Tags:
Node Thumbnail

หลังจาก เกริ่นนำเรื่องงานแปล และได้พูดถึงโครงการต้นน้ำหลักสองโครงการ คือ GNOME และ KDE กันไปแล้ว distribution ชุมชนอย่าง Debian ก็เป็นต้นกำเนิดหนึ่งของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในหลาย ๆ distro ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทั่วไปอย่าง apt, synaptic มาจนถึงเครื่องมือเฉพาะ Debian ที่ใช้ใน Debian-based distro ทั้งหลายอย่าง dpkg, debconf, debian-installer ฯลฯ

Debian เริ่มมีการแปลภาษาไทยตั้งแต่รุ่น etch (4.0) เป็นต้นมา เราเริ่มเร็วหรือช้า ดูได้จาก แผนที่ภาษา ของ debian-installer ครับ นับว่าโชคยังดี ที่ถึงจะไม่ใช่ภาษาแรก ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังไม่ใช่ภาษาสุดท้ายของภูมิภาค (ที่แน่ ๆ คือ เราช้ากว่ากัมพูชาและภูฏานไปหนึ่งก้าว ส่วนเวียดนามนั้น ไม่ต้องพูดถึง เขาอยู่ในระดับเดียวกับภาษาตะวันตกไปแล้ว)

ว่าแล้วก็เข้าเรื่องกันดีกว่า

อะไรบ้างที่แปลได้?

คุณสามารถเริ่มสำรวจได้จากหน้า Central Debian translation statistics ซึ่งในหน้านั้น คุณจะพบลิงก์ไปยังข้อความส่วนต่าง ๆ ที่จะแปลได้ (ขอเรียงตามลำดับความสำคัญ) คือ

  • Debian installer (โปรแกรมติดตั้งเดเบียน) เป็นการแปล โปรแกรมติดตั้งของเดเบียน โดยเฉพาะ โปรแกรมนี้ใช้ในแผ่นติดตั้งของ Debian รวมทั้ง Ubuntu แบบไม่ใช่ Live CD ก็ใช้ด้วยเช่นกัน และอันที่จริง งานแปลภาษาไทยใน Debian ก็เริ่มที่จุดนี้ ซึ่งจาก สถิติการแปล ก็นับว่าภาษาไทยคืบหน้าไปเยอะพอสมควร (แบ่งเป็น 5 level ภาษาไทยเราเกือบครบ level 5)

    แหล่งดาวน์โหลด:

    เอกสารประกอบ มีรายละเอียดเพิ่มเติม

  • Debconf templates translation (ข้อความขณะตั้งค่าแพกเกจ Debian) เป็นข้อความที่จะถามผู้ใช้ตอนติดตั้งแพกเกจ เพื่อช่วยผู้ใช้ตั้งค่าต่าง ๆ เช่น เวลาติดตั้ง MTA ก็จะต้องถามเรื่องการรับส่งเมล การเปิดบริการที่พอร์ตต่าง ๆ ฯลฯ ผ่านระบบที่เรียกว่า debconf ซึ่งข้อความเหล่านี้ เป็นของ Debian package เอง จึงควรแปลที่ Debian เป็นหลัก และถ้าคุณแปลที่ Debian-based distro (เช่น Ubuntu) การส่งคำแปลกลับเข้า Debian ก็จะมีประโยชน์ไปถึง distro ตระกูล Debian โดยรวมทั้งหมด

    แหล่งดาวน์โหลด: PO ภาษาไทย, POT

  • Program translation (ข้อความในโปรแกรม) ก็คือข้อความของโปรแกรมจากโครงการต้นน้ำนั่นเอง ข้อความส่วนนี้ ไม่ขอแนะนำให้แปลที่ Debian ยกเว้นในกรณีที่ Debian เป็น upstream จริง ๆ เช่น apt, dpkg, debconf ส่วนแพกเกจอย่าง GNOME, KDE ขอแนะนำให้แปลที่โครงการต้นน้ำจะดีกว่า เพื่อป้องกันการทำงานซ้ำซ้อน และเพื่อประโยชน์ต่อ distro อื่นด้วย

    แหล่งดาวน์โหลด: PO ภาษาไทย, POT

  • Debian package descriptions (คำบรรยายแพกเกจ) คำบรรยายแพกเกจที่คุณเห็นตอนสั่ง apt-cache show package หรือที่คุณเห็นใน aptitude สามารถแปลเป็นไทยได้ โดยผ่านโครงการแปลคำบรรยายแพกเกจเดเบียน (DDTP) โดยมีขั้นตอนการแปลผ่านเมลและเว็บ (รายละเอียด)

    งานแปลส่วนนี้สำหรับภาษาไทย ขณะนี้ยังไม่เริ่ม

  • Debian website คือแปลเว็บ Debian นั่นเอง ตรงนี้ภาษาไทยยังไม่เริ่มเช่นกัน

ในการแปล หากคุณต้องการดู source ของแต่ละแพกเกจ เพื่อจะได้ดูบริบทประกอบการแปล ก็อาจสั่ง apt-get source package ได้ แต่ระวังว่า รุ่นที่อยู่ใน SCM อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของข้อความก็ได้ ซึ่งกรณีนั้น คงต้องติดตามแพกเกจต่าง ๆ เป็นกรณีไป (ในรุ่น lenny จะมีเครื่องมือ debcheckout สำหรับสั่ง checkout source ล่าสุดของแพกเกจได้ แต่ก็ต้องแล้วแต่แพกเกจด้วย ว่าจะให้ข้อมูลส่วนนี้มาหรือเปล่า)

การส่งงานแปล

ข้ามเรื่องวิธีแปลซึ่งได้พูดกันไปเยอะแล้วในตอนก่อน ๆ มาที่การส่งงานแปล

คุณสามารถส่งงานแปลได้ 2 ทาง

  1. ส่งผ่านผู้ประสานงาน โดยส่งมาที่ mailing list ทีมแปล หรือที่ผมโดยตรง (thep ณ linux thai net) แล้วแต่ความสะดวก แล้วผมจะจัดการต่อให้ โดยเฉพาะในส่วน Debian installer ขอให้ใช้ช่องทางนี้ เนื่องจากทำงานกันผ่าน SVN เป็นหลัก และผมมีสิทธิ์ commit เองได้หลายตัว
  2. ส่งเข้า Debian BTS เอง ผ่านคำสั่ง reportbug ก็ได้ สำหรับแพกเกจทั่ว ๆ ไป แต่ถ้ามาผ่านการตรวจทานก่อน ก็จะดีครับ

รายละเอียดเพิ่มเติม

Get latest news from Blognone

Comments

By: lancaster
Contributor
on 16 April 2008 - 14:18 #48707

ขอบคุณสำหรับรายละเอียดครับ

รออยู่เชียวว่าเมื่อไหร่ Debian จะมีภาษาไทย (โดยเฉพาะเว็บ)