Tags:
Node Thumbnail

คำว่า Internet of Things (IoT) ได้รับความสนใจอย่างสูงในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นบริการจำนวนมากเริ่มบอกว่าตัวเองรองรับ IoT ในแบบต่างๆ สำหรับคนทั่วไปคำถามคงเป็นเรื่องว่า IoT จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเราได้อย่างไร แต่สำหรับนักพัฒนา เราอาจจะตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวพันกับ IoT

ความฝัน

ความฝันถึง IoT ถูกกล่าวถึงครั้งแรกๆ ในบทความ "The Computer for the 21st Century" ของ Mark Weiser นักวิจัยจาก Xerox PARC ตั้งแต่ปี 1991 ที่ฝันถึงอนาคตที่แต่ละห้องจะมีคอมพิวเตอร์นับร้อยตัว สื่อสารกับผู้คนตลอดเวลาในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติ และไม่ได้แยกตัวออกมาว่าเป็น "คอมพิวเตอร์" แบบพีซีที่เป็นอุปกรณ์แปลกแยกจากสิ่งอื่นๆ ในบ้าน แต่คอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์แทบทุกอย่างจนกลายเป็นฉากหลังของการทำงาน โดยเรียกแนวคิดนี้ว่า Ubiquitous Computing (UC)

UC ฝันถึงการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อทุกที่มีคอมพิวเตอร์ เมื่อเราตื่นขึ้นมาเครื่องทำกาแฟจะถามด้วยเสียงว่าเราต้องการกาแฟหรือไม่และเราพูดตอบได้ทันที เมื่อเรากำลังเดินออกจากบ้าน ประตูจะแสดงสภาพอากาศภายนอกพร้อมพยากรณ์อากาศประจำวันรถยนต์สามารถรายงานสภาพจราจรได้ตามเวลาจริง เมื่อมีอุบัติเหตุข้างหน้าเราสามารถเลือกแวะซื้อกาแฟแทนที่จะทนรถติด เมื่อเราใกล้ถึงที่ทำงาน คอมพิวเตอร์ที่ทำงานจะเปิดเครื่องรอการล็อกอินและดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆ ที่เราน่าจะใช้งานไว้ให้พร้อม

ความฝันของ Weiser นั้นทำนายไว้ว่าจะค่อยๆ เป็นจริงในอีก 20 ปีข้างหน้า (จากบทความที่เขียนไว้ในปี 1991) การมองระยะยาว ความผิดพลาดในการทำนายหลายอย่าง เช่น เขาทำนายในบทความว่าเมื่อคนทั่วไปซื้อฮาร์ดดิสก์ขนาด 1TB มาใช้งานได้ก็แทบไม่ต้องลบไฟล์อีกเลย (คนยุคนั้นคงจินตนาการถึงวิดีโอ 4K และ Steam ไม่ออก) ที่จริงแล้วระยะเวลาผ่านมาถึง 25 ปี คำทำนายของ Weiser เป็นจริงเพียงไม่กี่อย่าง และส่วนมากเป็นจริงนอกกรอบเวลา 20 ปีของเขา เช่นการรายงานสภาพจราจรจาก Waze ที่เพิ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Google Maps มาไม่กี่ปีนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในตอนนี้บ่งชี้ว่าความฝันของ Weiser กำลังเป็นจริงในที่สุด

แนวคิด UC ของ Weiser จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐานหลายอย่างที่ยุคนั้นไม่มี หรือมีในราคาแพงอย่างยิ่ง เช่น พลังประมวลผลระดับสูงเพื่อการรับคำสั่งด้วยเสียงและสังเคราะห์เสียงตอบโต้กับผู้ใช้, การเชื่อมต่อตลอดเวลา, สตอเรจขนาดใหญ่สำหรับการเก็บข้อมูลจำนวนมาก, และกระบวนการเข้ารหัสที่ม่ีความปลอดภัยสูง

