Tags:

alt="Imgur"

รีวิว The Dash – Wireless Smart In Ear Headphones

ย้อนกลับเมื่อประมาณช่วงสองปีที่แล้ว ส่วนใหญ่หูฟังแบบ “ไร้สาย” ที่ใช้กันทั่วๆไปจะไม่ได้แยกตัวหูฟังสองข้างออกจากกัน แต่ตอนที่ผมเห็นเจ้า The Dash บนโครงการ Kickstarter The Dash – Wireless Smart In Ear Headphones ครั้งแรกนั้น ก็เกิดคำถามขึ้นมาในหัวว่ามันจะทำได้จริงๆ ตามที่บอกหรือเปล่า เพราะนอกจากส่วนที่เรียกได้ว่าแปลกใหม่คือ ส่วนหูฟัง (In Ear) ทั้งสองข้างจะไม่มีสายมาให้เกะกะแล้ว ยังมีความสามารถในการ “ตรวจจับการเต้นของหัวใจ” เพิ่มเข้ามาอีก ด้วยความอยากรู้และต้องการทดสอบจึงทำการลงชื่อเป็นหนึ่งในผู้ทำการสนับสนุนโครงการและนั่งรอให้ของมาส่งอย่างใจระทึก

หลังจากทำตัวเป็น backer ที่ดีในระบบ สิ่งที่เหลือที่ทำได้ก็เพียงแค่รอให้โครงการผ่านและของเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างครับ แต่ก็เหมือนกันโครงการใหญ่ต่างๆ (ส่วนใหญ่) ที่จะประสพปัญหามากมาย เจ้า The Dash เองก็ไม่ต่างจากโครงการเหล่านั้น แต่หลังจากใช้เวลานานเกือบสองปี ผมก็ได้หูฟังที่ว่ามา

alt="Package"

alt="Package"

alt="TheDash with ChangerCase"

ความสามารถ

The Dash มีการทำงานหลักๆ อยู่สามแบบคือ

  • bluetooth mode (ตัว The Dash เรียก Steam mode) โดยระบบนี้การทำงานจะทั่วไปเหมือนกับหูฟังไร้สายบลูทูธ
  • smart device mode ในระบบนี้ตัวระบบจะทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของเราผ่านตัวโปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดผ่าน App Store หรือ Play Store (มีส่วนของ Windows Store ด้วย แต่คงไม่มีคนใช้เท่าไหร่มั๊ง :P)
  • mp3 player mode เหมือนกับชื่อนี้แหละครับ ใช้สำหรับฟังเพลงไประหว่างที่เราออกกำลังไปด้วย

การเรียกใช้งานของ The Dash จะใช้ gesture ในการสั่งงานเป็นหลักผ่านหูฟังทั้งสองข้าง โดย

  • ฝั่งขวา (หูขวา) จะเป็นการสั่งงานในส่วนระดับความดังของเสียง, ฟังเพลงและการสนทนา
  • ฝั่งซ้าย (หูซ้าย) จะเป็นการสั่งงานเกี่ยวกับ activity (กิจกรรมต่างๆ)
    การสั่งงานต่างๆจะเป็นลักษณะปัดซ้าย-ขวาหรือการแตะที่ตัวหูฟังแต่ละข้างเพื่อสั่งงาน

alt="Left Right Gesture Control"

สเปค

  • น้ำหนักเบา, กันกระเทือน, กันน้ำได้ในระดับ 1 เมตร
  • สามารถใช้ระบบ GPS ได้เมื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน
  • เป็นแบบ In-Ear มีระบบ noise isolation (20-30 dB)
  • ตอบสนองความถี่ที่ 20-20000 Hz
  • ระบบไมโครโฟนเป็นแบบ Custom Bragi Ear Bone MEMS
  • บลูทูธ 4.0
  • จดจำการเชื่อมต่อได้ถึง 6 อุปกรณ์
  • มีหน่วยความจำภายใน 4GB สามารถใช้เป็นเครื่องเล่น MP3 ได้ สนับสนุนไฟล์ MP3, AAC (No DRM)
  • เล่นเพลงต่อเนื่องได้ 3 ชั่วโมง
  • ใช้ตรวจจับกิจกรรมได้ 7 ชั่วโมง
  • Standby ได้ 250 ชั่วโมง
  • ใช้เวลาชาร์จน้อยกว่า 1 ชั่วโมง
  • แบตเตอรี่แบบ ลิเธียมโพลิเมอร์ 100 mAh
    ใครอยากรู้สเปคแบบละเอียดดูในจากในหน้าเว็บ Bragi

