Tags:
Node Thumbnail

งาน Digital Thailand Big Bang 2017 งานนิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัล จัดขึ้นที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี 21-24 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา มีบูธของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน บริษัทจากทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมแสดงงาน

ภายในงานยังมีสัมมนาหลายหัวข้อ Blognone ได้เข้าฟังสัมมนาจากกลุ่ม Health Tech Startup ประเทศไทย พูดถึงการดูแลสุขภาพในยุคดิจิทัล ปัญหาและ โซลูชั่นต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพคนไทย บนเวทียังมีการแนะนำสตาร์ทอัพสุขภาพหลายเจ้าด้วย

No Description

พงษ์ชัย เพชรสังหาร ผู้พัฒนาแอพ SmartHealthCare และหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Health Tech Startup พูดภาพรวมของสตาร์ทอัพสุขภาพในไทยตอนนี้ว่า ปัจจุบันมีบริษัทและสตาร์ทอัพประมาณ 35 บริษัทในกลุ่ม Health Tech Startup ที่มองเห็นปัญหาเรื่องการให้บริการสุขภาพในประเทศไทย สามารถแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น จิตวิทยา บริการสุขภาพ ปรึกษาปัญหาสุขภาพทางไกล และ เครือข่ายแพทย์ เป็นต้น จนถึงตอนนี้เริ่มมีโรงพยาบาลนำโซลูชั่นจากบริษัทเหล่านี้ไปใช้บ้างแล้ว
No Description

โซลูชันจัดการข้อมูลสุขภาพ รักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

ด้านแอพ SmartHealthCare จากบริษัท Smart Healthcare Global ที่คุณพงษ์ชัยเป็นผู้ก่อตั้ง มาจากการมองเห็นปัญหาเรื่องการจัดการข้อมูลสุขภาพ การเชื่อมต่อข้อมูลของแต่ละโรงพยาบาล ที่สำคัญข้อมูลสุขภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในประเทศไทย 1 ใน 4 ของประชากรไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคไต 8 ล้านคน ความดันโลหิตสูง 5 ล้านคน โรคเบาหวาน 2.5 ล้านคน และคนไม่ถึงครึ่งที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นตั้งแต่เริ่ม รู้ตัวอีกทีก็เป็นระยะสุดท้ายแล้ว

คุณพงษ์ชัย บอกว่านี่จึงเป็นที่มาของการทำแอพพลิเคชั่นช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ ติดตามและบันทึกข้อมูลสุขภาพ แสดงผลออกมาให้วิเคราะห์ได้ง่าย เพื่อให้ผู้ป่วยและคนที่เสี่ยงเป็นโรคได้รักษาตัวเองเร็วขึ้น ดีกว่าไปรู้ตอนระยะสุดท้าย

ฟีเจอร์สำคัญของแอพพลิเคชั่นคือ การยืนยันตัวตนและการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านโรงพยาบาลที่เป็นพาร์ทเนอร์ ตัวแอพจะเข้ามาทดแทนสมุดตรวจสุขภาพ แอพดึงข้อมูลจากโรงพยาบาลในระบบอัตโนมัติ นำเสนอและแสดงผลข้อมูลในรูปแบบเข้าใจง่าย

นอกจากนี้ แอพยังมีระบบคัดกรองผู้มีความเสี่ยง แจ้งเตือนแนวโน้มการทำงานของอวัยวะ คือแทนที่จะรอให้เป็นโรคระยะท้าย เพราะมีเทคโนโลยีติดตามการทำงานของอวัยวะ (ไต, เลือด) เมื่อมีการติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องจะระบุอาการแรกเริ่มได้เร็วกว่า
No Description

การรักษาที่ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และ การแพทย์ทางไกล

หัวข้อถัดมาพูดถึงแนวทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ผู้บรรยายคือ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง Ooca แพลตฟอร์มสื่อกลางระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และคนไข้ คุณกัญจน์ภัสสร ระบุว่า แนวทางการแพทย์ที่ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เรื่องใหม่ องค์การอนามัยโลกส่งเสริมแนวทางนี้มาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่ในทางการแพทย์ ปรับเปลี่ยนไม่ทัน เช่น วิธีพบแพทย์ วิธีดูแลสุขภาพ

WHO ระบุว่า แพทย์อาจโฟกัสรักษาที่ตัวโรคมากเกินไป ทำให้บทบาท ผู้ให้และผู้รับบริการไม่เท่าเทียมกัน การเข้าถึงบริการการแพทย์ควรทำให้สะดวกสบายมากขึ้น และควรมองปัจจัยอื่นด้วย เช่น สภาพจิตใจ สังคม ความสามารถในการดูแลตัวเองของแต่ละคน

