Tags:
Node Thumbnail

หากว่าในอนาคตมนุษย์เราจะต้องไปอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ เราจะติดต่อใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโลกได้หรือไม่? คำถามนี้มีคำตอบแล้วเมื่อนักวิจัยจาก MIT และ NASA ได้ทำการทดลองเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตสู่ดวงจันทร์

การส่งข้อมูลสู่ดวงจันทร์ในการทดลองนี้ มิได้ใช้การส่งสัญญาณด้วยแรงดันไฟฟ้าดังเช่นสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ส่งตามสายสัญญาณแบบที่ใช้กัน ทั้งยังมิใช่การส่งด้วยคลื่นวิทยุ หากแต่เป็นการส่งสัญญาณแบบไร้สายอีกวิธีหนึ่ง นั่นคือการใช้แสงเลเซอร์

เหล่านักวิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์จำนวน 4 ตัวซึ่งติดตั้งอยู่ที่ New Mexico ส่งสัญญาณขึ้นไปยังดวงจันทร์ จากนั้นทำการแปลงข้อมูลที่ต้องการส่งให้อยู่ในรูปของรหัสสัญญาณ และใช้อุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ทำการยิงลำแสงผ่านกล้องทั้ง 4 ตัวนี้ตามรหัสสัญญาณที่แปลงมาได้ โดยเทคนิคนี้ทำให้ชุดส่งสัญญาณมีกำลังส่งถึง 40 วัตต์ โดยลำแสงที่ถูกยิงขึ้นสู่ดวงจันทร์จะไปยังดาวเทียมที่โคจรรอบดวงจันทร์อยู่ในตอนนี้ และที่ดาวเทียมนั้นก็ได้รับการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อรวมลำแสงส่งผ่านไปยังตัวแปลงสัญญาณ เพื่อแปลงสัญญาณแสงเลเซอร์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และทำการถอดสัญญาณออกเป็นข้อมูลในท้ายที่สุด

ทีมวิจัยของ MIT และ NASA จะนำเสนองานวิจัยและอธิบายที่มาที่ไปของการทดลองนี้ในวันที่ 9 มิถุนายนที่งาน CLEO อันเป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเลเซอร์ เพื่ออธิบายว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงสามารถส่งข้อมูลสู่ดวงจันทร์ได้ด้วยความเร็วที่ทำลายสถิติก่อนหน้า (ซึ่งใช้การสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ) เร็วกว่าเป็น 4,800 เท่า

ด้วยระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์อันคิดเป็นระยะทาง 384,633 กิโลเมตร พวกเขาสามารถส่งข้อมูลขึ้นไปได้ด้วยความเร็ว 19.44Mbps ยิ่งไปกว่านั้นในการดาวน์โหลดข้อมูลซึ่งใช้การยิงลำแสงเลเซอร์จากดวงจันทร์กลับมายังโลกยังสามารถทำความเร็วได้ถึง 622Mbps เรียกกว่าเร็วกว่าอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการตามบ้านทั่วไปในแทบทุกประเทศ

ทีมวิจัยอธิบายว่าการที่ต้องยิงลำแสงส่งสัญญาณในระยะไกลเช่นนี้เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากที่ระยะห่างมากขึ้น ลำแสงก็จะยิ่งแผ่กระจายออกกว้าง ซึ่งยากแก่การจัดทิศทางยิงลำแสงให้ตรงกับตัวรับ ที่สำคัญก็คือการยิงแสงเลเซอร์ผ่านชั้นบรรยากาศก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดการหักเหของลำแสง ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์มากกว่า 1 ตัว เพื่อให้แน่ใจว่าดาวเทียมบนดวงจันทร์จะได้รับสัญญาณอย่างต่อเนื่อง แม้ลำแสงจากกล้องบางตัวอาจถูกเบี่ยงเบนไปในบางขณะ

ทีมวิจัยยังได้อธิบายอีกว่า จากกำลังงานที่ใช้ในการส่งสัญญาณ 40 วัตต์นั้น แท้จริงแล้วตัวรับสัญญาณจะได้รับสัญญาณแสงเลเซอร์ที่มีกำลังงานไม่ถึง 0.000001 วัตต์เท่านั้น แต่นั่นก็ถือเป็น 10 เท่าของกำลังงานขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการนำไปแปลงต่อเป็นข้อมูลแล้ว

ที่มา - Wired

Get latest news from Blognone

Comments

By: kookai
AndroidWindows
on 30 May 2014 - 02:04 #708537

เรียกกว่าเร็วกว่าอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการตามบ้านทั่วไปในแทบทุกประเทศ

?? ความเร็วที่บอกมานี่หน่วยเป็น mbps หรือ มิลลิบิตต่อวินาทีนะครับ ไม่ใช่ Mbps หรือเมกกะบิตต่อวินาที มันต่างกันอยู่พันล้านเท่าเลยนะครับ

