Tags:
Node Thumbnail

โลกของซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีเริ่มหมุนไปรับมือกับสิ่งที่เรียกว่า big data กันมากขึ้น ทำให้บทบาทของ data scientist’ หรือคนที่ทำหน้าที่เอาข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลเพื่อที่จะสร้างการคำนวณและวาดแนวโน้มได้อย่างแม่นยำ กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นเช่นกัน

ในระยะหลังเราพบเห็นบรรดานักประมวลผลข้อมูลเหล่านี้เริ่มจัดตั้งบริษัท แสวงหาเงินทุน และนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมือที่เป็นไปในลักษณะโซลูชั่น หรือชุดของการบริการที่มุ่งจะตอบโจทย์ของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้อย่างเต็มที่

Palantir เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มที่ว่านี้ (ที่เราอาจจะยังไม่รู้จักกับมันนัก) นั่นก็เพราะความใหม่ในเชิงแง่ของแนวคิดอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าแล้วส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือเป็นบริษัทที่ทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับ Big Data ที่ตอบโจทย์ของหน่วยงานภาครัฐ/หน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก (ซึ่งอยู่ห่างไกลจากชีวิตเรามาก) แต่หากพิจารณาถึงการได้ทุนสนับสนุนครั้งล่าสุดที่ 9 พันล้านบาทแล้ว ก็นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ที่มาที่ไปของ Palantir

Palantir เกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาอดีตพนักงาน Paypal จำนวนหนึ่ง (ซึ่งในนี้มี Peter Thiel ผู้ให้เงินลงทุนกับบรรดาบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Facebook) และบรรดานักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2005 (พ.ศ.2548)

ที่มาของชื่อ Palantir มาจากนวนิยาย Lord of The Rings มันเป็นลูกแก้ววิเศษที่พ่อมดขาวซารูมานเอาไว้ใช้สำหรับส่องหรือทำนายอนาคต (ถ้าเราเคยเห็นตามการ์ตูนในอดีตคงจะพอนึกภาพออก และความชอบส่วนตัวของ Thiel ในเรื่อง Lord of The Rings ก็มีผลไปถึงการตกแต่งภายในบริษัทหรือกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย) ส่วนซีอีโอของ Palantir คือ Alexander Karp ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านทฤษฎีสังคมวิทยาและปรัชญาจากเยอรมนี (คนคุมวิทยานิพนธ์คือนักปรัชญาชื่อดัง Jurgen Habermas และเขียนเป็นภาษาเยอรมัน)

แม้จะมี Peter Thiel หนึ่งในเจ้าพ่อของวงการสตาร์ทอัพของอเมริกาเป็นผู้ก่อตั้ง แต่บริษัทที่เข้ามามีบทบาทในการให้เงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมคือ In-Q-Tel ที่เป็นหน่วยงานลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ของสำนักงานหน่วยข่าวกรองกลางของรัฐบาลสหรัฐ (CIA: Central Intelligence Agency) บทบาทของ In-Q-Tel ในส่วนนี้ทำให้ Palantir มีความแนบแน่นกับรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่แรก

แนวคิดของ Palantir

โจทย์ของ Palantir ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ทำอย่างไรจะสามารถรักษาสมดุลของความเป็นส่วนตัวกับการป้องกันภัยหรือตรวจหาแนวโน้มของความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะแนวคิดทางความมั่นคงแบบเดิมๆ จะยอมสูญเสียความเป็นส่วนตัวเพื่อแลกกับการที่รัฐจะสอดแนมหรือได้รับข้อมูลมากขึ้น

แนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 9/11 เนื่องจาก Peter Thiel มีความเชื่อแบบเสรีนิยมสุดโต่ง (Libertarian เป็นแนวคิดที่ไปไกลกว่า Liberalism ถ้าให้อธิบายอย่างสั้นที่สุดคือ แทบจะให้รัฐอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ภาคเอกชนจะจัดการตัวเอง) เขามองว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างความเป็นส่วนตัวกับการปกป้องประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องหาทางออกได้ และทางออกคือการดึงเอาเทคโนโลยีไอทีมาประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลให้มากขึ้นนั่นเอง

กลุ่มลูกค้าของ Palantir ในระยะแรกเป็นหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงและสืบสวนสอบสวนทั้งหลาย ซึ่งต้องการระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูง (แน่นอนว่าเพื่อให้ทันต่อการป้องกันเหตุร้าย) ลูกค้ารายใหญ่คงไม่ใช่อื่นไกลแต่เป็น CIA ซึ่งลงทุนอยู่ใน Palantir นั่นเอง (ส่วนเรื่องกำลังซื้อนั้นเราคงไม่จำเป็นต้องพูดถึง เพราะมีมหาศาลอย่างแน่นอน)

แต่ในระยะต่อมาฐานของลูกค้าได้ขยายไปจากกลุ่มตลาดของภาครัฐเข้าไปสู่หน่วยงานจำพวกสถาบันทางการเงินที่ต้องการระบบวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะเดียวกัน เพื่อตรวจหาการกระทำที่ทุจริตไปจนถึงความพยายามในการโจมตีสถาบันทางการเงินด้วยวิธีต่างๆ

