Tags:
Node Thumbnail

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งเป็นบอร์ดย่อยด้านโทรคมนาคมของ กสทช. ลงมติเห็นชอบตามผลศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาการทำสัญญาของ CAT/TRUE ด้าน 3G ความถี่ 800MHz ว่าสัญญาดังกล่าวผิดกฎหมาย (อ่านข่าว อนุกรรมการ กสทช. ลงมติ สัญญา CAT-TRUE ผิดกฎหมาย ประกอบ)

กทค. จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมาย สั่งให้ CAT Telecom ในฐานะผู้ได้รับคลื่นไปแก้ไขสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเด็น โดยหลักๆ แล้วคือแก้สัญญาให้ CAT มีอำนาจและปากเสียงมากขึ้นให้สมกับฐานะเจ้าของคลื่น ต่างไปจากสัญญาฉบับปัจจุบันที่ CAT เปรียบเสมือน "นายหน้า" ให้ True เท่านั้น (รายละเอียดของการแก้สัญญาอ่านได้ท้ายข่าวครับ)

กทค. กำหนดให้ CAT แก้ไขสัญญาและรายงานผลใน 30 วัน (ถ้ายังไม่แล้วเสร็จ คาดว่า กทค. จะมีมาตรการทางปกครองอื่นๆ ต่อไป)

ข่าวสื่อมวลชน ( ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ )
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
๘๗ ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน ๘ กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๗๑-๐๑๕๑ ต่อ ๓๑๗ โทรสาร ๐-๒๒๙๐-๕๒๔๑

ที่ประชุมได้พิจารณารายงานผลการศึกษา วิเคราะห์ และเสนอความเห็นกรณีการทำสัญญาระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) กับกลุ่มบริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ บนคลื่นความถี่ ๘๐๐ MHz ประกอบข้อสัญญา ข้อกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า เนื่องจากในการพิจารณาศึกษาวิเคราะห์กรณีการทำสัญญาดังกล่าว ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาโดยยึดถือข้อกำหนดในสัญญาเป็นหลักและนำคำชี้แจงประกอบพฤติกรรมในการปฏิบัติตามสัญญาของบริษัทคู่สัญญามารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น โดยผลการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานหลักการที่ว่า กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโดยยึดถือประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งได้พิจารณาตามกรอบของรายงานผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการมาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งที่ประชุม กทค. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕ ให้ความเห็นชอบแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นว่า การทำสัญญาระหว่าง บมจ. กสท ในฐานะผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๖ กับกลุ่มบริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ ๘๐๐ MHz นั้น เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบตามที่กำหนดไว้ในรายงานผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการมาตรา ๔๖ แล้ว เนื่องจากเป็นการทำสัญญาเพื่อการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่โดยตรงและการประกอบกิจการตามสัญญาดังกล่าวเป็นการดำเนินการในส่วนของ radio network และในทางปฏิบัติ บมจ. กสท ซึ่งเป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ไม่สามารถควบคุมการใช้งานคลื่นความถี่และรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคลื่นความถี่ได้อย่างสมบูรณ์ ตามนัยมาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ที่ประชุมจึงมีความเห็นสอดคล้องกับรายงานผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ข้างต้น โดยมีมติ ดังนี้

๑. การทำสัญญาระหว่าง บมจ. กสท. กับกลุ่มบริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ ๘๐๐ MHz เป็นสัญญาทางปกครองที่การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๗ และมาตรา ๒๗ (๔) และ (๖) ประกอบมาตรา ๔๐ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีคำสั่งให้ บมจ. กสท ในฐานะผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม มาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ บนคลื่นความถี่ ๘๐๐ MHz ให้สอดคล้องกับมาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ดังนี้

๑.๑ บมจ. กสท ต้องสามารถนำคลื่นความถี่ย่าน ๘๐๐ MHz (Band V) ไปใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของตนเองหรือของบริษัทอื่นได้ โดยให้แก้ไขข้อ ๒.๑๒ ของสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด) ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ ให้ชัดเจนเพื่อให้ บมจ. กสท สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน ๘๐๐ MHz (Band V) ไปใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของตนเองหรือของบริษัทอื่นได้

