Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

เมื่อคืนที่ผ่านมาข่าวข้อมูลหลุด 773 ล้านรายการคงทำให้หลายคนตกใจ คำแนะนำเบื้องต้นคือหากพบอีเมลตัวเองในเว็บ ';--have i been pwned? (HIBP) ก็ให้เปลี่ยนรหัสผ่านเสียใหม่ นอกจากนี้ในระยะยาวควรหาทางเลือกใช้การล็อกอินหลายขั้นตอน (multifactor authentication) เพื่อลดความเสี่ยงเสีย

อย่างไรก็ดี ข้อมูลหลุดแต่ละครั้งมีความร้ายแรงไม่เท่ากัน ตัวเว็บ HIBP เองแสดงข้อมูลสั้นๆ เพื่อบอกว่าระดับความร้ายแรงอยู่ระดับใด ในบทความนี้เราจะแนะนำจุดสังเกตสำคัญ ดังนี้

No Description

ข้อมูลอะไรหลุดไปบ้าง

ข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือรายการ "Compromised data" ที่บอกว่ามูลอะไรที่หลุดมากับข้อมูลชุดนั้นบ้าง บางครั้งข้อมูลหลุดแค่เพียงอีเมล และชื่อผู้ใช้ โดยที่รหัสผ่านหรือข้อมูลอื่นไม่ได้หลุดตามออกมาด้วย แม้จะไม่ร้ายแรงมากแต่ก็มีผลกับคนที่ต้องการปิดบังชื่อผู้ใช้ไม่ให้เชื่อมโยงกับอีเมล ข้อมูลหลักๆ ที่มักหลุดออกมา เช่น

  • ชื่อผู้ใช้
  • อีเมล
  • รหัสผ่าน
  • คำถามรีเซ็ตรหัสผ่าน มีใช้งานในเว็บเก่าๆ จำนวนมาก
  • คำใบ้รหัสผ่าน
  • ข้อมูลการใช้งาน บางครั้งอาจจะหมายถึงล็อกการเข้าเว็บทุกหน้า, รายการที่ไปโพสหรือกดไลค์ไว้, หมายเลขไอพีที่เข้าใช้งาน, หรือข้อมูลอื่นในเว็บ

ข้อมูลหลุดเมื่อไหร่

ในกรณีที่อีเมลเราใช้งานมานานแล้ว ก็มักจะมีโอกาสพบข้อมูลหลุดสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายเว็บอาจจะแทบไม่มีคนใช้งานแล้ว ในเว็บ HIBP บอกช่วงเวลาที่ข้อมูลหลุดออกมา ถ้าเราจำได้ว่าเปลี่ยนรหัสผ่านไปหลังจากที่ข้อมูลนั้นหลุดออกมาแล้วก็ลดความกังวลไปได้

ข้อมูลหลุดในรูปแบบใด

ข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือรหัสผ่าน ทาง HIBP จะรายงานตัวรูปแบบของข้อมูลที่หลุดออกมาไว้อย่างละเอียด โดยทั่วไปจะมีรูปแบบดังนี้