By: ตะโร่งโต้ง
WriterAndroidWindows
on 30 May 2014 - 02:10 #708538 Reply to:708537
ตะโร่งโต้ง's picture

แก้การสะกดแล้วครับ


ช่างไฟสมัครเล่น (- -")

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 30 May 2014 - 07:21 #708558 Reply to:708537
panurat2000's picture

และที่ดาวเทียมนั้นก็ได้รับการติดตั้งกล้องโทรทัศน์เพื่อรวมลำแสงส่งผ่านไปยังตัวแปลงสัญญาณ

กล้องโทรทัศน์ => กล้องโทรทรรศน์

By: lancaster
Contributor
on 30 May 2014 - 02:53 #708540

ถ้าว่ากันตามจริง แสงก็เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนกับคลื่นวิทยุนะ วิ่งด้วยความเร็วแสงเหมือนกัน ที่ต่างกันจะเป็นเรื่องทิศทางกับกำลังส่งเป็นหลัก

By: orpheous
AndroidWindowsIn Love
on 30 May 2014 - 09:46 #708591 Reply to:708540
orpheous's picture

แสงเป็นทั้งคลื่นกลและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และมีความถี่สูงกว่าคลื่นวิทยุ
แสงเลเซอร์ต่างจากแสงทั่วไปดังนี้
แสงเลเซอร์มีทิศทางเดียวที่แน่นอน (ลำแสงขนานกันไปตลอด สามารถส่งได้ไกลโดยที่ความเข้มแสงลดไม่มาก ต่างจากแสงทั่วไปและคลื่นวิทยุ), มีความยาวคลื่นเพียงค่าเดียว (เวลาผ่านปริซึมจะไม่แยกเป็นสเป็คตรัม), มีความเจิดจ้า (ความเข้มแสงสูงกว่าแสงอาทิตย์ในขนาด Watt ที่เท่ากัน), เป็นแสง coherence (ต้นกำเนิดของแสงเลเซอร์นอกจากจะให้แสงสีเดียวทุกๆ คลื่นของแสงเลเซอร์จะมีเฟสเดียวกันหมด)

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C
http://www.rmutphysics.com/charud/specialnews/3/laser/laser2.htm

By: max212
AndroidRed HatSUSEUbuntu
on 30 May 2014 - 21:40 #708782 Reply to:708591
max212's picture

ผมเคยดูสารคดีที่เค้าใช้แสงเลเซอร์วัด ระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ มีตอนหนึ่งเค้าบอกว่า

"...ด้วยระยะทางที่ไกลระหว่างโลกกับดวงจันทร์บางครั้ง แสงเลเซอร์ที่ใช้วัดเวลาการสะท้อนไปกลับ เมื่อสะท้อนกลับลงมาบางครั้งมีความกว้างมากกว่า 1 กิโลเมตร..."

No Description

By: AbsoluteZero
Windows
on 31 May 2014 - 10:26 #708854 Reply to:708591

แสงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครับไม่ใช่คลื่นกล -*-

คลื่นกล คือ การส่งผ่านพลังงานโดยการสั่นของอนุภาคตัวกลางต่างๆ

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คือ การส่งผ่านพลังงานโดยการสั่นของสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าที่ตั้งฉากกัน

ส่วน laser ที่ไม่มี Beam divergence เลย "ไม่มีในชีวิตจริง" ไม่ว่า laser ที่ดีขนาดไหนก็ย่อมมี Beam divergence อยู่เสมอ

คุณสมบัติที่คุณพูดมาคือคุณสมบัติของ Ideal laser

ส่วนเรื่องความสว่างที่บอกว่า Power เท่ากันสว่างกว่าดวงอาทิตย์ สิ่งที่มันมากกว่าคือ Intensity เพราะพื้นที่ผิวที่มันตกกระทบ

มีน้อยมากหากรวมแสงอาทิตย์ให้มารวมกันที่พื้นที่น้อยๆเท่ากับ laser ได้ Intensity มันก็จะเท่ากัน

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 30 May 2014 - 02:54 #708541
hisoft's picture

รายละเอียดแน่นกว่าที่ JuSci.net อีก (O_o) แต่ที่นี่มี CLEO ที่นู่นมี LLCD กับ LADEE

By: nununu
Windows Phone
on 30 May 2014 - 04:22 #708547

ping จะประมาณเท่าไรหว่า?

