่งอยู่ที่เมือง Ashburnham มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เขาตั้งใจจะเปลี่ยนห้องสมุดคู่บุญของโรงเรียน อายุกว่าหนึ่งร้อยปีแห่งนี้ให้เป็นห้องสมุดไร้หนังสือ (เล่ม) ด้วยเขาเห็นปัญหาความล้าสมัยที่เกี่ยวโยงกับหนังสือ(เล่ม)เหล่านั้น นอกจากนี้หนังสือที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้พื้นที่ใช้สอยลดลงตามไปด้วย โรงเรียนนี้จึงมีนโยบายที่จะเปลี่ยน ห้องสมุด(Library) ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ (Learning center) ด้วยงบประมาณห้าแสนเหรียญ (ประมาณ ๑๗.๕ ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่าย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่นทีวีจอแบน แล็พท็อป และเครื่องอ่านหนังสือดิจิทัล กับการจัดหาหนังสือดิจิทัลกว่าล้านเล่ม

alt="When I look at books, I see an outdated technology, like scrolls before books, said headmaster James Tracy. (Mark Wilson for The Boston Globe) "

โครงการนี้สร้างความกังวลให้กับหลายๆ คนที่ยังคงรักการสัมผัสเล่มของหนังสือ.. กังวลว่านักเรียนจะขาดช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้และคิดไปกับไอเดียของผู้เขียน … เสียสายตา .. นักเรียนอาจไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือผ่านหน้าจอนานเท่ากับอ่านหนังสือเล่ม ฯลฯ แม้จะมีผู้คัดค้านอย่างมาก นักเรียนหลายคนตั้งตาคอยกับปรากฎการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนของตนเอง

อ่านรายละเอียดได้ที่
Abel, David. “Welcome to the library. Say goodbye to the books.” The Boston Globe 276, 66 (Sep. 4, 2009).

การบริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับห้องสมุด

ในประเด็นที่สอง ว่าด้วยการบริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับห้องสมุด – ประเด็นนี้คงจะต้องขยายความว่า จะมุ่งเห็นบริการโดยไม่ทราบว่าต้องทำอะไรบ้างก่อนหน้านั้นคงจะไม่ได้ บริการออนไลน์กว่าจะเกิดขึ้นได้ ต้องทำบุญล่วงหน้ากันหลายปี นั่นก็คือ การวางแผนให้มี digital contents กันในภาพรวมก่อนครับ หน่้วยงานใดมาพูดเรื่องบริการออนไลน์แบบเอาความโก้เป็นหลัก หน่วยงานนั้นต้องบอกว่า "กลวงโบ๋" เพราะจะจบด้วยการซื้อเครื่องมือ ซื้อโปรแกรม และซื้อเนื้อหาที่เป็น digital content จนกระทั่งเอาตัวไม่รอดแน่นอน

แท้ที่จริงแล้ว หากจะมีบริการออนไลน์ที่ดี เราจะต้องวางแผนสร้าง digital contents ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และดำเนินการไปอย่างสม่ำเสมอจนเป็นวัฒนธรรม ในประเทศไทย เราใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยเรียงพิมพ์กันกว่า ๓๐ ปีแล้ว แต่การผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานก็เพิ่งจะเริ่มขึ้นเป็นส่วนน้อย ยังคงมีภารกิจที่จะต้องจัดระเบียบให้หนังสือที่อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน ๓๐ ปีได้มีโอกาสออกตัวเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บ้าง

สำหรับหนังสือที่เก่าแก่เกิน ๕๐ ปี มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็น eBook ได้ดี เพราะในบรรดาหนังสือเหล่านั้น ลิขสิทธิ์ที่ตกเป็นของทายาทผู้เขียนที่เสียชีวิตไปแล้วก็ทะยอยหมดไป การนำกลับมาถ่ายด้วยเครื่องสแกนภาพหรือกล้องดิจิทัลสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว

ท่านที่สนใจเรื่องพวกนี้ สามารถเข้าไปชมที่โครงการ หนังสือเก่าชาวสยาม ที่ริเริ่มโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับ สวทช. ว่าเราเข้าอ่านหนังสือเก่าๆ ของไทยได้อย่างไร

