Tags:
Node Thumbnail

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz ของ กสทช. ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายทั้งในแง่ตัวเลขเงินที่ประมูล และความยืดเยื้อยาวนานของการประมูลที่กินเวลารวมเกือบ 2 วันเต็ม

คำถามที่หลายคนสงสัยคือคลื่น 1800MHz มีอะไรน่าสนใจ จนบรรดาโอเปอเรเตอร์ต้องต่อสู้กันดุเดือดถึงเพียงนี้ อันนี้เป็นบทวิเคราะห์ขั้นต้นแบบด่วนๆ หลังประกาศผลประมูลครับ (ข้อมูลอาจไม่ครบถ้วนนัก และวิเคราะห์ด้วยยอดรวมการประมูลของแต่ละบริษัทเท่านั้น ไม่ได้สนใจจังหวะการประมูลแต่ละขั้นตอนนะครับ)

No Description

แย่งคลื่นกันไปทำไม

คำถามแรกที่ทุกคนถามคงเป็นว่าทำไมต้องแข่งประมูลกันดุเดือดขนาดนี้ คำตอบคงขึ้นกับมุมมองของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายด้วย (เดี๋ยวคงมีบทสัมภาษณ์ตามมาในหน้าสื่อต่างๆ) แต่ในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายมองอนาคตของธุรกิจการสื่อสารไร้สายว่ามีแต่จะโตขึ้น ไม่มีทีท่าจะลดลง ในขณะที่ทรัพยากรคลื่นความถี่มีจำกัด ดังนั้นความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาวย่อมขึ้นกับว่าโอเปอเรเตอร์แข่งขันได้เรื่องปริมาณคลื่นในมือมากน้อยแค่ไหน

บริการโทรคมนาคมในอดีต ผูกตัวเทคโนโลยีในยุคนั้นกับความถี่แต่ละย่าน เช่น 900/1800MHz สำหรับบริการ 2G หรือ 2100MHz สำหรับบริการ 3G ส่งผลให้คลื่นช่วงความถี่ที่ไม่ได้รับความนิยม ไม่มีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจมากนัก (เพราะได้ไปก็อาจหาอุปกรณ์รองรับยาก เช่น True 3G 850MHz ช่วงแรกๆ) อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ส่งผลให้ปัจจัยเรื่องย่านความถี่ไม่เป็นปัญหามากเท่าเดิม เทคนิคการรวมคลื่นความถี่หลายย่านในการส่งข้อมูลครั้งเดียว (carrier aggregation) เริ่มถูกนำมาใช้ในวงกว้าง โดยเฉพาะใน LTE Advanced ที่จะมาถึงเราในไม่ช้า

ดังนั้น ในภาพใหญ่แล้ว โอเปอเรเตอร์ย่อมต้องการสะสมคลื่นความถี่ในมือให้มากไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันในระยะยาวที่ได้เปรียบคู่แข่ง ตราบเท่าที่กำลังเงินในมือจะอำนวย

ลำดับของการประมูลคลื่นในอนาคตที่มองเห็น

เมื่อเข้าใจภาพใหญ่เรื่องการสะสมคลื่นในมือให้มากแล้ว ในรายละเอียด เราต้องมาดูกันว่าแผนการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ในอนาคตระยะที่มองเห็นนั้นเป็นเช่นไร

ตามกำหนดของ กสทช. ปี 2558 จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 2 ครั้งคือ 1800MHz ของ True/DPC เดิม (ครั้งนี้) และ 900MHz ของ AIS 2G เดิมในเดือนธันวาคม จากนั้นจะมีคลื่นสัมปทาน 2G ล็อตสุดท้ายคือ ย่าน 850MHz/1800MHz ของ dtac ที่จะหมดสัมปทานในปี 2561 ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ประมูลเมื่อไร (2561 บวกลบเล็กน้อย)

คลื่นย่านอื่นที่เหลืออยู่ในการครอบครองของหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เช่น TOT, CAT, MCOT รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ค่อยอยากส่งคลื่นคืนกลับ กสทช. เพื่อจัดสรรใหม่สักเท่าไรนัก ในทางปฏิบัติแล้ว เราจึงอาจถือได้ว่าคลื่นที่ว่างและรอนำมาจัดสรรใหม่ จึงมีแค่คลื่น 3 ย่านในย่อหน้าก่อนหน้านี้

การประมูลคือความเสี่ยง การจัดประมูลคือความเสี่ยงยิ่งกว่า

ประวัติการจัดประมูลของ กสทช. ที่ผ่านมาก็มีความไม่แน่นอนอยู่หลายครั้งด้วยปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การประมูล 2100MHz ของ กทช. ที่ถูกล้มประมูลไป, การประมูลคลื่น 1800MHz (รอบนี้) ที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากตัว กสทช. เองและคำสั่งเลื่อนของ คสช. หลังการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้ภาคเอกชนมีความเสี่ยงในการปล่อยให้คลื่นภายใต้สัมปทานเดิมหมดอายุ และไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีสิทธิใช้คลื่นย่านใหม่อีก "เมื่อไร"

เพราะถ้าหากคลื่นเดิมของตัวเองหมดอายุ และไม่สามารถหาคลื่นอื่นมาทดแทนได้ล่วงหน้า นั่นอาจหมายถึงโอเปอเรเตอร์รายนั้นต้องออกจากธุรกิจนี้ไปเลยด้วยซ้ำ การซื้อกิจการ Hutch ของ True เมื่อหลายปีก่อน เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะคลื่น 1800MHz ของ True ใกล้หมดอายุ และตอนนั้นไม่สามารถการันตีได้ว่าการประมูล 2100MHz จะเกิดขึ้นเมื่อไร

การประมูลครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน โอเปอเรเตอร์ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคลื่น 1800MHz ชุดนี้จะได้ประมูลหรือไม่ (เพราะก่อนวันประมูลก็มีสหภาพของรัฐวิสาหกิจยื่นฟ้องศาลปกครอง แม้สุดท้ายศาลจะไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว) แถมการประมูลรอบถัดไปคือ 900MHz ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ประมูล ถ้าพิจารณาจากข่าวที่รัฐบาลเตรียม "เช็คบิล" AIS ในฐานะคู่สัมปทานเดิมของ TOT

ทางออกที่ปลอดภัยที่สุดย่อมเป็นการคว้าคลื่นที่มองเห็นและจับต้องได้ให้อุ่นใจไว้ก่อน ดีกว่าไปหวังน้ำบ่อหน้าที่ไม่รู้ว่าจะถูกเลื่อนอีกหรือไม่ ผมเชื่อว่าปัจจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การประมูลรอบนี้เกิดการแข่งขันสูงมาก

No Description

ผลการประมูล

เราทราบกันแล้วว่า ผลการประมูลจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม AIS และ True โดยมียอดตัวเลขดังนี้ (เรียงจากมากไปน้อย)

  • AIS 40,986 ล้านบาท (ชนะสล็อต 2)
  • True 39,792 ล้านบาท (ชนะสล็อต 1)
  • Jas 38,966 ล้านบาท
  • Dtac 17,504 ล้านบาท

ตัวเลขนี้สามารถวิเคราะห์แนวทางการประมูลได้คร่าวๆ ดังนี้

AIS - หลังชนฝา ยังไงก็ต้องชนะ

AIS เป็นเบอร์หนึ่งของวงการโทรศัพท์มือถือไทยมายาวนาน เหตุผลสำคัญเป็นเพราะบุกเข้ามายังตลาดนี้เป็นรายแรก ภายใต้สัมปทานคลื่น 900MHz กับ TOT

อย่างไรก็ตาม ปี 2558 นี้เป็นปีที่สัมปทานดั้งเดิมของ AIS หมดลง ส่งผลให้ AIS มีคลื่นในครอบครองเพียงย่านเดียวคือ 2100MHz ที่ชนะการประมูลมาในรอบก่อน คลื่นชุดนี้มีความกว้างเพียง 15MHz ย่อมไม่เพียงพอสำหรับการให้บริการลูกค้า AIS จำนวน 37 ล้านเลขหมาย

AIS ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องชนะการประมูล เพื่อถือครองคลื่นความถี่ชุดที่สองให้จงได้ เพราะความเสียหายจากการแพ้ประมูลย่อมรุนแรงกว่าราคาประมูลมาก

True - เดินหน้าสะสมความถี่

ปัจจุบันกลุ่ม True มีคลื่นในมืออยู่ 2 ย่านคือ 2100MHz จากการประมูล และ 850MHz จากการซื้อกิจการ Hutch และเซ็นสัญญาร่วมการงานกับ CAT แถมยังมีอายุคลื่นทั้งสองชุดเหลืออีกนาน ถ้าเทียบสถานการณ์แล้ว True ถือว่า "ชิว" ที่สุดในบรรดาผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย

แต่อย่างที่บอกไปว่าการสะสมความถี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโอเปอเรเตอร์ยุคถัดไป อีกทั้งคลื่น 1800MHz เป็นคลื่นชุดเดิมที่ True เคยใช้งาน (กับบริการ 2G หรือ Orange เดิม) การที่ True จะเดินหน้าลุย สู้ราคาประมูลจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก แถมฐานะทางการเงินของบริษัทก็ดีขึ้นมาก หลังจากได้ China Telecom เข้ามาถือหุ้น และจัดทัพภายในของตัวเองใหม่ โดยตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน True GIF ที่ระดมทุนมาได้พอสมควร

Jas - น้องใหม่ไฟแรงเฟร่อ

กลุ่มจัสมิน (Jas) เป็นหน้าใหม่ของวงการโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นหน้าเก่าของวงการโทรคมนาคมไทย ตั้งแต่บริการโทรศัพท์บ้าน TT&T, บริการบรอดแบนด์ 3BB และเจ้าของคนเดียวกันยังขยายมาทำธุรกิจสื่อ (Mono) ด้วย การขยับมาทำบริการโทรศัพท์มือถือจึงเป็นส่วนต่อขยายโดยธรรมชาติของ Jas และที่ผ่านมาบริษัทก็ออกตัวชัดเจนว่าต้องการประมูลคลื่นมาทำ 4G ให้จงได้

ถึงแม้ Jas จะไม่ชนะการประมูล แต่ราคาประมูลที่แพ้แบบฉิวเฉียด (38,966 ล้านบาท) ก็เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า Jas เนี่ยแหละเป็นตัวป่วนสนาม ส่งผลให้การแข่งขันดุเดือดได้ขนาดนี้ และแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของ Jas ที่ต้องการขยายไลน์บริการของตัวเอง ไม่ได้แค่สักแต่โม้เพียงอย่างเดียว

Dtac - ยังพอยิ้มได้ แม้หมอบไพ่ก่อน

สิ่งที่หลายคนแปลกใจคงเป็น Dtac เบอร์สองของวงการมือถือไทย ที่หยุดประมูลตั้งแต่ราคา 1.7 หมื่นล้านบาท (และนั่งเล่นรอในห้องอีกข้ามวัน) คลื่นในมือของ Dtac มีย่าน 2100MHz จากการประมูล และย่าน 850MHz/1800MHz อีกชุดที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561