พลังประมวลผล

พลังประมวลผลเป็นหัวใจสำคัญของคอมพิวเตอร์ ในยุค 1991 นั้นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะคือ PS/2 P75 ที่ใช้ชิป 486 ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 19,000 ดอลลาร์ ความเปลี่ยนแปลงด้านราคาของพลังประมวลผลเป็นสิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจน ทั้งโน้ตบุ๊กที่ตอนนี้ราคาต่ำกว่า 200 ดอลลาร์, โทรศัพท์มือถือที่ราคาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ แต่พลังประมวลผลกลับสูงกว่าคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นอย่างมาก

แม้จะเป็นแนวโน้มที่ชัดเจน แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงสองสามอย่างที่ควรกล่าวถึงว่าเป็นจุดเปลี่ยนของพัฒนาการโลกไปสู่ยุค IoT

อย่างแรกคือ Arduino โครงการสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก โดย Arduino พยายามทำลายความยุ่งยากของการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเช่นนี้ในสมัยก่อน ที่ต้องการเครื่องโปรแกรมลงชิปโดยเฉพาะทำให้ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง Arduino ก้าวข้ามปัญหานี้โดยสร้างบอร์ดที่มีชิป USB-to-Serial มาในตัว และใส่เฟิร์มแวร์ลงในชิป Atmel AVR เพื่อให้เขียนโปรแกรมแล้วโหลดผ่านพอร์ต USB ได้ทันที ประกอบกับการสร้างเฟรมเวิร์คทางฝั่งซอฟต์แวร์ทำให้เขียนโปรแกรมได้ง่าย

alt="upic.me"

นอกจากการปรับปรุงให้ทุกอย่างง่ายลงแล้ว Arduino ยังเปิดซอร์สทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ มันกลายเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานสำหรับการสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาอื่นๆ ทุกวันนี้มีบอร์ตจำนวนมากที่ใช้โค้ดจาก Arduino ได้ ขณะที่ตัวบอร์ดเองเปิดให้ผู้ผลิตอื่นๆ สามารถนำไปผลิตได้อย่างอิสระ เราสามารถหาบอร์ดราคาถูกได้โดยง่าย

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ Raspberry Pi ที่นำชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือมาสร้างเป็นบอร์ดพัฒนา แม้ชิปจะตกรุ่นไปบ้างแต่การเน้นราคาถูกเป็นหลักกลับทำให้ Raspberry Pi เป็นผู้บุกเบิกตลาดคอมพิวเตอร์ราคาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ ทุกวันนี้ Raspberry Pi เป็นต้นแบบของสินค้าในประเภทเดียวกันมากมาย บอร์ดพัฒนาขนาดเล็กที่ประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ มีขายในราคาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ แม้ทาง Raspberry Pi จะขยับไปทำ Raspberry Pi Zero ที่ราคาเหลือเพียง 5 ดอลลาร์แล้วก็ตาม

ทุกวันนี้ Raspberry Pi กลายเป็นสมองให้กับอุปกรณ์รอบตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ป้ายโฆษณาฉลาด, ระบบกล้องวงจรปิด สามารถใช้ Raspberry Pi ร่วมกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สจำนวนมากเพื่อสร้างบริการแบบใหม่ๆ ในอนาคต

การเชื่อมต่อ

การเชื่อมต่อเป็นประเด็นสำคัญของอุปกรณ์ IoT ในยุคก่อนหน้านี้ที่เครือข่าย Wi-Fi ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เช่นทุกวันนี้ โลกของเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ขนาดเล็กดูจะต้องการเครือข่ายไร้สายมากกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป (ที่สามารถเชื่อมต่อผ่านสายแลนได้) แนวทางการออกแบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (wireless sensor networks - WSNs) จึงเป็นหัวข้อการวิจัยมาเป็นเวลานาน ความฝันของเครือข่ายเหล่านี้คือเครือข่ายที่สามารถเชื่อมต่อได้เป็นบริเวณกว้าง อาจจะหลายตารางกิโลเมตร โดยมีจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงไม่กี่จุดเท่านั้น เครือข่ายเหล่านี้อาศัยการส่งต่อข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเพื่อขยายพื้นที่ให้บริการ เช่น สวิตช์ไฟในบ้านต้องทำหน้าที่เป็นเราท์เตอร์ให้กับสวิตช์ตัวอื่นๆ เพื่อให้การส่งข้อมูลแต่ละครั้งกินพลังงานน้อยขณะที่มีระยะให้บริการที่กว้างไกล

