Tags:
Node Thumbnail

เทคโนโลยีมีส่วนเสริมช่วยให้พิพิธภัณฑ์สื่อสารความรู้แก่ผู้เข้าชมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีชีวิตชีวามากขึ้น ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นการฉายหนังสามมิติ ใช้เสียงแนะนำผู้ชมแม้จะเป็นต่างภาษารวมถึงแอพพลิเคชั่นด้วย และ AR คืออีกหนึ่งเทคโนโลยีที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเห็นประโยชน์และลงทุนกับมัน

พิพิธภัณฑ์ Intrepid Sea, Air, and Space ใช้ Mae Jemison ผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้ขึ้นไปอวกาศมาเป็นพรีเซนเตอร์ถ่ายทอดความรู้ผ่าน HoloLens โดยใช้กล้อง 106 ตัวถ่ายรอบๆ จนกลายเป็น Jemison เวอร์ชั่นสามมิติ และเรนเดอร์มาเป็นโฮโลแกรม และเมื่อผู้ชมสวม HoloLens ก็จะได้เจอ Jemison พาไปทัวร์อวกาศ โดยได้รับความร่วมมือจาก Microsoft

National Museum of Natural History เองก็ใช้ AR พาดูซากสัตว์ว่าก่อนที่มันจะสลายกลายเป็นซาก โครงกระดูก สัตว์ดึกดำบรรพ์เคยมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร, Museum of Modern Art ในซานฟรานซิสโก ก็สร้างแกลเลอรี่ AR โชว์ผลงานศิลปะของ René Magritte ศิลปินที่วาดภาพแนวเหนือจริงขึ้นมา, พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสหรัฐฯ ใช้ AR ให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนในลิทัวเนีย เป็นต้น

No Description
ภาพจาก National Museum of Natural History

บริษัทไอทีก็แอคทีฟเช่นกัน Google ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ Detroit Institute of Arts แสดงให้เห็นว่า AR สามารถทำอะไรได้บ้าง Apple ก็ใช้ AR Kit กับพิพิธภัณฑ์ Perez Art ในไมอามี่

เมื่อ AR เริ่มใช้ง่ายและราคาถูกลง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พิพิธภัณฑ์หันมาใช้ AR กันมากขึ้น แน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์ยังคงให้ความสำคัญกับวัตถุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ AR ช่วยสื่อสารเนื้อหาให้ครอบคลุมกว่าเดิม

ที่มา - WIRED

Get latest news from Blognone