การที่ Dtac ทิ้งไพ่ ไม่ยอมทุ่มเงินเพื่อชิงคลื่น 1800MHz ชุดนี้มาครอง จึงพอเข้าใจได้เช่นกันว่าอยู่ในสภาพไม่ได้ไม่เสียอะไร และในแง่ของการเงินอาจดีด้วยซ้ำที่ไม่ต้องประมูลคลื่นแพง เพราะ Dtac ยังมีเวลาหายใจไปอีกราว 3 ปีก่อนคลื่นของตัวเองจะหมดอายุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลานั้นมาถึง Dtac จะมีสภาพคล้ายกับ AIS ในการประมูลรอบนี้ คือหลังชนฝาไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องทุ่มสุดตัวเอาคลื่นมาให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาคือการประมูลคลื่น 900MHz ในเดือนธันวาคม ที่ Dtac น่าจะเอาจริงมากขึ้นกว่ารอบนี้

ก้าวต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นในการประมูลคลื่น 900MHz

เหตุการณ์ช็อตต่อไปที่ต่อเนื่องกับการประมูลคลื่น 1800MHz รอบนี้ คือคลื่น 900MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม โดยมีรูปแบบคล้ายกันคือประมูล 2 ใบอนุญาต (ช่วงกว้างคลื่น 10MHz ต่อใบอนุญาต) ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 รายจะเหมือนกับการประมูลรอบนี้

ฉากทัศน์ (scenario) ที่เป็นไปได้มี 2 แนวทาง

  • การแข่งขันลดความรุนแรงลง เนื่องจาก AIS และ True ได้คลื่น 1800MHz ไปแล้ว ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการไม่มีคลื่นสะสมในมือ และสองรายข้างต้นใช้เงินกับการประมูล 1800MHz ไปมากพอสมควรแล้ว
  • การแข่งขันรุนแรงเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายยังต้องการสะสมคลื่นเหมือนเดิม

คำตอบคงขึ้นกับสภาพการแข่งขันของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 4 ราย แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าสภาพการณ์จะคล้ายการประมูลครั้งนี้ (แต่อาจลดความเข้มข้นลงมาเล็กน้อย) นั่นคือ AIS จะเอาคลื่นเพิ่มอีก (ยิ่งเป็น 900MHz เดิมที่ตัวเองเคยใช้งาน) ส่วน Jas จะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วถ้าต้องการเข้าสู่ตลาด 4G ในปีนี้ (เพราะไม่รู้ว่าประมูลงวดหน้าเมื่อไร) แถมเรายังเห็น "หน้าตัก" ของ Jas แล้วว่าสามารถทุ่มได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในการประมูลงวดหน้า Jas น่าจะสู้ไม่ถอยอย่างแน่นอน

ส่วนกรณีของ Dtac จะรับความกดดันสูงขึ้น เพราะพลาด 1800MHz มาแล้ว เพื่อความปลอดภัยควรครอง 900MHz ให้ได้สักใบ จะดีกว่าการมีแค่คลื่น 2100MHz แล้วไปรอคลื่น 1800MHz ของตัวเองหมดอายุสัมปทาน สุดท้ายคือ True ดูจะสบายใจที่สุด เพราะมีคลื่นในมือแล้ว 3 ย่าน (850/1800/2100) ถ้าได้ 900MHz มาอีกก็จะยิ่งแข็งแกร่ง แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เสียหายอะไรมาก

ราคาประมูลแพง ค่าบริการจะแพงด้วยหรือไม่?

คำถามอีกข้อที่คนถามกันมากคือโอเปอเรเตอร์แข่งกันกดราคาคลื่นจนแพงกว่าที่คาดมาก ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

ถ้าใช้ทฤษฎีการแข่งขันมาอธิบาย ต้องบอกว่าค่าบริการจะถูกหรือแพง ขึ้นกับสภาพการแข่งขันในตลาด (competition) เป็นหลัก ต่อให้ประมูลคลื่นมาแพง แต่ถ้าสภาพการแข่งขันสูง ราคาจะลดลงมาเองโดยธรรมชาติ ในทางกลับกัน ต่อให้คลื่นถูกประมูลได้ในราคาถูก แต่ถ้าสภาพการแข่งขันน้อย บริษัทก็จะรวมหัวกัน "ฮั้วค่าบริการ" แบบอ่อนๆ เพื่อกินส่วนต่างกำไรที่ดีกว่า

ดังนั้นถ้าหากว่า Jas เกิดชนะการประมูล 900MHz ขึ้นมา และส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ไทยเพิ่มจาก 3 เป็น 4 ราย สภาพการแข่งขันในตลาดย่อมเยอะขึ้นไปด้วย แต่ถ้า Jas แพ้ประมูลอีก สภาพการแข่งขันก็จะเหมือนเดิม (ในแง่นี้ก็ควรเชียร์ให้ Jas ชนะประมูลนะครับ เพื่อการแข่งขันที่มากขึ้น)

นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้บริการโทรศัพท์บนคลื่นชุดเดียว (เช่น True ให้บริการ 3G บนคลื่น 850MHz และ 4G บนคลื่น 2100MHz) ซึ่งคลื่นแต่ละย่านมีที่มาที่ไป มีต้นทุนแตกต่างกัน การคิดมูลค่าการประมูลคลื่นย่านเดียวกับแพ็กเกจค่าบริการทั้งหมด อาจไม่ถูกต้องนัก และในทางปฏิบัติแล้ว ค่าคลื่นเป็นแค่ต้นทุนส่วนหนึ่งของโอเปอเรเตอร์เท่านั้น ยังมีต้นทุนค่าดำเนินการ (operating cost) มาเป็นปัจจัยร่วมด้วยเช่นกัน

ส่วนการประมูลคลื่นในราคาแพง จะส่งผลต่อกำไรของบริษัทและปันผลที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่ อันนี้คงเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่จะประเมินความเสี่ยงในการลงทุนของตัวเองครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: iStyle
ContributoriPhoneAndroidSymbian
on 12 November 2015 - 21:29 #860719
iStyle's picture

บทความมาไวมากครับ O_o!