แต่ความนิยมในอินเทอร์เน็ตไร้สายกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีที่ผ่านมาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi กลับทำได้โดยง่ายและครอบคลุม รวมถึงเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการได้ในระดับเมืองหรือระดับประเทศโดยแทบไม่มีจุดบอดในจุดที่มีประชากรพอสมควร ทำให้ความฝันในการสร้าง WSN ดูจะไม่จำเป็นเท่าใดนัก

บอร์ดพัฒนา เช่น ESP8266 เป็นตัวอย่างแนวโน้มเช่นนี้ที่ชัดเจน เราสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ขนาดเล็กมากเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้ผ่าน Wi-Fi ขณะที่การเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็เป็นทางเลือกสำคัญจากพื้นที่ให้บริการที่กว้างขวางกว่าเดิม แม้ว่าการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะไม่ได้มุ่งเป้าการประหยัดพลังงานในระดับที่ใช้งานได้นานหลายๆ เดือนหรือหลายปีต่อแบตเตอรี่หนึ่งชุด แต่สำหรับการเชื่อมต่อที่ไม่ต้องการการประหยัดพลังงานระดับนั้น เช่น รถยนต์ที่มีแหล่งพลังงานตลอดเวลา การเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม

สมาร์ตโฟนเองถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อในยุคหลัง เนื่องจากมันสามารถรันแอปพลิเคชั่นซับซ้อนได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องพลังงานมากเกินไป และมีช่องทางการเชื่อมต่อที่หลากหลาย โดยเฉพาะ Bluetooth ที่มีการพัฒนามาตรฐาน Bluetooth LE (Low Energy - BLE) เพิ่มเติมเข้า ทำให้เราสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มีแหล่งพลังงานภายในเพียงเล็กน้อย เช่น เซ็นเซอร์ต่างๆ แล้วส่งข้อมูลจากเซ็นเซอร์เหล่านั้นสู่อินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือแม้แต่เกตเวย์อื่นที่ทำงานเป็นตัวเชื่อมระหว่าง BLE และอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้เราสามารถหาเซ็นเซอร์ที่ทำงานผ่าน BLE ได้ไม่ยากนัก อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่ได้จำนวนมากมักใช้มาตรฐาน BLE เช่น นาฬิกาและเซ็นเซอร์สุขภาพ

แต่ความฝันที่เราจะเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ขนาดเล็กได้จากทุกที่ในโลกยังคงเป็นความฝันที่หลายบริษัทพยายามทำให้เป็นจริง หากเราทำได้ ในอนาคตเราจะมีเครือข่ายที่ครอบคลุมในระดับเดียวกับโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นโปรโตคอลเฉพาะเพื่อการเชื่อมต่อที่ประหยัดพลังงานเป็นอย่างมาก โปรโตคอลเหล่านี้รองรับการเชื่อมต่อที่แบนด์วิดท์ต่ำๆ อาจจะระดับกิโลไบต์ต่อวินาทีเท่านั้น แต่ความได้เปรียบสำคัญคือราคาค่าเชื่อมต่อที่ราคาถูกเป็นอย่างมาก

alt="upic.me"

