Tags:
Node Thumbnail

จากบทความ สตาร์ตอัพไทยจะเติบโตจนเข้าสู่ตลาดหุ้นได้อย่างไร? มุมมองจากนักลงทุน-ผู้ประกอบการ ที่สรุปประเด็นจากงานสัมมนาของ AIS ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ทำให้เราทราบว่าตลาดหลักทรัพย์ mai ก็มีนโยบายสนับสนุนสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการรายย่อยเช่นกัน

หลังจากนั้นผมมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อเจาะลึกข้อมูลในเรื่องนี้ จึงนำมาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจระดมทุนในตลาดทุนครับ

No Description

คุณประพันธ์ เจริญประวัติ (ภาพจาก SET/mai)

แนะนำตลาดหลักทรัพย์ mai

ตลาดหลักทรัพย์ mai (อ่านว่า เอ็ม เอ ไอ) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 หรือเมื่อ 16 ปีก่อน เพื่อเป็นตลาดรองสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่เงื่อนไขยังไม่พอที่จะเข้าไปขายหุ้นในตลาด SET ซึ่งเป็นตลาดหลักของประเทศไทย (ประวัติของ mai)

ปัจจุบัน mai มีบริษัทเข้ามาซื้อขายหุ้นทั้งหมด 116 บริษัท (ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นทุกปี) มีมูลค่าตลาด (market cap) ที่ 3 แสนล้านบาท ถือเป็นตลาดหลักทรัพย์ระดับรองที่โดดเด่นมากในเอเชีย เทียบกับตลาดรองของสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว mai ใหญ่กว่าทั้งในแง่จำนวนบริษัทและมูลค่าตลาด

ช่วงหลังๆ มีบริษัทไทยสนใจเข้ามาขายหุ้น IPO ใน mai มากขึ้นทุกปี โดยปี 2557 มีมากถึง 20 ราย และในปีนี้ก็มี IPO ไปแล้ว 6 ราย

ภารกิจหลักของ mai คือช่วยสนับสนุนให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาด โดยตอนนี้มีบริษัทที่สนใจเข้าจดทะเบียนกว่า 100 บริษัท บริษัทเหล่านี้มีที่ปรึกษาทางการเงินและผู้ตรวจสอบบัญชีแล้ว โดย mai ก็จะช่วยให้คำแนะนำกับบริษัทเหล่านี้ในการเข้ามาขายหุ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ส่วนภารกิจรองของ mai คือการสนับสนุน ecosystem สำหรับธุรกิจขนาดย่อมในเมืองไทย ซึ่งคำว่าธุรกิจขนาดย่อมในที่นี้ อาจครอบคลุมกิจการ 3 แบบ

  1. SME หรือธุรกิจขนาดย่อมในความหมายทั่วๆ ไป
  2. Startup ธุรกิจหน้าใหม่ที่เน้นเทคโนโลยี
  3. Social Enterprise หรือ SE เป็นกิจการเชิงธุรกิจที่มีมิติเชิงสังคมด้วย

No Description

สิ่งที่ mai เตรียมช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup

ตรงนี้จะเหมือนที่คุณประพันธ์อธิบายในบทความก่อน นั่นคือ mai มีแผนงาน 4 ด้าน ได้แก่

  1. สร้างเว็บพอร์ทัล เชื่อมโยงฝั่งผู้ต้องการระดมทุน (demand เงินทุน) กับเจ้าของเงินทุน (supply) เพื่อให้ ecosystem ของการระดมทุนเกิดขึ้นให้ได้ ตรงนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน
  2. ให้ความรู้ เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่เข้าใจกลไกการทำงานของตลาดทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีสถานที่สำหรับจัดอบรมได้ (ตรงคลองเตย ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) เนื้อหามีทั้งการอบรมความรู้สำหรับ SME เช่น บัญชี ภาษี ไปจนถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การจดสิทธิบัตร
  3. จับคู่ธุรกิจ จุดเด่นของการเป็นตลาดหลักทรัพย์คืออยู่ตรงกลาง รู้จักบริษัทเยอะ ทำหน้าที่จับคู่ (matching) ทางธุรกิจได้ สามารถเชิญบริษัทใหญ่ๆ ใน SET และ mai ให้มาเจอกับสตาร์ตอัพได้ ทุกวันนี้มีงาน InnoBiz Matching Day จับคู่ธุรกิจเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว
  4. สร้างเครือข่าย หาโอกาสสร้างเครือข่ายของธุรกิจทุกประเภท เพื่อให้รู้จักคุ้นเคยกัน พอรู้จักกันแล้ว เดี๋ยวดีลธุรกิจจะตามมาเอง

วิเคราะห์จุดอ่อนของสตาร์ตอัพไทย

คุณประพันธ์ให้ความเห็นในฐานะผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการขนาดย่อม ประเมินว่ามีจุดอ่อนเหมือนๆ กัน 3 ประการ ดังนี้