May the Force Close be with you. || @nuttyi

By: หน่อย SNC
ContributorAndroid
on 12 November 2015 - 21:30 #860720

สุดยอด ขอบคุณครับ :)

By: 255BB
Android
on 12 November 2015 - 21:31 #860721

ขอบคุณสำหรับบทความครับ เข้าใจขึ้นเยอะ ส่วนตัวใช้ทรูมูฟก็พอใจกับความเร็วนะ ที่อยู่อาศัยก็มีสัญญาณ 4G 2100MHz แต่ยังไม่แรงเท่าไร ประมาณ 3-4 ขีดจาก 5 ขีด

By: modeQ
WriterIn Love
on 12 November 2015 - 21:35 #860723

วิเคราะห์ได้เห็นภาพครับ


Writer no.59 เพื่อสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้

By: bucks on 12 November 2015 - 21:39 #860724

ผมว่า Jas กับ DTAC อาจได้เปรียบมากขึ้นนะครับ ลดหน้าตักของสองเจ้าได้ไปเยอะเลย

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 12 November 2015 - 21:44 #860726

เก็งผลประมูลคลื่น 900 MHz เดือนหน้า

  • AIS เอาชัวร์ อยู่ในสภาพเดิม เคาะเท่าไหร่สู้เท่านั้น ทุนยังหนาอยู่ (ดูจากผลประกอบการย้อนหลังได้)
  • ที่แข่งกันดุเดือดน่าจะเป็นผู้แพ้จากครั้งนี้คือ JAS+DTAC โดยมี True คอยป่วนตลาดให้ราคาสูงพอควร สุดท้ายน่าจะได้ DTAC
By: weapon
AndroidUbuntu
on 13 November 2015 - 00:19 #860780 Reply to:860726
weapon's picture

เห็นด้วย คนที่ไม่ได้รอบนี้ รอบหน้ามีสิทธิแหลก แถมมี AIS กะ True เป็นตัวป่วน ได้ก็เอา ไม่ได้ก็เกทับเพื่อน ให้เพื่อนไม่ได้มาง่ายๆ คลื่น 900 รอบหน้าแพงกว่านี้ครับ

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 12 November 2015 - 21:49 #860727
panurat2000's picture

ไม่ได้สนใจจังหวัการประมูลแต่ละขั้นตอนนะครับ

จังหวัการประมูล => จังหวะการประมูล

By: jinnavat on 12 November 2015 - 21:58 #860731

ผมดูรายการ แบไต๋ online ดูเหมือนDtac แค่มาประมูล กันJAS มากกว่า เพราะ DTAC มีคลื่นความถี่1800 อยู่แล้ว
1.AIS ต้องการคลื่นนี้มากสุด เพราะปัจจุบัน มีคลื่นความถี่2100 อย่างเดียวเเละกำลังเต็มความถี่ เลยต้องได้เท่านั้น เพื่อจะได้มีคลื่นความถี่4G ซะที
2.True ประมูลเพราะต้องการคลื่นเพิ่ม แต่แท้จริงแล้ว อาจประมูล เพื่อป้องกัน JACได้ จะได้ไม่มีคู่แข่งด้านการตลาด
3.DTAC ประมูลเพื่อป้องกันJAC ได้ กับมาเพื่อให้มูลสูงขึ้น
4.JAC บริษัทแม่ของ 3BB ต้องการคลื่น1800เพราะจะได้ เข้ามาแข่งด้านการบริการ4G แต่สู้ไม่ไหว

ปล.ตามความคิดผมนะ

By: KuroNeko_Hiki
AndroidUbuntuWindows
on 12 November 2015 - 22:08 #860734
KuroNeko_Hiki's picture

JAS จะตั้งเสาเองหรือยังไง

แข่งประมูล 4G แต่หลายๆเจ้าก็ให้บริการ 3G 64k อยู่เลย

กสทชก็ไม่ทำอะไร

"ผู้บริโภคเสียประโยชน์ รัฐไม่ได้เสียประโยชน์นี่หว่า" เพื่อนบอก...

By: obnetarena
Windows PhoneWindows
on 12 November 2015 - 22:39 #860751 Reply to:860734

ใช้เกินปริมาณที่กำหนด ถูกจำกัดความเร็ว ก็ถูกแล้วนะครับ ไม่งั้น คนใช้น้อยจะต้องมาจ่ายแพงเท่าคนใช้เยอะซึ่งมันจะไม่แฟร์

By: WoodyWutthichai
iPhoneAndroidRed HatSUSE
on 13 November 2015 - 10:23 #860864 Reply to:860751

ใช้เยอะถูกจำกัดความเร็วถูกแล้วครับ
แต่ Package 3G ควรจำกัดที่ 384k ครับ

By: pongkantaphon
ContributoriPhoneUbuntu
on 13 November 2015 - 09:10 #860826 Reply to:860734
pongkantaphon's picture

เสาส่งสัญญาณผมเข้าใจว่ามันแชร์กันได้นะครับ อย่างล่าสุด DTAC เองก็เพิ่งจับมือกับ AIS ในการใช้เสาส่งร่วมกัน ฉะนั้นจึงดูไม่ใข่ปัญหาสำหรับ JAS เองนะผมว่า

ส่วนเรื่อง FUP ถ้ามองในตลาดโลกมันเป็นเรื่องปกตินะผมว่า เพราะแต่ล่ะเจ้าเองก็มีฐานลูกค้ามากอยู่แล้ว ครั้นจะไม่มี FUP มาคุมคงจะส่งผลเสียกับ BW และลูกค้าโดยร่วมมากกว่า


COBOL !!

