Tags:
Node Thumbnail

ต่อเนื่องกันกับอีกหนึ่งบทความสัมภาษณ์ผู้คนในวงการเกมและ eSports ของไทย นอกจากผู้พัฒนาเกม นักกีฬา eSports และนักพากย์แล้ว คราวนี้เป็นคิวของระดับสมัครเล่นกันบ้าง กับผู้จัดการแข่งขัน U-League ซึ่งเป็นการแข่งขัน eSports ระดับอุดมศึกษา ที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าร่วมกว่า 16 มหาวิทยาลัย

ผู้ที่มาพูดคุยกับ Blognone คราวนี้คือคุณธนัท ศรีสุขะโต หรือน็อต นักศึกษาปี 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เป็นโต้โผในการจัดงานครั้งนี้

alt="Image 12-19-2559 BE at 16.58"

จัด U-League เหมือนหางานให้ตัวเอง

หากใครเคยทำงานเป็นเฮ้ดดูแลงานส่วนกลางในระดับมหาวิทยาลัยสักงาน น่าจะคุ้นเคยกับความยุ่งยากและปัญหาสารพัด ตั้งแต่การประชุมวางแผน งานเอกสาร โดยเฉพาะกับการพูดคุยเจรจาต่อรองกับอาจารย์เพื่อของบ แต่ทว่าคุณน็อต มีอีกด่านที่ต้องฝ่า คือการทำให้อาจารย์ยอมรับและเห็นชอบโครงการที่เกี่ยวข้องกับเกม ที่ดูจะเป็นพื้นที่สีเทา รวมถึงง่ายต่อการดูถูกและปฏิเสธจากผู้ใหญ่ ที่มักมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ทำให้คุณน็อตบ่นออกมาให้ฟังว่า เหมือนหางานให้กับตัวเองแท้ๆ เลย แต่ถึงเหนื่อยก็สนุก ได้ประสบการณ์และอะไรใหม่ๆ โดยจุดประสงค์เริ่มต้นของการจัด U-League นั้นต่อยอดมาจากไอเดียของการจัดการแข่งขัน DOTA 2 ภายในคณะ ด้วยความรู้สึกที่ว่ามีคนเล่นกันเยอะ แต่กลับไม่ค่อยเล่นด้วยกันเท่าไหร่

alt="Image 12-19-2559 BE at 17.22"

คุณน็อต ผู้จัดการแข่งขัน U-League

พอจัดการแข่งขันภายในแล้ว ก็ได้รับการชักชวนจากสมาชิกสโมสรคณะให้จัดการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย พอคุณน็อตเริ่มลองไปคุยกับคนรู้จักที่อยู่ในบริษัทเกม ก็ได้ไอเดียจุดประกายถึงการอยากทำให้ eSports ในบ้านเราเป็นมาตรฐานของกีฬามากขึ้น ในลักษณะลีคสมัครเล่นระดับมหาวิทยาลัย จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยขึ้นมา

คุณน็อตเล่าว่า ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นลีคสมัครเล่นตั้งแต่แรก แต่อย่างน้อยๆ อยากจุดประกายการแข่งขัน eSports ขึ้นมาก่อน รวมถึงพยายามวางมาตรฐานของตัวกิจกรรมและการแข่งขัน และที่สำคัญคือต้องการเอาชนะคำเย้ยหยันต่างๆ

alt="DSC06489"

อาจารย์รุ่นใหม่ เข้าใจและสนับสนุนมากกว่าที่คิด

ถึงแม้จะเกริ่นไปว่าการทำให้อาจารย์ยอมรับกิจกรรมนี้จะเป็นอีกด่านที่ต้องฝ่า แต่เอาเข้าจริงแล้วคุณน็อตกลับบอกว่า ไม่ได้ยากหรือวุ่นวายขนาดนั้นเลย อาจารย์และรองอธิการของมหาวิทยาลัยท่านเปิดกว้างและรับฟังมากกว่าที่คิด โดยคุณน็อตนำเสนอโครงการไปตามเนื้อผ้า และบรรยายทั้งข้อดีและข้อเสียของโครงการไปตามตรง จนรองอธิการเห็นว่าเป็นกิจกรรมใหม่และมีประโยชน์ จนเอ่ยปากเลยว่าจะช่วยเท่าที่ช่วยได้

ซึ่งจุดนี้ทำให้คุณน็อตเล่าออกมาถึง hidden agenda ของการจัดงานครั้งนี้ด้วยว่า จริงๆ แล้วต้องการให้ผู้ใหญ่ (ผ่านอาจารย์) ยอมรับเกมและคนที่เล่นเกม ที่มักถูกมองในแง่ลบมากขึ้น รวมถึงว่าหากโครงการนี้ผ่าน eSports ก็น่าจะถูกมองจากคนทั่วไปในแง่บวกมากยิ่งขึ้นว่า แม้แต่สถาบันศึกษาและอาจารย์ยังยอมรับการแข่งขันชนิดนี้เลย

นอกจากอาจารย์และรองอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังแล้ว คุณน็อตยังได้เห็นการยอมรับและสนับสนุนจากอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เข้าร่วมด้วย

alt="Image 12-19-2559 BE at 16.59"

