Tags:
Node Thumbnail

หลังจากที่ปัญญาประดิษฐ์ชื่อ Ms. Watson เป็นผู้ช่วยอาจารย์มหาวิทยาลัยไปแล้ว คราวนี้ถึงคราวอาชีพนักกฎหมายกันบ้าง ROSS Intelligence ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับงานกฎหมาย ประกาศเมื่อวันพฤหัสที่แล้ว (5 พ.ค. 59) ว่า บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดังอย่าง Baker & Hostetler LLP ซึ่งมีที่ปรึกษากฎหมาย 940 คน ใน 14 สาขาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จ้าง ROSS เป็นที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์คนแรกของโลก (the world’s first artificially intelligent attorney)

นี่ยังเป็นครั้งแรกที่มีบริษัทที่ปรึกษากฎหมายออกมาประกาศ "อย่างเป็นทางการ" ว่าใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือให้คำปรึกษากับลูกค้า โดยใช้ ROSS ในคดีล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ

นายแอนดรูว์ อารูดา CEO และ co-founder ของ ROSS Intelligence เพิ่งประกาศความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองบริษัทไปเมื่อกลางเดือนที่แล้ว (เมษายน) ในงาน Watson, Esq. ที่จัดโดย Vanderbilt Law School (ผู้เขียน – Esq. เป็นตัวย่อของ Esquire ใช้ต่อท้ายชื่อของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ชื่องาน Watson, Esq. จึงหมายถึงทนายความชื่อ Watson จึงเป็นการเล่นคำที่สื่อถึงเทคโนโลยีด้านกฎหมายที่ได้รับการพัฒนาจากปัญญาประดิษฐ์อย่างเช่น Watson นั่นเอง)

หน้าตาและการทำงานของ ROSS แบบ Quick Look

แพลตฟอร์มของ ROSS ได้รับการพัฒนามาจาก Watson ปัญญาประดิษฐ์ของ IBM โดยที่ปรึกษากฎหมายสามารถพูดคุยหรือถามคำถามกับ ROSS เหมือนพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ซึ่ง ROSS สามารถโต้ตอบและตอบคำถามได้ด้วยความสามารถด้านการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการเรียนรู้ (cognitive computing) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นภาษามนุษย์ ทำให้สามารถเข้าใจสิ่งที่ที่ปรึกษากฎหมายถามได้

ROSS จะค้นหาคำตอบจากฐานข้อมูลกฎหมายและหาความเชื่อมโยงกันกับพยานหลักฐานในคดี และเลือกคำตอบที่มีความเกี่ยวข้องและความน่าจะเป็นสูงที่สุด นอกจากนี้ ROSS ยังขยายฐานข้อมูลของตนเองได้ โดยการค้นหาข้อมูลกฎหมายหรือคำพิพากษาใหม่ ๆ ที่อาจส่งผลต่อรูปคดีอยู่เสมอและแจ้งไปยังที่ปรึกษากฎหมายที่ต้องใช้งาน ROSS ยังเรียนรู้จากการโต้ตอบกับที่ปรึกษากฎหมายในระหว่างการใช้งานเพื่อพัฒนาการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นโดยใช้ machine learning อีกด้วย

นี่อาจเป็นเพียงก้าวแรกที่อาจจะพลิกอนาคตของวงการกฎหมาย เมื่อปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในงานกฎหมายที่ต้องใช้ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น แต่ยังมีความแม่นยำ ทำให้นักกฎหมายต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกันกับปัญญาประดิษฐ์แ ละทำให้งานกฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ROSS จะช่วยให้ที่ปรึกษากฎหมายใช้เวลาในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการใช้จากแหล่งข้อมูลมหาศาลน้อยลง สามารถตอบปัญหาของลูกความได้เร็วขึ้น และมีเวลามากขึ้นในการเตรียมคดี และทำหน้าที่ของนักกฎหมายอย่างแท้จริง เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์นั้นจึงมีแนวโน้มที่จะใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการกฎหมายมากยิ่งขึ้น นายแอนดรูว์ อารูดา CEO ของ ROSS Intelligence ซึ่งขณะนี้มีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น คาดคะเนว่าเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์นั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการกฎหมาย (a game changer) และเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงนั้น (“We’re standing on day one of artificial intelligence in law.”)

