Tags:
Node Thumbnail

สำหรับองค์กรในปัจจุบัน สิ่งที่เราเรียกกันว่า BYOD (bring your own device) กำลังกลายมาเป็นความท้าทายที่สำคัญ นั่นก็เพราะสถานะของเครื่องที่ไม่ใช่ของบริษัท แต่ข้อมูลภายในบริษัทบางอย่างก็ไม่สามารถปล่อยให้ออกไปสู่สาธารณะได้ ทำให้มีหลายบริษัทที่มีความพยายามในการนำเสนอโซลูชั่นในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น BlackBerry ที่มีแนวคิดในการเสนอ Personal/Work Space เป็นต้น

Good Technology (ในบทความจะเรียกสั้นๆ ว่า Good) เป็นหนึ่งในบริษัทเหล่านี้ที่นำเสนอโซลูชั่นการจัดการอุปกรณ์ประเภทพกพา (เช่น แท็บเล็ต มือถือ) ให้กับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มของทิศทางของ BYOD ในปัจจุบัน

ความน่าสนใจของ Good อยู่ที่ฐานของลูกค้าของบริษัท ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และองค์กรชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น เช่น กองทัพอากาศสหรัฐ กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐ รัฐบาลออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่ง ธนาคารกรุงเทพ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยโอนย้ายจากผลิตภัณฑ์ของ BlackBerry ไปสู่แพลตฟอร์มอื่นด้วยเช่นกัน

ด้วยฐานลูกค้าและโซลูชั่น ทำให้หนึ่งในผู้เล่นที่สำคัญในตลาด ซึ่งก็คือ BlackBerry ถึงกับต้องเขียนบล็อกเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อโจมตีผลิตภัณฑ์ของ Good ซึ่งมากินตลาดของ BlackBerry อยู่ในปัจจุบัน (และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ) และล่าสุดเพิ่งประกาศเสร็จสิ้นการเข้าซื้อคู่แข่ง BoxTone อย่างเป็นทางการ

ประวัติของ Good

ที่มาที่ไปของ Good นั้นค่อนข้างจะซับซ้อนเล็กน้อย ทั้งในแง่ตัวของบริษัทและในแง่ของตัวละครที่เกี่ยวข้อง เพราะถึงแม้ว่าตัวบริษัทจริงๆ ในปัจจุบันจะเกิดขึ้นเมื่อปี 1996 (พ.ศ. 2539) แต่เอาเข้าจริงแล้ว Good ก่อตั้งเมื่อปี 2000 (พ.ศ. 2543) ในชื่อเดิมว่า SpringThings โดย Dave Whorton ซึ่งมีประวัติการทำงานในบริษัทสำคัญๆ ทั้งที่ Netscape, HP และ Bain & Company โดยในระยะแรกบริษัททำผลิตภัณฑ์เป็นตัวเล่นเพลง MP3 ซึ่งเอาไว้ใช้คู่กับเครื่อง HandSpring Visor ในสมัยนั้น

alt="davewhorton_1292568955_14"

เมื่อผลิตภัณฑ์ตัวแรกออกสู่ตลาด กลับขายได้ไม่ค่อยดีนัก Good เลยหันทิศทางไปพัฒนาระบบในการส่งอีเมล์และข้อความบนมือถือสำหรับองค์กรแทน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ RIM (BlackBerry ในปัจจุบัน) เริ่มให้ความสนใจเช่นกัน ในช่วงเวลานี้ Whorton ได้ดึงตัว Danny Shader เข้ามาร่วมงานและวางแผนพัฒนาแนวคิดดังกล่าว โดยได้เริ่มต้นออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งใช้ร่วมกันระบบของ Good ที่ออกแบบเอาไว้

ในช่วงยุคนี้ของ Good ต้องถือว่าได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ยุคฟองสบู่ดอทคอมแตก มากพอสมควร เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็น ทั้งพนักงาน หรือสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับดำเนินงาน บริษัทสามารถจัดหามาได้ในราคาที่ถูกมากๆ จากบริษัทที่ล้มเลิกกิจการหลายรายในย่าน Sillicon Valley

