Tags:
Node Thumbnail

ความร่วมมือระหว่าง IBM กับแอปเปิลเรื่องยุทธศาสตร์อุปกรณ์พกพา MobileFirst เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ช่วงหลังเราจึงเห็น IBM ออกมาสนับสนุน iOS และ Mac อย่างจริงจัง จนหลายคนอาจเริ่มสงสัยว่า IBM จะเอาแต่แอปเปิลอย่างเดียวเลยใช่ไหม แล้วแพลตฟอร์มอื่นๆ จะเป็นอย่างไร

ผมมีโอกาสสัมภาษณ์คุณ David Lee Heyman ผู้บริหารตำแหน่ง IBM MobileFirst Platform Leader, ASEAN และถามคำถามนี้ คำตอบที่ได้คือ "ไม่ใช่" เพราะจริงๆ แล้ว IBM ก็ต้องการตลาดอุปกรณ์พกพาทั้งหมดนั่นแหละ

No Description

IBM MobileFirst เป็นชื่อแบรนด์ใหญ่ของ IBM สำหรับงานด้านอุปกรณ์พกพาทั้งหมดที่แยกย่อยได้หลายแขนง แนวคิดของ IBM คืออุปกรณ์พกพาจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานของลูกค้าฝั่งองค์กรอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ใช้งานภายในกันเอง (back office) หรือส่วนที่ต้องติดต่อกับลูกค้า (front office) ภารกิจของ IBM จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าของตัวเองเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอุปกรณ์พกพาให้ง่ายและสะดวกที่สุด ซึ่งก็มีหลายแนวทางขึ้นกับความต้องการของลูกค้า

ถ้าองค์กรลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีนโยบายซื้อเครื่องให้พนักงานใช้ ตรงนี้ IBM ก็นำเสนอโซลูชัน IBM MobileFirst for iOS ตามข้อตกลงกับแอปเปิล คือ IBM จะจัดหาเครื่องและมีบริการหลังขายรวมไปกับโซลูชันด้วย มีชุดแอพมาตรฐานที่ IBM พัฒนาไว้แล้วมาปรับแต่งเพิ่มได้ หรือถ้าแอพไม่ตรงกับความต้องการ IBM ก็มีบริษัทลูก IBM Services มารับจ้างพัฒนาแอพให้ หรือช่วยหาพาร์ทเนอร์รายอื่นมาทำให้ก็ได้เช่นกัน

แต่ถ้าองค์กรของลูกค้าใช้นโยบาย BYOD ผลจะเป็นว่าอุปกรณ์มีความหลากหลาย หรือองค์กรบางแห่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่นิยม iOS อยากใช้ Android แทนก็ไม่มีปัญหา เพราะ IBM มีโซลูชันเตรียมไว้เพื่อการพัฒนาแอพทุกรูปแบบบนทุกแพลตฟอร์ม ครอบคลุมไปถึงเว็บแอพหรือแอพแบบไฮบริดด้วย

คุณ David เล่าว่ามีองค์กรแห่งหนึ่งทำแอพลง iOS, Android, Windows Phone ด้วยเหตุผลว่าซีอีโอใช้ Windows Phone แล้วถามลูกน้องว่าทำไมไม่มีแอพบน Windows Phone ผลสุดท้ายองค์กรนี้เลยมีแอพบน Windows Phone ด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มของ IBM ก็รองรับอยู่แล้ว ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือในอินเดีย มีบริษัทหนึ่งต้องการทำแอพเป็น Java ME เพื่อรองรับลูกค้าที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน ตรงนี้ IBM ก็ทำได้เช่นกัน

alt="IBM MobileFirst"

ผลิตภัณฑ์ในตระกูล MobileFirst สามารถแบ่งย่อยได้หลายตัว ดังนี้

  • IBM MobileFirst Platform หรือชื่อเดิม Worklight เป็น "แพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาแอพ" มีเครื่องมือหลายอย่างช่วยให้นักพัฒนาแอพทำงานสะดวกขึ้น ซึ่งคุณ David รับผิดชอบส่วนนี้
  • IBM MobileFirst Protect ผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย มาจาก Maas 360 ที่บริษัทซื้อมาในปี 2013
  • IBM Mobile Behavior Analytics ผลิตภัณฑ์ด้านวิเคราะห์การใช้งานแอพ ลักษณะเดียวกับพวก Flurry
  • IBM Tealeaf CX Mobile ผลิตภัณฑ์ด้านวิเคราะห์ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า มาจากบริษัทลูก Tealeaf ซื้อมาในปี 2012
  • IBM Bluemix บริการคลาวด์สำหรับลูกค้าองค์กร (Blognone เคยสัมภาษณ์) สามารถใช้เป็น backend สำหรับแอพบนอุปกรณ์พกพาได้
  • Cloudant บริการเก็บข้อมูลแบบ NoSQL ซื้อมาปี 2014