ผลิตภัณฑ์ของ Palantir เป็นแพลตฟอร์มที่มาจากชุดของแอพพลิเคชัน/โปรแกรม สำหรับการจัดการข้อมูลและหาแนวโน้ม แบ่งได้เป็นสองตัวหลักๆ คือ Gotham และ Metropolis

Gotham

ตัวแรกคือ Gotham เป็นชุดแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาสำหรับหน่วยงานภาครัฐและความมั่นคง ในชุดจะประกอบไปด้วย

  • Palantir Workspace ที่เป็นโปรแกรมไว้สำหรับค้นหาข้อมูลและสร้างโมเดลออกมา (เป็นส่วนที่เราจะใช้งานมันมากที่สุด และถือเป็นส่วนงานหน้าบ้าน (front office) ที่เราจะมีปฏิสัมพันธ์)
  • Phoenix ที่เป็นตัวจัดการข้อมูลและเอนจิ้นในการวิเคราะห์
  • Dynamic Ontology ที่จะเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยการกำหนดถึงคุณสมบัติ (properties) ของข้อมูลต่างๆ
  • Raptor ที่ไว้สำหรับค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลหลายชุด
  • Nexus Peering ที่ไว้สำหรับการแบ่งปันข้อมูล
  • Revisioning Database ที่เอาไว้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล
  • Horizon ที่จะเป็นตัวค้นหาข้อมูลต่างๆ

ซอฟต์แวร์ทั้งหมดจะถูกกำกับโดยระบบติดตามเพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีการละเมิดความเป็นส่วนบุคคล และจะใช้งานได้ในสถานการณ์แบบออฟไลน์ได้ด้วยผ่าน Palantir Forward (แบบเดียวกับ Caching) หรือในมือถือผ่าน Palatir Mobile (ลองดูคลิปการทำงานด้านล่าง)

ตัวอย่างของแพลตฟอร์มแบบแรกคือเว็บไซต์อย่าง AnalyzeThe.US ที่อาศัยความได้เปรียบของข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้วของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (เช่น data.gov) ในการวิเคราะห์แนวโน้มหรือความเชื่อมโยงของข้อมูลต่างๆ ตัวอย่างเช่นภาพด้านล่างที่ผมทดลองหาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทไมโครซอฟท์ และเมื่อเจอว่าความสัมพันธ์มีกับรัฐบาลของสหรัฐ ผมเองสามารถเรียกข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องต่อกันได้ เช่น รัฐบาลสหรัฐสัมพันธ์กับหน่วยงานไหนบ้าง และถึงขั้นดูเอกสารได้ว่าแต่ละหน่วยงานมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร

alt="001"

alt="002"

alt="003"

หากภาพยังไม่ชัดเจน ลองดูวิดีโอการทำงานประกอบครับ

ตัวอย่างของการเอาไปใช้งานจริง เช่น การวิเคราะห์การโจมตีหรือความเคลื่อนไหวของฝั่งตรงข้าม อย่างเช่นกรณีของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา (Maoism คือคนที่เชื่อหรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางของ เหมา เจ๋อตง อดีตผู้นำสูงสุดของจีน) ในอินเดีย ที่มีการใช้โดยประยุกต์เข้ากับแผนที่ เป็นต้น

Metropolis
อีกตัวหนึ่งคือ Metropolis (ชื่อเดิมคือ Palantir Finance) ที่แต่เดิมเน้นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลในสายของการเงินและการธนาคารเป็นหลัก แต่ปัจจุบันถูกนำมาปรับใช้กับสายงานอื่นๆ เช่น การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น การดึงข้อมูลพิจารณาและบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหรือความเป็นไปได้ ซึ่ง Metropolis นั้นเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นกับแบบชัดเจนเท่า Gotham ที่มีเว็บไซต์ให้ลองเล่นและเข้าใจในแนวคิด (แต่ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน) ลองดูวีดีโอโครงสร้างของ Metropolis ได้ครับ

ในชุดของ Metropolis ประกอบไปด้วย

  • ภาษาโปรแกรม Hedgehog ที่วางพื้นฐานมาจากภาษา Java แต่ถูกปรับให้รองรับกับข้อมูลจำนวนมากๆ และใช้งานได้ง่าย (ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมกันได้)
  • Templates ที่เอาไว้สำหรับค้นหาข้อมูลจากรายงานต่างๆ ทางการเงิน แล้วนำมาสร้างเป็นรายงานอีกทีหนึ่ง
  • Prism ที่เอาไว้รวมข้อมูลหลายชุดเข้าด้วยกัน
  • Explorer ที่เป็นเหมือนหน้าบ้านของ Metropolis ในการเข้าไปดูข้อมูลและให้แสดงผล (แบบเดียวกับ Workspace ของ Gotham)

