Tags:
Node Thumbnail

สองวันที่ผ่านมากูเกิลเชิญผมไปร่วมงาน Google for India 2016 งานเปิดตัวสินค้าและบริการชุดใหม่ที่หลายตัวจำกัดเฉพาะอินเดีย และบางตัวอาจจะมีบริการไปภูมิภาคอื่นๆ ไปจนถึงทั่วโลก

บริการที่ผมเคยรายงานไปแล้วได้แก่ YouTube Go บริการที่ออกแบบเพื่อคนที่เข้าถึงสมาร์ตโฟนแต่กลับเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และ Google Station บริการอินเทอร์เน็ตฟรี

alt="upic.me"

อินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนเป็นของแพงสำหรับคนอินเดีย ด้วยโทรศัพท์ Android One ราคาเพียง 2,200 บาท (4,400 รูปี) ชาวบัานอาจจะต้องใช้เวลาเก็บเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์แต่ละเครื่อง 2-3 เดือน เมื่อได้โทรศัพท์มาแล้ว ค่าเชื่อมต่อก็เป็นเรื่องใหญ่ที่คนจำนวนมากไม่มีแพ็กเกิจแบบไม่จำกัด ชาวบ้านที่มีโอกาสจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้างต้องซื้อแพ็กเกจ 100 บาทต่อ 1GB

alt="upic.me"

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือคนจำนวนมากไม่มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตใดๆ เลย แต่พวกเขาต้องอาศัยคนรอบข้างในการเชื่อมต่อเป็นครั้งๆ กูเกิลสัมภาษณ์ชายคนหนึ่งที่ฝากพี่ชายดาวน์โหลดวิดีโอจากที่ทำงานเพื่อนำกลับมาดูที่บ้าน หรือหลายครั้งที่เมื่อมีคนหนึ่งดาวน์โหลดวิดีโอที่น่าสนใจมาเก็บไว้บน YouTube Offline คนอื่นๆ ก็จะล้อมวงมาดูร่วมกัน

ผมมีเวลาเดินทางในเมืองเดลีอยู่ครึ่งวันเพื่อชมจุดท่องเที่ยวต่างๆ พบว่าร้านค้าร้านอาหารแทบไม่มีร้านใดเลยที่ให้บริการ Wi-Fi แม้แต่กับลูกค้าของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพราะกฎหมายที่มีข้อกำหนดมากเกินไป หรือจะเป็นเพราะบริการบรอดแบนด์ที่ยังพัฒนาไม่ทันความต้องการ ประชาชนอินเดียไม่มีช่องทางในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีโดยทั่วไปเหมือนอย่างในไทยที่ตามเมืองใหญ่มักจะหาจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันได้ไม่ยากนัก

แต่ในวันเดียวกันผมพบว่าอินเทอร์เน็ตคือความได้เปรียบของคนอินเดีย ผมเริ่มต้นการเดินทางด้วยการเรียก Uber จากโรงแรมไปยังสถานที่ท่องเที่ยวโดยไม่ทันได้รู้ตัวว่าการเดินทางครั้งนั้นจะเป็นการเดินทางที่ดีที่สุดของวัน รถเก๋งสี่ล้อปรับอากาศแม้จะสภาพไม่หรูหรานัก แต่ก็ไม่ได้แย่กว่าแท็กซี่ในบ้านเรานัก การเดินทางกว่าสิบกิโลเมตรมีค่าใช้จ่ายเพียง 117 รูปี ไม่ต่างจากราคาประเมิน และหลังจากไปถึงจุดแวะจุดแรก ผมก็ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อีกต่อไป การเดินทางที่เหลือทั้งวันเต็มไปด้วยความลำบาก ผมเจอระบบรถประจำทางที่ซับซ้อนจนไม่รู้จะใช้งานอย่างไร รถสามล้อเล็กที่ราคาไม่มีมาตรฐาน รถจักรยานสามล้อที่หลอกทิ้งผมลงทั้งที่ไปส่งไม่ถึงครึ่งทาง ไม่นับรวมถึงราคาค่าเข้าสถานที่สำคัญที่ไม่ตรงกับหนังสือแนะทำท่องเที่ยว ไปจนถึงวันปิดทำการของสถานที่ต่างๆ

alt="upic.me"

ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียที่ยังไม่ทั่วถึงคงเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ในเร็ววัน ปัญหาพื้นๆ เช่น ประปาที่ยังเข้าไม่ถึงทุกหมู่บ้านและต้องอาศัยการเจาะน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหา สถานีรถไฟกลายเป็นจุดพักพิงที่นอกจากใช้เดินทางแล้ว ยังมีให้บริการน้ำประปาอยู่ทั่วสถานี

alt="upic.me"

ความพยายามของกูเกิลที่จะเข้าถึงประชากรในประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานเข้าไม่ถึงทุกคนเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แทนที่จะรอการพัฒนาโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา กูเกิลเลือกที่จะสร้าง "โอเอซิส" สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึง ด้วยบริการอย่าง Google Station ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพียงแค่มีหมายเลขโทรศัพท์

alt="upic.me"

พร้อมๆ กับการเปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นจุดๆ เช่นนี้ กูเกิลยังเลือกที่จะปรับตัวให้เหมาะกับการทำงานในภาวะที่อินเทอร์เน็ตขาดๆ หายๆ ด้วยการปรับบริการในหลายแอป เช่น

  • Google Play ในอินเดีย จะตั้งได้ว่าให้ดาวน์โหลดแอปภายหลังเมื่อเชื่อมต่อ Wi-Fi และภาพต่างๆ เช่นไอคอนและ screenshot จะดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่องล่วงหน้าเพื่อให้เปิดใช้งานขณะที่การเชื่อมต่อไม่ดีได้
  • Google Search ในอินเดียจะสามารถตั้งค้นหาไว้ล่วงหน้า และเมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จะแจ้งเตือนกลับมาอีกครั้ง
  • YouTube อินเดียได้รับฟีเจอร์ดาวน์โหลดเป็นที่แรก
  • YouTube Go แอปพิเศษที่ส่งต่อวิดีโอถึงกันโดยไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ต เปิดให้ทดลองในอินเดียก่อนที่อื่นเช่นกัน
  • Chrome for Android เพิ่มฟีเจอร์การดาวน์โหลดเนื้อหา และเพิ่มโหมดการบีบอัดข้อมูลมากเป็นพิเศษ นับเป็นบริการเดียวที่เปิดให้บริการพร้อมกันทั่วโลก
  • Google Maps เมื่อเปิดแอปในอินเดีย แทนที่จะแสดงแผนที่ทันที แต่มันจะถามทันทีว่าต้องการดาวน์โหลดแผนที่มาเก็บไว้ในเครื่องหรือไม่

นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การศึกษาก็เป็นประเด็นสำคัญ ขณะที่เรามักได้ยินว่าอินเดียมีการศึกษาชั้นดีที่อังกฤษวางไว้ให้ คนอินเดียมีการศึกษาระดับสูงทำงานในบริษัทไอทีระดับโลกมากมาย แต่ประชากรอินเดียส่วนใหญ่กลับไม่รู้ภาษาอังกฤษ เกิดปัญหาที่ประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลุ่มแรกๆ มักผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับอินเดียเป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่แต่เข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ

alt="upic.me"

การรอให้เนื้อหาภาษาท้องถิ่นเพิ่มขึ้นคงต้องใช้เวลาและแรงงานอีกมาก กูเกิลเลือกที่จะเข้าหาคนเหล่านั้นด้วยการเลือกผลการค้นหาได้ทันทีว่าต้องการผลภาษาท้องถิ่นหรือภาษาอังกฤษ ตัว Google Assistant ใน Allo เองก็กำลังจะรองรับภาษา Hindi เป็นภาษาที่สองต่อจากภาษาอังกฤษ