เมื่อเร็วๆ นี้เอง ทาง สวทช. เอง (โดยศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเนคเทค) ก็ได้มีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสแกนหนังสือเก่าที่นักอนุรักษ์หนังสือชาวพม่าท่านหนึ่ง (คุณ U Moe Myint) จะทูลเกล้าฯ ถวาย เราจึงเกิดเป็นโครงการความร่วมมือนำระบบสแกนหนังสือจากประเทศไทยที่พัฒนาโดยบริษัท ATIZ สองเครื่อง และระบบของเนคเทคหนึ่งเครื่อง ยกไปทำกันที่เมืองย่างกุ้ง อีกไม่นาน ก็จะมีชุดหนังสือเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะ และมานุษยวิทยากว่าสี่ร้อยเล่ม เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งผมทราบมาว่า ชุดหนังสือดิจิทัลนี้ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานให้กับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ตัวเล่มหนังสือจริงๆ ซึ่งมีค่ามากก็ยังอยู่กับเจ้าของต่อไป แต่เราคนไทย จะเข้าถึงฉบับดิจิทัลได้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

No Description

ท่านทราบไหมครับ ว่า ATIZ เป็นบริษัทของคนไทย บริษัทนี้มีนวัตกรรม สามารถออกแบบและสร้างเครื่องสแกนหนังสือออกมาดีที่สุดในโลก และส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่ามีโครงการสแกนหนังสือเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ Google Book และความร่วมมือระหว่าง Google กับหลายมหาวิทยาลัย ที่ดูแลหนังสือกว่าแห่งละ ๒๐ ล้านเล่ม หากใครอยากทราบว่าที่ไหนสแกนหนังสือกันมาก ก็คงต้องสอบถาม ดร.สารสิน บุพพานนท์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้

ทางบริษัทก็เข้ามาร่วมทำงานสนองพระราชดำริโดยการให้ทางพม่าได้ยืมใช้เครื่องสแกนหนังสือเพื่อทำงานในโครงการครับ ขอให้ได้บุญมากๆ และขายเครื่องได้เยอะ ทางสวทช.ก็มีสายการผลิต eBook โดยใช้เครื่องของ ATIZ หนึ่งเครื่อง

แนวทางการก้าวสู่การผลิต eBook ขององค์กร

โดยสรุป ผมพอมองเห็นทางว่า เราควรเตรียมการเรื่องการทำ eBook ไว้สามแนว ได้แก่

  1. หนังสือที่อยู่ระหว่างการผลิตในปัจจุบัน เมื่อจะเข้าโรงพิมพ์ ให้กำหนดว่าต้องทำเป็น pdf file (ซึ่งเป็นรูปแบบของ eBook ชนิดหนึ่ง) ด้วย โดย pdf file อาจจะมีสองแบบ คือแบบเล็ก เพื่อเผยแพร่ทางเว็บ และแบบสมบูรณ์ ซึ่งจะมีความชัดเจนของภาพสูงกว่า เพื่อใช้ในการนำเข้าโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์ซ้ำในอนาคต
  2. หนังสือที่อายุไม่เกิน ๑๐ ปี ควรพยายามหาไฟล์ต้นฉบับ นำมาจัดรูปแบบให้เป็น eBook เสียใหม่ เพื่อใช้อ่านแบบออนไลน์
  3. หนังสือที่เก่าเกิน ๑๐ ปี อาจจะทำได้แค่การนำมาถ่ายหรือสแกนเป็นภาพ วิธีนี้ก็จะได้ eBook แบบหนังสือเก่า เหมือนเป็นภาพถ่ายหรือไมโครฟิล์ม สามารถอ่านได้เท่ากับแบบ ๑ หรือ ๒ แต่ไม่สามารถค้นหาคำในหนังสือได้เหมือนสองแบบแรก ที่เราทำ full-text search ได้

ในแนวที่ ๑ และ ๒ ผมอยากเห็นหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือทำกันเอง (ซึ่งมักจะจ้างบริษัทจัดหน้าและจัดพิมพ์) เพราะ eBook ก็สงวนลิขสิทธิ์ได้ หลายแห่งอาจจะไปมากกว่านั้น คือใช้วิธี “สงวนลิขสิทธิ์บ้าง” โดยใช้กลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแบบ Creative Commons แทน Copyright เพื่อช่วยในการเผยแพร่ข่าวสารความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตให้กว้างไกลยิ่งขึ้น แต่สงวนไม่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อเอากำไร