เว็บไซต์ The American Lawyer รายงานว่า นายแอนดรูว์ยังให้สัมภาษณ์ว่า ROSS Intelligence มีแผนที่จะประกาศความร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายอีกหลายรายซึ่งได้ตกลงเซ็นสัญญากันแล้ว และจะขยายการให้บริการครอบคลุมกฎหมายด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการแล้ว บริษัทยังมีแผนที่จะเพิ่มการให้บริการด้านกฎหมายอาญา กฎหมายแรงงานและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่จะให้ ROSS เป็นสมาชิกในทีมของนักกฎหมายทุกคนในโลก

ที่มา – PR ROSS Intelligence, The American Lawyer

แอนดรูว์ อารูดา CEO ของ ROSS Intelligence

แอนดรูว์ อารูดา ที่ Watson, Esq.

Get latest news from Blognone

Comments

By: jirayu
ContributorWindows PhoneBlackberrySymbian
on 13 May 2016 - 14:45 #911541

นึกถึง Mike Ross ทีเดียวเชียว


By: NickyNattanuch
Contributor
on 13 May 2016 - 16:16 #911562 Reply to:911541

อ๊ะ! จริงด้วย Mike Ross มี eidetic memory นี่นะ

By: tuinui98 on 13 May 2016 - 14:47 #911545
tuinui98's picture

กำลังจะเข้าสู่วงการยุติธรรม ..อยากเห็นวันที่ปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่ตัดสินคดีความแทนมนุษย์จริง ๆ

By: NickyNattanuch
Contributor
on 13 May 2016 - 16:19 #911564 Reply to:911545

เวลานึกถึง Legal Tech ทีไร นึกถึงฉากนึงใน Back to the future II ทุกที ตอนที่ Doc บอกว่า "The justice system works swiftly in the future now that they've abolished all lawyers."

แต่ ROSS เขาไม่ได้จะมาแทนนักกฎหมายนะคะ ยังไงก็ยังต้องมีนักกฎหมายที่เป็นคนอยู่

By: Lennon
iPhoneWindows PhoneAndroidSymbian
on 13 May 2016 - 15:04 #911550

ถึงมันตัดสินได้ยุติธรรม แต่คนที่เสียผลประโยชน์ก็จะบอกว่ามันไม่ยุติธรรมอยู่ดี

By: toooooooon
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 13 May 2016 - 16:14 #911561

เอามาใช้ในไทยดีไหมครับ...เมืองไทยอาจจะต้องกาสิ่งนี้

By: langisser
In Love
on 13 May 2016 - 17:28 #911586

ผมเข้าใจว่า ROSS ยังเป็นที่ปรึกษากฎหมายนะครับยังไม่ใช่ผู้พิพากษาไม่น่าจะมีอำนาจตัดสิน และที่สำคัญถ้าเก่งขนาดนั้นก็น่าจะช่วยหาช่องของกฎหมายพร้อมหลักฐานอ้างอิงจากอดีตที่ส่งผลให้ฝ่ายผู้ใช้งานได้เปรียบทางรูปคดีได้โดยง่าย

By: OXYGEN2
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 13 May 2016 - 18:44 #911612 Reply to:911586
OXYGEN2's picture

+1 ปกตินักกฏหมาย หรือ ทนาย จะไม่สนใจผิดหรือถูกอยู่แล้ว ขอแค่ชนะก็พอ ถ้ากฏหมายมีช่องโหว่ หรือมีทางออกตรงไหนก็ใช้ตรงนั้นซะ ทนาย หรือ ที่ปรึกษาทางกฏหมายไม่ใช่ศาล จึงไม่ใช่ความยุติธรรม


oxygen2.me, panithi's blog

Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6

By: tuinui98 on 14 May 2016 - 02:06 #911695 Reply to:911586
tuinui98's picture

ROSS เป็นที่ปรึกษาฝั่งทนายครับ อาจจะช่วยทนายในการหาหลักฐาน หรือคดีตัวอย่างที่ศาลเคยตัดสินไว้ ...แต่การเข้ามาแบบนี้ก็ทำให้นึกถึงวันที่ปัญญาประดิษฐ์ได้รับการยอมรับไงครับ ว่ายุติธรรมและเที่ยงธรรมยิ่งกว่าใช้คนตัดสินกันเองครับ

By: ZeaBiscuit
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 16 May 2016 - 00:52 #912059
ZeaBiscuit's picture

ทนายคือคนที่เข้ามาช่วยคนทำผิดกฎหมาย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ROSS ก็คงเช่นกัน