Tags:
Node Thumbnail

วันนี้ AIS ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ MAI จัดงานเสวนาชื่อ "เตรียมพร้อมสู่โลกธุรกิจ สานฝันสู่ตลาดทุน" มีหัวข้อหลักคือส่งเสริมให้สตาร์ตอัพเติบโตผ่านความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ และมุ่งเป้าให้เติบใหญ่จนสามารถเข้ามาขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ MAI ได้

ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานด้วย และคิดว่าหัวข้อการเสวนามีประโยชน์ ควรค่าแก่การเผยแพร่ต่อครับ

alt="AIS MAI Startup"

หัวข้อแรกที่คุยกัน เป็นการนำคนจากภาคส่วนต่างๆ ใน ecosystem มาแลกเปลี่ยนประเด็นกัน โดยผู้ร่วมเสวนา (จากซ้ายไปขวาในภาพ) มีดังนี้

  • ดร.ธีรธร ธาราไชย จาก PPS Group มาในฐานะตัวแทนนักลงทุนแบบ angel
  • คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI มาในฐานะหน่วยงานของรัฐที่สนับสนุนภาคเอกชนให้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
  • คุณไพโรจน์ ไววานิชกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานผลิตภัณฑ์ดิจิทัล AIS มาในฐานะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่สนับสนุนสตาร์ตอัพให้เกิด
  • คุณธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอ StockRadars มาในฐานะตัวแทนจากฝั่งสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จแล้ว มีผู้ใช้งานจริง มีรายได้เข้ามา

คุณประพันธ์ MAI

ตลาดทุนไทยถือว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบกันในภูมิภาค แต่ทุกวันนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังมีแค่ 600 กว่าบริษัท ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับบริษัทเอกชนที่อยู่นอกตลาด

ส่วนของบริษัทสตาร์ตอัพสายเทคโนโลยี ทางตลาดหลักทรัพย์มองให้เป็นหน้าที่ของ MAI ที่เป็นตลาดสำหรับคนรุ่นใหม่ บริษัทหน้าใหม่ ซึ่ง MAI มีแผนจะเข้าไปช่วยเหลือสตาร์ตอัพดังนี้

  1. Connecting เชื่อมให้ทุกภาคส่วนรู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ โดย MAI จะทำเว็บพอร์ทัลเก็บข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นหลักเป็นแหล่ง
  2. Educating กิจกรรมต่างๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งทุน
  3. Matching จับคู่ธุรกิจ บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์สามารถเป็นคู่ค้าหรือลูกค้าของสตาร์ตอัพได้
  4. Networking ทำให้ทุกคนคุ้นเคยกันผ่านกิจกรรมต่างๆ เมื่อรู้จักกันแล้ว การต่อยอดจะตามมาเอง

คุณประพันธ์บอกว่าสุดท้ายแล้วคงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ขอให้ตั้งฝันไกลๆ ใหญ่ๆ กันไว้ก่อน ไปถึงหรือไม่ก็อีกเรื่องนึง ตอนนี้ MAI ยังมีบริษัทสายเทคโนโลยีเพียงแค่ 8 บริษัท ในอดีตเคยมีบริษัทด้านซอฟต์แวร์ 3 บริษัท ตอนนี้ไม่เหลือแล้วแต่หวังว่าบริษัทรุ่นใหม่จะเติบโตจนเข้า MAI ได้

ปัจจุบันเกณฑ์การขายหุ้นใน MAI ไม่ยากมากเมื่อเทียบกับ SET โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท, ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 2 ปี และมีกำไรต่อเนื่อง แต่ไม่สนใจว่าตัวเลขกำไรเท่าไร ขอให้มีกำไรก็พอ ซึ่งจะต่างจากการเข้า SET ที่เงื่อนไขยากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม คุณประพันธ์บอกว่าในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้เข้มงวดขึ้นได้เช่นกัน

