Tags:
Node Thumbnail

Uber ได้จัดการนำข้อมูลต่าง ๆ ไปทำผลสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้รถยนต์และการจราจรติดขัดในหลายเมืองในภูมิภาคอาเซียน และได้เผยข้อมูลจากการสำรวจว่าในแต่ละวัน คนกรุงเทพจะต้องเสียเวลาโดยเฉลี่ยไป 72 นาที หรือคิดเป็น 24 วันต่อปี กับสภาพรถติดและการหาที่จอดรถยนต์

ข้อมูลที่ Uber นำเสนอคือทุกวันนี้ปัญหารถติดในภูมิภาคอาเซียนนั้นเลวร้ายลงทุกที กรุงเทพถือเป็นเมืองที่ปัญหาการจราจรติดขัดสูงที่สุด ตามด้วยจาการ์ตา มะนิลา ฮานอย และกัวลาลัมเปอร์ โดยสถิติที่น่าสนใจมีดังนี้

  • กรุงเทพมีรถมากกว่า 5.8 ล้านคัน หากต้องจอดรถทั้งหมดจะต้องใช้พื้นที่ทั้งหมด 8 สนามบินสุวรรณภูมิ
  • คนกรุงเทพใช้เวลา 24 วันต่อปีไปในสภาพรถติดและการหาที่จอดรถยนต์
  • ในชั่วโมงเร่งด่วนของกรุงเทพ บนถนนมีรถ 160% ของที่ถนนควรจะมี (หรือที่ถนนรับได้) จึงทำให้รถติด 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
  • ทุกวันนี้ คนกรุงเทพเฉลี่ยแล้วมีรถยนต์ 2.1 คนต่อรถ 1 คัน (ในขณะที่รถยนต์นั่งได้มากกว่านั้น แปลว่ายังเหลือที่นั่งอยู่อีกเยอะ)
  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากรถยนต์ในกรุงเทพสามารถเติมพื้นที่ขนาดตึกมหานครได้ 23,000 ตึก
  • เวลาที่รถยนต์ใช้งานจริง ๆ มีเพียง 4-5% เท่านั้น (ที่เหลือแทบจะจอดทิ้งไว้เฉย ๆ)

และหากมองเป็นสเกลระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • จาการ์ตาและโฮจิมินห์ยังมีรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากเป็นเช่นนี้ต่อไป 5 ปี การจราจรสองเมืองนี้จะเป็นอัมพาต
  • ที่กัวลาลัมเปอร์ ในชั่วโมงเร่งด่วนปี 2565 รถยนต์จะติดมากกว่าเดิม 4.5 เท่า
  • จาการ์ตาต้องใช้พื้นที่ 24,000 สนามฟุตบอลในการจอดรถทุกคันในเมือง
  • คนสิงคโปร์เสียเวลากับการหาที่จอดรถในแต่ละปีคิดเป็นเงินเกือบ 120,000 บาท
  • คนมะนิลาเสียเวลาไปโดยเฉลี่ย 23 วันต่อปีกับรถติดและการหาที่จอดรถ
  • คนที่โฮจิมินห์กว่า 3 ใน 4 เคยผิดนัดหรือพลาดงานสำคัญเพราะมัวแต่หาที่จอดรถ
  • การจอดรถทุกคันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องใช้พื้นที่เท่ากว่า 25 เกาะฮ่องกง

No Description
คุณศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Uber

Uber ได้นำเสนอบริการร่วมเดินทางหรือ ride sharing เพื่อเป็นการแก้ปัญหารถติด ปัจจุบัน Uber เปิดให้บริการในไทยที่กรุงเทพ เชียงใหม่ เชียงราย พัทยา ชลบุรี และขอนแก่น ซึ่งบริการร่วมเดินทางทำให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม ตอบสนองกับความต้องการเดินทางของคนในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Uber ได้นำเสนอ Boxes ภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาการจราจรติดขัด โดยใช้กล่องกระดาษสื่อแทนรถยนต์ ซึ่งจำนวนกล่องมหาศาลเปรียบเสมือนรถยนต์ที่ยึดพื้นที่ในเมือง

No Description
คุณมาเรียม จาฟฟาร์ จาก BCG

ถัดไปคือข้อมูลจาก BCG (The Boston Consulting Group) ประเทศสิงคโปร์ มีคุณมาเรียม จาฟฟาร์ หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการได้ขึ้นมานำเสนอข้อมูลที่ได้ทำงานวิจัยร่วมกับ Uber เพื่อให้บริการร่วมเดินทางสามารถตอบสนองความต้องการเดินทางของคนในเมืองได้ดียิ่งขึ้น