By: Apocalypse99
Android
on 12 November 2015 - 22:10 #860735

Dtac ยังมีคลื่น 850 อยู่ด้วยนะ

By: Go-Kung
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 12 November 2015 - 22:16 #860737

ผมคิดว่ารอบหน้า (900 Mhz) Jas สู้ไม่ถอยแน่ๆครับ

เพราะนี่เป็นจังหวะดีที่สุดในการก้าวเข้าวงการมือถือของ Jas ถ้าเข้าตอนนี้ไม่ได้ก็ต้องรออีก 3 ปี ซึ่งส่วนตัวผมว่านานเกินไปครับ
สาเหตุเพราะ Jas ตอนนี้มีแต่โครงข่ายแบบสาย (3BB) ซึ่ง Mobile Broadband กำลังรุกกินตลาดส่วนนี้เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน
ถ้า Jas ไม่กระโดดเข้าวงการตอนนี้ Jas จะเติบโตยากขึ้นอีกมาก

ถ้าลองมองดูคู่แข่งในแวดวง Telecom เทียบกับ Jas
AIS - อันดับ 1 มือถือ, เพิ่งเริ่มเนทบ้าน, Wifi มีปานกลาง
True - อันดับ 1 เนทบ้าน, อันดับ 3 มือถือแต่กินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ, Wifi มีเยอะมาก
DTAC - อันดับ 2 มือถือ, ไม่มีเนทบ้าน, Wifi มีปานกลาง แต่ทั้งหมดอยู่ในฝั่งไร้สาย
Jas - อันดับ 2 เนทบ้าน, มือถือไม่มี, Wifi มีนิดหน่อย แต่ธุรกิจหลักติดอยู่ในฝั่งมีสาย
TOT/CAT - ขอข้ามครับ ถือว่าไม่สามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้แล้ว

จะเห็นว่า Jas มีเค้าลางไม่ดีที่สุด ยิ่ง Mobile Broadband สามารถทดแทนอินเตอร์เนทบ้าน (ในการใช้งานระดับปกติคือ Surf Web, Social, IM ไม่เน้นโหลด Content ปริมาณมหาศาล) ได้มากขึ้นเท่าไร Jas จะยิ่งย่ำแย่ลงเท่านั้นครับ

นี่คงเป็นเหตุผลที่ Jas สู้สุดใจเหมือนกินดีหมีมาจากไหนในการประมูลครั้งนี้

By: kasemsakk
ContributorAndroidSymbianWindows
on 12 November 2015 - 23:27 #860768 Reply to:860737
kasemsakk's picture

ถ้าบอกว่า AIS กับ dtac มีไวไฟปานกลางนี่

JAS ต้องเรียกว่ามีเยอะ(มากก็ว่าได้)นะฮะ เพราะ 3BB WiFi ก็เคลมว่าตัวเองมีจุดบริการ 80,000 จุด ไหนจะที่ AIS กับ dtac มาร่วมอีก...

By: xxa
Android
on 13 November 2015 - 08:59 #860821 Reply to:860768

หมายเหตุ 3BB Wifi คาดหวังว่าใช้ได้จริงแค่ 10% เท่านั้น จากที่ลองใช้มาตลอด ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้า AIS Fibre เลยไม่ได้แถม 3BB Wifi

By: Go-Kung
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 13 November 2015 - 09:41 #860842 Reply to:860768

จากที่พยายามหาใช้ (เพราะใช้เนท 3BB แล้วได้สิทธิ์ Wifi ด้วย)
พบว่าสแกนเจอน้อยกว่า AIS หรือ DTAC Wifi เสียอีกครับ โดยเฉพาะตามศูนย์การค้าหรือแหล่งชุมชนต่างๆ

By: windoc
AndroidUbuntuWindows
on 13 November 2015 - 12:30 #860907 Reply to:860842

3BB จะมีเสาอยู่ แฟมิรี่มาร์ค ในห้างไม่มีแต่จะมีตามถนนหนทางครับ เท่าที่เดินทางไปตรวจสอบไปจะเจอ True และ 3BB ที่ต่างจังหวัดตามเมืองใหญ่ๆ จะเจอ 3BB มากว่าให้ลองตรวจสอบจุกต่างๆที่เว็บมีบอกหมด

By: songwut on 13 November 2015 - 00:23 #860782 Reply to:860737

Jas เป็นเจ้าแรกที่ให้ความเน็ตเน็ตบ้าน 10Mbps
ทั้งๆ ที่ True เพิ่งออกตัวอยู่หยกๆ ว่า แบกต้นทุนเยอะ ลดราคากว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

By: OXYGEN2
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 12 November 2015 - 22:18 #860738
OXYGEN2's picture

วิเคราะห์มาเร็วมากๆ ครับ


oxygen2.me, panithi's blog

Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6

By: watana-design
ContributoriPhone
on 12 November 2015 - 22:24 #860742
watana-design's picture

ขอบคุณบทความวิเคราะห์การประมูลคลื่น 1800MHz ครับ
อย่างแรกผมไม่นึกเลยว่า Jas จะมาแรกแบบนี้
ส่วน Dtac คงต้องรอลุ้นรอบหน้ากับคลื่นที่ตนเองได้ครอบครองอยู่ว่าจะทุ่มไหวมั้ย เป็นกำลังใจให้ครับ


รับทำเว็บไซต์ ออกแบบเว็บไซต์

By: kiva
iPhone
on 12 November 2015 - 22:25 #860745

ประมูลคราวที่ก็ถูกมาก แต่ค่าบริการก็ไม่ได้ถูกลง หนำซ้ำกสทช.ยังรับรองให้อีกว่าถูกกว่า2G

By: ash_to_ash
AndroidWindows
on 12 November 2015 - 23:19 #860763 Reply to:860745

มันถูกเฉพาะโปรแพงไงครับ
เหมือนที่บ้านพ่อผมเลือกโปรไอโฟน
539 หรือ 559 บาทนี่หละครับ 600 นาที เน็ท 2 จิ๊ก fup 128
ผูกสัญญา 2 ปี
ลองเอาโปรฯ ประมาณนี้มาคิดสิครับตรงตามเงื่อนไขเป๊ะ
ไม่ก็โปรสูงๆ 999 บาท
โทรไปสิครับ 1200 นาที เน็ท 5 จิ๊ก fup 256
เพราะ กสทช.ไม่ได้ระบุนี่ครับว่าโปรฯมันต้องอะไรยังไง
แต่ละค่ายเวลาชี้แจงเอาโปรฯอย่างงี้มาเสนอมันก็ถูกกว่าแบบมากๆๆ
แต่เวลาที่ผู้บิรโภคดูเค้าดูกันคือโปรฯ
399 บาท 100 นาที 500 mb fup 64
ซึ่งมันก็ราคาคงเดิมเหมือนก่อนประมูล