ในอนาคตอันใกล้ MAI จะเปิดหลักสูตร IPO Academy ช่วยบริษัทที่อยาก IPO เข้าตลาดในการเตรียมตัวเองก่อนเข้าขายหุ้น เพื่อให้หุ้นโดยรวมมีคุณภาพมากขึ้น ถ้ามีบริษัทสายไอทีที่สนใจก็สามารถติดต่อเพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรได้

ดร.ธีรธร PPS Group

ปัจจุบัน ความรู้เรื่องการเงินกับสตาร์ตอัพ หรือที่เรียกว่า startup financing ยังมีคนเข้าใจน้อย ช่วงหลังเริ่มเห็นสตาร์ตอัพแลกเปลี่ยนความรู้กันเองมากขึ้น แต่ก็อยากให้เข้ามาคุยกับนักลงทุนให้เยอะขึ้นด้วย

ดร.ธีรธร อธิบายเรื่องนักลงทุน angel investor ว่าเป็น "นักลงทุนคนแรกที่ไม่ใช่ญาติ" เข้ามาช่วยสนับสนุนเงินทุนตอนที่สตาร์ตอัพยังไม่มีอะไรสักอย่างเลย ผลิตภัณฑ์ไม่มี ลูกค้าไม่มี รายได้ไม่มี ถือเป็นความเสี่ยงมาก ถือเป็นการมอบ "ปีก" ให้สตาร์ตอัพเติบโตและบินขึ้นสู่ท้องฟ้า

นักลงทุนกลุ่ม angel มักเป็นผู้ประกอบการที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว และอยากส่งต่อ "โอกาส" ให้กับคนรุ่นหลัง เพื่อให้มีโอกาสอยู่รอดและเติบโตทางธุรกิจมากกว่าในยุคของตน ดังนั้นจะลงมาช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องเงินและคำปรึกษา ซึ่งจะต่างไปจากนักลงทุนแบบ venture capital หรือ private equity ที่สนใจเรื่องการเงินมากกว่า

สำหรับคำถามว่าคัดเลือกสตาร์ตอัพที่จะลงทุนอย่างไร ดร.ธีรธร บอกว่าตอนตัดสินใจลงเงินยังไม่มีอะไรสักอย่าง ก็เหลืออย่างเดียวคือ "ดูโหงวเฮ้ง" ดูภาพรวมว่าสตาร์ตอัพรายนี้จะอยู่ร่วมกับเราได้ดีแค่ไหน เพราะเส้นทางนี้ต้องอยู่ด้วยกันนานมาก ต้องเลือกคนที่ทำงานด้วยกันได้ อยู่แล้วไปได้ดีทั้งสองฝ่าย

ดร.ธีรธร บอกว่าสตาร์ตอัพมักให้ความสนใจกับเนื้อหาในการนำเสนอ (pitching) ว่าสิ่งชี้เป็นชี้ตายอยู่ในการนำเสนอ แต่ในมุมของนักลงทุนจะ read between the line มองให้ลงลึกกว่านั้น ดูภาพรวมว่า คนนี้สามารถทำงานร่วมกับเราได้หรือไม่ ทัศนคติเป็นอย่างไร

ดร.ธีรธร ยังบอกว่าสตาร์ตอัพจำนวนหนึ่งมองแค่นำเสนอให้ได้เงินลงทุนแล้วก็จบกันไป ไปเลี้ยงฉลอง กินอาหารหรู ซื้อของแพงๆ แต่ในสายตาของนักลงทุน การให้เงินคือ Day 1 ที่จะต้องสร้างสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างกัน

สิ่งที่พบได้บ่อยในหมู่ผู้ประกอบการคือมักมองโลกในแง่ดีเกินไป (over optimistic) มองว่าธุรกิจของเราจะรุ่ง ไปรอด มีโอกาสดีๆ อยู่เบื้องหน้า ซึ่งนักลงทุนจะเข้ามาทำหน้าที่สร้างดุลยภาพในมุมกลับ ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วจริงหรือ ซึ่งสตาร์ตอัพอาจมองว่าเขี้ยว เรื่องมาก แต่จริงๆ แล้วนักลงทุนอยากให้บริษัทเติบโตและอยู่ได้

