Tags:
Node Thumbnail

ปีที่แล้วหนึ่งในข่าวการแฮคข้อมูลผู้ใช้ที่โด่งดังข่าวหนึ่ง คือกรณีที่ข้อมูลผู้ใช้เว็บหาชู้ Ashley Madison ถูกแฮคมาปล่อยบนอินเทอร์เน็ตแบบยกทั้งกระบิ ซึ่งผลที่ตามมาก็มีทั้งการลาออกของซีอีโอซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเว็บด้วย และแน่นอนว่างานนี้มีเรื่องถึงโรงถึงศาล เพราะเชื่อได้เลยว่าชีวิตส่วนตัวของผู้ใช้เว็บไซต์หลายรายนั้นได้รับผลกระทบแบบจังๆ หลังความลับตัวเองรั่วไหล

การฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น ฝ่ายที่ถูกฟ้องคือ Avid Life Media ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเว็บ Ashley Madison ในตอนแรกมีโจทก์ยื่นฟ้องโดยใช้นามแฝงทั้งสิ้น 42 ราย แต่ศาลไม่รับพิจารณาคดีหากโจทก์ผู้ฟ้องร้องไม่เปิดเผยชื่อจริงเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งนั่นก็ถือว่าทำให้โจทก์หลายคนทำใจอยู่นานเพื่อฝืนความอายของตนเองแล้ว ล่าสุดผู้พิพากษายังระบุสิ่งที่ทำให้ฝ่ายโจทก์ต้องปวดหัวยิ่งขึ้นไปอีกว่าจะไม่อนุญาตให้โจทก์ใช้เอกสารข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลออกมาสู่อินเทอร์เน็ตมาเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องร้อง

บางคนอาจเกิดคำถามว่าทำไม?

ทั้งที่คดีนี้เป็นการยื่นฟ้องผู้ให้บริการ ด้วยโทษฐานว่าไม่ปกป้องข้อมูลส่วนตัวลูกค้าได้ดีพอ จนทำให้ข้อมูลรั่วไหลและเกิดความเดือดร้อนโดยเฉพาะในแง่ชื่อเสียงของตัวลูกค้าที่เป็นผู้ยื่นฟ้องเอง แต่ไฉนผู้พิพากษากลับไม่ให้มีการนำเอาเอกสารข้อมูลที่รั่วไหลนั้นมาแสดงในศาลประกอบการพิจารณาคดี?

คำตอบจากผู้พิพากษานั้นให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ หากใช้เอกสารที่รั่วไหลบนอินเทอร์เน็ตมาประกอบการฟ้องคดี จะถือว่าเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (เพราะการได้มานั้นเริ่มเรื่องมาจากการแฮคระบบ) ถึงแม้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมีรายละเอียดเนื้อหาเกี่ยวพันกับผู้ใช้ แต่โดยทางกฎหมายแล้วเจ้าของเอกสารคือ Avid Life Media ผู้ถูกฟ้อง มันไม่ใช่ทรัพย์สินหรือไฟล์ที่อยู่ในครอบครองของเหล่าบรรดาลูกค้าผู้ใช้งานเว็บไซต์

ฝั่งโจทก์ผู้ฟ้องร้องนั้นพยายามแย้งว่าข้อมูลในเอกสารที่หลุดออกมานั้น ไม่ใช่ "ข้อมูลปกปิด" อีกต่อไป โดยเตรียมใช้การอ้างถึงรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ (ซึ่งอ้างอิงย้อนไปยังเอกสารจริงอีกที) ซึ่งก็เป็นการแย้งลักษณะเดียวกับที่ Google เคยแย้งในคดีข่าวเกี่ยวกับ Sony Pictures ถูกแฮค และมีอีเมลรั่วไหลสู่อินเทอร์เน็ต ซึ่งในครั้งนั้นก็มีการอ้างเรื่องสิทธิ์ในการนำเสนอข่าวมาค้าน

ทว่าผู้พิพากษาคดีของ Ashley Madison มองว่าการที่นักข่าวนำเสนอข่าวนั้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายว่าด้วยเรื่องการนำเสนอข่าวเรื่องข้อมูลที่ถูกขโมยไป แต่สำหรับฝ่ายอัยการในการนำเสนอข้อมูลนั้น กรอบจริยธรรมและความรับผิดชอบนั้นแตกต่างออกไป หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ ต่อให้ข้อมูลนั้นปรากฏเป็นข่าว ศาลก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่ได้มาโดยไม่ชอบ

ผู้พิพากษาได้เขียนถึงเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า

ข้อเท็จจริงที่ว่าเนื้อหาในเอกสารภายในบางส่วนของ Avid ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมันก็ถูกนำไปรายงานข่าวต่างๆ นั้น ไม่อาจเปลี่ยนความจริงประการหนึ่งของเอกสารเหล่านั้น พวกมันคือเอกสารที่ถูกขโมยมา

ในขณะนี้ดูเหมือนว่าหนทางเดียวที่ฝ่ายโจทก์จะสามารถเอาเอกสารข้อมูลที่ถูกแฮคไปปล่อยสู่สาธารณะมาใช้ในการพิจารณาคดีในศาลได้นั้น อาจจะต้องเป็นการขอให้ Ashley Madison เป็นฝ่ายยินยอมเสียก่อน

ที่มา - Fusion

Get latest news from Blognone

Comments

By: natt_han
ContributoriPhoneAndroid
on 12 May 2016 - 18:14 #911326

ก็เหมือนจะเข้าใจ คนที่ผิดจริงๆมันแฮกเกอร์นี่นะ
เว็บอื่นที่โดนแฮกมีโดนฟ้องแบบนี้มั่งมั้ย แต่อันนี้มันเป็นเว็บหาชู้เลยเสียหายสินะ

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 12 May 2016 - 18:52 #911333
panurat2000's picture

ถึงแม้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมีรายละเอีดเนื้อหา

รายละเอีด => รายละเอียด

ต่อให้ข้อมูลนั้นปรากฎเป็นข่าว

ปรากฎ => ปรากฏ

By: A4
iPhoneAndroidRed HatSUSE
on 12 May 2016 - 20:34 #911361
A4's picture

โรบินฮูดแห่งศีลธรรม