การที่กูเกิลพยายามเข้าถึงประชากรอินเดียนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ จากประชากรที่สูงถึงกว่า 1,300 ล้านคน การเข้าถึงสมาร์ตโฟนยังไม่ถึง 35% ทำให้อินเดียยังมีศักยภาพที่สูงอีกมาก ในงานกูเกิลระบุว่าสุดท้ายแล้วบริการเหล่านี้จะเป็นธุรกิจและจะมีช่องทางทำรายได้ของตัวเอง บริการเช่น YouTube Go จะยังคงมีโฆษณา และจะสามารถแสดงโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายของเครื่องปลายทางได้ แม้สมาร์ตโฟนเหล่านั้นจะไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยตรงก็ตามที

แต่ความท้าทายของภาพฝันเหล่านี้คือสุดท้ายแล้วกูเกิลจะพาบริการเหล่านี้เป็นธุรกิจได้จริงหรือไม่ บริการ Google Station จะสามารถหาโมเดลรายได้ที่เพียงพอสำหรับการทำกำไรในระยะยาว สามารถจ่ายเงินค่าบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์, ค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, และการอัพเกรดในอนาคตได้จริงหรือ บริการเช่น YouTube Go จะสามารถทำให้ผู้ที่ลงโฆษณาเชื่อว่าการโฆษณาไปยังผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตเหล่านี้มีมูลค่าเพียงพอ

เรียนรู้จากอินเดียและกูเกิล

สภาพในไทยเองนั้นในแง่โครงสร้างพื้นฐานแล้วเราคงดีกว่าอินเดียอยู่ระดับหนึ่ง เราสามารถหาจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ไม่ยากนัก และรายได้ประชากรก็สามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตได้ง่ายกว่า

แต่ในความเป็นจริงเราก็ยังมีผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต หรือมีก็เป็นแพ็กเกจความเร็วต่ำ คนเหล่านี้อาจจะสร้างมูลค่าเป็นตัวเงินให้กับผู้ให้บริการได้ไม่มากนัก แต่หากผู้ให้บริการคิดถึงคนเหล่านี้ก็สามารถบริการที่เปิดให้คนเหล่านี้เข้าถึงได้ ที่ผ่านมาเราเห็นบริการเช่น dtac prepaid ที่เปิดให้เข้าถึง YouTube ในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนที่คนใช้งานน้อยได้ฟรี หรือ AIS ที่เปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำด้วยการเติมเงินเพียงเดือนละ 50 บาท ในอนาคตหากผู้ให้บริการโทรศัพท์จับมือกับผู้ให้บริการคอนเทนต์ เช่น YouTube, HOOQ, iflix เพื่อให้บริการในรูปแบบที่คนรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ เช่นการดาวน์โหลดตอนต่อไปโดยอัตโนมัติหลังเที่ยงคืนที่ไม่เสียค่าเน็ต การเข้าถึงบริการต่างๆ ของคนไทยก็สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้กว้างขวางขึ้นโดยผู้ให้บริการไม่เสียทรัพยากรไปมากนัก คนที่มีงบประมาณจำกัดอาจะต้องรอดูวิดีโอหลังจากคนอื่นสักวันหนึ่ง

เพราะแม้แต่อินเดียที่รายได้ต่อคนยังน้อยกว่ายังมีธุรกิจที่หวังผลกำไรกับประชากรที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตได้ ในไทยเองเราก็น่าจะสร้างความเท่าเทียมเพิ่มขึ้นโดยทำกำไรได้พร้อมกันเช่นกัน

Get latest news from Blognone

Comments

By: Sephanov
iPhoneUbuntu
on 1 October 2016 - 19:08 #943793
Sephanov's picture

คิดไปว่าคนอินเดียต้องพูดภาษาอังกฤษได้เป็นเหมือนภาษาที่ 2 เพราะเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่พออ่านบทความนี้ ผมกลับต้องเปลี่ยนความคิดไปในทันที

By: tk719
iPhoneBlackberrySymbianIn Love
on 1 October 2016 - 21:15 #943808 Reply to:943793

จริงๆ ที่อินเดียภาษาทีหลายร้อยภาษาครับ ส่วนภาษาที่ใช้เป็นสื่อกลางน่าจะเป็นฮินดี/อูรดูมากกว่าอังกฤษ