นอกจากนี้ IBM ยังมีบริการ (services) ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาแอพ การวางระบบจัดการอุปกรณ์พกพา ฯลฯ รายชื่อบริการทั้งหมดอ่านได้จาก IBM MobileFirst Solutions

alt="IBM MobileFirst"

ส่วนของ IBM MobileFirst Platform ที่ออกมาช่วยสนับสนุนนักพัฒนา ก็มีผลิตภัณฑ์ย่อยหลายอย่าง เช่น

  • IBM MobileFirst Studio IDE สำหรับพัฒนาแอพ เป็นปลั๊กอินของ Eclipse
  • มี IBM MobileFirst SDK เป็นคอมมานด์ไลน์สำหรับ Xcode และ Android Studio ให้นักพัฒนาเข้าถึงบริการในตระกูล MobileFirst
  • ในกรณีที่อยากพัฒนาแอพแบบข้ามแพลตฟอร์ม IBM ก็มีข้อตกลงกับ Xamarin ออก SDK ให้กับ Xamarin Studio ด้วย
  • มีบริการพวกรันไทม์ช่วยงานที่นักพัฒนาแอพต้องทำ เช่น authentication, offline database, analytics, report
  • มีตัวช่วยเชื่อมต่อแอพขององค์กรที่มีอยู่แล้ว เช่น SAP หรือต่อฐานข้อมูล ODBC ซึ่งคุณ David บอกว่าถ้าเป็นแอพยอดฮิตของฝั่ง SAP ที่องค์กรใช้กันเยอะๆ แพลตฟอร์มของ IBM เชื่อมต่อได้แทบทั้งหมด
  • มีบริการสำหรับ push message แบบข้ามแพลตฟอร์ม เชื่อมต่อกับระบบ push ของแต่ละค่ายอีกทีหนึ่ง

alt="IBM MobileFirst"

วิดีโอแนะนำ MobileFirst Platform

ผมถามคุณ David ว่าในฐานะที่ IBM ช่วยองค์กรต่างๆ ทั่วโลกพัฒนาแอพบนมือถือ เห็นปัญหามาก็เยอะ มีคำแนะนำอะไรบ้าง คุณ David ตอบมาทันทีว่า "Don't build app, build strategy" ขอให้มองยุทธศาสตร์การใช้อุปกรณ์พกพาในภาพรวม ว่ามันจะเข้ามาช่วยพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นอย่างไร อย่ามองแอพเป็นรายตัว หรือสร้างแอพแค่เพราะอยากทำ แอพที่ดูเซ็กซี่นั้นไม่ดีเท่ากับแอพที่ช่วยให้องค์กรประหยัดเงินในระยะยาว

นอกจากนี้ คุณ David ยังบอกว่างบประมาณการพัฒนาแอพไม่ได้มาจากฝ่ายไอที ที่รับผิดชอบงานไอทีเป็นงานประจำ แต่มาจากฝ่ายอื่นๆ เช่น เซลส์ หรือซัพพอร์ต ที่สามารถเทงบประมาณมาสร้างแอพให้กระบวนการทำงานของฝ่ายนั้นดีขึ้น เร็วขึ้น ในราคาถูกลงกว่ากระบวนการทำงานในปัจจุบัน

ส่วนปัญหาที่พบบ่อยในโลกของการพัฒนาแอพองค์กรคือเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ตัวอย่างเช่น iOS ออกเวอร์ชันใหม่ทุกปีในเดือนกันยายน ถ้าเดือนกรกฎาคมที่แอปเปิลออก iOS รุ่น Beta แล้วองค์กรยังไม่ทดสอบแอพกับ iOS เวอร์ชันใหม่ ก็อาจอัพเดตแอพไม่ทันกับช่วงเวลาที่ออก iOS รุ่นจริง ดังนั้นองค์กรควรเตรียมความพร้อมเรื่องพวกนี้ไว้ด้วย

สุดท้ายในงานก็มีสาธิตโซลูชันด้านอุปกรณ์พกพาของ IBM โดยจำลองร้านค้ายุคใหม่ ที่นำเทคโนโลยี iBeacon เข้ามาช่วยงานขาย ทั้งให้พนักงานรับทราบข้อมูลปริมาณไหลเวียนของลูกค้าในร้าน หรือจะเป็นสร้างแอพให้ลูกค้าเห็นข้อมูลสินค้าตามพิกัดที่ยืนอยู่ครับ

alt="IBM MobileFirst"

หน้าตาของตัว iBeacon ใครไม่เคยเห็นก็จงดูซะ

alt="IBM MobileFirst"

Get latest news from Blognone