Tags:
Node Thumbnail

Facebook ซื้อบริษัทมากมายเข้ามารวมด้วย แต่มี 3 บริษัทที่เป็นการซื้อกิจการครั้งสำคัญ คือ Instagram, WhatsApp และ Oculus

No Description

เมื่อดูภาพยุทธศาสตร์ หรือโรดแมป 10 ปีของ Facebook ที่เผยออกมาในงาน f8 ปี 2016 จะเห็นได้ว่า ทั้ง Instagram, WhatsApp และ Oculus อยู่ในโรดแมปที่ต้องการสร้างรายได้มหาศาลนี้

น่าจับตาว่าเมื่อผู้ก่อตั้งทั้งสามบริษัทลาออกไปแล้ว หน้าตาและภาพรวบธุรกิจของทั้งสามผลิตภัณฑ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

No Description
ภาพจาก Mark Zuckerberg

Instagram

Facebook เข้าซื้อ Instagram ในปี 2012 ขณะที่มีผู้ใช้งาน 35 ล้านคน ในดีล 1,000 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน Instagram ยังเป็นโซเชียลที่คนเล่นสูงมากถึงพันล้านคน ถือเป็นการเข้าซื้อที่ถูกต้องและชาญฉลาด

จนกระทั่งเดือนกันยายน 2018 สองผู้ก่อตั้ง Instagram คือ Kevin Systrom (ซีอีโอ) และ Mike Krieger (ซีทีโอ) ลาออกพร้อมกัน โดยไม่ได้ระบุสาเหตุชัดเจน

No Description

ซ้าย Mike Krieger ขวา Kevin Systrom
ภาพจาก Info Center Instagram

WhatsApp

Facebook เข้าซื้อ WhatsApp ด้วยดีล 22 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2014 โดยขณะนั้น WhatsApp อ้างว่ามีผู้ใช้งานกว่า 450 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละเดือน มีผู้ใช้ประจำถึง 70% และมีผู้ใช้งานรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตรา 1 ล้านคนต่อวัน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก และความเติบโตนี้จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Facebook สนใจ

ปัจจุบัน WhatsApp มีตัวเลขผู้ใช้งานแอคทีฟรายเดือน 1.5 พันล้านราย ข้อมูลเดือน ธันวาคม 2017 จาก Statista และไม่ใช่ว่าจะไม่มีข่าวฉาวเสียทีเดียว เพราะมีข่าวปลอมระบาดเช่นเดียวกับ Facebook จนทำให้เกิดเหตุฆาตกรรมในอินเดีย

เดือนกันยายน 2017 Brian Acton ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp ลาออก โดยตอนนั้นเขาบอกว่าไปทำงานไม่แสวงหาผลกำไร และมาเปิดเผยในภายหลังว่าเขาไม่พอใจนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัวของ Facebook และตอนนี้เขาก็มาสนับสนุนแอพ Signal แอพแชทที่ชูจุดขายเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว Acton ยังเป็นคนแรกๆ ที่มาจุดกระแส #DeleteFacebook ด้วยตอนที่เกิดเรื่องฉาวข้อมูลหลุด ส่วน Jan Koum ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp อีกคน ก็เพิ่งจะลาออกไปในเดือนพฤษภาคม 2018 นี้เอง คาดว่ามาจากปัญหาเดียวกันคือเรื่องฉาว ข้อมูลส่วนตัวหลุด

Jan Koum
Jan Koum คือคนซ้าย ส่วน Brian คือคนทางขวา

Oculus

ปี 2014 Facebook ประกาศเข้าซื้อ Oculus VR มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์

Palmer Luckey ผู้ร่วมก่อตั้ง Oculus ลาออกไปก่อนหน้าในปี 2017 โดยเขาลดบทบาทของตัวเองลงไปมากและแทบไม่ปรากฏตัวหรือสื่อสารต่อสาธารณะเลย

นอกจากนี้ Oculus เองก็ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2016 โดย Brendan Iribe ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ ลงจากตำแหน่งซีอีโอไปคุมงานเฉพาะส่วนแว่น Rift แทน ส่วน Facebook นำHugo Barra จาก Xiaomi มาคุมงาน VR ทั้งหมดของบริษัท

No Description
Palmer Luckey ผู้ร่วมก่อตั้ง Oculus

จนกระทั่งสดๆ ร้อนๆ ในวันที่ 23 ตุลาคมนี้เอง ที่ Brendan Iribe ประกาศลาออก เหตุ Facebook ยกเลิกโครงการ Rift 2

เมื่อดูไทม์ไลน์การลาออกของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทใหญ่ที่ Facebook เข้าซื้อมา เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีมานี้เอง และเกิดขึ้นกระจุกกันในปี 2018 คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นภายในบริษัท Facebook

นโยบายของ Facebook ไม่สอดคล้องกับจุดยืนของผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่น