บริการร่วมเดินทางในลักษณะที่ Uber ได้ให้บริการอยู่นั้น มีดีอย่างไร

  1. ฐานอุปทานที่ยืดหยุ่น ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา ทำงานเมื่อทำได้ ขยายตัวเพื่อรองรับบริการร่วมเดินทางได้ และมีศักยภาพสูงในการตอบสนองความต้องการในเขตพื้นที่รอบนอก
  2. การรวมอุปสงค์เข้าด้วยกัน รวมเส้นทางเข้าด้วยกัน เพิ่มจำนวนกิโลเมตรที่ประชาชนเดินทางต่อคันให้มากขึ้น
  3. กำหนดเส้นทางอย่างมีประสิทธิภาพและจับคู่อย่างชาญฉลาด เพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดเส้นทางเพื่อลดระยะเวลาเดินทาง

สามส่วนนี้ ช่วยได้อย่างไร

  1. บริการเดินทาง ช่วยให้วิถีชีวิตที่ต้องการใช้รถยนต์น้อยลง ราว 10-40% ของผู้ที่จะซื้อรถยนต์ในอนาคตใน 10 เมืองใหญ่ยินดีอย่างยิ่งที่จะใช้บริการร่วมเดินทางแทนซื้อรถ
  2. บริการร่วมเดินทาง ช่วยให้จำนวนผู้โดยสารต่อยานพาหนะมากขึ้นได้เฉลี่ยถึง 1.7 เท่า
  3. บริการร่วมเดินทาง ช่วยให้การใช้ยานพาหนะต่อกิโลเมตรมีประสิทธิภาพดีขึ้น ยกตัวอย่างในซานฟรานซิสโก จำนวนกิโลเมตรที่ยานพาหนะร่วมเดินทางไม่มีผู้โดยสารอยู่ที่ครึ่งหนึ่งของแท็กซี่
  4. บริการร่วมเดินทาง ช่วยให้เสริมการทำงานระบบขนส่งสาธารณะ ในบางเมืองรายงานผู้ใช้บริการร่วมเดินทางแสดงให้เห็นว่า 40% ของผู้ใช้บริการมีการใช้บริการเดินทางสาธารณะมากขึ้น
  5. บริการร่วมเดินทาง ช่วยให้เสริมประสิทธิภาพในกรอบระยะเวลาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน บางเมืองในสหรัฐฯ ยืดกำหนดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะออกไป หันมาร่วมมือกับผู้ให้บริการร่วมเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าบริการร่วมเดินทางเป็นการขนส่งส่วนบุคคลอันดับแรก ซึ่งเมื่อลดปริมาณรถยนต์และจักรยานยนต์ได้ถึง 40-70% ผลลัพธ์จากการลดปริมาณรถยนต์ที่ตามมาคือลดความหนาแน่นทางการจราจรลงได้ 50-90% ในเมืองใหญ่ ๆ โดยสิ่งที่ทาง BCG นำเสนอให้ดำเนินการในอนาคตคือ

  • ภาครัฐ ให้ความช่วยเหลือบริการร่วมเดินทาง ส่งเสริมให้มีการร่วมเดินทางมากขึ้น กำหนดหลักการ และเพดานราคา
  • บริษัทผู้ให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพการร่วมเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมเส้นทาง, กำหนดราคา, ความพร้อมให้บริการ และระยะการเดินทาง
  • การร่วมมือกัน แชร์ข้อมูลการขนส่งข้ามระบบ ทำโปรแกรมเดินทางไปกลับจากบ้านถึงจุดบริการขนส่งสาธารณะ จูงใจให้เกิดการร่วมเดินทาง

No Description
ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)

ดร.ศุภกรกล่าวว่า ปัญหาการจราจรและการเดินทางเป็นปัญหาร่วมของชุมชนเมืองหลายประเทศ เช่นเดียวกับไทย รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขและพัฒนาเมืองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีบางส่วนเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว

DEPA มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาเมืองภายใต้นโยบาย Smart City ผลักดันให้เกิด Smart City Alliance เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเพื่อผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารเมืองเข้ามาหารือกันเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

No Description
ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.ภูรีกล่าวว่า ทุกวันนี้เรายังมีของเหลือที่ยังไม่ได้ใช้ เราจึงเอาของไปให้เขาใช้ เขาเอาของมาให้เราใช้ จึงเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เกิด sharing economy มีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ปัจจัยที่สำคัญคือเทคโนโลยี ทำให้การแบ่งปันมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น

บริการร่วมเดินทางเกิดขึ้นได้เพราะมีเทคโนโลยีอยู่ตรงกลาง ที่ให้ผู้โดยสารมาพบกับผู้ให้บริการหรือคนขับรถ ข้อดีคือทำให้ผลกระทบเชิงโครงข่ายที่ทำให้คนรู้จักกันผ่านตัวกลาง และแชร์กัน ลดเวลาการรอรถโดยสาร ลดเวลาการคอยหาลูกค้า หรือหาคนมาแชร์ โอกาสที่จะเดินเข้าไปเจอกับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมีมากขึ้นและสูงขึ้น นำมาสู่การกำหนดค่าโดยสารแบบพลวัต (dynamic pricing)