ภาพสำนักงาน Sigfox

เครือข่าย IoT ที่เริ่มมีการติดตั้งไปแล้ว เช่น Sigfox คาดว่าในการใช้งานโดยทั่วไป เซ็นเซอร์และอุปกรณ์แต่ละชิ้นจะเสียค่าเชื่อมต่อเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปี ในปีที่แล้ว Archos ผู้ผลิตสินค้าไอทีในฝรั่งเศสประกาศแจกเสาเครือข่าย IoT ให้กับบ้านเรือนในฝรั่งเศสเพื่อสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ คาดว่าเมื่อเครือข่ายติดตั้งเสร็จแล้ว จะมีค่าบริการเพียง 0.5 ยูโรต่ออุปกรณ์ต่อปี ราคาค่าเชื่อมต่อที่ถูกเป็นอย่างยิ่งและครอบคลุมในระดับเดียวกับโทรศัพท์มือถือ และการออกแบบให้รองรับการทำงานที่กินพลังงานต่ำมากๆ น่าจะทำให้เรามีแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ รถยนต์ในยุคต่อไปอาจจะรายงานสภาพเครื่องยนต์กลับไปยังศูนย์ให้บริการได้เป็นปกติ ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะรุ่นที่มีราคาแพงและเป็นทางเลือกเสริม ราคาค่าเชื่อมต่อที่ถูกมากๆ อาจจะทำให้เราใช้งานเครือข่ายเหล่านี้เชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ไม่เคยเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เช่น จักรยาน, เสื้อผ้าเด็ก, สวิตช์ไฟตามถนนหนทาง ฯลฯ

alt="upic.me"

มาตรฐานเครือข่าย IoT ยังคงมีการแข่งขันกันในหลายกลุ่มเทคโนโลยี เมื่อปีที่แล้วกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายอย่างอินเทล, โนเกีย, และอีริคสันก็เสนอมาตรฐาน NB-LTE เพื่อใช้ย่านความถี่แคบๆ มาให้บริการ IoT ทำให้ภายในปี 2016 น่าจะมีมาตรฐานแข่งกันถึง 6 มาตรฐาน

คลาวด์ ศูนย์กลางแห่งข้อมูล

จิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งในการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้าด้วยกันเป็นจำนวนมาก คือ เซิร์ฟเวอร์ที่ควบคุม, จัดเก็บข้อมูล, และประมวลผลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ส่งค่าเข้ามา ในยุคหนึ่งที่เราพูดถึงการวางเซ็นเซอร์ไว้ในอาคารเดียว เราอาจจะวางเซิร์ฟเวอร์ไว้ในอาคารเองเพื่อจัดเก็บข้อมูลและควบคุมอาคารทีละอาคารไป แต่การตั้งเซิร์ฟเวอร์เองหมายถึงเราต้องบำรุงรักษาเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นด้วยตัวเอง การอัพเดตความปลอดภัย และการบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ตามอายุการใช้งานเป็นเรื่องลำบากสำหรับคนจำนวนมาก

บริการคลาวด์จึงเข้ามาบุกตลาด IoT อย่างมากในช่วงหลัง ความฝันของบริการเหล่านี้ คือ เมื่อผู้ใช้ซื้ออุปกรณ์มาใหม่ พวกเขาเพียงคอนฟิกค่าเล็กน้อยให้อุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ากับผู้ให้บริการ และเริ่มใช้งานได้ในทันที

alt="upic.me"

ผังโซลูชั่น Bluemix ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ด้วยโปรโตคอล MQTT

ทุกวันนี้ผู้ให้บริการคลาวด์เริ่มหันมาให้บริการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT โดยเฉพาะ ส่วนมากเป็นเซิร์ฟเวอร์โปรโตคอล MQTT เช่น IBM Bluemix หรือ Amazon Web Service บริการเหล่านี้ยังไม่ได้พร้อมใช้สำหรับผู้ใช้ทั่วไปเสียทีเดียว แม้จะมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบฐานข้อมูล, มาตรฐานการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับเซิร์ฟเวอร์, และเซิร์ฟเวอร์ประมวลผล แต่การคอนฟิกให้ระบบเป็นตามต้องการ เช่น การเชื่อมต่อหลอดไฟสักหลอดเข้ากับสวิตช์ โดยที่อุปกรณ์ทั้งสองตัวเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็ยังต้องอาศัยความรู้ความสามารถพอสมควร แต่โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ก็เป็นช่องทางให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ง่ายพอสำหรับผู้ใช้ทั่วไปในอนาคต

alt="upic.me"

ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จีนชื่อดังอย่าง Xiaomi ลงทุนกับการพัฒนาอุปกรณ์ IoT อย่างหนัก อย่างที่เราเห็นความพยายามผลิตชิ้นค้า เช่น เครื่องกรองน้ำ แต่สินค้าสำคัญชิ้นหนึ่งของ Xiaomi คือ Home Kit ที่เป็นชุดเซ็นเซอร์พื้นฐาน เช่น สวิตช์, เซ็นเซอร์ประตู, เซ็นเซอร์ความเคลื่อนไหว, ลำโพง, และหลอดไฟ (ไม่มีในชุด ต้องซื้อเพิ่ม) ชุด Home Kit มาพร้อมกับตัวแอปพลิเคชั่นและบริการเต็มรูปแบบ ผู้ใช้สามารถซื้อชุดสำเร็จมา และเชื่อมต่อเข้ากับบริการของ Xiaomi จากนั้นสามารถคอนฟิกพฤติกรรมง่ายๆ เช่น หากอยู่นอกบ้านและในห้องมีความเคลื่อนไหว ให้แจ้งเตือน หรือกำหนดพฤติกรรมของสวิตช์ให้เป็นการเปิดปิดไฟ ไปจนถึงการเปิดปิดอุปกรณ์เองตามช่วงเวลาที่เราต้องการโดยอัตโนมัติ

ความน่ากังวลแห่ง IoT

ท่ามกลางความฝันอันสวยหรูแห่งยุค IoT ที่กำลังใกล้ความเป็นจริงเข้ามาเรื่อยๆ ความน่ากังวลก็เพิ่มพูนขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะประเด็นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

ความเป็นส่วนตัวเป็นประเด็นใหญ่ของ IoT ที่คนจำนวนมากตั้งคำถาม ในยุคเครือข่ายสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ เราอาจจะได้ยินคำกล่าวว่าหากให้เรื่องใดเป็นเรื่องส่วนตัว อย่าโพสต์เรื่องเหล่านั้นลงอินเทอร์เน็ต แต่ยุค IoT ทุกแง่มุมของชีวิตของเราจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เช่น เวลาที่เราอยู่ในบ้าน เวลาที่เราเปิดใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ อุณหภูมิห้องที่เราตั้งไว้ ทั้งหมดถูกส่งต่อกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ ถูกบันทึกไว้เป็นระยะเวลานานหรืออาจจะไม่มีการตั้งลบข้อมูลออกเลยตลอดกาล

เมื่อปลายปี 2015 มีคดีชนแล้วหนีในสหรัฐฯ โดยหญิงคนหนึ่งขับรถหนีออกจากที่เกิดเหตุหลังจากขับรถชนรถบรรทุก แต่รถของเธอเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พร้อมกับแจ้งพิกัดที่เกิดเหตุและรุ่นของรถไปยังเจ้าหน้าที่โดยอัตโนมัติ ส่งผลให้เธอถูกจับในที่สุด กรณีเช่นนี้อาจจะมองได้ว่าเป็นข้อดีสำหรับการบันทึกข้อมูลจำนวนมาก แต่หากฐานข้อมูลเหล่านี้ตกถึงมือคนร้าย หรือฐานข้อมูลถูกแฮกแล้วเปิดเผยต่อสาธารณะ ฐานข้อมูลรั่วในอนาคตอาจจะไม่ใช่เพียงอีเมลเรื่องงานเหมือนในสมัยข้อมูลโซนี่รั่วไหล แต่อาจจะหมายถึงทุกแง่มุมของชีวิตของผู้ใช้ทุกคน

ความปลอดภัยเป็นอีกประเด็นสำคัญ คอมพิวเตอร์ที่ต้องการความปลอดภัยจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง มีการดูแลและอัพเดตแพตช์ใหม่ๆ เมื่อมีการค้นพบช่องโหว่ แต่ทุกวันนี้กระบวนการอัพเดตกลับไม่มีประสิทธิภาพนัก คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กในบ้าน เช่น เราท์เตอร์จำนวนหลายแสนหลายล้านเครื่องในหลายประเทศไม่มีกระบวนการอัพเดตที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ใช้ทั่วไป ยิ่งกว่านั้นเราท์เตอร์จำนวนมากถูกผู้ผลิตทิ้งให้ไม่มีอัพเดตทั้งที่พบช่องโหว่แล้วเป็นเวลานาน ในยุค IoT จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เป็นคำถามว่ากระบวนการจัดการกับความปลอดภัยในยุคต่อไปที่มีอุปกรณ์ต้องบำรุงรักษาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีเช่นนี้จะมีการจัดการที่ดีขึ้นหรือไม่ หรือเป็นการเปิดช่องโหว่จำนวนมากไว้ทุกซอกทุกมุมในบ้านแทน

alt="upic.me"