ในการทำ eBook ที่ดี ไม่ใช่แค่ว่าแปลงเป็น pdf แล้วเสร็จ การเตรียมงานที่ดีจะต้องมีการ mark-up ข้อความที่เป็นชื่อบท ชื่อหัวข้อย่อยต่างๆ รวมทั้งคำอธิบายภาพ และแผนผัง ให้ครบถ้วน เพราะข้อมูลที่ใช้ "บรรยายโครงสร้างหนังสือ" ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เครื่องอ่านหนังสือทำงานได้ดี รวมทั้งการแปลงหนังสือข้อความให้กลายเป็นหนังสือเสียงตามมาตรฐานเดซี่ (DAISY) ด้วย เรื่องนี้ไม่ยาก แต่อยากให้บรรณารักษ์ต่างๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกัน หากสนใจ ท่านสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช.ได้ตลอดเวลาครับ เพราะเรากำลังปฏิบัติตามแนวทางการสร้าง eBook สามแนวข้างต้นนี้

สำหรับ แนวที่ ๓ เป็นประเด็นการนำหนังสือเก่ามาถ่ายภาพ และจัดรูปแบบเป็น eBook ให้อ่านทางจอคอมพิวเตอร์ได้ งานนี้สนุกมาก พวกเราที่ STKS รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเป็นอย่างมาก ที่ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานเกี่ยวกับหนังสือเก่า ทั้งด้านการอนุรักษ์หนังสือ และการแปลงเป็นดิจิทัล รวมทั้งได้ไปสัมผ้สหนังสือที่เป็นแบบ "เหลือเพียงเล่มเดียวในโลก" ด้วย เรายังได้รับทราบจากผู้เชี่ยวชาญ ว่าเวลาจับหนังสือเก่าๆ ต้องใส่ถุงมือ ไม่เช่นนั้น เหงื่อจากนิ้วมือของเราจะไปทำลายกระดาษเก่าๆ ได้ง่ายมาก

อีกไม่นาน ทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก็อาจจมีบริการ eBook สำหรับนิสิต นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันนั้นๆ รวมถึงการบริการระหว่างสถาบัน และเพิ่มพื้นที่การบริการในห้องสมุดด้วยระบบใหม่ๆแทนทีหนังสือเล่ม

Get latest news from Blognone

Comments

By: winggundamth
ContributorAndroidUbuntuIn Love
on 10 April 2010 - 11:26 #169242
winggundamth's picture

แต่สุดท้ายแล้ว อยากรู้ว่าจะสามารถทำให้คนไทยเพิ่มจำนวนบรรทัดในการอ่านหนังสือต่อปีได้มากขึ้นหรือไม่?


I will change the world, to the better day.

By: Yone on 10 April 2010 - 11:37 #169244 Reply to:169242

ผมว่ามันไม่ใช่จุดประสงค์ของโครงการนี้นะครับ

By: mk
FounderAndroid
on 10 April 2010 - 15:56 #169345 Reply to:169242
mk's picture

ความเห็นผมเหมือนข้างล่างนะครับ ว่าคนไทยอ่านกันเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ใช่ "หนังสือตามแบบ" ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม

ว่างๆ เดินเข้า 7/11 ไปอ่านหนังสือพิมพ์บันเทิง หรือมอเตอร์ไซด์รับจ้างอ่านหนังสือพิมพ์ฟุตบอล ผมว่ามันก็เป็นการอ่านที่ดีนะครับ

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 10 April 2010 - 20:56 #169461 Reply to:169345
lew's picture

จุดเริ่มต้นทั้งหมดทั้งมวลของการเรียนคอม คือการ์ตูนโดเรมอนนะ


lewcpe.com, @wasonliw

By: xxxooo
Windows PhoneWindowsIn Love
on 10 April 2010 - 18:19 #169401 Reply to:169242

เคยมีการตั้งกระทู้ในหว้ากอนานแล้ว ว่า

คนไทย อ่านหนังสือ 8 บรรทัด

มีการตรวจสอบกันอย่างไร บทวิจัย ของใคร อ้างอิงจากอะไร

บทสรุปที่ได้มา ดูเหมือนจะมาจาก บทความ หนึ่ง เท่านั้น

หรือ คำกล่าาวที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัด โดยเฉลี่ย นั้น เป็นความเชื่อที่ผิดครับ

