Tags:
Node Thumbnail

ที่ผ่านมาเราเห็นโครงการเลียนแบบ Bitcoin เกิดขึ้นมากมาย โดยใช้ชื่อเรียกต่างออกไป (เช่น Litecoin) แต่รอบนี้ถึงคิวนักพัฒนากลุ่มหนึ่งของ Bitcoin แยกตัว (fork) ออกมาเปิดโครงการใหม่ชื่อ Bitcoin XT ด้วยเหตุผลเรื่องวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกันว่า Bitcoin ในอนาคตควรเป็นเช่นไร

ซอฟต์แวร์ที่ใช้ประมวลผล Bitcoin ตามสเปกที่เขียนขึ้นโดย Satoshi Nakamoto เรียกว่า Bitcoin Core มันถูกพัฒนาแบบโอเพนซอร์สภายใต้การดูแลของ Bitcoin Foundation ส่วนทิศทางการพัฒนา Bitcoin Core ขึ้นกับนักพัฒนาระดับ committer จำนวน 5 คน ที่จะต้องตกลงกันว่า Bitcoin Core ควรเดินหน้าไปทางไหน

โครงสร้างของ Bitcoin Core

สเปกของ Bitcoin ที่ออกแบบโดย Satoshi Nakamoto มีข้อจำกัดหลายอย่าง (ที่ไม่มีใครนึกถึงตอนออกแบบ แต่มาเจอปัญหาตอนใช้งานจริง) ประเด็นที่เป็นปัญหามากคือขนาดของ "บล็อค" หรือหน่วยการประมวลผล Bitcoin ในช่วงเวลาหนึ่ง ถูกกำหนดไว้ในสเปกที่ 1MB ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดว่าจำนวนธุรกรรม (transaction) ของ Bitcoin ทั้งโลกสามารถเกิดได้สูงสุดที่ 7 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น (อ้างอิง) ซึ่งถือว่าน้อยถ้าเทียบกับ Visa ที่ประมวลผลธุรกรรมบัตรเครดิต เฉลี่ยแล้ว 2,000 ธุรกรรมต่อวินาที

ความต้องการประมวลผลธุรกรรมของ Bitcoin ในปัจจุบันยังไม่เกินข้อจำกัดนี้ แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะเต็มลิมิตในปี 2016 หรือ 2017 เป็นอย่างช้า สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าหากลิมิตเต็มคือ การประมวลผลธุรกรรมจะต้องเข้าคิว และส่งผลให้ธุรกรรมจะต้องใช้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะประมวลผลเสร็จ (อาจเป็นหลักหลายชั่วโมง) ซึ่งจะกระทบการจ่ายเงินผ่าน Bitcoin ที่จ่ายไปแล้วไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหนจึงจะยืนยันได้ว่าจ่ายเสร็จสมบูรณ์จริงๆ

ประเด็นนี้ถูกถกเถียงกันในหมู่นักพัฒนา Bitcoin มานานว่าควรแก้ไขอย่างไร (เช่น ขยายขนาดบล็อค หรือ ออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่) แต่ความขัดแย้งในหมู่นักพัฒนาแกนหลักกลับยังไม่ได้ข้อสรุปเสียที

No Description

Bitcoin XT

นักพัฒนาอาวุโสสองคนในโครงการ Bitcoin Core คือ Mike Hearn และ Gavin Andresen (คนหลังเป็น committer และเป็นบอร์ดของ Bitcoin Foundation ด้วย) เห็นว่ากระบวนการถกเถียงนี้ไม่ได้ข้อยุติสักที และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ Bitcoin จะถึงทางตัน จึงตัดสินใจแยกโครงการ (fork) ออกมาเป็นโครงการใหม่ชื่อ Bitcoin XT

Bitcoin XT ถูกออกแบบให้เป็นทางเลือกของผู้ใช้งาน Bitcoin Core ของเดิม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Bitcoin XT คือขยายลิมิตของบล็อคจาก 1MB เป็น 8MB และเปิดช่องให้ขยายได้อีกในอนาคตถ้าจำเป็น นอกจากนี้ Bitcoin XT ยังมีแผนจะรวมแพตช์เพิ่มความสามารถของ Bitcoin ในหลายประเด็น (เช่น ทนทานต่อการถูกยิง DoS มากขึ้น) ที่ไม่ถูกยอมรับจาก Bitcoin Core ด้วยเหตุผลทางการเมืองภายใน เข้ามายัง Bitcoin XT ด้วย (รายละเอียดความสามารถของ Bitcoin XT)

โครงการ Bitcoin XT จะยังไม่เปลี่ยนแปลงโลก Bitcoin ในทันที โดยช่วงแรก Bitcoin XT จะใช้โค้ดเหมือนกับ Bitcoin Core เดิม แต่เปลี่ยนหมายเลขเวอร์ชันของบล็อคที่สร้างจาก Bitcoin XT ให้รู้ว่ามันถูกสร้างขึ้นจากซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกัน และถ้าบล็อคจำนวน 75% เปลี่ยนมาใช้เลขเวอร์ชันแบบใหม่ของ Bitcoin XT (เป็นการยืนยันว่าผู้ใช้ส่วนมากต้องการ Bitcoin XT) ทางโครงการถึงค่อยเริ่มอัพเกรดมาใช้ขนาดบล็อคแบบใหม่ 8MB ซึ่งนับจากจุดนั้นไป Bitcoin XT จะเริ่มแตกต่างจาก Bitcoin Core ของเดิม และไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้อีก

Mike Hearn นักพัฒนาแกนหลักของ Bitcoin XT อธิบายเหตุผลของการแยกโครงการ ว่ากระบวนการตัดสินใจ (decision making process) ของ Bitcoin Core มีปัญหา และไม่สามารถหาฉันทามติในหมู่ committer ทั้งห้าคนได้ (ปัจจุบันเสียง 3 ใน 5 ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสเปก) เขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก fork โครงการออกมา และสัญญาว่าโครงการ Bitcoin XT จะไม่ก่อปัญหาซ้ำรอยเดิม

ความเห็นต่อ Bitcoin XT

หลังข่าวการแยกตัวเป็น Bitcoin XT ก็มีอีเมลที่ "อ้างว่า" เป็นของ Satoshi Nakamoto บุคคลลึกลับผู้สร้าง Bitcoin (ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอีเมลของจริงหรือไม่) ออกมาคัดค้านแนวคิดนี้

ในอีเมลดังกล่าวบอกว่า Satoshi ออกแบบ Bitcoin ให้การเปลี่ยนแปลงสเปกในอนาคตต้องอาศัย "ฉันทามติ" ที่ทุกคนเห็นร่วมกัน เพื่อให้โครงการไม่อิงกับผู้นำคนใดคนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงตัวเขาเองด้วย ส่วนประเด็นเรื่องสถาปัตยกรรมของ Bitcoin นั้นเขายอมรับว่ามีปัญหาจริง แต่ก็ขอให้ชุมชนนักพัฒนาอดทนมากกว่านี้ ค่อยๆ ใช้เวลาคิดค้นทางออกที่สมบูรณ์และทุกคนยอมรับ แทนการแยกตัวออกไปตั้ง Bitcoin ระบบใหม่ซึ่งเขามองว่าเป็นความล้มเหลวของชุมชน

ที่มา - Guardian

Get latest news from Blognone

Comments

By: kingrpg
AndroidWindows
on 18 August 2015 - 11:19 #835644

เหมือนยังขาดธนาคาร

By: 100dej
AndroidWindows
on 18 August 2015 - 13:17 #835663

มันจะมีทางออกที่สมบูรณ์จริง ๆ เหรอนี่