Tags:
Node Thumbnail

ในปัจจุบันที่ความเป็นส่วนตัวและการสอดแนมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ เรามักเห็นข่าวต่างๆ ออกมาจากในมุมของนักรณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย แต่หากเรามองการสอดแนมจากมุมของบุคคลผู้ทำหน้าที่ดักฟังสอดแนม และเก็บข้อมูล เราจะมองการสอดแนมไปอย่างไร?

Orwell เป็นเกมจากค่าย Osmotic Studios ออกวางขายเมื่อปี 2559 และตั้งชื่อตาม George Orwell ผู้แต่งนิยาย "1984" นิยายซึ่งว่าด้วยความเป็นส่วนตัว การสอดแนม รัฐ และประชาชน ตัวเกมเกิดในเมืองสมมติชื่อ The Nation ผู้เล่นซึ่งเป็นพลเมืองนอกระบบของ The Nation ได้รับการจ้างให้เป็นผู้สืบสวนสืบสวนคดีวางระเบิดที่อนุสาวรีย์ของเมืองผ่านระบบของ Orwell และด้วยระบบของ Orwell ผู้สืบสวนจะต้องปะติดปะต่อชิ้นข้อมูล (datachunks) เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นภาพใหญ่ๆ ซึ่งชิ้นข้อมูลนั้นได้จากหน้าเว็บข่าวสาร การดักฟังข้อมูล และการสอดส่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเป้าหมายในเกม

ภาพประกอบเกมอาจมีการเปิดเผยเนื้อหา ซึ่งไม่จัดเป็นเนื้อหาสำคัญของเกม

เนื้อเรื่องโดยคร่าว

12 เมษายน 2560 เกิดเหตุระเบิดอนุสาวรีย์ ณ Freedom Plaza ใจกลางเมืองหลวงของ The Nation คุณซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครงานกับ Orwell ได้รับการติดต่อยืนยันงานจากหัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยงานของคุณคือเริ่มสอบสวนเหตุการณ์ระเบิดจากผู้หญิงคนหนึ่งนาม Cassandra Watergate ซึ่งเริ่มด้วยการบอกเล่าว่าเธอมีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลคดีของตำรวจ

Orwell คือระบบสอดแนมประชาชนของ The Nation ซึ่งเกิดจากการผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัย ทางรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ The Nation เคลมว่าการออกกฎหมายนี้ช่วยให้อัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์ และเพื่อให้การสอดแนมเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย ผู้เล่นซึ่งอยู่นอก The Nation จึงได้รับการว่าจ้างให้สอดแนมประชาชนของ The Nation จากนอกประเทศ

alt="upic.me"

ผู้เล่นจะได้รับมอบหมายให้อ่านข่าวต่างๆ และระบบ Orwell จะทำหน้าที่ไฮไลต์ข้อมูลส่วนย่อยๆ (datachunks) ให้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เล่นที่ต้องเลือก "ส่ง" ข้อมูลเหล่านี้ให้กับหัวหน้า เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และ datachunks นี้เองจะถูกปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว ซึ่งเรื่องราวจะถูกเชื่อมโยงออกมาในแบบที่ผู้เล่นเลือกส่งข้อมูลให้หัวหน้า

alt="upic.me"

แหล่งข้อมูลของผู้เล่นจะเริ่มจากข่าวทั่วไป และผู้เล่นจะได้รับสิทธิ์ในการดักฟังโทรศัพท์และแชท รวมถึงสิทธิ์ในการเข้าถึงไฟล์บนคอมพิวเตอร์ของเป้าหมาย พร้อมรวบรวมข้อมูลซึ่งจำเป็นต่อการปิดคดีส่งให้กับหัวหน้า

alt="upic.me"

เมื่อข้อมูลมีปริมาณมากขึ้น ความเชื่อมโยงของข้อมูลก็จะเพิ่มขึ้น ผู้เล่นจะพบความเชื่อมโยงระหว่างตัวละครซึ่งเป็นเป้าหมายต่างๆ ในเกม และความเชื่อมโยงเหล่านี้จะถูกผูกกันด้วยข้อมูลที่สืบมาได้ นอกจากนั้นเป้าหมายของการตามหาข้อมูลจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เช่นเมื่อพบความเชื่อมโยงระหว่างสองบุคคลที่ต้องสงสัย เป้าหมายอาจจะเปลี่ยนไปยังอีกตัวละครหนึ่ง

เพราะข้อมูลคือการตัดสินใจ

alt="upic.me"

ในตอนต้นเกม หัวหน้าปฏิบัติงานจะบอกเราว่าเขาไม่เชื่อในความบังเอิญ และเป็นข้อมูลที่ทำให้เขาเลือกในการตัดสินใจสั่งงาน ทั้งในแง่ความเพ่งเล็งเฉพาะตัวบุคคล การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการจับกุม หรืออื่นๆ