By: Ton-Or
ContributorAndroidCyberbeingRed Hat
on 12 April 2010 - 01:43 #169731 Reply to:169401
Ton-Or's picture

นั่นน่ะสิ เป็นความหมายเชิงปลุกปั่นอะไรหรือเปล่า ครับกระตุ้นให้รักการอ่านกันมากขึ้นหรือเปล่า


Ton-Or

By: bean3g
Windows PhoneUbuntu
on 12 April 2010 - 02:36 #169737 Reply to:169401

นั่นซินะ ถ้าอ่านน้อยแค่นั้น มันจบ ป.ตรี กันมาได้ไง

By: 9rockky
AndroidIn Love
on 10 April 2010 - 11:39 #169246

ปกติคนไทยก็อ่านกันเยอะอยู่เเล้ว เพียงเเต่ไม่ใช่หนังสือ

By: moondrop
iPhoneWindowsIn Love
on 10 April 2010 - 12:15 #169261
moondrop's picture

ผมนึกภาพถึงห้องสมุดแบบในหนังไฟ-ไซ ประมาณว่าถือ iPad เข้าไปอันนึงแล้วก็จิ้มๆๆดึงๆๆเอาตามชั้น ใกล้ความจริงแล้วสินะ

By: SilliCon
Android
on 10 April 2010 - 18:28 #169405 Reply to:169261
SilliCon's picture

ดึงจากบ้านง่ายกว่าไหมครับ อิอิ

By: nblue
Android
on 10 April 2010 - 14:38 #169307
nblue's picture

ปกติอ่าน ebook ใน SonyReader ทุกวันอยู่แล้ว ใช้อ่านหนังสืออ่านเล่นทั่วไปที่ไม่มีภาพประกอบ จอมันเหมือนอ่านหนังสือ คือไม่สะท้อน ไม่มี backlight ทำให้อ่านนานๆได้ ไม่แสบตา
แต่สิ่งที่มันแสดงผลไม่ได้เรื่องเลยคือพวก textbook หรือหนังสือทางเทคนิค ที่ต้องมีภาพ โค้ท และอื่นๆ เพราะตัวหนังสือจะเล็กหากแสดงเต็มหน้า ถ้าซูมไปแล้วมันจะยุ่งๆ layout ผิดหมด อ่านไม่รู้เรื่อง
ได้ลองไปเล่น kindle ตัวใหญ่ดู แต่ผลลัพท์ก็พอๆกัน คืออ่านหนังสือเทคนิคไม่ได้ แต่เข้าใจว่ามีพวกนิตยสารที่ทำมาให้เข้ากับขนาดหน้าจอพวกนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็น่าจะพออ่านได้

สรุปสำหรับเราตอนนี้ ebook reader ใช้อ่านนิยาย และ ebook ที่ออกแบบมาสำหรับ e-reader โดยเฉพาะได้ดี แต่หนังสืออื่นๆคงต้องรอไปก่อน

By: Virusfowl
ContributorAndroidSymbianWindows
on 10 April 2010 - 17:38 #169391

"แต่สงวนไม่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของนำไป (แผยแพร่) ต่อเพื่อเอากำไร"
แก้ด้วยนะครับ

ขอสนับสนุนการทำ E-book ในรูปแบบ 1-2 มากๆ เลยครับ เพราะคนพิการทางสายตาจะได้สามารถ อ่านหนังสือได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องพึ่งคนปกติอ่านให้ฟัง
ส่วนเรื่องที่จะทำ mark-up เพื่อที่จะให้สนับสนุนไปถึง Daisy นั้น คงแล้วแต่ความสะดวกหละครับ เพราะก็เข้าใจว่าค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร แค่ ทำ format ให้อยู่ในรูปแบบของ Text ทั่วๆ ไป ก็ดีใจมากแล้วครับ

ปล. ถ้าสำนักพิมพ์ บ้านเรา จะทำหนังสือในรูปแบบ Digital มาให้ ซื้อ จะเป็นคนนึงที่สนับสนุนอย่างมาก ^^


@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.