๑.๒ บมจ. กสท ต้องเร่งรัดดำเนินการให้ตนเองสามารถควบคุมดูแลและบริหารจัดการคลื่นความถี่ได้อย่างสมบูรณ์ผ่าน network operation center (NOC) จึงควรเพิ่มเติมข้อกำหนดในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับ NOC ให้ชัดเจนและ/หรือกำหนดแนวปฏิบัติและการควบคุมให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับ NOC ว่า ให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ บมจ. กสท สามารถเข้าถึงและควบคุม NOC ได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงสัญญาฯ ข้อ ๒.๑๑ ของสัญญาฉบับเดียวกัน ให้ บมจ. กสท สามารถเข้าไปในสถานที่ของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งติดตั้งเครื่องและอุปกรณ์และเสาโทรคมนาคมที่ให้เช่าได้

๑.๓ บมจ. กสท ต้องเร่งรัดดำเนินการให้ตนเองสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งาน (call detail record (CDR)) เพื่อการควบคุมดูแลและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ โดยต้องแก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๒.๙ ของสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๗.๕ ของสัญญาบริการขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับบริษัท เรียล มูฟ จำกัด ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ เพื่อให้ บมจ. กสท สามารถเข้าถึงข้อมูล CDR เพียงพอที่จะบริหารจัดการคลื่นความถี่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์

๑.๔ บมจ. กสท ต้องเร่งรัดดำเนินการให้อำนาจของคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงาน (Operation Supervision Committee) ตามสัญญามีความชัดเจน โดยแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของตนเองโดยชัดแจ้ง โดยให้แก้ไขปรับปรุงข้อ ๗.๒ ของสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ ให้ชัดเจน และ/หรือกำหนดแนวปฏิบัติและวิธีการบังคับให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติ โดยแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โดยชัดแจ้ง

๑.๕ บมจ. กสท ต้องเร่งรัดดำเนินการให้ตนเองเป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ผ่านกระบวนการสร้างและจัดหาความจุของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด โดยรวมถึง frequency planning, network roll-out และ network operation โดยให้แก้ไขปรับปรุงข้อ ๒.๖.๒ ของสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ ให้มีความชัดเจนว่า บมจ. กสท เป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ในเรื่อง frequency planning, network roll-out, network operation และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้แก้ไขปรับปรุงนิยาม “ความจุตามสัญญา” ของข้อ ๑ ของสัญญาบริการขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับบริษัท เรียล มูฟ จำกัด ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ ให้ บมจ. กสท เป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ในการกำหนดความจุตามสัญญาให้เป็นไปตามกลไกตลาด

๑.๖ บมจ. กสท ต้องเร่งรัดดำเนินการให้ตนเองเป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ผ่านการเจรจาการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (inbound domestic roaming) และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยให้แก้ไขปรับปรุงข้อ ๒.๑๗ และข้อ ๒.๑๘ ของสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ เพื่อให้ บมจ. กสท เป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ผ่านการเจรจาการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (inbound domestic roaming) และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายอื่น

ทั้งนี้ ให้ บมจ. กสท ในฐานะผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม มาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขข้อสัญญาให้สอดคล้องกับมาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ดังกล่าวข้างต้นและให้รายงานผลการดำเนินการต่อ กทค. ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งและมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยให้เชิญตัวแทนของ บมจ. กสท มา รวมทั้งเพื่อความรอบคอบให้ตรวจสอบความถูกต้องเลขข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นเพื่อยืนยันตามที่ กทค. ได้มีมติให้ตรงกับที่กำหนดไว้ในสัญญาด้วย

๒. สำหรับกรณีความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับโทรคมนาคมอื่นๆ นั้น เนื่องจาก กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ได้เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ ๓๐/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๔ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายโทรคมนาคมอื่นๆ ไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านการแข่งขันและได้มีคำสั่งให้คู่สัญญาตามความตกลงดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดในสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันคู่สัญญาได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งที่พิพาทดังกล่าว และอยู่ในระหว่างกระบวนพิจารณาของศาลปกครอง โดยได้มีการยื่นคำให้การชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อศาลปกครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเห็นว่าไม่สมควรมีมติหรือออกคำสั่งดังกล่าวซ้ำอีกแต่อย่างใด