ในบทสัมภาษณ์บน Forbes ของ Brian Acton ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp ที่ให้เปิดใจเรื่องที่เขาลาออก เขาระบุว่า ความเห็นเรื่องโมเดลการทำธุรกิจไม่สอดคล้องกับ Facebook โดย WhatsApp เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน แต่ Facebook เน้นการทำเงินจากการโฆษณา จุดหักเหสำคัญที่คือ Facebook เชื่อมข้อมูลผู้ใช้ WhatsApp กับ Facebook เข้าด้วยกัน ทั้งที่เขาเคยให้การต่อหน่วยงาน European Competition Commission ที่มีความเข้มงวดเรื่องการผูกขาดการค้า ว่าตัวข้อมูลของ WhatsApp และ Facebook นั้นต่างกันมาก ยากที่จะนำมาใช้ร่วมกัน และผู้บริหาร WhatsApps ก็ไม่ได้ต้องการให้เชื่อมข้อมูลเข้ากับ Facebook ด้วย

แต่สุดท้าย Facebook ก็เชื่อมข้อมูลจนได้

ผู้ก่อตั้ง Instagram คือ Kevin Systrom และ Mike Krieger ไม่ได้เผยสาเหตุชัดเจนที่ลาออก บอกเพียงว่า ตัดสินใจลาออกเพื่อไปค้นหาและเริ่มต้นภารกิจครั้งใหม่ โดยเป็นการดีกว่าที่จะถอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง พวกเขาจะคอยเฝ้ามองการเติบโตในอนาคตของทั้ง Instagram และ Facebook ต่อไป ในฐานะผู้ใช้งานคนหนึ่ง

แต่การลาออกของทั้งคู่ก็ยังคงได้รับความสนใจจากสังคม เพราะเป็นการประกาศลาออกพร้อมกัน

No Description
ซ้าย Mike Krieger กลาง Adam Mosseri ขวา Kevin Systrom

ด้าน Oculus นั้น TechCrunch รายงานว่าการลาออกของ Brendan Iribe ผู้ร่วมก่อตั้ง Oculus สาเหตุมาจาก Facebook ปรับโครงสร้างองค์กรในส่วนของ VR ยกเลิกโครงการ Rift 2 ที่ Iribe เป็นหัวหน้าทีมอยู่ แหล่งข่าวที่ TechCrunch ได้มาระบุว่า ผู้บริหารใน Facebook กับ Iribe มีมุมมองเรื่องการเติบโตของ Oculus แตกต่างกัน จนเป็นเหตุให้ Iribe ตัดสินใจลาออกในที่สุด

สรุป

Instagram, WhatsApp, Oculus คือสามอาวุธใหญ่ที่ Facebook มีในมือ และอยู่ในโรดแมปหลักของ Facebook ที่ต้องการสร้างรายได้ในระยะยาว แต่ในระยะ 1-2 ปีเท่านั้นที่ผู้ก่อตั้งจากทั้งสามบริษัทลาออกหมด โดยมีปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างแนวทางของ Facebook กับจุดยืนของทั้งสามบริษัทเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ

Facebook ใช้วิธีแต่งตั้งผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ของ Facebook เข้าไปดูแลงานแทนผู้ก่อตั้งที่ลาออก WhatsApp ได้ Chris Daniels ที่ดูแลงาน Internet.org ไปทำหน้าที่แทน ส่วน Instagram ก็ดัน Adam Mosseri ที่เป็น Vice President of Product อยู่แล้วมาเป็นผู้บริหาร และ Oculus ก็ดัน Hugo Barra ที่ดูแลงาน VR ของ Facebook มาดูแล Oculus ด้วย

จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จาก Mark Zuckerberg และบรรดาผู้บริหารระดับสูงของ Facebook ออกมาพูดอะไรถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว

Get latest news from Blognone

Comments

By: lingjaidee
ContributoriPhoneAndroid
on 25 October 2018 - 13:21 #1078264
lingjaidee's picture

เพิ่งรู้ว่า Hugo Barra ออกจาก Xiaomi แล้ว ?


my blog

By: K_AViar
Windows PhoneUbuntuWindowsIn Love
on 25 October 2018 - 13:43 #1078271

สู้เขาพ่อหนุ่ม

By: akira on 25 October 2018 - 13:54 #1078272

เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็อย่างนี้แหล่ะ สาเหตุผมว่าผู้ถือหุ้นคงกดกันเรื่องการทำรายได้ ผลก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้

By: HMage
AndroidWindows
on 26 October 2018 - 10:01 #1078443 Reply to:1078272

ข่าวต่อไป Mark พูดผ่าน Facebook ว่าจะซื้อหุ้นคืนให้หมด

แล้วก็โดนคนไปร้องศาลให้สั่งปลดเพราะทำหุ้นตก

ตามเฮีย Ironman ไปเลย

By: Bluetus
iPhone
on 25 October 2018 - 14:57 #1078292
Bluetus's picture

พูดยากนะเรื่องแบบนี้

โมเดลการหาเงินกับการให้ความสำคัญเรื่อง Privacy ต่างกัน