Tags:
Node Thumbnail

วันนี้ (29 ม.ค.) สำนักงาน กสทช. จัดเสวนา NBTC Public Forum 1/2558 หัวข้อ "ทรัพยากรคลื่นความถี่และทิศทางการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล" โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล" ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้มาร่วมเสวนา

ผมไปร่วมงานช่วงเช้า และได้ขอเอกสารนำเสนอของวิทยากรมาเผยแพร่ต่อ พร้อมสรุปประเด็นของวิทยากรแต่ละท่านนะครับ (คำเตือน: ภาพประกอบเยอะหน่อย)

เริ่มจากคุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่รู้จักกันในชื่อย่อ สพธอ. หรือ ETDA ในภาษาอังกฤษ การร่างกฎหมายชุดนี้ สพธอ. ถือเป็นแกนหลัก และคุณสุรางคณาในฐานะผู้อำนวยการก็เป็นหัวหน้าทีมร่างกฎหมายทั้งหมด

เอกสารนำเสนอของคุณสุรางคณา แนะนำภาพรวมของกฎหมายดิจิทัลชุดนี้ โดยอธิบายว่าเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy หรือ DE ในสไลด์) มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่บวกคือการเติบโตเชิงเศรษฐกิจ และในแง่ลบคือภัยคุกคามไซเบอร์สารพัดอย่าง

แนวคิดของร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยยังไม่มี "นโยบายระดับชาติ" ด้านดิจิทัลเลย ที่ผ่านมาเป็นต่างคนต่างทำ ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

No Description

ดังนั้นกฎหมายจึงตั้งใจเปลี่ยนกระทรวงไอซีทีเป็น "กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" เพื่อรับบทบาทนี้ และตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (รายละเอียดในบทความ รู้จัก "คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" มหาเทพชุดใหม่ของวงการไอทีไทย) มากำกับดูแลระดับนโยบาย

No Description

คุณสุรางคณาย้ำว่ายังไม่ต้องตื่นเต้นไปกับร่างกฎหมายชุดที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เพราะยังมีกระบวนการทางกฎหมายอีกมาก สามารถแก้ไขได้ในระหว่างทาง (อย่างไรก็ตาม คุณสุรางคณาก็ตอบคำถามในช่วงหลัง ยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่ไม่นาน และต้องเร่งออกกฎหมายชุดนี้ให้ทันก่อนรัฐบาลหมดอายุ)

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ในฐานะวิทยากรร่วมเสวนา ได้ให้ความเห็นแย้งในประเด็นนี้ว่าจากการทำงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในร่างกฎหมายหลายชุด พบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะทำหน้าที่แก้รายละเอียดทางเทคนิคกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้แก้หลักใหญ่ใจความของกฎหมายแต่อย่างใด และถ้ารัฐบาลส่งร่างกฎหมายที่ยังไม่ "ตกผลึกทางความคิด" ให้กฤษฎีกาพิจารณา ก็เปรียบเสมือนการอุดรูรั่วในบ้านที่ออกแบบมาไม่ดีตั้งแต่ต้น

No Description

การจัดหมวดร่างกฎหมายดิจิทัล ในมุมของ สพธอ. แยกได้เป็น 3 กลุ่มคือ

  • กลุ่มนโยบาย (policy) คือร่างกฎหมายตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตัวย่อ NDEC) มากำหนดนโยบาย
  • กลุ่มทรัพยากร (resource) คือร่างกฎหมายโยกกองทุน กสทช. เดิมมาเป็นกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเป็นทรัพยากรสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัล
  • กลุ่มดำเนินงาน (operation) แยกเป็นอีก 4 กลุ่มย่อยคือ
    • กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน hard infrastructure คือ ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่
    • กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน soft infrastructure คือ ร่าง พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับใหม่, ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์, ร่าง พ.ร.บ.การกระทำควาผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
    • กลุ่มสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล คือร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (อัพเกรด SIPA)
    • กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน service infrastructure คือร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่อยู่ในร่างกฎหมาย 10 ฉบับนี้ และมีแผนจะทำในอนาคต

No Description

ในอีกมิติ ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลมีด้วยกันทั้งหมด 12 ฉบับ โดยอีก 2 ฉบับที่เพิ่มมา (คอลัมน์ซ้ายสุดในภาพ) ยังมี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่ผ่าน สนช. แล้ว และมีร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของ สนช. ด้วย

No Description

รายละเอียดของกฎหมายกลุ่มที่ 1

  • พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 กำกับดูแลการอนุญาตเรื่องต่างๆ ของหน่วยงานราชการให้รวดเร็วขึ้น และใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เต็มที่
  • ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ เพิ่มประเด็นเรื่องการแอบบันทึกภาพยนตร์ในโรง และ "ข้อมูลบริหารสิทธิ" (เข้าใจว่าหมายถึง rights management)

No Description

รายละเอียดของกฎหมายกลุ่มที่ 2

  • ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติหรือ NDEC
  • ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีที
  • ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ โยกกองทุน กสทช. มาอยู่กับกระทรวงดิจิทัล
  • ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อัพเกรด SIPA

