Tags:
Node Thumbnail

เมื่อสองสัปดาห์ก่อนอินเทลจัดงาน Internet of Things Solutions Conference 2014 ในกรุงเทพฯ มีผู้บริหารเดินทางมาเพื่อบรรยายในงานนี้หลายคน ทาง Blognone มีโอกาสไปพบกับคุณ Gregg Berkeley หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Internet of Things (IoT) และเล่าถึงสิ่งที่อินเทลทำในธุรกิจนี้

Internet of Things ช่วยอะไรเรา

alt="upic.me"

ในการบรรยาย Gregg ระบุว่าเทคโนโลยี IoT จะเข้ามาทำงานสามส่วนในอุปกรณ์ที่เราเห็นทุกวันนี้ ได้แก่ มอนิเตอร์, ควบคุม, และวิเคราะห์ เขายกตัวอย่างระบบแอร์รวมของอาคารที่ปกติแล้วต้องมีการซ่อมบำรุงอยู่เสมอ หากแอร์เสียไปสักวันหนึ่งความเสียหายก็อาจจะสูงมาก กรณีที่แย่ที่สุดมอเตอร์อาจจะไหม้มีควัน และอาคารถึงกับทำงานไม่ได้

ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นคือกรณีสนามบินชิคาโก ต้องหยุดให้บริการไปหนึ่งชั่วโมงเพียงเพราะระบบระบายอากาศเสียหาย สร้างความเสียหายทางธุจกิจได้มหาศาล ระบบ IoT สามารถช่วยให้ฝ่ายอาคารมอนิเตอร์การทำงานของมอเตอร์เครื่องปรับอาการ วิเคราะห์ว่ามันยังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่ กรณีที่มอเตอร์เริ่มมีปัญหามันอาจจะกินไฟมากขึ้นกว่าปกติ ฝ่ายอาคารจะมีข้อมูลเพื่อสั่งปิดมอเตอร์ตัวนั้นล่วงหน้าและหาอะไหล่มาเปลี่ยนในเวลาที่เหมาะสม

ระบบจัดการอาคารที่ฉลาดจะช่วยให้การจัดการเป็นไปอย่างอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุกวันนี้หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่จะต้องสั่งลิฟต์ทุกตัวให้ลงมายังชั้นล่าง พร้อมกับประกาศแจ้งเตือน IoT จะรวมระบบทั้งหมดเข้าเป็นระบบเดียวกัน สัญญาณแจ้งเตือนไฟไหม้จะเชื่อมต่อเข้ากับลิฟต์และระบบอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานะการณ์ได้เอง ในระบบขนาดใหญ่กว่าอาคาร เช่น ระดับเมือง เราอาจจะมอนิเตอร์การเดินทางของคน จัดการระบบขนส่ง หรือดูแลสภาพอากาศได้ด้วยข้อมูลที่มีการมอนิเตอร์ตลอดเวลา

ความปลอดภัย

การนำคอมพิวเตอร์เข้าไปมอนิเตอร์และควบคุมทุกส่วนของอาคารอาจจะสร้างประโยชน์ได้อย่างมาก แต่ประเด็นความปลอดภัยก็เป็นประเด็นสำคัญ การดูแลความปลอดภัยของระบบ IoT จะต้องประกอบไปด้วย การป้องกันตัวอุปกรณ์เอง, ป้องกันแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ให้ไม่ถูกแก้ไข, และป้องกันข้อมูลทั้งบนเครื่องและที่กำลังส่งกลับเซิร์ฟเวอร์

alt="upic.me"

กระบวนการป้องกันที่สำคัญ คือ การอัพเดตซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์เหล่านี้ที่ต้องมีการจัดการบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน ทางอินเทลเองมีชุดซอฟต์แวร์ของตัวเอง ทั้งในส่วนโอเพนซอร์ส และส่วนที่เป็นไลเซนส์ Moon Island

ผมสอบถามเรื่องกระบวนการอัพเดตว่าระบบ IoT ที่ใช้โซลูชั่นของอินเทลจะเป็นอย่างไร Gregg ระบุว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้พร้อมสำหรับการอัพเดตจากระยะไกลอยู่แล้ว แต่ในกระบวนการจริงเนื่องจากอินเทลไม่ได้ขายสินค้าเหล่านี้โดยตรง แต่ไปพร้อมกับโซลูชั่นของพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ เมื่อมีอัพเดตออกมา ทางพาร์ตเนอร์ต้องทดสอบและปล่อยอัพเดตเหล่านี้เอง

อินเทลกับ IoT

ภาพลักษณ์ของอินเทลยังคงติดกับซีพียูประสิทธิภาพสูง แต่ Gregg ก็ยืนยันว่าอินเทลมีความได้เปรียบหลายอย่างในอุตสาหกรรม IoT เพราะสามารถซัพพอร์ตโซลูชั่นได้ตั้งแต่เกตเวย์ไปจนถึงคลาวด์ (Edge-to-Cloud) ตั้งแต่ความปลอดภัย, กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถเลือกได้ว่าจะนำข้อมูลส่วนไหนไปวิเคราะห์ที่เกตเวย์หรือบนคลาวด์, และระบบการจัดการที่ควบคุมได้ทั้งระบบ

ในการบรรยายยกกรณีของ Daikin ที่ประกาศความร่วมมือกับอินเทลเมื่อปีที่แล้ว โดย Daikin จะใช้โซลูชั่นของอินเทลเป็นเกตเวย์ระบบมอนิเตอร์เครื่องปรับอากาศรวมในอาคาร เพื่อช่วยระบบซ่อมบำรุง เช่น ความเสียหายของพัดลมหรือมอเตอร์ ตลอดจนการเปลี่ยนไส้กรองโดยคำนวณตามเวลาใช้งานจริง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศให้ดีขึ้น

ผมถามถึงประเด็นราคาที่อินเทลยังคงขายสินค้าราคาค่อนข้างแพง (Edison ชุดพร้อมใช้งานน่าจะเริ่มต้นที่ 75 ดอลลาร์ไปแล้ว) Gregg ระบุว่าแม้ว่าคู่แข่งจะทำระบบที่ราคาต่ำมากๆ แต่โซลูชั่นของอินเทลก็ยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า

Get latest news from Blognone

Comments

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 19 November 2014 - 09:22 #764859
hisoft's picture

จากย่อหน้าสุดท้ายนี่คือไม่ปฏิเสธที่จะยังคงราคาค่อนข้างแพงต่อไปก่อนสินะครับ

โลกในหนังเริ่มใกล้เข้ามาอยู่เรื่อยๆ แล้ว

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 19 November 2014 - 14:04 #764972
panurat2000's picture

สร้างความเสียหายทางธุจกิจได้มหาศาล

ธุจกิจ => ธุรกิจ

มอนิเตอร์การทำงานของมอเตอร์เครื่องปรับอาการ

เครื่องปรับอาการ => เครื่องปรับอากาศ

เพื่อตอบสนองต่อสถานะการณ์ได้เอง

สถานะการณ์ => สถานการณ์