Tags:
Node Thumbnail

วงการสตาร์ตอัพบ้านเราเติบโตขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็แน่นอนว่ายังตามหลังบางประเทศในภูมิภาคอยู่มาก วันนี้เรามีแขกรับเชิญพิเศษที่เห็นภาพการเติบโตของสตาร์ตอัพไทยอย่างใกล้ชิด มาวิจารณ์ว่าสตาร์ตอัพไทยเป็นอย่างไร และแนะนำว่าควรทำตัวอย่างไรจึงจะแข่งขันได้

คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล (ในวงการเรียกชื่อเล่น "คุณไวท์" หรือ "พี่ไวท์") เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท FireOneOne ตั้งแต่ปี 2009 โดยบริษัทเป็นผู้พัฒนาโซลูชันสำหรับองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศไทย เช่น แสนสิริ, ปตท, SCG, AIS

นอกจากงานที่บริษัทตัวเองแล้ว คุณไวท์ยังเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสตาร์ตอัพของประเทศไทยมาหลายปี เป็นหนึ่งในนักลงทุนกลุ่ม M8VC และเป็นคณะกรรมการให้การประกวดสตาร์ตอัพหลายแห่ง เช่น AIS The Startup หรือ True Incube

ติดตามผลงานของคุณไวท์ได้ที่ @FireOneOne หรือ Facebook Shakrit Chanrungsakul

ถาม: ในฐานะที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพมานาน อะไรคือปัญหาที่สำคัญที่สุดของวงการสตาร์ทอัพไทย

ปัญหาแรกสุดคือคนยังไม่ค่อยรู้ตัวว่า ตัวเองควรมาทำสตาร์ทอัพหรือเปล่า

ทุกคนสามารถลาออกมาทำบริษัทได้หมด แต่ออกมาทำแล้วจะอยู่รอดไหม มันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ไม่ได้อยู่กับกระบวนการพัฒนาทางเทคนิคอย่างเดียว แต่ขึ้นกับว่าทำมาเพื่อใคร ลูกค้ากลุ่มไหน มีวิธีการขายอย่างไร

ดังนั้นสิ่งสำคัญกว่า "การทำได้หรือไม่" คือ "รู้ว่าทำไมเราต้องทำ"

คนมีอยู่สองแบบใหญ่ๆ คือคนที่เหมาะและไม่เหมาะเป็นผู้ประกอบการ เส้นแบ่งของคนสองกลุ่มนี้คือความกล้าเสี่ยง (risk taking) และความทุ่มเท (determination) ผู้ประกอบการที่ดีจะต้องมองเห็นภาพของบริการในอนาคต และพร้อมทุ่มเทไปกับมัน

ต่างกับคนอีกแบบที่คิดแล้วคิดอีก ระมัดระวัง รอบคอบไปทุกอย่าง ต้องการตัวชี้วัดล่วงหน้าว่าทำแล้วจะคุ้มไหม คนกลุ่มนี้ต้องพิจารณาตัวเองว่าอาจไม่เหมาะกับการมาทำสตาร์ตอัพ เพราะว่าธรรมชาติของธุรกิจมักจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกอย่างตั้งแต่แรก

ถาม: เรื่องทุนที่จะนำมาทำสตาร์ตอัพ เป็นปัญหาด้วยหรือเปล่า?

สำคัญมาก เพราะกว่าจะธุรกิจจะเดินหน้าได้ ไม่ได้ใช้เวลาแค่สามเดือนหกเดือน อย่างน้อยๆ ต้องดำเนินธุรกิจได้สักหนึ่งปีก่อนที่จะเริ่มมีรายได้ บางรายอาจโชคดีหน่อย ดำเนินงานมาหกเดือนแล้วได้เงินทุนมาช่วยต่อชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกรายจะทำได้แบบนี้

ถาม: ถ้าทุนเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเด็กจบใหม่อยากทำสตาร์ตอัพ จะหาเงินมาจากไหนได้บ้าง

อันดับแรกคือพ่อแม่ ซึ่งก็น่าจะได้ทุนมาในระดับหนึ่ง แต่รับรองว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่จะให้เวลาหรือให้เงินทุนไม่เกินหกเดือน ก่อนจะไล่ลูกให้ไปหางานบริษัททำ มั่นคงกว่า

ต่อมาคือเงินจากนักลงทุน แต่เด็กจบใหม่ก็อาจหาทุนได้ยาก เนื่องจากยังไม่ค่อยเข้าใจธุรกิจ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงคำถามของนักลงทุน เช่น ความสำเร็จในตลาดคืออะไร แผนการธุรกิจ ตัวเลขลูกค้าจะเป็นเท่าไร ถ้ายังไม่สามารถสร้างรายละเอียดให้นักลงทุนพอใจได้ ก็คงไม่ได้เงิน