  • ไม่เข้ารหัสเลย (plaintext) เป็นรูปแบบการเก็บรหัสผ่านที่แย่ที่สุด เมื่อข้อมูลรหัสผ่านหลุดออกมา มักมีคนร้ายพยายามนำรหัสผ่านและอีเมลเหล่านี้ไปทดสอบล็อกอินเว็บอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ควรเร่งเปลี่ยนรหัสทุกบริการที่ใช้รหัสผ่านซ้ำกัน
  • เข้ารหัสแต่อ่อนแอ เว็บมีการเข้ารหัสด้วยกระบวนการที่ไม่มาตรฐานนัก และอ่อนแอจนกระทั่งแฮกเกอร์สามารถแกะข้อมูลกลับมาเป็นข้อมูลไม่เข้ารหัสได้อยู่ดี โดยทั่วไปแล้วการเก็บข้อมูลแบบนี้ ก็ยังดีกว่าการไม่เข้ารหัสบ้าง เพราะมักสร้างความลำบากให้แฮกเกอร์ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก
  • เข้ารหัสด้วยการแฮช มาตรฐานการพัฒนาเว็บในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มักให้นักพัฒนาเก็บข้อมูลแฮชรหัสผ่านเอาไว้ ทำให้คนร้ายแม้ได้ข้อมูลไปก็ไม่รู้ว่ารหัสผ่านที่จริงแล้วเป็นอะไร แต่การแฮชนั้นมีกระบวนการมาตรฐานที่เป็นที่นิยมไม่กี่กระบกวนการ เช่น MD5, SHA1, SHA2, bcrypt หากรหัสผ่านเราอ่อนแอ เป็นรหัสผ่านที่เป็นที่นิยม รวมถึงเป็นรหัสผ่านที่เคยหลุดมาแบบไม่เข้ารหัส แฮกเกอร์ก็อาจจะนำรหัสผ่านเหล่านั้นมาแฮชเตรียมไว้แล้ว เพื่อเทียบหาว่ามีคนใช้รหัสผ่านเหล่านั้นที่อื่นอีกหรือไม่
  • เข้ารหัสด้วยการแฮชพร้อมข้อมูล salt นับเป็นกระบวนการเก็บรหัสผ่านที่ดีที่สุดในตอนนี้ โดยนักพัฒนาจะนำข้อมูลอื่น มาเชื่อมต่อกับรหัสผ่านของผู้ใช้แล้วจึงแฮช เช่น SHA1("Weak Password" + "@dkralrp") โดยที่ "@dkralrp" เป็นค่า salt ที่มักเป็นข้อมูลสุ่มขึ้นมา กระบวนการเช่นนี้ทำให้แม้ค่าแฮชหลุดออกไปก็จะไม่ซ้ำกับฐานข้อมูลอื่นเลย หากค่า salt ไม่ได้หลุดออกมาด้วยการเทียบหารหัสผ่านก็จะยากมาก หรือหากหลุดออกมาด้วยก็จะซื้อเวลาให้เหยื่อได้ช่วงเวลาหนึ่งกว่าที่แฮกเกอร์จะสามารถเทียบได้ว่ารหัสผ่านนี้น่าจะใช้เว็บอื่นหรือไม่

ส่งท้าย: เปลี่ยนนิสัย ลดความเสี่ยง

ปัญหาข้อมูลหลุดคงเป็นปัญหาที่เราจะเจอกันไปอีกตราบเท่าที่โลกนี้ยังมีคอมพิวเตอร์และยังมีแฮกเกอร์ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงตัวเองได้ ด้วยแนวทางดังนี้

  • ไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำกันหลายเว็บ การเลือกใช้รหัสผ่านซ้ำกันไปมาหลายบริการสร้างความเสี่ยงให้ตัวเองได้มากมหาศาล ขอเพียงข้อมูลบริการใดหลุดออกมาแฮกเกอร์ก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ที่อื่นได้ทันที หากมีบริการจำนวนมากและรหัสผ่านเยอะเกินจำไหว ให้ใช้ซอฟต์แวร์จัดการรหัสผ่านที่มีอยู่มากมายตอนนี้ ซอฟต์แวร์ฟรีและโอเพนซอร์ส ก็ยังมีเช่น KeePass เป็นต้น แม้แต่ซอฟต์แวร์เสียเงินจำนวนมากก็มักมีแพ็กเกจฟรี เช่น LastPass
  • ใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง การตั้งรหัสผ่านเป็นความยากสำหรับทุกคน เรามักติดนิสัยสร้างรหัสผ่านง่ายๆ ทำให้บางครั้งแม้จะไม่ได้ใช้รหัสผ่านซ้ำกัน แต่รหัสผ่านเหล่านั้นก็มีอยู่บนฐานข้อมูลโดยบังเอิญ การสร้างรหัสผ่านที่ยาวพอสมควร (เกิน 8 ตัวอักษร) และสุ่มค่อนข้างสมบูรณ์เป็นแนวทางสำคัญ แอปจัดการรหัสผ่านมักมีบริการสร้างรหัสผ่านให้ หรือคำสั่งในลินุกซ์เองก็มีคำสั่ง pwgen เป็นต้น
  • เปิดใช้การล็อกอินหลายขั้นตอน เว็บที่ข้อมูลส่วนตัวสูงๆ มักมีการเลือกล็อกอินหลายขั้นตอนให้ใช้งาน ควรเปิดใช้เสมอ โดยระดับความปลอดภัยต่างกันไป เว็บสำคัญๆ เช่น เฟซบุ๊ก, Gmail, และทวิตเตอร์ ล้วนรองรับกุญแจ FIDO ส่วนเว็บอื่นๆ อาจจะมีตัวเลือก SMS หรือแอปบอกโค้ดตามเวลา ก็เลือกใช้งานได้เช่นกัน
Get latest news from Blognone