สิ่งที่ตัวเกม Orwell พยายามแสดงให้เห็นคือทุกข้อมูลเล็กๆ ที่พยายามผูกติดอาจนำไปสู่ข้อมูลที่มากขึ้น ใหญ่ขึ้น และอาจปะติดปะต่อหรือไม่ปะติดปะต่อกันก็ได้ นอกจากนั้นผู้เล่นจะยังเห็นความเป็นไปของตัวละครต่างๆ ซึ่งขึ้นต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเองที่ตัดสินใจจากข้อมูลที่ถูก "ป้อน" เข้าสู่ระบบ Orwell โดยตัวผู้เล่นเอง

นั่นหมายถึงว่าการดำเนินเรื่องบางส่วน และตอนจบของเกมจะแตกต่างกันออกไปตามข้อมูลที่ผู้เล่นเลือกส่งไปใน Orwell ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือสำหรับผู้เขียนที่พบตอนจบในแบบต่างๆ แล้ว ทั้งสามแบบนั้นทำให้ผู้เขียนเห็นถึงทางเดินที่แตกต่างกันไปเมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายได้ข้อมูลที่ต่างกันออกไปในการตัดสินใจ และผู้เขียนสนับสนุน (encourage) ให้เล่นให้พบตอนจบที่ต่างกันไป

นอกจากประเด็นของการดักฟัง เกมยังสอดแทรกประเด็นทางความมั่นคงไว้อยู่เล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในสถานการณ์ที่สิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว และอินเทอร์เน็ตมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน

สรุป

alt="upic.me"

Orwell ไม่เพียงแต่เปิดมุมมองต่อการดักฟังจากมุมของผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ยังทำให้ภาพของความขาดต่อความเป็นส่วนตัวนั้น "จับต้องได้" มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเมื่อมองในมุมของรัฐที่เห็นชัดเจนว่าความเป็นส่วนตัวระดับไหนกำลังถูกก้าวก่าย

แม้จะเป็นเกมที่อาจชวนให้ตึงเครียดบ้าง และอาจต้องใช้สมาธิในการอ่านสูงสำหรับผู้เล่นที่อ่านข้อมูลอย่างละเอียด แต่ Orwell ก็ทำหน้าที่ของมันในการส่งสารออก และตั้งคำถามออกมาในด้านของความเป็นส่วนตัว และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

ในช่วงการเช่นเกม ผู้เขียนพบว่าการตัดสินใจในการเลือกทางเดิน และป้อนข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่นั้นเป็นนเรื่องน่าตกใจ และมีทั้งส่วนที่ผู้เขียนรู้สึกผิดกับรู้สึกถูกที่เลือกส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ เพราะทุกข้อมูลล้วนมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงาน

เมื่อพิจารณาความเป็นจริงว่าในโลกที่เป็นไปในปัจจุบันนั้นหน้าที่ดักฟังเช่นนี้มีอยู่จริง ผู้เขียนก็พบว่าความ "อิน" ในการเล่นนั้นอยู่ในระดับที่เยอะมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าผู้เขียนกำลังรู้สึกเป็นเจ้าหน้าที่จริงๆ มีคนเจ็บและกระทบกับความเป็นไปที่เราเป็นคนกำหนดทางอ้อมจริงๆ

Orwell วางขายบน Steam ในราคา 219 บาท

Get latest news from Blognone

Comments

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 5 March 2017 - 22:28 #973483
lew's picture
  • ระบุสักหน่อยว่าเป็น "รีวิวเกม" ดีกว่าครับ คนอ่านหัวแล้วงง
  • หมวด Games จะมีโลโก้อยู่ด้วย

lewcpe.com, @wasonliw

By: tanersirakorn
ContributorAndroidUbuntuIn Love
on 5 March 2017 - 22:33 #973484 Reply to:973483
tanersirakorn's picture

เรียบร้อยแล้วครับ ส่วนสำหรับโลโก้นอกจากแก้แท็กแล้ว ผมใส่เป็นโลโก้เลยดีกว่า ขอบคุณครับ :D


Blog | Twitter

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 6 March 2017 - 11:08 #973574 Reply to:973483
panurat2000's picture

กฏหมาย => กฎหมาย

By: soginal
AndroidIn Love
on 6 March 2017 - 00:22 #973511
soginal's picture

ถ้าเอามารวมกับ watch dog จะฟินมาก

By: pote2639
ContributoriPhoneWindows PhoneWindows
on 6 March 2017 - 11:57 #973586 Reply to:973511

รวมกันกลายเป็น LA Noire สมัยปัจจุบัน :P

By: Kittichok
Contributor
on 6 March 2017 - 01:45 #973521

แนวคิดของเกมน่าสนใจ ส่วนวิธีการเล่นแบบนี้ ผมคงไม่สามารถเล่นได้สนุก

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 6 March 2017 - 11:37 #973581

trailer เจ๋งมาก ดูแล้วรู้สึกลึกลับ น่าตื่นเต้น น่าค้นหาดี

เวลาใครบอกว่า "ไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร" น่าโยนเกมนี้ให้เล่นดู (ผมเดาเอาว่าที่ผู้เขียนบอกว่ามีตอนจบ 3 แบบ มันต้องมี bad ending อยู่ด้วยแน่ ๆ)


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: RyoDaii
Windows PhoneAndroidWindows
on 8 March 2017 - 10:07 #974034

เล่นจบแล้วครับ สนุกมาก เสียดายที่มันสั้นไปหน่อย แต่ระบบดีมาก