ตัดภาพกลับไปที่ปี 1996 (พ.ศ. 2539) ในช่วงเวลานั้น อดีตพนักงานกลุ่มหนึ่งของ Javasoft ซึ่งประกอบไปด้วย Chris Zuleeg, Prasad Wagle และ Hong Bui ได้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ Roampage ขึ้น ก่อนที่ในปี 1997 จะเปลี่ยนชื่อเป็น Visto โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์เป็นแพลตฟอร์มบริการทางธุรกิจ (เช่น อีเมล์ ปฏิทิน ฯลฯ) สำหรับอุปกรณ์พกพา โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับองค์กรที่เชื่อมต่อเข้ากับบริการต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือในช่วงเวลานั้น เช่น เข้าถึงเอกสารที่สำนักงานหรือที่บ้านได้ โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ใช้นอกสถานที่ และเมื่อแก้ไขเอกสารบนเครื่องใดก็จะทำการซิงค์กับไฟล์เดียวกันที่อยู่บนเครื่องอื่นๆ (จินตนาการถึง Google Docs ในสมัยนี้)

ด้วยความต้องการขององค์กรในช่วงเวลานั้นเอง ตัวบริษัท Visto ค่อนข้างแข็งแกร่งและมีสำนักงานตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก และมีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมตลาดอยู่ทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และองค์กรขนาดใหญ่ โดยในปี 2003 Visto เข้าซื้อส่วนกิจการด้านอีเมล์ของ Psion บริษัทสัญชาติอังกฤษที่ออกแบบโทรศัพท์มือถือ ทำให้ Visto เริ่มมีผลิตภัณฑ์ในสายดังกล่าวที่ซ้อนทับกับทั้ง RIM และ Good ในช่วงเวลานั้นอย่างชัดเจน

กลับมาที่ Good ซึ่งในช่วงเวลานั้นกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับอีเมล์นั้น ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์และโซลูชั่นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเวลานั้นผลิตภัณฑ์ของ Good สามารถใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์จาก Motorola, Nokia และ Palm ได้ และมีลูกค้าสำคัญอย่าง Morgan Stanley บริษัทด้านการเงินชั้นนำของโลก USPS หรือไปรษณีย์ของสหรัฐ และ Wal-Mart ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

แต่ช่วงนั้นหลายบริษัทหวั่นเกรงถึงความสาเร็จของ RIM/BlackBerry ที่สามารถบุกตลาดองค์กรได้ดีมาก ทำให้ Motorola ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ Good ในช่วงปี 2006 (พ.ศ. 2549) เพื่อเอาไว้ต่อกรกับ RIM โดยตรง ทว่าช่วงเวลาดังกล่าวกลับไม่นานนัก ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาภายในบริษัทโมโตโรลาเอง ทำให้ในที่สุด Motorola ตัดสินใจขาย Good ให้แก่ Visto ในปี 2009 (พ.ศ. 2552)

เมื่อควบรวมกิจการกันเสร็จ Visto จึงประกาศเปลี่ยนชื่อกิจการเป็น Good Technology ตามบริษัทที่เพิ่งซื้อมาทันที และเป็น Good ในปัจจุบันที่ไม่ได้มีที่มาเกี่ยวข้องกับ Good ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 แต่อย่างใด

แนวคิดของ Good

ตั้งแต่ก่อตั้ง (ไม่ว่าจะในสถานะ Good หรือ Visto) ความสำคัญที่ Good มุ่งเน้นเป็นหลัก คือเรื่องของอุปกรณ์พกพา (ในสมัยนั้นก็คือสารพัด Palm, PDA หรือ Windows Mobile) และมีจุดขายหลักอยู่ที่โซลูชั่นที่ตอบสนองการทำงานในระดับองค์กรขนาดใหญ่มากกว่าที่จะตอบโจทย์กับลูกค้าทั่วไปเป็นหลัก

แนวคิดของ Good คือการตั้งคำถามที่ว่า จะมีทางใดหรือไม่ที่จะให้อุปกรณ์พกพาหรืออุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของบริษัท/องค์กร สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือบริการภายในบริษัท/องค์กร โดยพยายามลดความยุ่งยากที่เกิดจาก กระบวนการเชื่อมต่อ VPN (ที่มักจะตามมาด้วยโครงสร้างที่สลับซับซ้อนในการวางระบบเครือข่าย) แต่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลขององค์กร และพยายามสรรหาโซลูชั่นต่างๆ เพื่อมาตอบโจทย์ดังกล่าว

แต่ความแตกต่างของ Good ที่แตกต่างจากคู่แข่งร่วมวงการอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งคือการรวมระหว่างชุดการทำงานร่วมกัน (Collaboration suite) เข้ากับแอพของนักพัฒนารายอื่นด้านนอก โดยสามารถใช้บนทุกแพลตฟอร์ม และตัวระบบของ Good เองก็เปิดรับนักพัฒนาจากภายนอก ให้พัฒนาแอพเข้ากับระบบของ Good มากกว่าที่จะเป็นการเอาแอพมาทำงานในส่วนพิเศษ (container) เฉยๆ แบบที่รายอื่นทำ (ลองดูภาพด้านล่างเพื่อความชัดเจน)

alt="goodstructure"

ดังนั้นระบบของ Good จึงอาศัยความได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องคำนึงถึงแพลตฟอร์ม (platform independent) ของอุปกรณ์ที่จะใช้งาน แต่สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ตัวอย่างอันหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในองค์กรได้ เช่น พนักงาน A ตัดสินใจเปลี่ยนมือถือที่ใช้ iOS ไป Windows Phone ก็จะไม่สูญเสียข้อมูลหรือแอพ อันเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนเครื่องนั่นเอง ลองดูวิดีโอด้านล่างประกอบครับ

ผลิตภัณฑ์ของ Good

Good มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยจะแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็นสองระดับชั้น คือ Applications และ Platform ที่เอาไว้ควบคุมผลิตภัณฑ์ระดับแรกอีกที โดยผลิตภัณฑ์หลักประกอบไปด้วย

  • Good For Enterprise (GFE) ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท โดยควบคุมกระบวนการของข้อมูลในบริษัททั้งหมด (information workflow) ให้อยู่ในแพตฟอร์มที่ให้ความปลอดภัยสูงในระดับทางการทหาร (defense grade security) ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ ภาพถ่าย ตารางนัดหมาย รายชื่อ หรือแม้กระทั่งการเข้าข้อมูลผ่านเว็บไซต์ (ลองดูวิดีโอด้านล่างประกอบ)

  • Good Pro เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่กำลังจะออกสู่ตลาด ลักษณะเหมือนกับ GFE แทบจะทุกประการ เพียงแต่อยู่บนคลาวด์ที่ Good เป็นผู้ให้บริการ
  • Good Share เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาสำหรับการแบ่งปันไฟล์ภายในองค์กรที่ต้องการความปลอดภัยสูง โดยสามารถทำงานร่วมกับ Microsoft SharePoint ได้
  • Good Connect เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไว้สำหรับส่งข้อความหรือติดต่อกันภายในองค์กร (แบบเดียวกับ Microsoft Lync)
  • Good Access เป็นเว็บเบราเซอร์ที่มีความปลอดภัยสำหรับองค์กรในการเข้าถึง โดยใช้วิธีเข้ารหัสทั้งหมดในการเข้าถึง

ผลิตภัณฑ์หลักทั้งหมดนี้ของ Good จะถูกเรียกว่า Good Collaboration Suite ซึ่งจะทำงานร่วมกับแอพจากผู้ผลิตอื่นๆ ซึ่งจะเป็นแอพพิเศษที่ถูกทำขึ้นสำหรับ Good เป็นการเฉพาะ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะถูกห่อหุ้มโดยส่วนที่เรียกว่า Platform ของ Good ซึ่งประกอบไปด้วย

  • Mobile Device Management (MDM) เป็นเครื่องมือบริหารและจัดการกับอุปกรณ์พกพาที่อยู่ในระบบของบริษัททั้งหมด
  • Mobile App Containerization เป็นเครื่องมือบริหาร/ควบคุมนโยบาย ในการกำหนดว่าแอพใดจะมีสิทธิเข้าถึงและใช้งานข้อมูลภายในของบริษัท (แบบเดียวกับ Personal/Workspace ของ BlackBerry)
  • Enterprise App Store แอพสโตร์สำหรับองค์กรโดยเฉพาะ ซึ่งมีไว้สำหรับการแจกจ่ายแอพให้กับอุปกรณ์ภายในองค์กร
  • Mobile Application Management ไว้สำหรับจัดการแอพที่ถูกควบคุมโดยฝ่ายไอทีหรือฝ่ายบริหารของบริษัทเป็นการเฉพาะ
  • Mobile App Analytics เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์การใช้งานแอพต่างๆ ภายในองค์กร ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นสำหรับทิศทางการใช้งาน
  • Mobile Service Management เป็นเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาให้กับฝ่ายไอทีในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น

โดยทั้งหมดจะสามารถใช้งานได้ทั้งบนคลาวด์หรือผ่านระบบเครือข่ายของบริษัทตามปกติก็ได้ ซึ่งสำหรับผู้ใช้งานแล้วจะสามารถอาศัยความสามารถที่สามารถลงชื่อเข้าใช้งานเพียงครั้งเดียวได้ โดยไม่ต้องลงชื่อเข้าใช้กับระบบภายในบริษัทให้ซ้ำซ้อน และทั้งหมดนี้อาศัยเฟรมเวิร์คชุดเดียวกันทั้งหมด ทำให้การพัฒนาเพื่อต่อยอดสามารถทำงานได้รวดเร็วและมีความยืดหยุ่นสูงมาก ลองดูตัวอย่างจากวิดีโอด้านล่างนี้เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น (ในกรณีนี้คือ Box บน Good และเครื่องมือจัดการอุปกรณ์พกพา)