By: Ton-Or
ContributorAndroidCyberbeingRed Hat
on 30 May 2014 - 08:27 #708563 Reply to:708547
Ton-Or's picture

อันนี้ที่สนใจ
อาจจะ 1000 ms +
555


Ton-Or

By: Zatang
ContributoriPhoneAndroid
on 30 May 2014 - 08:43 #708566 Reply to:708547

นั่นสินะ ไกลซะขนาดนั้น


อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 30 May 2014 - 09:44 #708590 Reply to:708547

ระยะทางไปกลับ เจ็ดแสนกว่ากิโล เกิน 2 วิชัวร์ฮะ

By: keen
iPhoneAndroidUbuntu
on 30 May 2014 - 08:47 #708567
keen's picture

"จากกำลังงานที่ใช้ในการส่งสัญญาณ 40 วัตต์นั้น"
กำลังงาน > พลังงาน?

By: admire147
AndroidUbuntuWindows
on 30 May 2014 - 17:58 #708740 Reply to:708567

กำลังงานถูกแล้วครับ กำลังงานกับพลังงานคนละอย่างกันนะครับ

By: PaPaSEK
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 30 May 2014 - 09:14 #708574
PaPaSEK's picture

มีเกตเวย์เสียมั้ยครับ กลัวเข้าเฟสบุคไม่ได้

By: Wang_Peter
iPhoneAndroid
on 30 May 2014 - 10:10 #708598 Reply to:708574
Wang_Peter's picture

ที่นู่นอาจจะไม่ได้ปกครองด้วยทหารครับ ;-)
แต่อาจจะต้องผ่านสภาสูงของเจได ก่อน

By: iStyle
ContributoriPhoneAndroidSymbian
on 30 May 2014 - 18:47 #708746 Reply to:708574
iStyle's picture

มีอยู่แถวเอกมัยครับ


May the Force Close be with you. || @nuttyi

By: PaPaSEK
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 31 May 2014 - 01:30 #708819 Reply to:708746
PaPaSEK's picture

เดี๋ยวไปยึดฐานแป๊บ แถวนั้นฐานเยอะ :P

By: tomazzu
AndroidUbuntu
on 30 May 2014 - 10:10 #708597

ถ้าเอามาใช้ตามบ้านท่าทางมันส์พิลึก

By: acitmaster
AndroidUbuntuWindowsIn Love
on 30 May 2014 - 10:45 #708611 Reply to:708597
acitmaster's picture

หนูวิ้งผ่านแสงเลเซอร์ เข้า Facebook ไม่ได้

By: lancaster
Contributor
on 2 June 2014 - 20:54 #709436 Reply to:708611

laser 40W เกรงว่าหนูจะกลายเป็นไอครับ

By: Arvinman
AndroidWindows
on 30 May 2014 - 10:30 #708608

อ่านแล้วนึกถึง HPG จาก BattleTech (MechWarrior) เลยครับ

By: 7elven
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 30 May 2014 - 12:09 #708636

กลัวเกตเวย์มีปัญหาจัง

By: cartier
iPhoneAndroid
on 30 May 2014 - 12:42 #708650
cartier's picture

Project ยิ่ง​ใหญ่​สม​กับ​เป็น​ MIT
นึก​ถึง​บรรยากาศ​ตอน​เรียน​กับ​วิจัย​คงโหดกันน่าดู​ มีแต่คนเก่งๆ

By: admire147
AndroidUbuntuWindows
on 30 May 2014 - 18:03 #708741

งี้บนดวงจันทร์ก็เล่น internet ได้เพียงเวลาที่โลกเห็นดวงจันทร์สิครับ และถ้าวันไหนมีพายุบนโลก ก็คงจะหมดสิทธิ์

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 30 May 2014 - 18:21 #708742 Reply to:708741
hisoft's picture

โลกเห็นดวงจันทร์ได้ตลอดเวลาแหละครับถ้าไม่นับเมฆ-พายุบัง ต้องบอกว่าตำแหน่งที่ติดตั้งเครื่องรับ/ส่งสัญญาณเห็นดวงจันทร์ได้มากกว่า

By: admire147
AndroidUbuntuWindows
on 30 May 2014 - 23:21 #708797 Reply to:708742

แต่ที่ New Mexico ไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ได้ตลอดเวลานิครับ แสดงว่าต้องตั้งตัว transceiver ที่ประเทศหรือตำแหน่งอื่นๆบนโลกด้วย ซึ่งในต้นฉบับของข่าวก็ไม่ได้บอกเอาไว้ด้วยสิ

By: watana-design
ContributoriPhone
on 30 May 2014 - 23:48 #708804
watana-design's picture

มีความน่าจะเป็น ว่ามีการเตรียมการไว้นานแล้ว


รับทำเว็บไซต์ ออกแบบเว็บไซต์

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 31 May 2014 - 01:34 #708821 Reply to:708804
hisoft's picture

ต้องทั้งศึกษาทั้งวิจัยกันนานแล้วล่ะครับกว่าจะทำได้ขนาดนี้