By: Diaboros_Sorobaid
Windows PhoneAndroidWindows
on 12 November 2015 - 22:26 #860746
Diaboros_Sorobaid's picture

ว่าทำไมหุ้นตก ราคาประมูลสูงขนาดนั้นถ้าใจไม่แข็งพอคงต้องขาย

By: Sephanov
iPhoneUbuntu
on 12 November 2015 - 22:29 #860747
Sephanov's picture

เปิด 4G ไวๆเถอะ AIS
ขอโปรดีๆด้วย

By: nhongcm77 on 12 November 2015 - 23:20 #860764

คราวนี้ล่ะ Pack 4G AIS กับ True จะแพงจนสู้ Dtac ไม่ได้ แล้วก็พากันย้ายค่ายมา ทำให้มีเงินมหาศาลไปจ่ายค่าประมูล 900MHz ได้สบาย

By: polaromonas
ContributorWindows PhoneWindows
on 12 November 2015 - 23:35 #860773 Reply to:860764

ผมว่ายากครับ ผมเห็นด้วยกับคุณมาร์ค ราคาแพคเกจ 4G มันก็ขึ้นอยู่กับตลาด ถ้า DTAC แพคเกจถูกกว่ามากๆ อีกสองค่ายก็ต้องลดราคาตัวเองอยู่แล้ว

By: deargerous
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 13 November 2015 - 05:12 #860789 Reply to:860764
deargerous's picture

ค่าสัมปทานที่ DTAC ต้องจ่ายให้ CAT คลื่น 1800 ปีละเป็นหมื่นกว่าล้านนะครับ

By: NewweN
iPhoneWindows PhoneAndroidUbuntu
on 12 November 2015 - 23:24 #860766
NewweN's picture

ตอนนี้ถือคลื่นกันประมาณนี้ป่ะครับ (ผิดตรงไหน รบกวนแก้ไขให้หน่อยค้าบบบ)

ต้นฉบับจากท่าน magnamonkun

AIS
- 2100/15 MHz (6/Dec/2027)
- 1800/15 MHz (2032)

DTAC
- 1800/45 MHz (ว่าง 20/4G 10/2G 15) (2018)
- 850/15 MHz (2018)
- 2100 MHz (6/Dec/2027)

TrueMove H
- 850/15 MHz (Jul/2026)
- 2100/15 MHz (BMA 3G 5/4G 10; Upcountry 3G 10/4G 5) (6/Dec/2027)
- 1800/15 MHz (2032)

ไฮไลต์..!!
TOT
- 1900/15 MHz (ว่าง) (Owner)
- 2100/15 MHz (Aug/2025)
- 2300/64 MHz (ว่าง 4/Broadband LTE 60) (Owner; Aug/2025)

CAT
- ไม่มี -

MCOT
- 2600/144 MHz (ว่าง) (Owner) (คืนให้กสทช. จัดสรรปี 2016)

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 12 November 2015 - 23:52 #860776 Reply to:860766

TOT 1900 คือ pair ของ 2100 ที่ทำ TOT 3G อยู่ครับ

By: NewweN
iPhoneWindows PhoneAndroidUbuntu
on 13 November 2015 - 09:47 #860845 Reply to:860776
NewweN's picture

ยังไงอ่ะครับ
ผมไม่เข้าใจอ่ะ

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 13 November 2015 - 10:50 #860870 Reply to:860845

คลื่นสำหรับการสื่อสารสองทางส่วนใหญ่มันเป็นแบบ FDD ครับ คือแยกความถี่ขารับ (uplink) กับขาส่ง (downlink) ออกจากกัน --- มองจากเสานะครับ

คลื่น 2100 ที่บอกเนี่ย ตัว 2100 เป็นขาส่ง จากเสา ส่งหามือถือ ส่วนตอนมือถือส่งกลับหาเสาจะใช้ความถี่ย่าน 1900 ครับ ดูรูปจากทวีตนี้ ประกอบได้

จะเห็นว่าคู่ความถี่ของ 2100 คือ 1900 โดยห่างกัน 190 MHz (ช่อง 2110 MHz ใช้ความถี่คู่ที่ 1920 MHz)

By: orenz001 on 13 November 2015 - 01:12 #860787 Reply to:860766
orenz001's picture

ยังเหลือคลื่น 2600 ไว้ประมูล​อีก ถ้าได้ประมูลปีหน้าจะสบายดีแทคเลย ไม่ต้องเสี่ยงไปสู้ตายเอาคลื่นเดิมปี 61 แถมคลื่นเยอะขนาดแบ่งกันไปเจ้าละ 35MHz ได้สบายๆ

By: time3957
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 13 November 2015 - 09:03 #860823 Reply to:860766

แล้ว MY 3G 850 แหละครับ

By: kamthorn
ContributorAndroidUbuntu
on 13 November 2015 - 11:35 #860891 Reply to:860766