Comments

By: dampreecha
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 19 January 2019 - 15:41 #1092740

เปลี่ยนใหม่ทุกเมลล์ แต่ละเมลล์ไม่ซ้ำกัน

By: jokerjunior
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 19 January 2019 - 17:19 #1092755

กลับไปไล่เปลี่ยนพาสเวิร์ดทุกเวปจนครบ
เปลี่ยนไปประมาณ 60website 60account
กว่าจะเปลี่ยนหมด หมดเวลาไปครึ่งวัน T-T

By: HudchewMan
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 19 January 2019 - 18:53 #1092765
HudchewMan's picture

ไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำกับ

ซ้ำกัน หรือว่า ซ้ำกับเว็บอื่น ครับ?


~ HudchewMan's Station & @HudchewMan~

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 20 January 2019 - 08:42 #1092794 Reply to:1092765
panurat2000's picture

มีกระบวนการมาตรฐานที่เป็นที่นิยมไม่กี่กระบกวนการ

กระบกวนการ => กระบวนการ

By: devilblaze
iPhoneAndroidWindows
on 19 January 2019 - 19:07 #1092769
devilblaze's picture

พฤติกรรมของผมคือ
อีเมล์หลัก ที่ใช้โยงกับธุรกรรมที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง พาสเวิร์ดจะแน่นหนา

อีเมล์รอง ใช้พาสอีกชุด และใช้เมลนี้สมัครทุกๆอย่างที่อยากเล่น พาสที่ใช้สมัครเว็บบอร์ดหรือเกมจะเป็นแบบง่ายๆ แต่ไม่เหมือนกับอีเมลรอง

แต่เอาอีเมลหลักและอีเมลรองเชคแล้วไม่เจอแฮะ

By: iamoatx
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 19 January 2019 - 20:23 #1092777
iamoatx's picture

ส่วนตัวใช้อีเมลหลายบัญชี และแยกตามประเภทการใช้งานแล้วค่อย forwarding เข้ามาอีเมลบัญชีหลักที่ใช้ ถึงจะไม่ค่อยเกี่ยวกับหัวข้อ แต่ไล่เช็ค ๆ ดูแล้วไม่มีตัวไหนที่หลุดเลย ถือว่าโชคดีไป :3

By: ohyooha on 20 January 2019 - 01:13 #1092792
ohyooha's picture

ผมเจอว่าโดนเจาะ​ แต่เปนพวกเวบบอร์ด​ทั่วไป​ ที่ผมใช้รหัสผ่านง่ายๆคุ่กะอีเมล์​ ส่วนตัวอีเมลเองจะใช้รหัสผ่านอีกชุดที่ซับซ้อน​กว่า​ +2 factor คิดว่าไม่น่าเป็นห่วง​

By: whitebigbird
Contributor
on 20 January 2019 - 13:27 #1092809 Reply to:1092792
whitebigbird's picture

ถ้าโดนเอาบัญชีที่ถูกเจาะ ไปโพสต์ หรือทำสิ่งผิดกฎหมายในบอร์ดนั้นๆ ล่ะครับ?

By: Neung-Friend
iPhoneWindows PhoneWindows
on 20 January 2019 - 18:30 #1092825
Neung-Friend's picture

เว็บตรวจสอบแต่ไม่ถูกต้อง ผมใส่ เมล์ googlemail บอกว่าไม่ปลอดภัย มีรายการ Dropbox ที่น่าสงสัย แต่ Dropbox ผมใช้ outlook ล็อกอิน สงสัยเหมือนกันครับ

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 20 January 2019 - 21:29 #1092839 Reply to:1092825

เคยเอา gmail ไปสมัครไว้รึเปล่าครับ ลอง login / recover รหัสผ่านดู

By: Neung-Friend
iPhoneWindows PhoneWindows
on 21 January 2019 - 12:37 #1092855 Reply to:1092839
Neung-Friend's picture