ผู้ออกแบบซีพียู เช่น ARM พยายามเข้ามาเสนอทางออกสำหรับประเด็นความปลอดภัย ด้วยการออกแพลตฟอร์ม mBed สำหรับการพัฒนาอุปกรณ์ IoT และตัวชิปขนาดเล็กรุ่นใหม่ๆ เองก็มีฟีเจอร์ TrustZone เพื่อรองรับการอัพเดตซอฟต์แวร์โดยอัตโนมัติที่สามารถตรวจสอบที่มาของอัพเดตได้ ส่วนความปลอดภัยในการเชื่อมต่อ ตัวแพลตฟอร์ม mBed เองก็มีไลบรารี mBed TLS เพื่อสนับสนุนให้ผู้พัฒนาเชื่อมต่อแบบเข้ารหัสเสมอตั้งแต่แรก แม้ว่าการที่ ARM เข้ามาเปิดแพลตฟอร์มเช่นนี้ดูจะเป็นทางออกสำหรับความปลอดภัย แต่สุดท้ายผู้ผลิตที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปผลิตสินค้าขายก็เป็นผู้รับผิดชอบที่จะต้องอัพเดตซอฟต์แวร์สม่ำเสมอ และส่งอัพเดตให้กับผู้ใช้อย่างทันท่วงที

ความน่ากลัวอย่างหนึ่งของยุค IoT คืออุปกรณ์เหล่านี้มักมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ในยุคสมาร์ตโฟน คนทั่วไปอาจจะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือในระยะเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น ทำให้ได้รับซอฟต์แวร์ใหม่ทุกครั้งที่ซื้อเครื่องใหม่ ส่วนคนที่ใช้งานนานกว่านั้นก็มักจะใช้งานพื้นฐานที่ไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากนัก แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอาจจะอยู่ในบ้านนับสิบปี เมื่อถึงยุคที่อุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลาก็เป็นคำถามว่าจะมีผู้ผลิตรายใดกล้าบอกว่าจะซัพพอร์ตซอฟต์แวร์ให้กับอุปกรณ์เหล่านี้ตลอดอายุการใช้งานของมันหรือไม่ ประเด็นความปลอดภัยในอุปกรณ์ IoT ในปี 2015 ที่ผ่านมา เรื่องใหญ่คือการรายงานช่องโหว่ซอฟต์แวร์ในรถยนต์ GM, Chrysler ที่ทำให้แฮกเกอร์สามารถเข้าควบคุมรถ ตัดการทำงานเบรกจนกระทั่งรถยนต์เกิดอุบัติเหตุได้

ปัจจุบันและอนาคต

บทความนี้สรุปรวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจากเทคโนโลยี IoT ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สินค้าเหล่านี้แม้จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีขายแพร่หลายขึ้นแต่ก็ยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ของสินค้าในบ้าน หลอดไฟจำนวนมากยังเป็นหลอดไฟธรรมดา ในเมืองไทยเองแม้แต่ล็อกประตูอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นของมาตรฐานที่ทุกบ้านใช้งานกัน รูปแบบการใช้งานจะเป็นรูปแบบใดยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องคาดเดากันต่อไปในอนาคต

แต่เมื่อถึงวันที่มันได้รับความนิยม เราคงต้องตั้งความหวังกันว่าประเด็นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยจะถูกวางแนวทางการป้องกันไว้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์จำนวนไปในทุกบ้านในอนาคต

Get latest news from Blognone

Comments

By: jane
AndroidUbuntu
on 10 January 2016 - 22:47 #874184
jane's picture

ยังเหลือเรื่อง IPv6/6LoWPAN

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 11 January 2016 - 23:57 #874446 Reply to:874184
lew's picture