๓. สำหรับกรณีการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ที่คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า อาจเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๖๗ แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยคณะอนุกรรมการฯ เสนอความเห็นว่า กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสมควรอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๗ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีคำสั่งเร่งรัดให้ บมจ. กสท ในฐานะเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขข้อสัญญาให้สอดคล้องกับมาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ หากบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ดำเนินการให้ บมจ. กสท สามารถควบคุมดูแลการบริหารจัดการคลื่นความถี่อย่างสมบูรณ์ย่อมเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมบางส่วนของ บมจ. กสท โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา ๖๗ แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่เข้าทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ ๘๐๐ MHz กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นต้นมา ว่าเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมบางส่วนของ บมจ. กสท โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา ๖๗ แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วรายงานให้ที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาภายใน ๓๐ วัน

Get latest news from Blognone

Comments

By: wwwangel
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 20 June 2012 - 23:34 #434928
wwwangel's picture

นั้นไง แล้วจะมีใครโดนอะไรบ้างไหม


-- ^_^ --

By: leonoinoi
AndroidUbuntuWindows
on 21 June 2012 - 00:21 #434944

จะมีใครคิดเหมือนผมบ้างมั้ย 2-3 วันมานี้ได้ข่าวแปลก ๆ มีคนฟ้องศาลปกครอง เอาผิด กสทช. เรื่องไม่ดูแล บอลยูโรจอดับในจานทรู (เออ ... ไม่อยากคิดเลยจริง ๆ)

By: mk
FounderAndroid
on 21 June 2012 - 07:45 #435044 Reply to:434944
mk's picture

ศาลไม่รับฟ้องนะครับ

By: frozenology
ContributoriPhoneAndroid
on 21 June 2012 - 01:50 #434981

แค่นี้เองเหรอ...


@fb.me/frozenology@

By: Be1con
ContributorWindows PhoneWindowsIn Love
on 21 June 2012 - 09:35 #435099
Be1con's picture

ยังดีที่ไม่ริบสัญญา ไม่อย่างนั้น ซวย


Coder | Designer | Thinker | Blogger

By: นักโทษประหาร
Windows PhoneAndroidRed HatSUSE
on 21 June 2012 - 10:12 #435126
นักโทษประหาร's picture

คงต้องแก้สัญญาเรื่อง สัมปทานกันใหม่ ค่าใช้จ่ายที่เสียไปคงต้องได้คืนมา ถ้าเจรจาไม่ได้อีกงานนี้ Truemove H คงย้ายกลับไปที่ CAT ตามเดิม

By: tucker
iPhoneWindows PhoneAndroid
on 21 June 2012 - 10:14 #435129
tucker's picture

แก้สัญญาแล้วก็จบ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น? แล้วคนที่ทำผิดแต่แรกล่ะ ไม่โดนอะไรเลยหรือ?

By: Fourpoint
Windows PhoneAndroidSymbian
on 21 June 2012 - 10:14 #435130

บทลงโทษล่ะ? อย่าบอกว่าแค่แก้สัญญาก็หายกัน?!?

By: sakpu20
iPhoneBlackberryUbuntu
on 21 June 2012 - 11:13 #435189

งานนี้ทรูน่าจะรอด เพราะได้ยินว่าเอไอเอสก็สนจะทำสัญญาแบบนี้กับทีโอที หากฟันทรูทางเอไอเอสก็หมดสิทธิ์ไปด้วย

By: deeplite
Android
on 21 June 2012 - 15:07 #435313
deeplite's picture

ยังงงๆว่า จะแก้กันอีท่าไหน อย่างที่ กทค มีคำสั่งออกมา ตรงนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วนด้วย ไม่แน่ใจว่า bfkt หรือ real move ที่เป็นเจ้าของสัญญา 25 จังหวัด แต่ ไม่ว่าบริษัทไหนจะเป็นเจ้าของ สัญญา ก้ไม่มีสิทธิให้บริการ ใน 25 จังหวัดอยู่ดีเพราะไม่มีใบอนุญาติ แล้ว 25 จังหวัดนี้ ใครจะเป็นผู้ ควบคุมดูแล

By: hydrojen
iPhoneRed HatWindows
on 21 June 2012 - 17:43 #435379
hydrojen's picture

อะไรเนี่ย สั่งแก้สัญญา
แล้วความถูกต้องอยู่ไหน
อีก 2 ค่ายละ

ปล. ก็เข้าใจ ตัวประกันท่านเยอะ