ในสภาพการขายจริง Good ตระหนักดีว่าองค์กรมีหลากหลายขนาดและความต้องการแตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงมีระดับการขาย ที่ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์เดี่ยว อย่าง Good Pro, Good For Enterprise หรือขายเป็นชุดผลิตภัณฑ์ คือ Good Collaboration Suite และขายเป็นโซลูชั่นทั้งหมดคือ Good Secure Mobility Solution

ผลิตภัณฑ์ของ Good ทั้งหมดในตอนนี้ยังคงจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับมิดเดิลแวร์อื่นๆ ภายในองค์กร เช่น Microsoft Exchange, Lotus Notes เป็นต้น

เนื่องจาก Good เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าองค์กร/ภาคธุรกิจ เป็นหลัก เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์ของ Good ไม่ชัดเจนในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจเหล่านี้เป็นองค์กรที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูลสูงมาก เช่น ภาคการเงิน หรือหน่วยงานความมั่นคง แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ความคล่องตัวกับเจ้าหน้าที่/พนักงานในองค์กรด้วยเช่นกัน ทำให้กำลังซื้อจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับองค์กรเหล่านี้

ลูกค้าของ Good ที่สำคัญก็เช่น กองทัพอากาศสหรัฐ รัฐบาลออสเตรเลีย กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐ บริษัทประกันภัย Nationwide หน่วยงานวิจัยขั้นสูงของกองทัพสหรัฐ (DARPA) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ (AT&T, Vodafone) ส่วนของประเทศไทยนั้น องค์กรที่ใช้ Good อย่างเป็นทางการและเป็นที่เปิดเผยคือ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งใช้งาน Good for Enterprise ภายในองค์กร

อย่างไรก็ตามต้องถือว่า ความเคลื่อนไหวของ Good ที่จะเข้ามาสู่ตลาดขององค์กรในระดับล่างผ่าน
ผลิตภัณฑ์อย่าง Good Pro ที่กำลังจะออกมาเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจอย่างมาก นั่นก็เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำงานร่วมกับระบบคลาวด์อย่างอื่นได้ เช่น Microsoft Office 365 สำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีเซิร์ฟเวอร์เฉพาะทางตั้งอยู่ที่บริษัทลูกค้าแล้วใช้ Microsoft Exchange อีกต่อไป ซึ่งจะกลายมาเป็นหมากสำคัญ ในการต่อกรกับคู่แข่งอย่าง BlackBerry ที่กำลังเสียฐานที่มั่นอย่างหนักอยู่ในเวลานี้

อ้างอิง

Get latest news from Blognone

Comments

By: nuntawat
WriterAndroidWindowsIn Love
on 3 April 2014 - 08:08 #692653
nuntawat's picture
  • Bring สะกดด้วยตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด
  • หลังไม้ยมกเว้น 1 เคาะ
By: nrad6949
WriterAndroidBlackberryWindows
on 4 April 2014 - 10:03 #692938 Reply to:692653
nrad6949's picture

ดำเนินการแล้วครับ


I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.

By: PaPaSEK
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 4 April 2014 - 09:29 #692926
PaPaSEK's picture

อ่านตั้งแต่เมื่อคืนครับ ยอมรับเลยว่าผู้เขียนทำการบ้านมาดีมาก ขยันดีครับ ชอบตอนตัดกลับไปมา ยังกะดูหนัง

ปล. MDM กว่าจะปรากฏ definition นี่ช้าไปนิดครับ ผมไล่อ่านอยู่นานกว่าจะรู้ว่าคืออะไร

By: nrad6949
WriterAndroidBlackberryWindows
on 4 April 2014 - 10:00 #692936 Reply to:692926
nrad6949's picture

ขอบพระคุณครับ ส่วนเรื่อง MDM ตามนี้เลยครับ


I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.

By: PaPaSEK
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 4 April 2014 - 10:41 #692948 Reply to:692936
PaPaSEK's picture

ขอบคุณจ้า

By: manster
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 4 April 2014 - 12:23 #692976
manster's picture

ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจริงๆ 555

เพิ่งเคยเห็นเหมือนกัน ซื้อบริษัทมาแล้วเปลี่ยนชื่อตัวเองตามบริษัทลูก เหมือนโดนซื้อยังไงก็ไม่รู้

By: kenoneo
iPhone
on 5 April 2014 - 11:32 #693223
kenoneo's picture

ขอบคุณครับ