อันนี้จริงๆ เคยเขียนถึงเมื่อสามปีก่อน ปัญหาสำคัญคือจนตอนนี้การใช้งาน IPv6 เอาเข้าจริงยังไม่เยอะ ผมไม่คิดว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้า IoT จะใช้งาน IPv6 จริงจังอย่างที่ฝันกันไว้ เช่นว่าเชื่อมต่อข้ามโลกโดยตรง หรือส่ง message เข้าโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องผ่านเซิร์ฟเวอร์ตรงกลาง


lewcpe.com, @wasonliw

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 10 January 2016 - 23:00 #874187
panurat2000's picture

ทั้งโน้ตบุ๊กที่ตอนนี้ราคาต่ำหว่า 200 ดอลลาร์

ต่ำหว่า => ต่ำกว่า

อย่างแรกคือ Arduino โครงการสร้างแฟลตฟอร์มพัฒนาซอฟต์แวร์

แฟลตฟอร์ม => แพลตฟอร์ม

ต้องทำหน้าที่เป็นเราท์เตอร์ให้กับสวืตช์ตัวอื่นๆ

สวืตช์ => สวิตช์

เช่น รถยนตร์ที่มีแหล่งพลังงานตลอดเวลา

รถยนตร์ => รถยนต์

ยังคงเป็นความที่หลายบริษัทพยายามทำให้เป็นจริง

ยังคงเป็นความที่ ?

รถยนตร์ในยุคต่อไปอาจจะรายงานสภาพเครื่องยนตร์กลับไปยังศูนย์ให้บริการ

รถยนตร์ => รถยนต์

เครื่องยนตร์ => เครื่องยนต์

ที่กำลังใกล้ความเิป็นจริงเข้ามาเรื่อยๆ

ความเิป็นจริง => ความเป็นจริง

อย่าโพสเรื่องเหล่านั้นลงอินเทอร์เน็ต

โพส => โพสต์

เป็นข้อดีสำหรับการบันทีกข้อมูลจำนวนมาก

บันทีก => บันทึก

จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตทจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

อินเทอร์เน็ตทจะ => อินเทอร์เน็ตจะ

ส่วนความปลอดภัยในการเชื่อมต่อท แพลตฟอร์ม mBed เอง

เชื่อมต่อท แพลตฟอร์ม ?

แต่สุดผู้ผลิตที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปผลิตสินค้าขาย

แต่สุดผู้ผลิต ?

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 10 January 2016 - 23:03 #874188 Reply to:874187
lew's picture
By: xenogew
ContributorAndroidWindows
on 10 January 2016 - 23:18 #874193 Reply to:874187
xenogew's picture

ยิบขนาดนี้ คนหรือเครื่องเหรอครับเนี่ย

By: StatusQuo
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 10 January 2016 - 23:51 #874195 Reply to:874193

สุดยอด AI ที่รองรับภาษาไทยครับ

By: aeksael
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 11 January 2016 - 11:41 #874297 Reply to:874193
aeksael's picture

bot ตรวจคำผิดของ Blognone ครับ


The Last Wizard Of Century.

By: jaideejung007
ContributorWindows PhoneWindows
on 11 January 2016 - 13:47 #874322 Reply to:874193
jaideejung007's picture

http://pantip.com/profile/296764
http://topicstock.pantip.com/mbk/topicstock/2006/11/T4920075/T4920075.html
http://2g.pantip.com/tech/hardware/topic/HS2238005/HS2238005.html
https://twitter.com/hashtag/panurat2000

คนเดียวกันมั้ยนะ?

By: kswisit
ContributoriPhoneAndroidIn Love
on 11 January 2016 - 14:32 #874326 Reply to:874322

ลบลบลบลบลบ


^
^
that's just my two cents.