อีเมล์ผม onestoryXXX@googlemail.com และ onestoryXXX@gmail.com มันคือเมล์ตัวเดียวกันครับ ผมใช้ได้ทั้งสองโดเมน แต่ตรวจสอบมีปัญหาแค่ googlemail.com ผมเลยสงสัยว่าถ้าโดนก็ต้องแจ้งเตือนทั้งสองที่ 555 แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เปลี่ยนรหัสเว็บที่แจ้งมาเรียบร้อยแล้วครับ

สงสัยอีกอย่าง Dropbox ผมตั้งรหัสแบบสุ่มยากมาก 18 ตัวตามที่ Safari บน iOS แนะนำ แถมตั้ง Authorize ไว้สองขั้นตอน ต้องยืนยันผ่าน SMS ด้วยอีกชั้นน่าจะปลอดภัยนะครับ

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 21 January 2019 - 14:20 #1092931 Reply to:1092855

แต่ตรวจสอบมีปัญหาแค่ googlemail.com ผมเลยสงสัยว่าถ้าโดนก็ต้องแจ้งเตือนทั้งสองที่

มันเขียนไม่เหมือนกัน มันเลยนับเป็นคนละเมลครับ ต่อให้เช็คเจอ @googlemail ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเจอกับ @gmail ถูกแล้ว

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 21 January 2019 - 14:28 #1092934 Reply to:1092855
hisoft's picture

Google Account เดียวกัน != อีเมลเดียวกันครับ

By: whitebigbird
Contributor
on 21 January 2019 - 14:44 #1092937 Reply to:1092855
whitebigbird's picture

ผมช่วยอธิบายเสริมให้สองท่านด้านบน

ในมุมของอีเมล์แอดเดรสบนระบบที่คุณไปเปิดบัญชี (ในที่นี้คือ gmail)

googlemail กับ gmail ถือเป็น alias ซึ่งกันและกัน คุณสามารถ login เข้าบริการด้วยทั้งสองเมล์แอดเดรสได้ไม่มีความต่างกัน เพราะ Google เองเป็นผู้ทำ alias นั้นให้ เหมือนเรียกคุณด้วยชื่อเล่นและชื่อจริง ถือเป็นคนๆ เดียวกัน เพราะ Google รู้จักคุณทั้งชื่อเล่นและชื่อจริง

แต่กับระบบอื่นเช่น dropbox มันไม่รู้ว่าทั้งสองอีเมล์แอดเดรสคืออันเดียวกัน เขียนต่างกันถือว่าเป็นคนละอัน เหมือนคุณไปโรงพยาบาล ลงชื่อด้วยชื่อจริงเอาไว้ แต่เมื่อถึงเวลารับยา คุณไปแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยชื่อเล่น เจ้าหน้าที่เค้าก็ไม่รู้จักชื่อเล่นคุณครับ

และระบบเช่น dropbox ไม่สนับสนุนการใช้หลายอีเมล์แอดเดรสต่อ 1 บัญชี แปลว่ามันจะไม่มีทางรู้จักชื่อทั้งสองของคุณครับ

By: McKay
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 21 January 2019 - 03:10 #1092858 Reply to:1092839
McKay's picture

คุณ Neung-Friend ลบเมล์ทิ้งเปลี่ยนเป็น mask ดีกว่ามั้ยครับ


Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)

By: Fourpoint
Windows PhoneAndroidSymbian
on 21 January 2019 - 08:19 #1092875

เท่าที่สุ่มดูของตัวเอง น่าจะเป็น email+pass ที่ใช่คู่กับเวบอื่นๆมากกว่าโดยเฉพาะพวกเวบบอร์ดที่ช่องโหว่เยอะ เพราะ email บางอันที่แทบไม่เคยไปสมัครเวบอื่นเลย ก็ไม่หลุด

By: Zatang
ContributoriPhoneAndroid
on 21 January 2019 - 08:53 #1092880

เมลที่ใช้เป็นหลักหลุดแต่กับพวก dropbox กับเว็บบางเว็บ แต่เมลเก่าที่ไม่ได้ใช้หลายปีดันอยู่ใน list collection 1


อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว

By: onlinekg on 21 January 2019 - 12:30 #1092908

ผมว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องตรวจสอบเลยครับ นอกจากอยากรู้อยากเห็น ถ้าไม่แน่ใจก็เปลี่ยน password เลยจบ