ปีนี้ WHO ยกให้โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาหลัก ทั้งที่เมื่อก่อนเราแทบไม่ได้สนใจโรคนี้เลย จากสถิติโรคนี้มีคนตาย 1 ใน 10 ของบรรดาโรคภัยต่างๆ เราควรเริ่มเปลี่ยนมุมมองมามองที่ฝั่งคนไข้ เราจะสามารถออกแบบวิธีเข้าถึงบริการของประชาชนได้ง่ายขึ้น กัญจน์ภัสสร เป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นปัญหานี้จึงก่อตั้ง Ooca ขึ้นมา สามารถอ่านย้อนหลังได้ ที่นี่

เรื่องการแพทย์ทางไกลหรือ Tele Medicine กัญจน์ภัสสร ระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยยกตัวอย่างในบังกลาเทศ มีสตาร์ทอัพชื่อ Jeeon ทำระบบการแพทย์ทางไกล ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำระบบปรึกษาแพทย์ทางไกลติดตั้งในร้านขายยาที่ประชาชนเข้าถึงได้มากกว่าโรงพยาบาล ในเมื่อบังกลาเทศทำได้ ไทยก็ทำได้ เพราะประเทศไทยมีมูลค่าการตลาดร้านขายยาในไทยถึงสามหมื่นล้านบาท และร้านขายยาเป็นที่พึ่งของคนทั่วไปที่ไม่สะดวกไปโรงพยาบาล

No Description

การแพทย์ทางไกลมีบทบาทชัดเจน โดย American Psychiatric Association (องค์กรวิชาชีพจิตแพทย์ของสหรัฐฯ) ให้การรับรองและสนับสนุนการแพทย์ทางไกลอย่างเป็นทางการ

No Description

การใช้ยาอย่างถูกต้องในยุคดิจิทัล

จักร ศัลยวัตร จากสตาร์ทอัพ Pharma Safe ระบุว่าความคาดเคลื่อนในการใช้ยาเป็นปัญหาใหญ่มาก ส่งผลให้เสียชีวิตได้ สาเหตุมาจากหลายอย่างทั้งจากโรงพยาบาลเอง และจากผู้ป่วย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่าคนไทย 40% ใช้ยาไม่ถูกต้อง เทียบเป็นงบประมาณเป็นหลักแสนล้านบาท ที่ยิ่งกว่านั้นคือ ผู้ป่วยหายจากโรคช้าลง อยู่โรงพยาบาลนานขึ้น แพ้ยาและเสี่ยงชีวิต

การใช้ยาผิดมาจากหลายสาเหตุ หยิบยาผิด กินยาไม่ครบ เก็บรักษายาไม่ดีจนยาเสื่อมสภาพ กรณีนี้อันตรายมาก เพราะเมื่อยาเสื่อมสภาพก็ไม่ต่างจากสารเคมีหรือยาพิษ สุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่ผู้ป่วยว่าต้องจัดการตนเองอย่างไร เทคโนโลยีช่วยให้ปัญหาดังกล่าวทุเลาลง ทุกวันนี้ีมีโซลูชั่นมากมายเช่น แอพช่วยแจ้งเตือนการกินยา อุปกรณ์ IoT ติดตั้งที่ขวดยา เป็นต้น

ด้านแอพพลิเคชั่น Pharma Safe ที่จักร ศัลยวัตรก่อตั้ง คือระบบ บันทึกข้อมูลเอกสารกำกับยาทันทีที่ได้รับการจ่ายยาจากโรงพยาบาล มีระบบเตือนให้กินยาถูกเวลา ไม่ผิดชนิด ระบบยังบันทึกประวัติการแพ้ยา หรือยาที่อาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ ระบบสามารถรวมข้อมูลจากหลายโรงพยาบาลได้ โดยผู้ป่วยไปลงทะเบียนเปิดข้อมูลที่โรงพยาบาล ช่วยให้การรักษาเมื่อเปลี่ยนโรงพยาบาลทำได้ราบรื่นมากขึ้น

บนเวทีสัมมนายังมีสตาร์ทอัพอีกหลายรายที่มาแนะนำโซลูชันการแพทย์ เช่น Chiiwii life online clinic for women แพลตฟอร์มปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้หญิง ZeecDoc แพลตฟอร์มนัดหมายแพทย์ทางออนไลน์ เป็นต้น

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 2 October 2017 - 13:53 #1010874
panurat2000's picture

ความดันโลหิสูง 5 ล้านคน

โลหิ => โลหิต

จากสถิติโรคนี้มีคนตาย 1 ในสิบ

1 ในสิบ => 1 ใน 10 / หนึ่งในสิบ

การแพทย์ทางไกลมีบทาทชัดเจน

บทาท => บทบาท

ทุกวันนี้ีโซลูชั่นมากมายเช่น

ทุกวันนี้ีโซลูชั่น ?

By: sunnywalker
WriterAndroid
on 3 October 2017 - 08:40 #1011038 Reply to:1010874

ขอบคุณค่ะ