Tags:
Node Thumbnail

InVent หน่วยงานด้านการลงทุนของอินทัช (ชินคอร์ปเดิม) ประกาศลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีของไทยเพิ่มอีก 2 ราย จากเดิมที่เคยลงทุนในบริษัทอีบุ๊ก Ookbee มาแล้วเพียงรายเดียว

บริษัทที่ InVent เข้าไปลงทุนได้แก่

  • Computerlogy เจ้าของเครื่องมือบริหารจัดการโซเชียลเน็ตเวิร์ค SocialEnable โดยเข้าไปลงทุน 29 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 25%
  • Meditech Solution ผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วยสายตา (eye-tracking) เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตที่สมองยังทำงานแต่สื่อสารด้วยมือหรือคำพูดไม่ได้ ยังสามารถติดต่อกับหมอหรือญาติๆ ผ่านการเลือกเมนูด้วยการกระพริบตาได้ InVent ลงทุน 5 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 30%

    alt="Intouch Invent"

ภาพ: จากซ้ายมือ คุณวัชระ เอมวัฒน์ (Computerlogy), คุณกฤติกา มหัทธนกุล (InVent), คุณปิยะศักดิ์ บุญคมรัตน์ (Meditech), คุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว (SIPA)

ผลิตภัณฑ์ของ Computerlogy คงเข้าใจกันไม่ยากเพราะมีบริษัททำเครื่องมือลักษณะนี้อยู่เยอะทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งทาง Computerlogy มองโจทย์ว่า "กด like แล้วไงต่อ" และตั้งเป้าตอบโจทย์องค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแฟนของแบรนด์ในโลกโซเชียลมาเป็นลูกค้าจริงๆ (from conversation to conversion) ที่ผ่านมาก็เน้นลูกค้าองค์กรใหญ่เป็นหลัก

ส่วนผลิตภัณฑ์ของ Meditech อาจเข้าใจยากหน่อย แต่โชคดีที่ทางบริษัทขนเครื่องมาให้เล่นในงาน ผมก็เลยมีโอกาสได้ลองเล่นดูจริงๆ ครับ

alt="Intouch Invent"

ผลิตภัณฑ์ของ Meditech (ใช้ชื่อการค้าว่า SenzE) เป็นกล้องพร้อมจอภาพ เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และขาตั้งเป็นชุดเพื่อตั้งไว้เหนือเตียงของผู้ป่วย หลักการทำงานคือกล้องจะจับการเคลื่อนไหวของนัยน์ตา มีเมนูบนหน้าจอที่ select จะวนไปเรื่อยๆ เป็น loop เมื่อผู้ใช้กระพริบตาสองครั้งก็คือการเลือกเมนูนั้นๆ ซึ่งเมนูก็มีหลายแบบทั้งบอกอาการเจ็บป่วย บอกว่าหิวข้าว อยากเข้าห้องน้ำ สื่อสารเป็นข้อความ รวมถึงความบันเทิงทั้งรูปภาพ-เพลง-หนัง เป็นต้น (ทางบริษัทบอกว่าอนาคตอยากทำให้แชทผ่าน LINE ได้ด้วย)

alt="Intouch Invent"

คุณปิยะศักดิ์ เล่าถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ว่าเดิมทีทำงานเว็บไซต์และระบบไอที รับงานภาครัฐมาก่อน แต่เมื่อพ่อของเพื่อนสนิทเกิดอาการแบบนี้ เลยพยายามคิดค้นหาวิธีการสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และศึกษาอัลกอริทึมของ eye-tracking อยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้สำเร็จ

alt="Intouch Invent"

ในงานยังมีส่วนที่ InVent ตอบคำถามด้านนโยบายการลงทุน ผมก็นำมาถ่ายทอดต่อเผื่อเป็นประโยชน์ต่อ startup ในบ้านเราที่กำลังมองหานักลงทุน (ซึ่ง InVent ก็ถือเป็นนักลงทุนรายหนึ่งที่น่าสนใจ)

  • งบลงทุนราว 200 ล้านบาทต่อปี โดยปีนี้ลงทุนไปแล้ว 34 ล้านบาท ยังไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็น่าจะเจรจากับบริษัทอีกหนึ่งรายสำเร็จก่อนสิ้นปี
  • ตอนนี้มีบริษัทที่กำลังคุยๆ อยู่ 3 ราย และมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 79 ราย
  • อาจรู้สึกว่า InVent ลงทุนน้อย เปิดมาเกือบสองปีเพิ่งลงทุนไปแค่ 3 บริษัท แต่จริงๆ แล้วกระบวนการคัดกรองใช้เวลานาน (3-6 เดือน) ก็อยากเร่งให้เร็วกว่านี้
  • นโยบายของ InVent ต้องการลงทุนในธุรกิจ SME ที่ดำเนินธุรกิจมาระดับหนึ่งแล้ว (เรียกภาษานักลงทุนก็คือ Series B) จำนวนเงินลงทุนราว 5-10 ล้านบาทต่อบริษัท แต่ก็ไม่มีขีดจำกัดที่ชัดเจนว่าจะต้องลงทุนเท่าไร
  • นโยบายการลงทุนจะเน้นในบริษัทด้านโทรคมนาคม ไอที สื่อ และเนื้อหาดิจิทัล ถ้าผิดจากนี้ก็อาจจะไม่พิจารณา
  • InVent จะไม่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนั้นๆ เพราะจะทำให้มีปัญหากับผู้ถือหุ้นเดิม และไม่ไปยุ่งกับการบริหารมากนัก แต่ก็จะเฝ้าดูแผนการดำเนินการและยุทธศาสตร์ในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น
  • บริษัทที่กำลังมองหาอยู่ในตอนนี้คือเน้นบริการที่ทำให้คนสะดวกสบายมากขึ้น (ease of use, ease of access) ที่อยากเห็นในไทยคือ แอพเกี่ยวกับแท็กซี่, แอพเกี่ยวกับ mobile payment หรือความปลอดภัยบน mobile payment, ระบบการจัดการพลังงาน, และซอฟต์แวร์ ERP ที่รันบนคลาวด์
  • หลังเข้าไปลงทุนใน Ookbee ฐานลูกค้าก็เติบโตขึ้นจาก 2 ล้านเป็น 3 ล้านราย ผลประกอบการออกมาดี และเริ่มเข้าไปทำตลาดในอาเซียนแล้ว ตอนนี้เริ่มมีนักลงทุนรายอื่นอยากเข้ามาขอลงทุนใน Ookbee เพิ่มแล้ว

เท่าที่ผมลองสังเกตดูพบว่า InVent สนใจลงทุนในบริษัทที่ดำเนินกิจการมาสักระยะหนึ่ง หรือผู้ก่อตั้งเคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อน (ไม่ใช่เปิดบริษัทครั้งแรกหรือเด็กจบใหม่ ซึ่งจะเป็นงานของ AIS The Startup ซึ่งถือเป็นคนละบริษัทกันแต่อยู่ในเครือเดียวกัน) ดังนั้นใครที่เข้าข่ายและสนใจก็สามารถติดต่อเข้าไปที่ InVent ได้โดยตรงครับ ขอเอาใจช่วยให้ได้รับเงินลงทุน

Get latest news from Blognone

Comments

By: bunyawat
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 23 September 2013 - 17:34 #630314
bunyawat's picture

โอ้ววว ข่าวดี