850MHz เป็นของ CAT ครับ True แค่แบ่งเช่า MVNO ยังมีเหลือๆ ทำ My by CAT


--

By: loptar on 13 November 2015 - 14:10 #860929 Reply to:860766
loptar's picture

ชอบไฮไลท์มากเลยครับ มีอยู่แต่ไม่ทำอะไร ตดไปวันๆ เฮ้อ

By: wiizing on 12 November 2015 - 23:38 #860774

ส่วนตัวคิดว่า Jas เข้ามาปั่นราคาเฉยๆฮะ คงมีเพดานของรอบนี้อยู่ในใจแล้ว ได้ 1800 ก็ดีไม่ได้ก็ปล่อยไป ถือว่าตัดทุนสองค่ายก่อนไปเทหมดหน้าตักจริงตอน 900 หน้าตักจริงๆคงมากกว่านี้เยอะ
ที่คิดว่าเล็ง 900 อยู่เพราะตลาดมือถือไทยยังเปลี่ยนผ่านไม่สมบูรณ์ บริมาณเครื่องที่รองรับ 4G ยังไม่แพร่หลายมาก จะเปิดค่ายทั้งทีจะโฆษณาว่าค่ายนี่มีแต่ 4G ให้ใช้ก็ใช่เรื่อง ยุคนี้จะเอา 1800 ไปเปิด 3G ก็เสียของ ยังไงตลาด 3G ก็ใหญ่กว่าอยู่แล้ว(ตอนนี้นะ) เล็ง 900 เป็นหลักไม่ใช่เรื่องแปลก
รอบ 900 ก็คงเชียร์ JAS กับ DTAC ตลาดเกิดการแข่งขันกำไลก็ตกอยู่ที่ผู้ใช้ :)

By: Eddz on 13 November 2015 - 00:25 #860783
Eddz's picture

รอบ 900MHz ขอเชียร์ JAS ให้ชนะ

ผู้บริโภคได้ประโยชน์เพราะผู้แข่งขันมากขึ้น

JAS ได้ประโยชน์เพราะคลื่น 900MHz ขยายโครงข่ายได้ง่ายกว่า ปักเสาน้อยกว่า
ช่วงแรกลูกค้าไม่เยอะ 10MHz น่าจะเพียงพอใน 3 ปีแรกในการเข้ามาในธุรกิจไร้สาย

ผิดถูกยังไงช่วยบอกด้ววยนะ

By: orenz001 on 13 November 2015 - 00:57 #860784
orenz001's picture

ดีแทคมี 850 ด้วยครับ ปี 61 คงไม่ถึงกับหลังพิงฝา ส่วนคลื่น 900 ก็น่าจะประคองตัว แพงมากก็ไม่เอาเพราะจ่ายปันผลไปเยอะเหมือนไม่เอาอะไรแล้ว 3 ปีหน้าก็คงสะสมพลังเงินไว้ประมูลคลื่นเดิม ถ้าตอนนั้นมีใครสู้อาจต้องหมดตัวกันไปข้างนึง

พอผลออกมาแบบนี้ true คงถอยไม่กล้าบ้าเลือดแบบครั้งนี้ ก็จะมี ais กับ jas เคาะราคากันชิวๆ อาจไม่ข้ามวันข้ามคืนแบบครั้งนี้ เพราะทุกค่ายเปิดไพ่ของตัวเองให้ดูกันหมดแล้ว

By: mk
FounderAndroid
on 13 November 2015 - 07:51 #860796 Reply to:860784
mk's picture

850 ของ Dtac นี่ผมจัดชุดรวมกับ 1800 ครับ (สัมปทานหมดพร้อมกัน) แต่แก้ไขในเนื้อบทความให้ชัดเจนขึ้นแล้วครับ

By: warinn
iPhoneAndroid
on 13 November 2015 - 06:36 #860790

900 น่าจะเหลือ lot เดียว อีก lot เก็บไว้ไม่ประมูลได้ไหม หรือไม่ก็เลื่อนไปก่อน

ไม่เห็นต้องมาปล่อยให้หมดในเมื่ออยากได้จริงๆ 1-2 เจ้า

By: nessuchan
iPhoneAndroidWindows
on 13 November 2015 - 09:33 #860836 Reply to:860790
nessuchan's picture

เก็บไว้ประมูลทีหลังอาจจะได้เงินเยอะกว่าก็จริงนะครับแต่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติครับ เงินที่ได้เพิ่มขึ้นก็เข้ารัฐก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มรึเปล่ากับการที่ชาติต้องเสียผลประโยชน์ไป

By: pit
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 13 November 2015 - 07:06 #860792

ส่วนตัวคิดว่าถ้า 900 ไม่จำกัด 1 ราย 1 ใบ น่าจะได้เห็นอะไรสนุก ๆ อีกนะฮะ.

By: john dick
iPhone
on 13 November 2015 - 07:37 #860794
john dick's picture

ราคาประมูลถูกเกินไปนะ ปีเดียวก็คงคืนทุนแล้ว

By: YF-01
AndroidUbuntu
on 13 November 2015 - 09:16 #860829

รอบหน้า AIS ก็คงทุ่มอีกนั่นแหละ จนถึงตอนนี้ยังมองเพดานไม่ออกด้วย
ทรูคงพอแค่นี้แล้ว นี่ก็มีเหลือเฟือแล้ว
JAS เปิดไพ่มาแล้วว่าเพดานเกือบสี่หมื่นล้าน
DTAC น่าจะยังหงายไพ่ไม่ครบ เพราะถ้าเพดานเท่านี้รอบหน้าอดแน่

ผมมองว่าตัวแปรรอบหน้าคือ DTAC ครับ ถ้ากล้าทุ่มก็คงแข่งกันสนุกเหมือนเดิม

By: loptar on 13 November 2015 - 14:14 #860930 Reply to:860829
loptar's picture

รอบหน้าผมว่า JAS คงเน้นๆ เอาให้ได้ รองลงมาก็ DTAC
AIS คงตอดๆ แบบแรงหน่อย ส่วน TRUE ก็คงเข้ามาป่วนราคาเฉยๆ

By: the mee
iPhoneAndroidWindows
on 14 November 2015 - 22:34 #861194 Reply to:860829