By: michael
AndroidWindows
on 12 January 2016 - 16:30 #874592 Reply to:874187

"อย่างที่เราเห็นความพยายามผลิตชิ้นค้า เช่น"

ชิ้นค้า => สินค้า

By: big50000
AndroidSUSEUbuntu
on 10 January 2016 - 23:23 #874194
big50000's picture

(คนยุคนั้นคงจินตนาการถึงวิดีโอ 4K และ Steam ไม่ออก)

/me โขกสับ SSD 128GB ต่อไป . . . . .
(ตอนนี้สิ้นคิดมากถึงขั้นซื้อ SD card มาใส่เกมเลยทีเดียว)

By: itpcc
ContributoriPhoneRed HatUbuntu
on 11 January 2016 - 01:37 #874210
itpcc's picture

LoRa ยังต้องสั่งนำเข้า โดนใบเขียวมีหวังกระอักเลือด อร่อก T^T


บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P

By: KuLiKo
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 11 January 2016 - 04:15 #874214
KuLiKo's picture

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ

ไม่ได้ตามข่าวไอทีมานาน อ่านทีก็ตาลุกวาวที :3

By: A4
iPhoneAndroidRed HatSUSE
on 11 January 2016 - 07:03 #874222
A4's picture

ขอบคุณ

By: HMage
AndroidWindows
on 11 January 2016 - 09:46 #874255

Watchdog

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 11 January 2016 - 10:00 #874260
btoy's picture

ขอบคุณมากครับ อีก 10 ปีข้างหน้า น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมเลยมั้งเนี่ย


..: เรื่อยไป

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 11 January 2016 - 11:46 #874300

มี IOT แต่ไม่มีระบบ Surge Protection อาจทำให้ท่านกลายเป็นมนุษย์ยุคหินได้ เพราะถ้าโดนกระแสจากฟ้าผ่าวิ่งมาตามสาย... ตายเรียบ เอวัง

By: waroonh
Windows
on 11 January 2016 - 13:10 #874312

ความฝันของผมคือ
เปิดระบบ skynet แล้ว เรามารบกับ หุ่นt800
ที่หน้าตาเหมือนน้า อาร์โนลด์
ให้ระเบิดเถิดเทิงกันครับ

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 11 January 2016 - 14:25 #874339 Reply to:874312
hisoft's picture

ไม่ครับ ผมจะทิ้งร่างเนื้อไปเป็น Skyenet เอง 555

By: MaxxIE
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 12 January 2016 - 15:27 #874568 Reply to:874312
MaxxIE's picture

ตอนเด็กๆพ่อผมเปิดเรื่อง ฅนเหล็กให้ดูจนผมเก็บเอาไปฝันว่าวิ่งไล่ยิงหุ่นT800 พอมันใกล้ตายมันก็จะพูดว่า I 'll be back
คือฝันแบบเป็นตุเป็นตะมาก5555

By: tuttap
Android
on 11 January 2016 - 13:16 #874315
tuttap's picture

กราบขอบพระคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ นี้
เป็นความรู็สึกส่วนตัว ครับว่า อนาคต น่าจะดีกว่านี้แต่ อาจจะไม่ใช่ทางที่เป็นอยู่ ครับ

By: alph501
iPhoneWindowsIn Love
on 11 January 2016 - 16:42 #874374
alph501's picture

พออ่านถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว
เหมือนจะได้ยินเสียง กะซิบว่าไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร

By: 100dej
AndroidWindows
on 12 January 2016 - 15:06 #874561

ยุคนั้นมาถึง

มนุษย์ยังต้องทำงานอีกเหรอ?

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 12 January 2016 - 15:41 #874578 Reply to:874561
lew's picture

มันก็ยังต้องใช้เงินซื้อของพวกนี้มาใช้อยู่ครับ


lewcpe.com, @wasonliw

By: NNTK
AndroidUbuntu
on 12 January 2016 - 15:17 #874565

ขอบคุณครับ

By: tanaban
iPhoneWindows
on 12 January 2016 - 15:30 #874572
tanaban's picture

มันกำลังจะเข้ามา

ยุคใหม่

By: anoid on 29 May 2018 - 02:20 #1052132

รู้สึกมันเกินจำเป็นไปหลายๆอย่าง แต่ถ้าเอามาใช้กะเกษตรก็น่าจะเวิร์คนะ