Tags:
Node Thumbnail

เมื่อพูดถึงแบรนด์ Lenovo เรามักนึกถึงคอมพิวเตอร์ทั้งเดสก์ท็อปและโน้ตบุ๊ก แต่จริงๆ แล้ว Lenovo ยังมีธุรกิจไอทีองค์กรที่เน้นขายฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์ และถ้ายังไม่ลืมกัน ธุรกิจเซิร์ฟเวอร์เดิมของ IBM เกือบทั้งหมด (ยกเว้นกลุ่มซีพียู Power) ถูกขายมาให้ Lenovo ตั้งแต่ปี 2014

สำหรับในประเทศไทย Lenovo Thailand ยังไม่ได้ทำตลาดเซิร์ฟเวอร์อย่างจริงจังนัก แต่ด้วยทีมงานของ IBM เดิมก็ยังส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสามของไทย

ล่าสุด Blognone มีโอกาสคุยกับผู้บริหารฝั่ง data center ของ Lenovo ทั้งจากสำนักงานใหญ่และจากสำนักงานภูมิภาค คือ Sumir Bhatia (Vice President, Data Centre Group, Asia Pacific) และ Scott Tease (Executive Director, Hyperscale and HPC) ถึงแผนขั้นต่อไปของ Lenovo ในการบุกตลาดเซิร์ฟเวอร์องค์กร

No Description

Sumir Bhatia (Vice President, Data Centre Group, Asia Pacific)

ยุทธศาสตร์เซิร์ฟเวอร์ Lenovo เน้นจับมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ ขายโซลูชันร่วมกัน

ผู้บริหารของ Lenovo ระบุว่าข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของบริษัทคือ เซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดอยู่บนเทคโนโลยียุคปัจจุบัน ใช้ซีพียูสถาปัตยกรรม x86 ที่ยอมรับกันทั่วไป ไม่มีระบบเซิร์ฟเวอร์เก่าที่เป็น legacy system เหมือนกับคู่แข่งรายอื่นๆ ดังนั้นในแง่การขายฮาร์ดแวร์ Lenovo จะไม่มีแรงจูงใจในการขายระบบเก่าให้ลูกค้าก่อน แต่จะนำเสนอระบบที่ใหม่ที่สุดเลย

ปัจจุบัน Lenovo จัดสายผลิตภัณฑ์ฝั่งองค์กรใหม่ เหลือเพียง 2 แบรนด์ย่อยคือ ThinkSystem (ฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิม) และ ThinkAgile สำหรับรันซอฟต์แวร์ศูนย์ข้อมูลยุคใหม่ที่เป็น SDX (software-defined x) โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Microsoft, Nutanix, VMware

No Description

การที่ Lenovo เน้นขายฮาร์ดแวร์เป็นหลัก ไม่ได้มีธุรกิจซอฟต์แวร์เหมือนกับบริษัทไอทีองค์กรหลายๆ ราย ทำให้ Lenovo สามารถจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทซอฟต์แวร์องค์กรได้ง่ายกว่า เพราะไม่ใช่คู่แข่งที่มีธุรกิจทับซ้อนกัน ความร่วมมือของ Lenovo กับบริษัทซอฟต์แวร์จึงออกมาเป็นสินค้ากลุ่ม Engineered Solutions ที่นำฮาร์ดแวร์ของ Lenovo มาปรับแต่งกับซอฟต์แวร์ของแต่ละบริษัทให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

พันธมิตรรายสำคัญของ Lenovo คือ SAP ที่มีโซลูชันฐานข้อมูล SAP HANA ร่วมกัน ปัจจุบัน Lenovo มีส่วนแบ่งตลาดเซิร์ฟเวอร์ SAP HANA เกิน 50%

แต่นอกจากนั้น Lenovo ก็ยังมีพันธมิตรรายอื่นๆ อีกมาก เช่น VMware (vCloud), Microsoft (Azure), Nutanix (Storage), Cloudera (Hadoop), Cloudian (Object Storage), Nexenta (Storage), Red Hat (OpenStack)

No Description

ตลาดคลาวด์ Public vs Private = Hybrid

ตลาดเซิร์ฟเวอร์ในปัจจุบัน คนเริ่มย้ายไปใช้ public cloud กันมากขึ้น คำถามคือผู้ขายฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์จะับมือเรื่องนี้อย่างไร

คำตอบของ Lenovo คือโมเดล public cloud 100% ไม่ตอบโจทย์ในแง่ของราคา ยิ่งถ้าระบบใหญ่มากๆ การลงทุนสร้าง private cloud เองอาจมีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าในช่วงแรก แต่คุ้มกว่าในระยะยาว