การใช้งาน

ต้องบอกก่อนว่าตัว The Dash ที่สั่งไปเป็นแบบสีขาว (White Dash) ซึ่งตรงนี้จะเหมือนกับตัวปกติหรือไม่นั้นตอบไม่ได้ เพราะไม่มีตัวปกติเอามาใช้ในการทดสอบเปรียบเทียบนะครับ

alt="TheDash"

การใช้งานทั่วไป

หลังจากเปิดเครื่องใช้มาประมาณหนึ่งเดือน ส่วนตัวค่อยข้างประทับใจกับการใช้งานนะครับ เอาเป็นว่าประสิทธิภาพโดยรวมรับได้ แต่ถ้าออกมาก่อนหน้านี้ซักหนึ่งปีจะเป็นอะไรที่ “ว้าว” และ “เจ๋ง” มาก

การสั่งงานด้วย gesture จะเรียก “ดี” ก็ได้ จะเรียกว่า “ไม่ดี” ก็ได้ เพราะนอกจากต้องใช้การเรียนรู้การใช้งานสักพักแล้ว ยังมีความผิดพลาดเยอะเหมือนกัน ผมเองฝึกใช้อยู่เป็นชั่วโมงกว่าจะคล่อง ตอนนี้ก็ยังสั่งได้บ้างไม่ได้บ้างอยู่ดี

ส่วนตัวมีเทคนิดนิดหน่อยคือ ถ้าเวลากดสั่งงานแล้วในยินเสียงเหมือนมีใครกำลังเคาะหู แสดงว่าผมน่าจะใส่แล้วผิดตำแหน่ง ต้องปรับตำแหน่งให้กดแล้วไม่มีเสียงก็จะไม่มีปัญหา (ส่วนตัวอาจจะเพราะส่วนหูของผมเรียกว่ากาง ภาษาชาวบ้านเรียก “หูกาง” นั่นแหละ)

มี gesture อีกอย่างที่จะไม่พูดก็ไม่ได้คือ เวลาจะรับสายเราสามารถผงกหัวหรือส่ายหัวเพื่อจะรับหรือไม่รับสายก็ได้ อันนี้จะเรียกว่าสะดวกหรือประหลาดก็บอกไม่ได้ (แต่ผมก็ใช้บ่อยนะ ถึงจะดูประหลาดๆไปหน่อยก็เถอะ)

ในเรื่องการใช้งานรับสายโทรศัพท์ตรงนี้ ก็ได้เสียงที่คมชัดดี แต่ดูเหมือนฝั่งรับสายจะแจ้งเหมือนกับว่า เสียงได้ที่ยินจะก้องๆนิดหน่อย (อันนี้ไม่ได้ฟังเลยตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่ก็น่าจะก้องจริงๆ)

อีกอย่างคือตัว The Dash ยังมีพังก์ชั่น “transparency” คือ อนุญาตให้เราเสียงจากภายนอกผ่านเข้ามาได้ แต่เอาเข้าจริงๆ จะใช้ได้เฉพาะตอนที่เราคุยโทรศัพท์เท่านั้น เพราะเวลาฟังเพลงเสียงเพลงจะกลบเสียงภายนอกหมดทำให้ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย

alt="BragiApp"

alt="MacroControl"

ใช้ออกกำลังกาย

อันนี้ไม่ค่อยได้ใช้ครับ แต่เท่าที่ได้ทดสอบลองๆดู (เรียกว่าใช้น้อยมากแล้วกัน) การวัดอัตราการเต้นของหัวใจทำได้ “งั้นๆ” ผิดพลาดเยอะ (ตรงนี้อาจจะเป็นที่ผมเองก็เป็นได้) การวัดการนับก้าวหรือการวิ่งถือว่าใช้ได้ครับ “ผ่าน” แต่ก็ไม่ตรงเท่าไหร่ ส่วนการใช้ตอนว่ายน้ำนี่ไม่ได้ลองเลย (จริงๆไม่มีสาวๆไปว่ายด้วยเลยไม่ไป)

ส่วนตัวผมไม่ค่อยได้ใช้โหมดนี้สักเท่าไหร่ เพราะถ้าจะดูข้อมูลต้องเชื่อมต่อผ่านตัวโปรแกรมของ Bragi ซึ่งไม่ค่อยจะสะดวกเท่าไหร่สำหรับผม แต่ถ้าใครใช้อาจจะชอบก็ได้

alt="Activity"

alt="Running"

alt="Swimming"

alt="Cycling"