  1. มีไอเดีย แต่ไม่รู้เรื่องการตลาดและธุรกิจ หรืออาจรู้แต่ไม่มีคอนเนคชั่นเข้าถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งตรงนี้ทาง mai สามารถช่วยเชื่อมต่อธุรกิจให้ได้
  2. ยังขาดประสบการณ์ด้านการบริหารงาน การจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้ต้องใช้วิธีหาพี่เลี้ยงหรือโค้ชเข้ามาช่วยสนับสนุน
  3. ขาดเงินทุน ปัญหาธุรกิจขนาดเล็กเข้าไม่ถึงเงินทุนเป็นปัญหาเรื้อรังของเมืองไทยมานาน แถมระบบ Venture Capital (VC) ของไทยยังอ่อนแอ กฎหมายยังไม่พร้อมสำหรับจดทะเบียนิติบุคคลแบบธุรกิจร่วมลงทุน และขาดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับผู้ลงทุน

ปัญหาเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เหมาะกับการลงทุนในสตาร์ตอัพ ส่งผลให้บริษัทไทยต้องไปจดทะเบียนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ตรงนี้ภาครัฐต้องช่วยกันแก้ไข ส่วนวงการ VC ในไทยก็ยังไม่ค่อยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ในอดีตเคยมีสมาคม VC ของไทยแต่พอกระแสตกก็เลยเงียบไป

สตาร์ตอัพไทยกับความฝันเข้าตลาดหลักทรัพย์

คุณประพันธ์มองในมุมของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีไทยที่ขายหุ้น IPO มักเป็นบริษัทแบบ system integrator ไม่ได้มีเทคโนโลยีของตัวเองทั้งหมด ซึ่งก็หวังว่ากระแสสตาร์ตอัพรอบนี้จะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ อยากเห็นบริษัทรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ แต่สามารถเติบโตได้ด้วย business model ที่ดีกว่าคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ในมุมของตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้คาดหวังว่าสตาร์ตอัพทุกรายจะต้อง exit ด้วยการขายหุ้นในตลาดเสมอไป เพราะในภาพรวมแล้ว ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพมักมีบุคลิกเป็น innovator หรือนักประดิษฐ์ นักสร้างนวัตกรรม ชอบคิดค้นอะไรใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ (entrepreneur) พอบริษัทโตถึงระดับหนึ่งแล้วจะไม่ค่อยอยากบริหารคน แนวโน้มการ exit จึงเป็นการขายบริษัทมากกว่าการเข้าตลาด โอกาสเห็นบริษัทพวกนี้ขายหุ้น IPO ย่อมน้อยลงไปด้วย

ในกรณีที่ฝันอยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ คุณประพันธ์แนะนำว่าต้องเตรียมระบบบริหารจัดการงานภายในให้ดี ระบบการเงินบัญชีดี พื้นฐานต้องเข้มแข็งก่อน พอพื้นฐานดีอยู่แล้ว จะ exit ด้วยการขายบริษัทหรือ IPO ก็มักจบลงด้วยดีทั้งหมด

สุดท้าย คุณประพันธ์เตือนว่าการทุ่มสุดตัวเพื่อกิจการเป็นเรื่องดี แต่ขออย่าให้ฐานะการเงินส่วนตัวย่ำแย่จนเป็นหนี้ เพราะถ้าบริษัทล้ม เรายังสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ในอนาคต มีประสบการณ์มากขึ้น โอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ถ้าเป็นหนี้ ชีวิตหลังจากนั้นอีกหลายปีให้หลังจะต้องทนทุกข์กับการเป็นหนี้ ไม่สามารถไปต่อได้เลย เสียดายศักยภาพของผู้ประกอบการเหล่านี้ที่สามารถไปได้ไกล แต่ต้องเสียเวลามาแก้ไขหนี้สินของตัวเอง หมดเวลาของชีวิตไปมาก

Get latest news from Blognone

Comments

By: clake
AndroidRed HatUbuntuWindows
on 8 September 2015 - 19:25 #841116

ด้วยความเคารพ ผมไม่อยากเข้าครับ อยากทำเท่าที่แรงไหว

By: akira on 9 September 2015 - 09:43 #841261

มันต้องสร้างกรณีศึกษาให้นักลงทุนรู้สึกว่าตลาดนี้คุ้มค่าที่จะเข้ามาลงทุน ผมว่าเมื่อไหร่ที่ Ookbee เข้า แล้วทุกฝ่าย support เพื่อสร้างกรณีศึกษา มันก็จะจุดติด แล้วก็จะมีบริษัท Startup อีกหลายรายตามมา รวมถึงภาครัฐก็ต้องสนับสนุนในระดับนโยบายด้วย เพราะบางบริษัทก็ไปเข้าตลาดที่สิงค์โปร์เนื่องจากรัฐบาลของสิงค์โปร์ให้การสนับสนุน และมีนโยบายรองรับมากกว่า