Tags:
Node Thumbnail

สัปดาห์ที่ผ่านมา EMC ประเทศไทยจัดงาน EMC Forum นำเทคโนโลยีของบริษัทในเครือ (ที่มีอยู่มากมาย) มาโชว์ชุดใหญ่ ผมขอเขียนถึงในประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจนำมาเล่าต่อนะครับ

ผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าน่าจะเข้าใจง่ายที่สุดคือ Syncplicity บริการเก็บข้อมูลบนกลุ่มเมฆแบบเดียวกับ Dropbox หรือ OneDrive แต่จับตลาดองค์กรโดยเฉพาะ บริษัท Syncplicity ก่อตั้งเมื่อปี 2008 โดยอดีตพนักงานไมโครซอฟท์ และขายกิจการให้ EMC ในปี 2012

ในแง่รูปแบบการใช้งาน Syncplicity ไม่มีอะไรต่างจาก Dropbox เพราะมันคือการนำไฟล์ไปเก็บบนกลุ่มเมฆ สามารถเข้าถึงได้จากแอพบนแพลตฟอร์มต่างๆ (รองรับ Windows, Mac, iOS, Android, Windows 8) สามารถแก้ไขเอกสารได้ในตัวแอพ (แบบเดียวกับ Google Drive เดิม) และรองรับการแชร์ไฟล์ให้คนอื่นๆ

No DescriptionNo Description

จุดเด่นของ Syncplicity อยู่ที่ฟีเจอร์สำหรับแอดมินองค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องรักษาชั้นความลับของเอกสาร (ซึ่งการแชร์ผ่าน Dropbox หรือแอพลักษณะเดียวกันมีความเสี่ยง) ฟีเจอร์เด่นๆ ของ Syncplicity ประกอบด้วยการเข้ารหัสการส่งข้อมูล, ล็อกอินผ่าน Active Directory, ล้างข้อมูลที่เก็บไว้ในอุปกรณ์พกพาจากระยะไกล (remote wipe), การกำหนดระดับชั้นการเข้าถึง (group policy) เป็นต้น

คู่แข่งโดยตรงของ Syncplicity คงหนีไม่พ้น Box บริการเก็บข้อมูลกลุ่มเมฆสำหรับองค์กรที่กำลังโตวันโตคืน (และน่าจะขายหุ้น IPO ในเร็วๆ นี้) อย่างไรก็ตาม จุดเด่นที่ Syncplicity เหนือกว่า Box คือรองรับพื้นที่การเก็บข้อมูลทั้งบนกลุ่มเมฆ (แบบเดียวกับ Dropbox) และการเก็บไฟล์ไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ขององค์กรโดยตรง (เหมือน remote access, สำหรับองค์กรที่กังวลเรื่องการจัดเก็บไฟล์) ซึ่ง Box ยังมีเฉพาะการเก็บไฟล์บนกลุ่มเมฆเท่านั้น

กลุ่มผู้ใช้หลักของ Syncplicity คือตลาดองค์กร ซื้อกันยกล็อต หัวละ 60-150 ดอลลาร์ต่อปี แต่ Syncplicity ก็มีเวอร์ชันสำหรับผู้ใช้ทั่วไปให้ลองใช้งานฟรี ให้พื้นที่ 10GB (แผนผังเปรียบเทียบราคาทั้งหมด)

Get latest news from Blognone