ต่อมาคือเงินรางวัลจากการประกวดต่างๆ ซึ่งโดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก อยู่ในหลักแสนบาท อย่างเก่งก็ห้าแสน ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ระยะยาวต้องหาเงินให้ได้ด้วยตัวเอง ต้องรู้ว่าคนที่จะมาจ่ายเงินใช้บริการของเรา (paid users) คือใคร

อันดับแรกของการทำคือต้องรู้จักผู้ใช้ (คนจ่ายเงิน) ตรงนี้จะพูดถึงตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ว่าใครจะเป็นคนจ่ายเงินให้เรา เช่น บริการที่เปิดให้ผู้ใช้ใช้ฟรี รายได้ย่อมมาจากอย่างอื่น แต่ใครคือคนที่จะมาจ่าย เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักในการคิดทำสตาร์ตอัพตั้งแต่แรก ต้องมองว่าเขาจ่ายไปเพื่ออะไร เขาจ่ายแล้วได้อะไร

ถาม: วงการสตาร์ตอัพเมืองนอกมีระบบนักลงทุนที่แข็งแกร่ง มีเงินมาช่วยอุ้ม สตาร์ตอัพเมืองนอกเลยไปได้ ของเมืองไทยไม่มีส่วนนี้ต้องทำอย่างไร

สตาร์ตอัพไทยก็คงต้องเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น ในแง่ของ ecosystem ก็ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ แต่ก็ยังขาดอีกมาก ต้องรอเวลาให้มันพัฒนาขึ้น

ระหว่างนี้ คนทำสตาร์ตอัพก็ควรออกมารู้จักกับคน รู้จักกับนักลงทุน และผู้จัดงานต่างๆ ทำความเข้าใจว่าใครเป็นใคร ควรไปเชื่อมกับใคร ก่อนจะไปเริ่มลงแข่งขันกันในตลาดธุรกิจ

ถาม: หลังกระแสสตาร์ตอัพเกิดขึ้นมาหลายปี วงการสตาร์ตอัพไทยต่างจากเดิมแค่ไหน

ต่างกันมาก แค่เทียบกับปีที่แล้วก็เห็นพัฒนาการขึ้นจากเดิมเยอะมาก คนมาแข่งขันมีความเข้าใจในธุรกิจ มีความเข้มข้นของไอเดียต่างจากเดิมมาก

ในบรรดาทีมที่เข้ารอบท็อปเท็นปีนี้เข้าใจแล้วว่าควรวางแผนธุรกิจกันมาอย่างไร แถมพวกนี้ยังเป็นทีมใหม่เสียด้วย ไม่ใช่ทีมที่ลงแข่งในปีที่แล้ว แม้แต่พวกท้ายตารางของในปีนี้ก็ยังไม่เลว พอเก็บมาฝึกฝนให้ไปต่อได้ ต่างจากปีที่แล้วที่บางทีมเห็นแล้วอยากไล่กลับไปศึกษามาใหม่

เหตุผลคงเป็นเพราะคนในวงการติดตามข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น มีองค์ความรู้มากขึ้นว่าสังคมของสตาร์ทอัพต่างประเทศเขาเป็นอย่างไร

ถาม: คิดว่าวงการสตาร์ตอัพไทยยังขาดอะไร

ตอนนี้เราขาดความรู้ศูนย์รวม เทียบกับวงการต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย พวกเขามีความรู้ทางธุรกิจ อย่างสิงคโปร์แต่ละคนเข้าใจธุรกิจกันอย่างมาก รู้ที่มาที่ไปของตัวเลขทางธุรกิจ เวลาเราฟังพวกนี้มานำเสนอแล้วแบบโอ้โหเลย อายุแต่ละคนก็น้อยๆ ทำไมมันรู้ขนาดนี้

ตอนนี้ผมกำลังทำ academy เพื่อมาเติมเต็มในจุดนี้ เพื่อเติมเต็มเรื่องทางธุรกิจ การตลาดที่ควรทำระหว่างการพัฒนาแอพ

ถาม: เทียบกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยถือว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ผมว่าเรามีจุดได้เปรียบอยู่หลายอย่าง คุณภาพของนักพัฒนาพอไหว ไม่เก่งมากแต่ก็ไม่แย่ ส่วนที่ดีคือนักออกแบบดี ครีเอทีฟดี

สิ่งที่เทียบกับสิงคโปร์แล้วยังแย่กว่าคือ ไอเดียทางธุรกิจของสตาร์ตอัพไทยยังไม่ตอบโจทย์ภาคองค์กรได้ดี เหตุผลเป็นเพราะว่าคนไทยยังมองธุรกิจฝั่งลูกค้าองค์กร (enterprise) ไม่ออก และมักติดกับโมเดลธุรกิจที่เน้นผู้บริโภคทั่วไป (consumer) มากเกินไป ทั้งที่ตลาดตอนนี้มันเคลื่อนไปยังฝั่งองค์กรแล้ว