By: mk
FounderAndroid
on 10 April 2010 - 17:38 #169394 Reply to:169391
mk's picture

แก้ยังไงครับ ไม่เข้าใจ

By: jobb on 10 April 2010 - 19:03 #169419 Reply to:169394

น่าจะหมายถึงสระแอมั้งครับ

By: Virusfowl
ContributorAndroidSymbianWindows
on 10 April 2010 - 21:33 #169423 Reply to:169394

ตรงประโยคที่ผม Quote มาให้ พิมพ์ สระ เอ เกินมาครับ มันเลยกลายเป็น สระแอ
จาก "เผยแพร่" มันเลยกลายเป็น "แผยแพร่"

"ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เครืองอ่านหนังสือทำงานได้ดี "
อันนี้ก็ ไม้เอก ตกอีกอันนะครับ ตรงคำว่า "เครื่อง"


@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.

By: mk
FounderAndroid
on 10 April 2010 - 22:32 #169487 Reply to:169423
mk's picture

แก้ให้เรียบร้อยแล้วครับ วันหลังช่วยบอกละเอียดนิดนึง เพราะหาไม่เจอจริงๆ ครับว่าผิดยังไง

By: mossila
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 11 April 2010 - 14:54 #169620
mossila's picture

เครื่อง scan ของ atiz นีนา O_o

By: baanmaew on 12 April 2010 - 08:36 #169755

.. กังวลว่านักเรียนจะขาดช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้และคิดไปกับไอเดียของผู้เขียน … เสียสายตา .. นักเรียนอาจไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือผ่านหน้าจอนานเท่ากับอ่านหนังสือเล่ม ฯลฯ

ในความคิดเห็นส่วนต้วนะครับ ผมคิดว่า “กลัวเกินไป” การที่จะหาหนังสือใดๆ อ่านแน่นอนว่ามันต้องเป็นเรื่องที่เราชอบ โปรดปราน เป็นส่วนตัวมันก็ทำให้เราอ่านจนจบได้อยู่แล้ว จินตนาการก็จะเกิดขึ้น ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นหนังสือจริงๆ หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ไม่เห็นจะต้องกังวลเลยว่าจะไม่มีสมาธิในการอ่าน แต่จากประโยคข้างต้นคิดว่าน่าจะกังวลในเรื่องของตำราเรียนเสียมากกว่าที่ถึงได้คิดไปว่านักเเรียนจะไม่มีสมาธิในการอ่าน...ในเรื่องนี่มันแน่นอนอยู่แล้วครับกว่าว่านักเรียนส่วนมากไม่ค่อยจะมีสมาธิในการอ่านหนังสือพวกตำราเรียน(ที่ตัวเองไม่ชอบ) จะมาอ้างเหตุผลที่ว่าถ้าเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ยิ่งทำให้ขาดสมาธิในการอ่านเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้หรอกครับ...กลัวการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ตัวเองเคยชินหรือเปล่า เพราะมันเป็นภาระของบุคคลากรที่ดูแลเรื่องนี้ต้องมาเรียนรู้เทคโนโลยีกันใหม่หมด แต่ไม่น่าจะโยนความผิดไปให้กับเทคโนโลยีเลยนะครับ คงต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงแล้วละครับ ถ้ามมองในแง่ดีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต่างหากที่สามารถดึงดูดความสนใจให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาในตำราเรียนได้อย่างสนุกสนานมากยิ่งขึ้น (ผมไม่อยากเรียกว่า“อ่าน” แต่อยากใช้คำว่า“เรียนรู้” เพราะ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มันเป็นมากกว่าการ“อ่าน” และการอ่านหมายถึง อ่านให้จบ แต่การเรียนรู้มันมีมากกว่านั้น)

เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวครับ ไม่มีเอกสารทางวิชาการอ้างอิงใดๆ

ขอบคุณครับ

By: heartnet
AndroidIn Love
on 13 April 2010 - 00:32 #169872
heartnet's picture

ดูจากจำนวนคนอ่านบทความนี้ก็น่าจะรู้แล้วนะครับ ว่าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อย

By: xxa
Android
on 18 May 2015 - 23:44 #813642

ผ่านมา 5 ปี ลองดู
Digital Collections of National Library of Thailand
http://www.digital.nlt.go.th/

ป่วย ใช้งานอะไรจริงไม่ได้ ตอนนี้หอสมุดแห่งชาติปิดซ่อม "งดบริการ" ไปหลายโซน คาดว่า 1-2 ปี ใครจะค้นอะไรรอไปก่อน