ภาพรวมอีกด้านของตลาดคือสุดท้ายแล้ว องค์กรจะเลือกใช้ทั้ง public/private cloud ผสมผสานกันไป และตอนนี้ก็เริ่มมีโซลูชันอย่าง Azure Stacks หรือ Red Hat CloudForms ที่ Lenovo ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ ช่วยให้ใช้คลาวด์ระบบเดียวกันได้ทั้งบน public และ private cloud ขององค์กร

ส่วนประเด็นว่างานไหนจะรันบน public หรือ private ขึ้นกับว่าข้อมูลอยู่ที่ไหนเป็นหลัก เพราะการย้ายข้อมูลจำนวนมหาศาลที่อยู่ในสตอเรจขององค์กร ขึ้นไปรันบน public cloud ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในทางกลับกัน การนำข้อมูลที่อยู่บน public cloud อยู่แล้วกลับมาไว้ที่ private cloud ก็ไม่ง่ายเช่นกัน

Big Data, AI และ HPC คือโอกาสใหม่ของโลกไอทีองค์กร

ผู้บริหารของ Lenovo ยังชี้ให้เห็นว่าตอนนี้เริ่มมี 'workload' ประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะงานด้าน Big Data, Analytics และ AI

สาเหตุเกิดจาก IoT ส่งผลให้มีข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ต้องนำมาวิเคราะห์ แต่ปริมาณข้อมูลเยอะจนมนุษย์วิเคราะห์ไม่ทัน ต้องใช้ AI เข้าช่วย อย่างไรก็ตาม พอพูดคำว่า AI มันไม่ได้แปลว่ามีระบบ AI ขนาดยักษ์แยกเฉพาะออกมา แต่กลายเป็นว่า AI แทรกซึมเข้ามาในทุกจุดของกระบวนการต่างหาก

Lenovo ก็พยายามตอบรับกระแสนี้ โดยพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่ประมวลผล AI ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Lenovo มองว่าตอนนี้เทคโนโลยี AI เพิ่งเริ่มต้น และยังไม่ชัดเจนว่าเทคโนโลยีตัวใดจะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นยุทธศาสตร์ของบริษัทจึงไม่ได้ผูกตัวเองเข้ากับแพลตฟอร์ม AI ตัวใด แต่มองว่าเปิดกว้าง รับได้หมดทุกอย่างที่ตลาดต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Caffe, TensorFlow, CNTK รวมถึงในฝั่งของฮาร์ดแวร์ที่ร่วมมือกับทั้ง NVIDIA และ Intel

อีกตลาดที่น่าจับตาคือ คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (HPC หรือ high performance computing) ที่ตอนนี้ Lenovo ขึ้นมาเป็นเบอร์สองของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ TOP500 แล้ว ในบรรดาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 500 เครื่อง ตอนนี้มีระบบของ Lenovo จำนวน 92 เครื่อง ถือว่าเพิ่มมาเร็วมากจากในปี 2014 ที่ Lenovo ยังไม่เริ่มเข้ามาในตลาดนี้เลย

เคล็ดลับความสำเร็จของ Lenovo เกิดจากนำความรู้ความเชี่ยวชาญในฝั่ง HPC ของ IBM ที่ซื้อกิจการมา ผนวกกับความเร็ว ต้นทุน และปริมาณของ Lenovo ที่ทำได้ดีกว่า จนสามารถแซงขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ได้สำเร็จ และตั้งเป้าว่าจะเป็นเบอร์ 1 ให้ได้ในปี 2020

No Description

MareNostrum ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ Lenovo สร้างให้ Barcelona Supercomputing Center ถือเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดของสเปน และอยู่อันดับ 13 ของโลกในการจัดอันดับ June 2017 - ภาพจาก Lenovo

มองตลาดไอทีองค์กรของไทยอย่างไร

Lenovo มองว่าตลาดไทยมีอัตราการเติบโตสูง ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือเกิดศูนย์ข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นมาก โดยเฉพาะผู้เล่นจากต่างชาติที่เข้ามาตั้งศูนย์ข้อมูลที่ภาคตะวันออกของไทยกันอย่างคึกคัก

ผู้บริหารของ Lenovo ให้คำแนะนำถึง CIO ขององค์กรไทยว่าโจทย์ของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน ต้องเลือกให้ดีว่าเราจะทำอะไร จัดลำดับความสำคัญว่าจะทำอะไรก่อนหลัง แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยน infrastructure ทางไอทีไปทีละส่วน ไม่ต้องทำทีเดียวทั้งหมด ค่อยๆ ทำไปจากส่วนที่ง่ายๆ ก่อน จากนั้นเราจะคุ้นเคยกับการปรับเปลี่ยนระบบไอทีเป็นยุคใหม่ได้เอง

Get latest news from Blognone

Comments

By: jornvoo voojorn on 12 December 2017 - 20:01 #1023412
jornvoo voojorn's picture

ตลาดไทยใครๆก็อยากมาลงทุน