ถาม: ตอนนี้ภาครัฐไทยเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับสตาร์ทอัพ คิดว่ามีผลเป็นอย่างไรครับ

กิจกรรมทั้งหมดที่เราเห็นในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือการกระตุ้นให้คนสนใจและรู้จักสตาร์ตอัพครับ ผมถือว่าประสบความสำเร็จด้วย ตอนนี้ไปคุยกับเด็กมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องอธิบายกันเยอะ รู้จักกันหมดแล้วว่าสตาร์ตอัพคืออะไร

แต่เราต้องมองต่อไปว่าจะทำอะไรต่อ มีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก และคนในวงการสามารถแยกกันทำได้ตามงานที่ตัวเองถนัด แต่โดยรวมคือการร่วมปั้นคนไปสู่กระบวนการ start > compete > scale

ถาม: มีคำแนะนำอะไรสำหรับสตาร์ตอัพไทยบ้าง

นอกเหนือจากการสร้างไอเดียที่ดีแล้ว ยังต้องคิดเรื่องลบไอเดียที่ดีพอแต่อาจยังไม่พร้อมสำหรับภาวะปัจจุบันด้วย

ที่ผมบอกว่าสตาร์ตอัพไทยควรเน้นธุรกิจสำหรับลูกค้าองค์กรให้มากขึ้น อยากให้มองไปยังอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้ถ่องแท้ว่า ทำอย่างไรบริษัทที่เป็นว่าที่ลูกค้าของเราจะมีกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น หรือลดความสูญเสียจากการดำเนินการให้ต่ำลง (yield) เพราะลูกค้าฝั่งภาคอุตสาหกรรมจะสนใจเรื่องนี้

เท่าที่ผมขายงานมา เคล็ดลับในการขายของให้องค์กรต้องดูว่าโจทย์ของแต่ละฝ่ายที่เราไปคุยด้วยคืออะไร ถ้าเราไปคุยกับการตลาด จะต้องการให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราไปคุยกับฝ่ายไอที เขาต้องการลดงบประมาณที่ใช้หรือลดความสูญเสีย ความไร้ประสิทธิภาพลง ถ้าจับจุดนี้ได้ เขาจะสนใจเรา การขายงานจะง่ายขึ้นเยอะ

ถาม: คำแนะนำสำหรับคนทำสตาร์ทอัพที่ยังเรียนมหาลัย ควรเตรียมตัวอย่างไรครับ

(ตอบทันที) ขอให้ลงมือทำเลย ทำตั้งแต่ตอนเรียนอยู่เลย อย่ามัวแต่คิด อย่ารอเรียนจบแล้วค่อยทำ

การลงมือทำเลยจะได้รู้ว่าพื้นฐานที่สำคัญของธุรกิจคืออะไร การเริ่มลงมือทำดีกว่าแค่รู้ทฤษฎีจากหนังสือ เริ่มก่อนก็รู้ก่อนว่าผิดตรงไหน จะได้ปรับตัวได้เร็ว มีเวลาก่อนหน้าคนรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ หลายปี

การเริ่มต้นตอนแรกสามารถทำคนเดียวได้เลย ไม่ต้องรอใคร ลงมือทำก่อน ถ้ารู้ตัวไม่ไหวจะได้เป็นกรอบในการทำงานว่า เราต้องหาคนมาช่วยทำ หาคนในตำแหน่งอะไร เช่น โปรแกรมเมอร์ไม่เข้าใจธุรกิจ จำเป็นต้องหา co-founder มาช่วยฝั่งธุรกิจหรือเปล่า?

พอรู้ว่าอยากได้ใครก็เดินไปหา เดินไปดูที่คณะนั้นๆ หรือติดป้ายประกาศในมหาวิทยาลัยก็ได้ สังคมในมหาวิทยาลัยมันเอื้อให้เราคบกับคนได้ง่าย มาลงมือทำร่วมกันโดยไม่ต้องหวังรายได้เยอะๆ ในตอนแรก เมื่อได้ทีมงานมาเพิ่มก็จะนำไปสู่การทดลองครั้งต่อไป มันจะลดจุดบอดจากการลองครั้งแรกไปเรื่อยๆ

ถ้าเริ่มตอนขึ้นปีสาม กว่าจะเรียนจบก็คงลองไป 2-3 รอบแล้ว ประสบการณ์ก็จะเยอะกว่าคนที่ไม่เคยทำมาก