ที่สำคัญแน่ใจหรือครับว่าเวปนี้ไม่ใช่พวก collect email เพื่อเอาไปขายคนทำ marketing

ลองใส่ 123@gmail.com , 1234@gmail.com และเพิ่มตัวเลขไปเรื่อย ๆ ดูครับ ผมใส่ถึง 1234567890123@gmail.com มันก็บอกว่าโดน หรือจะลองใส่ย้อนกลับ 987...@gmail.com ดูก็ได้ มัน report ว่าโดนหมด คิดได้อย่างเดียวว่าพี่แกใช้ algorithm base ไม่ใช่ database base อาจจะผสมกับ random ด้วยก็ได้

By: Fourpoint
Windows PhoneAndroidSymbian
on 21 January 2019 - 13:02 #1092915 Reply to:1092908

ผมมีemail สิบกว่าชุด มีทั้งโดนและไม่โดนครับ

ที่โดนจะเป็นชุดหลักทีใช้งานบ่อย ไปสมัครตามเวบ ตามบอร์ดตปท. แต่ดูแล้วน่าจะเป็นจากพวกเวบบอร์ดมากกว่า พวกนี้ใช้ password ง่อยๆง่ายๆ คนละชุดกับ pass หลัก

ส่วนที่ไม่โดนคือแทบไม่เคยไปลงทะเบียนอะไรข้างนอกเลย สมัครเพื่อเป็น account ติดเครื่อง android เท่านั้น(ผมไม่ใช้ account ซ้ำ เพื่อที่จะเปิด mode share location แยกเครื่องกันได้หมด)

ส่วนพวกสุ่มประหลาดๆ เช่น y@y.com พวกนี้ผมว่ามันมีคนใช้สุ่มลงทะเบียนตามบอร์ดเยอะๆ ถ้าไม่มีการ validate email ยังไงก็ใส่มั่วๆกันเพียบ

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 21 January 2019 - 14:30 #1092935 Reply to:1092908
hisoft's picture

ที่ผมกรอกไปว่าไม่โดนก็มีเยอะครับ

By: Jose
Windows PhoneAndroidSymbianUbuntu
on 21 January 2019 - 21:53 #1092976
Jose's picture

เช็คที่เวป โดยใช้อีเมล์ ผมที่ใช้ประจำ บอกว่าโดน
แต่หากแยกเอารหัสที่ใช้ล็อคอินอีเมล์นี้ ไปเช็คดู บอกว่าไม่โดน งงๆ
หมายความว่า ที่หลุด คือ ชื่ออีเมล์ กับพาสของเว็ปที่เราเอาอีเมล์ไปสมัครใช่มั้ยครับ
แต่พาสที่ใช้กับอีเมล์ไม่ได้หลุด ใช่รึเปล่า (งงๆ มั้ยครับ)

เช่น สมมุติ ที่เวป Gmail อีเมล์ 12345@gmail.com ใช้พาส 9876543210
แต่ใช้อีเมล์ 12345@gmail.com สมัครเป็นสมาชิกที่ xxx.com ตั้งรหัสว่า abcdef

แล้วเช็คว่าโดนรึเปล่า โดยอีเมล์ 12345@gmail.com ผลบอกว่าโดน
แต่หากไปเช็คโดยใช้พาส 9876543210 บอกว่าปลอดภัย ไม่เจอ ไม่มีหลุด ???

By: whitebigbird
Contributor
on 22 January 2019 - 09:18 #1092991 Reply to:1092976
whitebigbird's picture

มีตรงไหนให้เช็คจากพาสเวิร์ดด้วยเหรอครับ?

By: Jose
Windows PhoneAndroidSymbianUbuntu
on 22 January 2019 - 11:18 #1093037 Reply to:1092991
Jose's picture

แถบเมนูนำทางข้างบน แทปที่ 5 น่ะครับ มีแท็บ Passwords ที่ช่วยตรวจสอบว่าพาสเวิร์ดของเราถูกเจาะไปด้วยหรือไม่ โดยใส่พาสเวิร์ดที่เราจำได้ลงไป

By: whitebigbird
Contributor
on 22 January 2019 - 11:23 #1093046 Reply to:1093037
whitebigbird's picture

เพิ่งเห็นเลยครับ ขอบคุณครับ