ระบบนี้คือใครก็ตามที่ยินดีจ่ายในราคาที่สูงกว่าคนนั้นก็มีโอกาสได้เดินทางมากกว่า ส่วนฝั่งผู้ให้บริการ ก็ต้องแข่งกับผู้ให้บริการคนอื่นด้วย เทคโนโลยีที่เข้ามาเชื่อมต่อทำให้คนให้บริการก็อยากให้บริการมากขึ้นเพราะมีคนรออยู่ และความต้องการมีสถานที่ชัดเจน สถานที่ที่การจราจรแออัด ราคาจะปรับตัวเป็นเชิงพลวัต อย่างเช่นเราจะต้องจ่ายแพงหากใช้บริการในพื้นที่หนาแน่น เป็นต้น

ตัวกลางไม่ได้มีแค่คนเดียว เรามีแอพหลายเจ้า มีข้อมูลมากขึ้น ดังนั้นผู้ใช้บริการ อาจจะสมัครรับบริการกับหลายเจ้าก็ได้ จะทำยังไงให้ดึงดูดผู้โดยสารให้อยู่กับเขา เช่น เดินทางก่อนจ่ายทีหลัง โดยสารฟรี ฯลฯ

ข้อดีที่โดดเด่นคือ ทรัพยากรเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นในอัตราใด? อัตราแรกคือเวลา และเรื่องของระยะทาง เราสามารถใช้ตัวรถหรือยานพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหารถติดแล้วก็ลดการใช้เชื้อเพลิงในการขับขี่ที่ไม่จำเป็น ซึ่งช่วยปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

อีกข้อคือ เป็นการเปิดโอกาสทำให้แรงงานในหลายภาคส่วนมีความยืดหยุ่นในการเลือกเป็นผู้ให้บริการ และการแบ่งปันข้อมูล เราเป็นคนให้ข้อมูลผ่านตัวกลาง คนขับรถก็ให้ข้อมูลผ่านตัวกลาง ถ้ามีการแชร์ข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม ข้ามธุรกิจ ฯลฯ การเชื่อมต่อหรือแบ่งปันข้อมูลผลสุดท้ายจะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ใช่แค่เม็ดเงินแต่เป็นสวัสดิภาพและสวัสดิการของประชาชน

No Description

ช่วงถามตอบ (เฉพาะคำถามที่น่าสนใจ)

Q: การรวบรวมรายชื่อเพื่อเปลี่ยนกฎหมาย มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง?
A: ตอนนั้นที่ Uber ได้เปิดให้ลงชื่อผ่านหน้าเว็บ ทางบริษัทรวบรวมออนไลน์ได้ห้าหมื่นกว่าชื่อ ตอนนี้กำลังรวบรวมอีกครั้ง แบบให้เซ็นเอกสารอย่างเป็นทางการด้วย

Q: ปัจจุบัน บริการ UberAssit เป็นอย่างไรบ้าง?
A: UberAssist บริการที่ช่วยจับคู่รถกับคนที่เป็นคนพิการหรือผู้สูงอายุ ตอนนี้ในไทยมีผู้ใช้งานมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และยังอยู่ในช่วงทำกิจกรรมการเรียนรู้กับพาร์ทเนอร์ เพื่อให้คนขับรถสนใจมาร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้น

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: FutureLifePlus
iPhoneAndroid
on 8 November 2017 - 12:07 #1017843

ดีป้าโอเคแล้ว กรมขนส่งว่าไงบ้าง ??

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 8 November 2017 - 14:40 #1017885
panurat2000's picture

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ที่ถูกปล่อยจากรถยนต์

ออกไซน์ => ออกไซด์

ในซษนฟราน จำนวนกิโลเมตรที่ยานพาหนะร่วมเดินทาง

ในซษนฟราน ?

ปัญหาการจราจรและการเดินทาสงเป็นปัญหาร่วม

การเดินทาสง => การเดินทาง

อย่างช่นเราจะต้องจ่ายแพงหากใช้บริการในพื้นที่หนาแน่น

อย่างช่น => อย่างเช่น

By: topty
Contributor
on 8 November 2017 - 21:28 #1017960 Reply to:1017885

Q: ปัจจุบัน บริการ UberAssit เป็นอย่างไรบ้าง?

UberAssit => UberAssist

By: OXYGEN2
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 9 November 2017 - 01:08 #1017986
OXYGEN2's picture

ผมใช้รถน้อย อยากให้ Uber มีบริการที่ดีกว่า Uber Black บ้างครับ อย่างไปจีนผมเดินทางใกล้ๆ ผมเรียก DiDi แบบ Premier รถแพงสุด (Audi A6L, Lexus ES, BMW 528iL, MB E260L, Toyota Crown) ค่าเดินทางเที่ยวนึงประมาณ 70-100 หยวน ไปหลายที่ผมใช้ค่าเดินทางไม่เกินวันละ 300 หยวน ตกประมาณวันละ 1,500 บาท พอๆ กับค่าผ่อนรถระดับที่ผมเรียกในเมืองไทยต่อเดือน แต่มีคนขับให้ ถ้ามีบริการนี้ในไทย ผมไม่จำเป็นต้องซื้อรถเพื่อใช้ในกรุงเทพแล้วครับ


oxygen2.me, panithi's blog

Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6