ดร.ธีรธร บอกเคล็ดลับของสตาร์ตอัพที่นักลงทุนเลือกลงทุนด้วยว่ามีด้วยกัน 2 อย่าง

  1. ตัวผลิตภัณฑ์มีคนรักที่จะใช้ รักที่จะบอกต่อ เพราะนักลงทุนมองว่าถ้าผู้ใช้รักผลิตภัณฑ์นั้น คนอื่นย่อมรักต่อ บอกต่อด้วย ไม่ต้องลงทุนค่าการตลาดเยอะ
  2. ผู้ก่อตั้งต้องรักผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย ไม่ใช่ทำธุรกิจร้านกาแฟแล้วเวลากินกาแฟไปนั่งสตาร์บัคส์ ถ้ายิ่งรักในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ก็จะมองหาวิธีเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา แบบนี้นักลงทุนจะชอบ เพราะมีสตาร์ตอัพบางกลุ่มที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต ต้องมาถามนักลงทุนตลอด แบบนี้ให้นักลงทุนมาเปิดบริษัทเองง่ายกว่า มันเป็นคนละบทบาทกัน

ดร.ธีรธร บอกว่าถ้ามีคุณสมบัติทั้งสองข้อ อาจแทบไม่ต้องออกไป pitching เลยด้วยซ้ำ เพราะนักลงทุนจะเป็นฝ่ายเข้ามาหาเอง

คุณไพโรจน์ AIS

เหตุผลที่ AIS เข้ามาทำโครงการสตาร์ตอัพเป็นเพราะตลาดโทรคมนาคมเปลี่ยนไปมาก โอเปอเรเตอร์ทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกันคือบริการหรือแอพต่างๆ ย้ายขึ้นไปอยู่บนอินเทอร์เน็ต โอเปอเรเตอร์หาเงินได้เฉพาะค่าแอร์ไทม์เท่านั้น ดังนั้นโอเปอเรเตอร์ต้องปรับตัว เข้ามาทำธุรกิจด้านบริการและข้อมูลมากขึ้น

โลกของอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดธุรกิจหน้าใหม่มากมาย แต่ AIS ในฐานะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มองว่าจุดอ่อนของธุรกิจหน้าใหม่เหล่านี้คือไอเดียเยอะ แต่ขาดประสบการณ์ ซึ่ง AIS ตั้งใจเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุนให้เติบโตไปด้วยกัน win-win ด้วยกัน

หลังจากทำโครงการ AIS The Startup มาหลายปี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือสตาร์ตอัพไทยมีจำนวนมากขึ้น เปลี่ยนจากสมัยแรกๆ ที่มีแต่ฝรั่งเท่านั้น ชุมชนสตาร์ตอัพในบ้านเราเข้มแข็งมากในแง่การช่วยเหลือกัน แต่ถึงแม้ว่า ecosystem แข็งแรงขึ้นมากแล้ว AIS ยังจัดงานประกวดสตาร์ตอัพต่อไปเช่นเดิม เพราะต้องการสร้างเวทีให้คนรู้จัก ช่วยปลุกตลาดไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องทุกปี

แต่คุณไพโรจน์บอกว่าไม่อยากให้สตาร์ตอัพมองโครงการ AIS The Startup แค่เงินรางวัลหรือชื่อเสียง เพราะ AIS มีเครื่องมือทางธุรกิจช่วยสนับสนุนตัวธุรกิจจริงๆ ของสตาร์ตอัพมากมาย เช่น เครือข่ายโอเปอเรเตอร์ในสังกัด SingTel สามารถช่วยบุกตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้นกว่าการไปบุกตลาดด้วยตัวเองมาก