ผมว่า งวด 900 MHz นี้ AIS คงสู้ไม่น่าพลาด
True เข้ามาปั่นราคาถ้าไม่แพงนักก็เอากั๊กท่าคนอื่น ถ้าแพงก็ปั่นให้ราคาสูงๆๆคนที่ได้ไปก็เหนื่อยอยู่ดี
Dtac คงตั่งใจเอากว่า True หน่อย แต่ไม่มากเท่า AIS
JAS มีเท่าไรใส่ให้หมด ไม่น่าพลาด

By: alph501
iPhoneWindowsIn Love
on 13 November 2015 - 09:16 #860830
alph501's picture

ถ้า เป็น AIS ที่แพ้รอบแรก ผมว่าความมันจะเริ่มที่ยก สอง
ค่ายไหนไม่รู้เน้น รายได้เข้ารัฐฯครับ เผื่อจะเอาเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบ้าง

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 13 November 2015 - 11:02 #860873
btoy's picture

ขอบคุณมากเลยครับ พอจะมองเห็นภาพรวมของตลาดออกละ อยากให้มีเจ้าใหม่เข้ามาเหมือนกัน จะได้เปิดตลาดการแข่งขันให้กว้างขึ้น


..: เรื่อยไป

By: adamy
iPhoneAndroidBlackberryUbuntu
on 13 November 2015 - 12:37 #860910

เสา AIS/DTAC ใช้ร่วมกันได้ เสา JAS ก็จะเข้าร่วมจุดนี้ครับ ส่วน Wifi นั้น JAS มีต่างจังหวัดเยอะ ส่วน DTAC/AIS มี WIFI เยอะในกรุงเทพ ก็ใช้ร่วมกันครับ

แค่ใครถือสิทธิ์มากกว่า แล้วทำราคาแข่งขัน ทำโปรลดแลกแจกแถม แล้วก็ผูกกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ

คนเดียวที่ไม่ได้อยู่ในวงนี้คือ TRUE ครับ ซึ่งก็น่าจะร่วมกันในไม่ช้าเพราะมันจะช่วยลดต้นทุนเสาทั้งประเทศและขยายตัวได้เร็วครับ ตอนท้ายมันก็จะต้องทั่วทั้งประเทศทุกเจ้าอยู่ดี

รอบนี้ประมูลไม่ค่อยเจ็บตัวกันมาก แข่งกันดุเดือดก็จริง แต่รายรับยังเห็นตัวเลขเขียวอยู่ครับ

ตอน 900 ก็น่าจะคล้ายๆกัน แต่ผมว่ารอบนี้จะเป็น DTAC/JAS มากกว่าครับ

ส่วน CAT/TOT ก็งุ๊งงิ๊งต่อไปครับ อะไรมีอยู่ก็เก็บไว้ใช้ครับ ไว้ค่อยว่ากันอีก 20 ปี (ถึงตอนนั้นผู้บริหารชุดปัจจุบันคงอายุมากแล้ว คงไม่ได้ซีเรียสครับ ปล่อยให้เป็นลูกหลาน CAT/TOT แก้ปัญหากันไปครับ)

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

By: moosaTAE
AndroidWindows
on 13 November 2015 - 13:51 #860924 Reply to:860910
moosaTAE's picture

ของทรูมีเสาใน DIF อยู่นี่ครับ JAS อาจจะเช่ากับกองทุนก็ได้ แต่ประเด็นคือต้องมีคลื่นก่อน

By: JackerJack
iPhone
on 13 November 2015 - 13:42 #860921

ขอบคุณครับ บทความอ่านเข้าใจง่ายดีนะ

By: ปลงนะเรา
Android
on 13 November 2015 - 18:00 #860984

รอบหน้าขอแสนล้านนะขอรับ ผมเชียร์ JAS นะ อยากรู้ว่าเข้ามาจะป่วนตลาดได้ขนาดไหน แต่วงการนีัผมว่าเขี้ยวลากดินกันหมด จะไหวหรือ? พักหลังนี้ค่าบริการมันลดลงระดับที่พอใจมากแล้ว เคยรอ 1GB ร้อยเดียวมาหลายปี ตอนนี้โดดไปได้ถูกสุดๆ ได้ตััง 4 GB ไม่รู้เพราะเรื่องแข่งขันเรื่องย้ายค่าย หรือว่าเรื่องประมูลแต่ก็โอสุดๆ ต่างจาก Broadband ราคานิ่งสนิทมาหลายปีแล้ว เลยเป็นห่วงเจ้าใหม่นิดนึง

By: max_k
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 13 November 2015 - 19:59 #860998
max_k's picture

วิเคราะห์ดีมากครับ เสียดายที่ไม่มีส่วนของ CAT และ TOT ว่าาต่อไปจะเป็นยังไง(รอดหรือไม่รอด)

By: mk
FounderAndroid
on 14 November 2015 - 09:01 #861071 Reply to:860998
mk's picture

ไม่มีผลซึ่งกันและกันกับภาคเอกชนเลยครับ

By: chuchatthai
iPhoneWindows PhoneAndroidRed Hat
on 13 November 2015 - 21:00 #861009
chuchatthai's picture

มีเงินทำ single gateway แล้ว

By: aeksael
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 14 November 2015 - 00:39 #861047 Reply to:861009
aeksael's picture

กำ


The Last Wizard Of Century.

By: Pichai_C
Windows PhoneWindows
on 14 November 2015 - 15:22 #861134 Reply to:861009

ครับ

By: jaideejung007
ContributorWindows PhoneWindows
on 14 November 2015 - 08:41 #861069
jaideejung007's picture

เชียรฺ JAS ด้วยครับรอบหน้า

เผื่อมีอะไรดีๆ เข้ามาอีก

ปล. ตอนนี้ใช้ดีแทค

By: Pinyo
AndroidWindows
on 14 November 2015 - 18:54 #861155
Pinyo's picture

เป็นติ่ง AIS แต่รอบหน้าเชียร์น้องมะลิแล้วกัน