ส่วนสาเหตุที่ สพธอ. เร่งรัดกฎหมายชุดนี้ คุณสุรางคณาอธิบายว่าตนเองเป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาเกือบ 20 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ รอบนี้เลยใช้วิธี "ทำแบบเงียบๆ" เพื่อไม่ให้มีเสียงคัดค้าน เพื่อที่กฎหมายชุดนี้จะผ่านมติคณะรัฐมนตรีได้โดยเร็ว จากนั้นค่อยมารับฟังความคิดเห็นอีกทีหนึ่ง และออกตัวว่าถ้าทำให้ตื่นตระหนกก็ต้องขออภัยด้วย

No Description

รายละเอียดของกฎหมายกลุ่มที่ 3

  • ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับใหม่ แก้ไขกฎเกณฑ์และปรับปรุง สพธอ.
  • ร่าง พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ปรับปรุงข้อผิดพลาดในกฎหมายฉบับเดิม แก้ความกำกวมในหลายจุด
  • ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตั้งคณะกรรมการและสำนักงานมั่นคงไซเบอร์ มาดูแลงานด้าน security "ที่ไม่เกี่ยวกับการทหาร"
  • ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำหนดมาตรการด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และตั้งคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล

ตัวแทนจาก Thai Netizen ถามคำถามว่าถ้า ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เน้นความปลอดภัยของระบบ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางการทหาร ทำไมจึงมีตัวแทนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงมาร่วมเป็นกรรมการหลายตำแหน่ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนนัก

ส่วนประเด็นว่าทำไมคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล ใช้สำนักงานร่วมกับคณะกรรมการความมั่นคงไซเบอร์ ทั้งที่ภารกิจงานดูไม่เกี่ยวข้องกัน คำตอบของคุณสุรางคณาคือ "ทรัพยากรบุคคลมีจำกัด" เลยต้องแชร์สำนักงานร่วมกัน

No Description

ประเด็นต่างๆ ที่ สพธอ. ได้รับเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ในสไลด์ลิสต์ประเด็นเหล่านี้ แต่ไม่ถูกพูดถึงอย่างละเอียดมากนักในงานสัมมนา

No Description

จุดที่น่าสนใจคือคุณสุรางคณายังให้ข้อมูลเรื่องแผนการออกกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว ว่ามีทั้งหมด 4 ช่วง ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่ 2 คือร่างกฎหมาย 10 ฉบับ เมื่อทำกฎหมายชุดนี้เสร็จแล้ว ช่วงถัดไปจะทำเรื่องกฎหมายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย

No Description

เนื่องจากเป็นงานที่ กสทช. จัด คุณสุรางคณาเลยพูดประเด็นของร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ด้วย ในประเด็นว่า กสทช. สูญเสียความเป็นอิสระจากร่างกฎหมายฉบับใหม่ คุณสุรางคณายืนยันว่า กสทช. ยังมีอิสระในการทำงาน แค่ต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติเท่านั้น

No Description

ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับร่างกฎหมาย กสทช. ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นแค่การลิสต์ประเด็นที่มีคนพูดถึง แต่ไม่ได้อธิบายคำตอบหรือที่มาที่ไปอย่างละเอียดนัก

No Description

ประเด็นอื่นๆ ของร่างกฎหมายชุดนี้

No Description

ความเห็นของวิทยากรท่านอื่นๆ จะตามมาในบทความต่อไปครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: Hadakung
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 29 January 2015 - 18:31 #786776

"เร่งออกกฎหมายชุดนี้ให้ทัน" มีสองประเด็นจะกล่าวคือ ไม่ว่าจะหมดอายุเร็วหรือไม่ก็เร่งครับ ปีนี้ไม่มีเลือกตั้งครับรองนายกฯพูดเอง จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า พรบ. มั่งคงไซเบอร์ ไว้วางใจได้เลย เพราะทำก่อนแก้ทีหลังมีบทเรียนแล้วครับมันเป็นการล้มล้างการปกครอง?!?

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 29 January 2015 - 19:09 #786790
panurat2000's picture

ร่าง พ.ร.บ.การกระทำควาผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่

ควาผิด => ความผิด

By: zerost
AndroidWindows
on 29 January 2015 - 21:59 #786862
zerost's picture

ขอบคุณครับ ที่เอาสาระดีๆมาให้พวกเราอ่าน

ผมยังงงอยู่ที่บอกว่า กสทช. ยังเป็นอิสระแต่ต้องอยู่ภายใต้ ndec
ndec คนตั้ง40คน กว่า กสทช. จะได้ทำอะไรทีคาดว่าคงลูกโต
แล้วมันอิสระยังไง...
แถมยังมีเรื่องการขายคลื่นไม่ต้องประมูลก็ได้อีก...

By: Aoun
AndroidWindows
on 30 January 2015 - 09:43 #786984 Reply to:786862

อิสระแบบไทย เสรีภาพแบบไทย
คล้ายกฎหมายจีนเข้าไปเรื่อยๆ เรียกว่าเป็น ประชาธิปไตย อย่างเต็มตัว ประชาธิปไตยประชาชน (ไทย)

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 30 January 2015 - 14:43 #787154

ถถถถถถถ ถลอก...


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!