คุณไพโรจน์ยังเตือนว่า สุดท้ายแล้ว สตาร์ตอัพก็คือ SME นั่นแหละ เรามาทำ "ธุรกิจ" ดังนั้นก็ต้องใส่ใจในตัวธุรกิจของตัวเอง ต้องโฟกัสกับธุรกิจ อย่าหลงประเด็นไปสนใจเรื่องอื่นๆ เช่น การประกวดหรือการหาเงินมากนัก การแข่งชนะได้รางวัลเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

คุณไพโรจน์ให้มุมมองในฐานะพาร์ทเนอร์ธุรกิจว่า สตาร์ตอัพต้องแสดงให้พาร์ทเนอร์เห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่มีใครรู้หรอกว่าแนวทางที่ทำอยู่มันถูกต้องหรือไม่ แต่อย่างน้อยต้องแสดงให้เห็นว่ากำลังทำงาน กำลังไปในทิศทางที่น่าจะใช่ ไม่ใช่ได้เงินแล้วหายเงียบไปเลย แบบนี้คนให้เงินก็หวั่นใจว่าจะไปรอดหรือเปล่า

คุณธีระชาติ StockRadars

หลังจากทำสตาร์ตอัพมาได้ระยะหนึ่ง คำแนะนำที่ให้กับสตาร์ตอัพรุ่นหลังได้คือ ให้ย้อนถามตัวเองว่าเรามาทำสตาร์ตอัพไปทำไม บางคนอาจมีเป้าหมายอยากได้รางวัล อยากได้เงิน อยากมีชื่อเสียง แล้วจบกันไป

คุณธีระชาติบอกว่าถ้าเปรียบกิจการเป็นต้นไม้ เวทีประกวดเหล่านี้เป็นแค่ปุ๋ย ช่วยให้เราเติบโตได้เร็ว แต่ถ้ามีแค่ปุ๋ยอย่างเดียวก็ไม่มีทางโตได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะเติบโตเอง สังเคราะห์แสงได้เองให้ได้ ในฐานะผู้ประกอบการต้องโฟกัสว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ทุกวันนี้โอกาสมีเยอะ แต่ตัวเราเองต้องสร้างศักยภาพของตัวเองให้คนอื่นเห็นก่อน

กรณีของ StockRadars โชคดีที่กลุ่มเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นคนเล่นหุ้น ดังนั้นบริษัทจึงมุ่งไปในทิศทางนี้เต็มตัว เช่น จับมือกับ Stock2morrow ที่เป็นสื่อสำหรับคนเล่นหุ้น หรือจับมือกับ AIS ที่นักลงทุนใช้งานกันเยอะ (จากสถิติที่ StockRadars เจอมา) เมื่อค้นเจอพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสมแล้วก็เดินหน้าได้เต็มตัว

Get latest news from Blognone

Comments

By: iammeng
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 21 August 2015 - 13:30 #836339
iammeng's picture

อยากรู้จักธุรกิจของ StockRadars จังเลยครับ ว่าทำอะไรบ้าง ประวัติเริ่มต้นยังไงอะไรแบบนี้
ทำแค่ app อย่างเดียวเลยหรอครับ เผื่อเป็นไกด์ให้ Startup รุ่นใหม่ครับ
หรือหาอ่านได้ที่ไหนปะครับ

By: mk
FounderAndroid
on 21 August 2015 - 14:19 #836347 Reply to:836339
mk's picture

ไว้มีโอกาสแล้วจะไปสัมภาษณ์มาให้อ่านกันนะครับ

By: iammeng
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 21 August 2015 - 14:55 #836355 Reply to:836347
iammeng's picture

ขอบคุณครับ

By: loveatomzone
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 24 August 2015 - 15:31 #836966
loveatomzone's picture

ชอบที่จะเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาครับ