Tags:
Node Thumbnail

วันนี้อินเทลประเทศไทยจัดงาน Intel Technology and Business Update 2014 สรุปความเคลื่อนไหวของอินเทลทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ (ที่รวมข้อมูลจากบริษัทแม่มาสรุปให้ฟัง) และทิศทางธุรกิจในบ้านเรา โดยคุณสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของอินเทลประเทศไทย (แต่อยู่กับอินเทลมานาน) เป็นคนบรรยายด้วยตัวเอง

ผมคิดว่าการบรรยายวันนี้สรุปให้เห็นทิศทางของอินเทลที่สะท้อนไปถึงตลาดพีซี อุปกรณ์พกพา และเซิร์ฟเวอร์ได้ดีพอสมควร จึงถ่ายรูปมาเยอะหน่อยนะครับ

คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง

เริ่มต้นที่คำถามว่า "อินเทลคือใคร" ปัจจุบันอินเทลมีพื้นที่อยู่ 3 แห่งในอุตสาหกรรมไอที

  • ไคลเอนต์/อุปกรณ์ฝั่งผู้ใช้ (Smart Devices) ทั้งพีซี แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน อุปกรณ์พกพา
  • ศูนย์ข้อมูลและกลุ่มเมฆ (Data Center and Cloud) หมายถึงผลิตภัณฑ์สายเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมด
  • เครือข่าย (Network) อินเทลมีผลิตภัณฑ์ด้านชิปเครือข่ายบ้างเหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยเยอะนักและคนยังไม่ค่อยรู้จัก

สิ่งที่บรรยายในวันนี้ สนใจเฉพาะ 2 ใน 3 วงการ นั่นคือฝั่งไคลเอนต์และฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (ปัจจุบันเรียกเป็น data center) แล้วปิดท้ายด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ของอินเทลประเทศไทย

ไคลเอนต์

เดิมทีอินเทลมีสินค้าเฉพาะโน้ตบุ๊กและพีซีเดสก์ท็อป แต่ปี 2014 จะเริ่มบุกตลาดแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนอย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่ "ประมวลผลได้" (compute) และ "ต่อเน็ตได้" (connect) อินเทลลุยหมด

เดสก์ท็อปพีซี

เริ่มจากพีซีก่อน สินค้าของอินเทลในสายพีซีก็ชัดเจนว่าประกอบด้วยกลุ่ม Core, Pentium, Celeron และ Atom

ตลาดเดสก์ท็อปพีซีอยู่ตัวมานาน มีหน้าตาแบบเดิมๆ มานับสิบปี แต่ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา สินค้าสายเดสก์ท็อปมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเยอะในหลายทิศทาง

คำตอบหนึ่งของอินเทลในตลาดเดสก์ท็อปคือเรื่องขนาด เราสามารถลดขนาดคอมพิวเตอร์แบบ tower ในอดีตลงมาเป็นพีซีขนาดเล็กได้ และอินเทลมี NUC ที่ใส่ซีพียูระดับสูงถึงขั้น Core i7 ได้ด้วย

ในแง่ของเทคโนโลยีอื่นๆ อินเทลก็เตรียมไว้อีกชุดใหญ่

  • ฝั่งการป้อนข้อมูลด้วยกล้อง เสียง สัมผัส อยู่ในชุด Intel RealSense ที่เปิดตัวไปแล้ว และสินค้าจริงเริ่มขายปีนี้
  • Wireless Display ก็เริ่มทำตลาดแล้ว
  • จีพียูตระกูล Iris ลงเดสก์ท็อปปีนี้ หลังจากเปิดในบนโน้ตบุ๊กเมื่อปีที่แล้ว

เทคโนโลยีอีกตัวที่เพิ่งเปิดตัวมาสดๆ คือ Intel Ready Mode (ข่าวเก่า) ช่วยให้พีซีเดสก์ท็อปสแตนด์บายได้ดีขึ้น สามารถรับสายเข้าหรือสตรีมไฟล์ได้ ลักษณะจะคล้ายการสแตนด์บายของแท็บเล็ต

ในแง่ผลิตภัณฑ์ เตรียมพบกับ Core i7 รุ่น Extreme Edition ในครึ่งหลังของปีนี้ รองรับแรม DDR4 สำหรับคนชอบของแรง

แฟนรุ่นเก่าอาจสนใจตัวนี้ Pentium รุ่นพิเศษฉลองอายุครบ 20 ปี (Intel Pentium Anniversary Edition) ออกช่วงกลางปีนี้

แต่พระเอกตัวจริงคือ 5th Gen Intel Core หรือที่เราเรียกกันตามรหัสว่า Broadwell จุดเด่นคือจะเริ่มใช้จีพียู Iris Pro บนเดสก์ท็อปแล้ว เจอกันช่วงปลายปี

โน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต

สายผลิตภัณฑ์ของอินเทลในส่วนของโน้ตบุ๊ก, แท็บเล็ต, ไฮบริด (อินเทลเรียก 2-in-1) จะสับสนเล็กน้อย แต่ดูตามภาพครับ

  • แท็บเล็ต: ใช้ซีพียู BayTrail-T ซึ่งใช้ชื่อการค้าว่า Atom
  • 2-in-1 รุ่นกลาง: มีทั้งซีพียู BayTrail-M และ Haswell โดยชื่อการค้ามีทั้ง Celeron, Pentium และ Core (i3/i5)
  • อัลตร้าบุ๊กจอสัมผัส: จะใช้ Haswell ทำตลาดด้วยแบรนด์ Core เพียงอย่างเดียว

อินเทลยอมรับว่าที่ผ่านมายังอ่อนด้อยในตลาดแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน แต่สินค้าตัวล่าสุดทำให้อินเทลพร้อมเต็มที่ในการลุยศึกแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนในปีนี้

  • หน่วยประมวลผล 64 บิตเป็นรายแรก รองรับทั้ง Windows/Android
  • ใช้งานได้กับอุปกรณ์หลากหลายชนิดและขนาด

สมาร์ทโฟน

แผนผังอันนี้สำคัญครับ เป็นโรดแมปสายอุปกรณ์พกพาของอินเทลในปี 2014 และ 2015 ดูแล้วจะเข้าใจการตลาดของอินเทลมากขึ้น

  • เริ่มจากปัจจุบัน อินเทลเพิ่งออก Atom Merrifield และ Moorefield ที่รองรับทั้ง 64 บิตและ LTE โดยสินค้าจริงเตรียมวางขายแล้ว (Merrifield = ดูอัลคอร์, Moorefield = ควอดคอร์)
  • ช่วงปลายปี 2014 เราจะเห็นชิปตระกูล SoFIA ของอินเทล ที่รวมแผงวงจรที่สำคัญเอาไว้บนแผ่นเดียว กลุ่มเป้าหมายคือมือถือราคาต่ำกว่า 3,000 บาท!
  • จากนั้นจะเป็น Atom Cherry Trail ช่วงปลายปี 2014 และ Atom "Broxton" ตอนกลางปี 2015

อินเทลไม่ได้ทำแค่หน่วยประมวลผล แต่มีชิปสื่อสาร LTE ด้วย โดยชิปตระกูล XMM 7160 วางจำหน่ายไปแล้ว (ข่าวเก่า) และจะตามด้วย LTE 7260 ตัวอัพเกรดที่พัฒนาขึ้น รองรับ LTE Cat 6 300Mbps และรองรับความถี่ของ LTE เกือบทั่วโลกในชิปตัวเดียว

ศูนย์ข้อมูล

ฝั่งของเซิร์ฟเวอร์ ศูนย์ข้อมูล และกลุ่มเมฆ ก็มีทิศทางที่น่าสนใจ 3 ด้านคือ Cloud, Big Data, Internet of Things

ส่วนของ Big Data ชัดเจนว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่

ฝั่งของ cloud นั้นอินเทลมองว่ามันเป็นส่วนขยายของศูนย์ข้อมูลอีกที ไล่มาตั้งแต่การยุบรวมเซิร์ฟเวอร์, การเปลี่ยนมารันงานแบบ virtualization ก่อนจะขยับมาเป็น cloud โดยสุดท้ายแล้วเราก็ต้องมีทั้ง private/public cloud ไปพร้อมๆ กัน

สินค้าฝั่งเซิร์ฟเวอร์คงไม่มีอะไรหวือหวามากนัก หน่วยประมวลผลตัวท็อปๆ ที่เป็นพระเอกในรอบนี้คือ Xeon E7-4800 v2 เป้าหมายคือเพิ่มสมรรถนะให้เยอะๆ เพื่อลดจำนวนเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องใช้ลง ค่าไลเซนส์ของซอฟต์แวร์ที่คิดตามจำนวนเซิร์ฟเวอร์จะได้ลดลง และประหยัดค่าไฟลงด้วย

รุ่นรองลงมาหน่อยก็มี Xeon E5-2600 v2

เรื่อง Big Data อินเทลก็มีผลิตภัณฑ์รองรับการทำงานในทุกมิติ

  • การประมวลผล ซีพียูทั้ง Xeon, Atom, Xeon Phi
  • เครือข่าย อินเทลมีผลิตภัณฑ์ด้านเครือข่าย Ethernet ตามในภาพ
  • สตอเรจ อินเทลมีผลิตภัณฑ์ด้านสตอเรจอยู่แล้ว และมีสินค้าที่โดดเด่นคือ SSD ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี
  • ซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์พื้นฐานสำหรับงานประมวลผลข้อมูล เช่น Lustre, VT/TXT, Hadoop, Node Manager

ยุทธศาสตร์การทำตลาดในประเทศไทย

แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  1. ผลิตภัณฑ์ คงตลาดโน้ตบุ๊กไว้ไม่ให้ตกลง ขยายตลาดเดสก์ท็อปขึ้น (ขายดีเพราะเกมเมอร์, คนซื้อพีซีเครื่องแรก) และลุยตลาดอุปกรณ์พกพาแบบสุดตัว
  2. ช่องทางจำหน่าย จะเน้นขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าตระกูลมือถือให้มากขึ้น
  3. โปรโมชั่น เดี๋ยวจะมีโปรโมชั่นลดราคาแบบจำกัดเวลาชื่อ Blue Friday และ Golden Week ออกมาให้เห็น

ขยายความเรื่องช่องทางจำหน่ายครับ เดิมทีอินเทลมีช่องทางการขายสินค้าพีซีและโน้ตบุ๊กที่กว้างขวางมาก แต่พอในยุคสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่งเรือง ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อสมาร์ทโฟนผ่านร้านไอทีอย่าง Banana IT หรือ IT City แต่ซื้อผ่านร้านมือถือแบบ Jaymart, TG Fone, ร้านตู้, ร้านของโอเปอเรเตอร์ ดังนั้นอินเทลก็ต้องมาเจาะตลาดนี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น

ในช่วงถาม-ตอบ ผมถามว่าอินเทลมีแผนจะนำสินค้ากลุ่ม Quark เช่น Edison พีซีใน SD card หรือ Galileo เมนบอร์ดขนาดจิ๋ว เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยด้วยหรือไม่ คำตอบคือยังไม่ทำตลาดในเชิงพาณิชย์ แต่ถ้าสถาบันการศึกษาใดสนใจนำไปทดสอบก็ยินดีประสานงานให้

สินค้าอินเทล

ปิดท้ายด้วยสินค้าที่อินเทลนำมาโชว์ในงานครับ ถ่ายมาเฉพาะของแปลกๆ ที่น่าจะหาได้ยากตามร้านค้าทั่วไป

เริ่มจาก Studybook แท็บเล็ตแบรนด์อินเทลเองที่เน้นตลาดการศึกษา (ข่าวเก่า) เป็นแอนดรอยด์ลงแอพด้านการศึกษา มีปากกาในตัว แท็บเล็ตเน้นแนวทนทาน ขอบโค้งมน

มันต่ออุปกรณ์เสริมพวกกล้องจุลทรรศน์ได้ด้วย แต่ในงานไม่ได้เอามาโชว์

ด้านหลัง

โน้ตบุ๊กสาย Toughbook ของ Panasonic เบากว่าที่คิด

แท็บเล็ต Toughpad ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2013 เครื่องไม่หนักมากแต่หนาและบึกบึนมากจริงๆ

VAIO Fit สินค้าตระกูลพิสดาร (ข่าวเก่า) มันเป็นโน้ตบุ๊กที่พลิกจอไปมาได้ทั้งสองด้าน เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต

เป้าหมายขั้นสุดท้ายของอินเทลคงเป็นคำนี้ "ต้องมีซีพียูอินเทลอยู่ภายใน"

Get latest news from Blognone

Comments

By: sakura
ContributorWindows PhoneSymbian
on 27 March 2014 - 19:00 #690873

อยากให้ Broadwell ตัวที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 14 นาโนเมตร มาเร็ว ๆ ครับ

น่าจะประหยัดไฟขึ้นเยอะ เอามาใช้ในโน๊ตบุ๊คและแท็บเล็ตแจ่มเลย

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 27 March 2014 - 19:11 #690877
panurat2000's picture
  • เครือข่าย อินเทลมีผลิตภํณฑ์ด้านเครือข่าย Ethernet ตามในภาพ

ผลิตภํณฑ์ => ผลิตภัณฑ์

By: Be1con
ContributorWindows PhoneWindowsIn Love
on 27 March 2014 - 21:54 #690897
Be1con's picture

เย้!! Broadwell มาปลายปี XPS 15 ไม่ตกรุ่นก่อนกำหนด!!!


Coder | Designer | Thinker | Blogger

By: nottoscale
Windows Phone
on 27 March 2014 - 21:51 #690909

ถ้าไม่มีคู่แข่งที่ยอดเยี่ยมคงไม่มาเร็วอย่างนี้อิอิ

By: deaw on 28 March 2014 - 00:20 #690952
deaw's picture

intel inside ไม่ได้ยินมานานจากสื่อทีวี

By: je901
iPhoneAndroidWindows
on 28 March 2014 - 09:08 #691001

gen 5 มาปลายปี งั้นตอนนี้ก็ซื้อ gen 4 ไปเลยละกัน ขี้เกียจรอละ

By: laner
Windows
on 28 March 2014 - 19:55 #691208 Reply to:691001
laner's picture

สถาปัตยกรรม Cor I Generation 4 (Gen 4) อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรม เป็นจังหวะ Tick ส่วน Gen 5 คือการปรับปรุงสถาปัตยกรรมของ Gen 4 ให้มีขนาดของได(Die Shrink) ให้มีขนาดลดลงจาก สมมติว่า 22 นาโนเมตเตอร์ เป็น 14 นาโนเมตเตอร์ จาก G4 Haswell เป็น G5 Broadwell มีประสิทธิภาพกว่าเดิมประมาณ 25% ตามมาตรฐานทั่วไป เป็นจังหวะ Tock

ถ้าไม่คิดว่าค่าไฟคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ ซื้อได้เลยครับ แรงไม่ตางกันมาก เพราะถึงอย่างไรเสีย AMD ก็ยังตามไม่ทัน

Note.

ข้อสำคัญของ G4 และ G5 คือ ต่างถูกปรับปรุงการทำงานของ L3 แคชใหม่ให้สามารถทำงานเป็นอิสระจาก CPU ได้โดยตรง ไม่ต้องหน่วงการทำงานตาม ความเร็ว CPU เหมือน G2 & G3 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาคอขวด เพราะสถาปัยกรรม G4&G5 จะใช้หลักการทำงานของ L3 แคช เช่นเดียวกับ G1 Nehalem เจ้าของตำนาน Socket LGA 1366 นั่นเอง ซึ่งสามารถทำงานได้ โดยทั้งที่ CPU กำลังทำงานช้าอยู่ ทำให้ส่วนติดต่อส่งผ่านข้อมูลต่าง ๆ ของระบบ ทำงานผ่าน L3 แคช ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

พูดง่าย ๆ ก็คือ L3 แคชสามารถเซ็นอนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่ ส่วนกลางมอบหมายไว้แล้วได้เลย โดยไม่ต้องยื่นเรื่องให้ส่วนกลางพิจารณาอีกรอบ ทำให้ผู้ติดต่อกับหน่วยงาน L3 ไม่ต้องรอ หน่วยงาน L2 L1 และ CPU ส่วนกลางให้พิจารณาอีกที นั่นเอง (หรือโดยภาษาชาวบ้านคือ ไม่ถามสุขภาพสักคำ สมัครได้เลยประกันภัยเราจัดให้ ก็ประมาณนี้)

By: nat3738
ContributorAndroidRed HatUbuntu
on 31 March 2014 - 09:25 #691637 Reply to:691208

เอ่อ ย่อขนาดเป็น tick สถาปัตยกรรมใหม่ เป็น tock นะครับ