รูปแบบกิจกรรมและการแข่งขัน

หลังการเจรจาเรื่องการตั้งโครงการผ่านไปด้วยดี ทีมงานของคุณน็อตก็เริ่มส่งจดหมายเชิญชวนไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก่อนจะได้รับการตอบรับมาอย่างดี มีหลายมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะจุฬาฯ สนใจที่จะจัดตั้งชมรมหรือการแข่งขัน eSports ในลักษณะนี้อยู่แล้ว ทำให้คุยกันง่ายมากขึ้น แถมโชคดีที่ได้สปอนเซอร์จากบริษัท ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเกมหลายๆ เจ้าด้วย ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาด้านงบประมาณและเงินรางวัลลงไปได้มาก

ในฐานะต้นคิดโครงการ คุณน็อตในนามของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ จึงอาสาเป็นเจ้าภาพในการจัดงานปีแรก พร้อมทั้งกำหนดเกมการแข่งขันให้เป็นเกม DOTA 2 พร้อมกำหนดกฎกติกาการแข่งขันคร่าวๆ จนได้มหาวิทยาลัยที่เข้ามาครบทั้งหมด 16 ทีม

alt="Image 12-19-2559 BE at 17.12"

หลังจากนั้นทีมงานได้กำหนดไว้เลยว่าการแข่งขันนี้ จะต้องสิ้นสุดภายในภาคการศึกษาแรกของปีการศึกษา (เทอม 1) เนื่องจากเทอม 2 นิสิตนักศึกษาอาจมีภาระความรับผิดชอบมากขึ้นอย่างโปรเจ็คและรายงานต่างๆ ขณะที่เรื่องของวันแข่ง ก็ตกลงกันค่อนข้างนาน เนื่องจากวันสอบของแต่ละที่ไม่ตรงกัน

การแข่งขันจะแบ่งเป็นทั้งหมด 2 สาย (สายบน/ล่าง - สายบนหากแพ้ จะถูกปรับลงมาแข่งกับสายล่าง) แข่งกันแบบออนไลน์ โดยได้ทีมงานจากทั้ง The Dreamcasters และ The Signature มาช่วยพากย์ ขณะที่ 2 ทีมสุดท้ายจากทั้ง 2 สาย จะมาแข่งรอบรองชนะเลิศและรองชิงชนะเลิศที่ลาดกระบัง โดยทีมงานจะมีที่พักให้ด้วย

alt="Image 12-19-2559 BE at 17.04"

ลีคสมัครเล่นอาจจะยังไม่ได้ ก็ทำเป็นกีฬาประเพณีกันไปก่อน

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าคุณน็อตเองก็มีความต้องการจะจัดรวมถึงอยากเห็นกีฬา eSports บ้านเรามีการแข่งขันแบบลีคสมัครเล่น ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย แต่เป้าหมายนี้คงเป็นเป้าหมายของกิจกรรมนี้ระยะยาว ที่ต้องอาศัยองค์กรภายนอกมาร่วมด้วย เนื่องจากปัจจุบันอะไรหลายๆ อย่างยังไม่พร้อมและรองรับ

ดังนั้นคุณน็อตมองว่า U-League จะกลายเป็นการแข่งขันกีฬาประเพณี eSports ระหว่างมหาวิทยาลัยไปก่อน โดยเจ้าภาพแต่ละปีก็จะกำหนดเกมและกติกาสำหรับการแข่งขัน และก็คาดว่าในอีกไม่ช้า มาตรฐานและรูปแบบการแข่งขันของ U-League จะเป็นรูปเป็นร่างและนิ่งมากยิ่งขึ้น ก็ฝากติดตามปีต่อๆ ไปด้วย อาจไม่ครบ 16 มหาวิทยาลัยในปีน้ แต่แกนหลักๆ 8-12 มหาวิทยาลัยอยู่ครบแน่

alt="Image 12-19-2559 BE at 17.12 (1)"

คำถามคลาสสิค คิดว่า eSports ไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร

คุณน็อตบอกว่าคิดว่าอยู่ในช่วงกำลังโต ใกล้เข้าสู่ช่วงจุดพีค เห็นได้จากในช่วง 1-2 ปีที่แล้วยังไม่บูมมากนัก แต่ปีนี้มีการจัดการแข่งขัน eSports มากขึ้น โดยเฉพาะงานใหญ่ๆ ที่เยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับสื่อก็เริ่มให้พื้นที่ eSports มากขึ้นด้วย

ผู้จัด U-League ฝากถึงนิสิตนักศึกษาคนอื่นๆ ที่อาจเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุน eSports ไทยได้ด้วยเช่นกัน อย่างการจัดการแข่งขันเล็กๆ ภายในคณะของตัวเอง ซึ่งเป็นอีกประสบการณ์ที่ดี คุณน็อตคิดว่าคนที่อยากทำอาจจะมีเยอะ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ตรงไหน พร้อมแนะนำการพูดคุยกับอาจารย์ด้วยว่า ให้ว่ากันไปตามตรงทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงฝากถึงทั้งผู้ใหญ่และอาจารย์ด้วยว่า อยากให้ลองรับฟังข้อมูลและทำความเข้าใจในมุมของเด็กมากขึ้น อย่าเพิ่งอคติ เห็นว่าเป็นเกมแล้วมองลบแต่เพียงอย่างเดียว

Get latest news from Blognone

Comments

By: illuminator
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 19 December 2016 - 17:35 #959792
illuminator's picture

อยากให้มี League of Legends ด้วย อิอิ

By: namon2345
AndroidUbuntuWindows
on 19 December 2016 - 20:26 #959814

เรียนก็ไม่เก่ง เล่นเกมพวกแนวDOTAไม่เป็น ทำเป็นอย่างเดียวใช้ชีวิตไปวันๆ