By: nrml
ContributorIn Love
on 1 October 2016 - 19:31 #943794
nrml's picture

ผมกลับคิดว่าความแตกต่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตของบ้านเรานั้นมีน้อยจนไม่ต้องไปคำนึงถึงปัจจัยนี้เท่าไหร่แล้ว ส่วนในอินเดียก็พอเข้าใจได้เพราะจำนวนประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงนั้นมีมากมายมหาศาลจริงๆ

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 2 October 2016 - 01:23 #943842 Reply to:943794
lew's picture

ถ้ากูเกิลยังพยายามให้แม้แต่คนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตเลยแม้แต่น้อยเข้าถึง YouTube ได้

ผมว่าเมืองไทยเองความพยายามให้คนที่เข้าไม่ถึง "อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง" เข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยากนักครับ เราคงไม่ต้องทำขนาดกูเกิล แต่ถ้าเราคิดถึงบ้าง ออกแบบระบบให้มันไปได้ทั้งในทางธุรกิจ (บริษัทเสียต้นทุนไม่มากนัก) แต่คำนึงถึงคนเหล่านี้ ความเหลื่อมล้ำจะได้น้อยลง

ยิ่งน้อยคงยิ่งดี ไม่มีเหตุผลที่เราจะบอกว่าแค่นี้ดีแล้วแล้วหยุดปรับปรุงกัน


lewcpe.com, @wasonliw

By: pxk
AndroidWindows
on 2 October 2016 - 06:07 #943849 Reply to:943842

+1
การปรับปรุงให้ดีขึ้น
ผลักดันให้โลกของเรากลายเป็นสถานที่ ที่น่าอยู่ขึ้น

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 2 October 2016 - 08:18 #943859 Reply to:943842

และ "อินเตอร์เน็ตคาวมเร็วสูงราคาถูก" ด้วยนะครับ อยากได้เน็ตบ้าน มาไม่ถึงซักที เพราะอยู่บ้านนอก พอขยายสายในเมืองออกมาเกือบถึงบ้านนอก เทคโนโลยีเปลี่ยน ไปเรื่องจากในเมืองใหม่ พอขยายมาจะถึง ๆ เทคโนโลยีเปลี่ยน ไปเริ่มในเมืองใหม่ วนลูปแบบนี้มาหลายรอบละ สายไม่ถึงบ้านผมซักที ตอนนี้เลยได้แต่พึ่งพาเน็ตไร้สาย ซึ่งก็ค่อย ๆ เร็วขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังแพงอยู่มากเมื่อเทียบกับมีสาย


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: nrml
ContributorIn Love
on 2 October 2016 - 08:53 #943863 Reply to:943842
nrml's picture

ผมถึงบอกว่า "น้อยจนไม่ต้องไปคำนึงถึงปัจจัยนี้เท่าไหร่แล้ว" ไงครับ ซึ่งแนวทางที่แต่ละค่ายกำลังทำอยู่ผมว่าโอเคแล้ว ไม่ต้องลงทุนมากแต่ก็ช่วยให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นกระจายทั่วถึงมากขึ้น เพราะถ้าจะทำแบบ google นี่ก็ฮาร์ดคอร์มากไปไม่คุ้มค่าในการลงทุนแน่ๆ

By: iambodin
Ubuntu
on 1 October 2016 - 19:34 #943795

เห็นด้วยเรื่อง idea internet free หลังเที่ยงคืนครับ

By: osmiumwo1f
ContributorWindows PhoneWindows
on 1 October 2016 - 20:06 #943798
osmiumwo1f's picture

Google Maps ควรจะดาวน์โหลดแผนที่มาเก็บไว้ได้ตั้งนานแล้วนะ

By: PowerBerry
Android
on 1 October 2016 - 20:16 #943799

เคยคุยโทรศัพท์ภาษาอังกฤษที่ต้องต่อไปอินเดียนี้สุดยอดแห่งความทรงจำจริงๆ จนต้องเรียกน้องที่ทำงานมาช่วยกันนั่งฟังสุดยอดแห่งความเหนื่อย

By: Kittichok
Contributor
on 1 October 2016 - 20:58 #943803

ขอบคุณที่เขียนบทความนี้ครับ ได้รับข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มเติม