ใช้ฟังเพลง

ส่วนตัวจะใช้โหมดนี้มากที่สุด แต่ปัญหาคือตัว The Dash เองไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ฟังเพลงตั้งแต่แรก ตัวหูฟังถูกตั้งให้เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันคือใช้เป็นรับสายหรือออกกำลังกายเสียมากกว่า ทำให้การใช้งานต่อเนื่องจึงจำกัดอยู่ที่ประมาณสี่ชั่วโมง แต่ถามว่าฟังสี่ชั่วโมงยังไม่พออีกหรือ อืม... ส่วนใหญ่เวลาผมพิมพ์งานนั่งทำอะไรเพลินนี่จะหลุดไปหลักเจ็ดถึงแปดชั่วโมงเลย เพราะงั้นสำหรับตัวผม “ไม่พอครับ“ ^^”

มาพูดถึงคุณภาพของเสียงกันดีกว่า เสียงจัดได้ว่าค่อนข้างดี เสียงกลางเด่น (แน่ละ ใช้พูดคุยเป็นหลักนิ) เบสกลางๆไม่ออกมาเป็นลูกแบบกระแทกขี้หูไหล แต่ก็พอมี เสียงสูงไม่จัด ค่อนข้างเหมาะสำหรับเพลงที่มีเสียงร้อง เน้นเสียงเป็นหลัก พวก Pop แต่ใช้ฟังพวก Rock หนักๆ ก็พอไหว

สรุป

ข้อดี

  • เบา กันน้ำ ใช้ออกกำลัง ฟังเพลง รับสายโทรศัพท์ได้
  • ไม่มีสายมาให้เกะกะ
  • สามารถวัดการเต้นหัวใจได้
  • มีตัวตัดเสียงรบกวน
  • มีการอัพเดตจากทางผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง
  • มีแท่นชาร์จแบบไร้สาย

ข้อเสีย

  • แบตเตอรี่อยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่สำหรับการฟังเพลง
  • gesture ใช้งานลำบากต้องใช้การเรียนรู้นานไป รู้แล้วก็ยังมีพลาด
  • ระบบเหมือนยังไม่สมบูรณ์ ยังต้องพัฒนาอีกพอสมควร
  • ราคาค่อนข้างแพง
  • มีโอกาสหายได้ (วางลืมแล้วก็ไม่หยิบ)

คงจะบอกได้ยากมากว่าตลาดนี้จะเกิดหรือไม่เกิด แต่ที่แน่ๆอนาคตเราคงจะได้หูฟังแบบนี้ออกมาอีกเยอะมากมายแน่นอน รวมถึงของ Apple เองด้วย (อันนี้มโนเองนะครับ) แต่ถ้าใครรำคาญกับสายที่เกะกะวุ่นวาย หูฟังในลักษณะนี้จะเป็นคำตอบสำหรับคุณได้ แต่ถ้าคุณอยากได้คุณภาพของเพื่อรื่นรมย์กับเสียงเพลงละก็มองหาหูฟังตัวอื่นได้เลยครับ

เสริม
ในตอนที่กำลังนั่งเขียนรีวิวฉบับนี้อยู่ ทาง Bragi ได้ออก firmware ใหม่มาเป็น 2.0 (ตัวที่ผมใช้อยู่เป็น 1.51) ส่วนตัวยังไม่ได้ทำการทดสอบ เพราะหลังจากออกได้ไม่นานก็มีเสียงบ่นมากมาย ทั้งไม่สามารถอัพเดตได้ หรือกระทั่งหูพิการไปข้าง
พังก์ชันที่เพิ่มขึ้นมาก็มี ปรับการได้ยินในการสนทนา, สามารถดึงข้อมูลการออกกำลังจากหูฟังได้แล้ว (ก่อนหน้านี้ต้องต่อกับโทรศัพท์ถึงจะเห็นข้อมูล) และเสียงดังขึ้นได้อีก ตรงนี้ทำให้ผมทราบว่าในยุโรปมีการกำหนดระดับความดังในหูฟังว่าไม่ควรเกิน 85 dbA อ้างอิง

เสริม2
ตอนที่นั่งเขียนทาง Apple ยังไม่ได้ประกาศ AirPods นะครับ

Get latest news from Blognone