สิ่งที่ Palantir ขายนั้นไม่ใช่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นโซลูชั่นที่เกิดจากการผสานผลิตภัณฑ์ทั้งสองให้ลูกค้าใช้งาน และยังออกแบบโซลูชั่นแบบพิเศษให้กับลูกค้าที่ต้องการโซลูชั่นเฉพาะทางด้วยเช่นกัน โดยโซลูชั่นของ Palantir นั้นครอบคลุมและใช้งานได้หลากหลายแบบและในหลากกลุ่มอุตสาหกรรม

ข้อมูลของบริษัท Palantir นั้นมีไม่ค่อยมากและไม่ชัดเจน คงเพราะสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ตั้งแต่เริ่มต้นบริษัท และกลุ่มลูกค้าเองก็เน้นความลับทางธุรกิจ

แต่จุดที่น่าสนใจคือ Palantir กลับได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากและบ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มในอนาคตของเทคโนโลยีในภาคธุรกิจจะมุ่งไปในทิศทางนี้มากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีภาพของการเป็นองค์กรซึ่งมีวัฒนธรรมแบบสตาร์ทอัพและเป็นโลกทางด้านไอที เช่น เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นมาก มีห้องหรือกิจกรรมให้ผ่อนคลายในบริษัท และทุกปีจะมีกิจกรรมพักร้อนของบริษัทที่เรียกว่า ‘HobbitCon’

ใช่ว่าความลึกลับของ Palantir จะรอดพ้นจากเรื่องอื้อฉาวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ (ต้องไม่ลืมว่านอกจากเงินลงทุนบางส่วนจะมาจาก CIA แล้ว ที่ปรึกษาของบริษัทก็มีทั้งคนอย่างอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอย่าง Condoleezza Rice หรืออดีตผู้อำนวยการของ CIA อย่าง David Petraeus) เมื่อ Palantir และอีกสองบริษัท ถูกร้องขอจากบริษัท Hunton & Williams ให้ช่วยทำแผน ‘ตอบโต้’ กับกรณีของ WikiLeaks และโซลูชั่นของ Palantir ถูกวางแผนที่จะนำเอามาใช้ด้วย แต่ความแตกเสียก่อน และทำให้บริษัทต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณะเป็นการใหญ่ เรื่องดังกล่าวจึงกลายเป็นหนึ่งใน ‘แผล’ ติดตัวของบริษัทมาจนทุกวันนี้

อ้างอิง

Get latest news from Blognone

Comments

By: gotobanana
iPhoneAndroidBlackberrySymbian
on 16 March 2014 - 13:36 #688005
gotobanana's picture

คล้ายๆ software ที่ตำรวจ ไทย เอาตรวจจับคนร้ายเลย

By: EThaiZone
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 16 March 2014 - 20:31 #688076 Reply to:688005
EThaiZone's picture

เคยมีด้วยเหรอครับ?


มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ GIF ให้มีขนาดน้อยกว่า 20kB

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 16 March 2014 - 16:43 #688031
panurat2000's picture

สตาร์ทอัพ ?

สตาร์ตอัพ ?

ทฤษฏี => ทฤษฎี

เป็นการยกใหญ่ => เป็นการใหญ่ / ยกใหญ่

By: nrad6949
WriterAndroidBlackberryWindows
on 16 March 2014 - 20:16 #688068 Reply to:688031
nrad6949's picture

แก้ไขตามที่แนะนำแล้วนะครับ


I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.

By: Virusfowl
ContributorAndroidSymbianWindows
on 19 March 2014 - 13:08 #688907 Reply to:688031
  • มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด << สแตนฟอร์ด
  • นเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นกับแบบชัดเจนเท่า Gotham << เห็นกัน
  • ลองดูวีดีโอโครงสร้างของ Metropolis << วิดีโอ

@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.

By: มายองเนสจัง
iPhone
on 16 March 2014 - 19:10 #688048
มายองเนสจัง's picture

นึกถึง หนัง jason bourne เลย ที่เจ้าหน้าที่ CIA ไล่ตามจับพระเอก

By: pepporony
ContributorAndroid
on 16 March 2014 - 19:43 #688060

นี่ถ้าเป็นในหนัง เวลาคลิกต้องมีเสียงด้วยนะ...

By: Holy
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 16 March 2014 - 20:23 #688071
Holy's picture

Gotham นี่จะเป็นก้าวแรกของ The machine ใน person of interest มั้ย....

By: calot2000
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 17 March 2014 - 09:30 #688123
calot2000's picture

โดนการกำหนดถึงคุณสมบัติ

โดน?

By: nrad6949
WriterAndroidBlackberryWindows
on 17 March 2014 - 10:30 #688129 Reply to:688123
nrad6949's picture

เรียบร้อยแล้วครับ


I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.

By: zoftdev
Android
on 17 March 2014 - 15:40 #688179

เยี่ยมครับ เรียบเรียงเองเลย

By: Sripattra
Android
on 17 March 2014 - 16:55 #688185
Sripattra's picture

ขอบคุณค่ะ อ่านสนุกเลย

By: myungz
In Love
on 17 March 2014 - 20:58 #688240
myungz's picture

Palantir มาจากนวนิยาย Lord of The Rings

เป็นเครื่องมือสื่อสารทางไกลครับ ไม่ใช่ทำนายอนาคต