ถาม: อยากให้แนะนำหนังสือสำหรับคนอยากทำสตาร์ตอัพ

ของแถม: เทปสัมภาษณ์คุณไวท์ พูดเรื่องสตาร์ตอัพใน Voice TV

Get latest news from Blognone

Comments

By: lingjaidee
ContributoriPhoneAndroid
on 9 March 2014 - 13:39 #686223
lingjaidee's picture

อ่านแล้วมีไฟ ฮึ่บๆ ;D


my blog

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 9 March 2014 - 14:52 #686228
panurat2000's picture

สตาร์ทอัพ => สตาร์ตอัพ

By: mekpro
ContributorAndroidUbuntu
on 10 March 2014 - 09:07 #686305
mekpro's picture

เราต้องคนมาช่วยทำ >> เราต้องหาคนมาช่วยทำ

ชอบเรื่องการเน้นธุรกิจสำหรับลูกค้าองค์กรครับ

By: kingrpg
AndroidWindows
on 10 March 2014 - 14:00 #686345

สตาร์ตอัพไทยมีจำกัดไหมว่าต้องเกี่ยวกับอะไรและไม่เกี่ยวกับอะไร

By: เบสท์
Windows PhoneWindowsIn Love
on 10 March 2014 - 18:56 #686395 Reply to:686345

จริงๆแล้วสตาร์ตอัพก็คือทีมหรือบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่จะทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ในไทยผู้ที่สนับสนุนพยายามตีกรอบให้อยู่ในสายดิจิตอลซะส่วนใหญ่เท่านั้นเองครับ

By: jack_cl
Windows
on 10 March 2014 - 17:22 #686384
jack_cl's picture

ผมว่า วิชาอย่าง SME IT entrepreneur info-entrepreneur (กรณีถ้ามีวิชาเหล่านี้) ควรเรียนตั้งแต่ ปี 3 เทอม 1 แล้ว ก็เริ่มต้น คิด Project ตั้งแต่ปี 3 เทอมสอง หลังจากนั้นเอา Project นั้นมาออกแบบหา วิชาที่สนับสนุน นักศึกษา Lab องค์ความรู้ อาจารย์ที่เหมาะสมกับ ผู้ช่วยสนับสนุนการสอน-การโค้ช Project นั้นๆ เอามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมาจัดประกวด Project กัน แล้วก็ให้ หน่วยงานรัฐมาสนับสนุนทุน บริษัทรุ่นพี่ที่ Start up ยืนได้แล้วก็ต้องมาเป็น Mentor ให้รุ่นน้อง ทำเป็นระบบอย่างจริงจัง ใช้ connection คุยกับธนาคาร วันนี้ มหาวิทยาลัย องค์กรรัฐ ไม่นับ 1 ไม่ริเริ่ม ก็รอต่อไป จริงๆ วิชา มหาวิทยาลัย ไม่ต้องเรียนรายวิชาเยอะมาก เอาเนื้อๆ เน้นรู้จริง และทำได้จริง เวลาจบมา ทำงานกับ คนต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็ถามอย่างเดียว "จบอะไรมา ทำอะไรเป็น" เพราะสุดท้าย พวกเราก็ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เคยนำแนวคิดนี้เสนอ มหาวิทยาลัยสมัยเรียนปี 4 เหมือนกัน ตอนนั้นอธิการบดีคนเก่าเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ก็ไม่ได้ไปต่อ สงสัยต้องจัดสรรเวลาไป จุดไฟ มหาวิทยาลัยซะหน่อย

By: MrWhite
iPhone
on 12 March 2014 - 10:23 #686809
MrWhite's picture

Startup ในเมืองไทยที่มาปรึกษาผมมีทั้งฝั่งนักออกแบบแฟชั่นที่ขายสินค้าของตัวเองไปต่างประเทศ, เชฟที่อยากทำร้านอาหาร, เจ้าของที่ดินริมทะเลที่อยากทำโรงแรมระดับโลก และธุรกิจอื่น ๆ อีกมากเลยครับ ... สถานะของความเป็น Startup ที่ดีควรจะคงอยู่แค่ไม่กี่เดือนแล้วเปลี่ยนสถานะเป็น "ธุรกิจ" (ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ว่ากันไป) ... แน่นอนว่าในเมืองไทยเรายังโฟกัสกันอยู่ที่ Tech Startup เพราะน่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เปิดตัวให้สังคมรู้จักครับ

By: MrWhite
iPhone
on 12 March 2014 - 10:24 #686811
MrWhite's picture

เห็นด้วยมาก ๆ กับเรื่องวิชาผู้ประกอบการที่ควรจะเรียนตั้งแต่ปีสามครับ ปีนี้กำลังเริ่มพูดคุยกับหลายมหาวิทยาลัย ... ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดีมาก ๆ เลยครับ