Tags:
Node Thumbnail

ตั้งแต่การประมูลคลื่น 900 เมื่อปี 2016 สืบเนื่องมาจนถึงการประมูลคลื่น 1800 ปีนี้ ประเด็นที่ถูกพูดถึงที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องราคาคลื่นความที่ถี่ โดยเฉพาะการประมูลปีนี้ที่ กสทช. ตั้งราคาตั้งต้นเท่ากับราคาสุดท้ายของคราวก่อน ซึ่งสูงมากและหากยิ่งประมูล ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกนั้น

ทว่าประเด็นราคาคลื่นความถี่ที่สูงนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะในไทยเท่านั้น เมื่อ GSMA สมาคมที่ดูแลเรื่องการสื่อสาร ได้เปิดเผยรายงานการววิจัยที่พบว่า ราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่แล้วเฉลี่ยสูงเหมือนกัน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วด้วยซ้ำ

No Description

ราคาคลื่นความถี่สูง ปิดกั้นการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่าย

งานวิจัยจาก GSMA ระบุว่าเมื่อปรับตัวเลข GDP ต่อประชากร ราคาสุดท้ายของคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ยสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วถึง 3 เท่า ขณะที่ราคาจองหรือราคาตั้งต้นของการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ย สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 5 เท่า โดยราคาคลื่นในไทยก็สูงติดอันดับโลกด้วย

สิ่งที่มาพร้อมกับราคาคลื่นความถี่ที่สูง คือคุณภาพการให้บริการที่ต่ำ ความเร็วต่ำและการครอบคลุมของสัญญาณที่น้อย ซึ่งเกิดจากการที่โอเปอเรเตอร์ต้องจ่ายค่าคลื่นความถี่แพงและไม่มีเงินทุนเพียงพอในการลงทุน เพื่อปรับปรุงและขยายบริการ และส่งผลต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพของผู้บริโภคอีกทอด

alt="Screen Shot 2561-07-18 at 14.47.55"
กราฟแสดงราคาสุดท้ายเฉลี่ย

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังโชคดีที่ความเร็วและการครอบคลุมสูงกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ดี ซึ่งคุณ Christian Gomez ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและควบคุมคลื่นความถี่ของ GSMA ในเอเชียแปซิฟิกแสดงความเห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้ในไทยน่าจะอยู่ได้ไม่นาน เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหลายประเทศจากวิจัย ที่พบว่าราคาคลื่นความถี่ที่สูงจะสวนทางกับการให้บริการและคุณภาพของสัญญาณ

บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลกับราคาคลื่นความถี่

GSMA ระบุถึงบทบาทสำคัญ 3 ข้อของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ที่ทำให้ราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ยออกมาสูง

  • การตั้งราคาประมูลตั้งต้นที่สูง
  • จำกัดอุปทานของคลื่นความถี่และจำนวนใบอนุญาต
  • การประมูลคลื่นไม่สอดคล้องกับ หรือขาดแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้งานคลื่นความถี่ในระยะยาว

alt="Screen Shot 2561-07-18 at 14.48.14"
ราคาประมูลตั้งต้นเฉลี่ย

วิธีคิดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับราคาคลื่นความถี่

ผมได้สอบถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศพัฒนาแล้ว สามารถควบคุมราคาเฉลี่ยของคลื่นให้ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาและราคาค่อนข้างคงที่ คุณ Brett Tarnutzer ประธานฝ่ายคลื่นความถี่ของ GSMA ระบุว่า ประเด็นสำคัญคือมุมมองหรือวิธีคิดที่ตั้งใจจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว มากกว่าจะมองแค่รายได้ในระยะสั้น

ส่วนวิธีการคือปล่อยให้ราคาของคลื่น แปรไปตามกลไกลของตลาดให้ได้มากที่สุด ขณะที่การตั้งราคาตั้งต้น จะพิจารณาจากการศึกษาหรืองานวิจัยต่างๆ รวมถึงผลกระทบต่อตลาด เศรษฐกิจในภาพรวมและผู้บริโภค

GSMA มองว่า กสทช. โบ้ยความรับผิดชอบกับการประมูลคลื่น 900

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับงานศึกษาวิจัยแล้ว GSMA ยังแสดงความเห็นต่อการประมูลคลื่น 900 และ 1800 ที่จะประมูลในเดือนสิงหาคมนี้ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงบางกฎระเบียบครั้งนี้ของ กสทช. อาทิ ยกเลิกเกณฑ์ n-1 ส่งผลบวกต่อการประมูล ทว่าปัญหาสำคัญคือราคาตั้งต้นที่ยังคงสูง แม้จะลดลงมาจากเดิม 2,000 ล้าน ซึ่งถือว่ายังน้อยและส่งผลต่อการลงทุนอื่นๆ ของโอเปอเรเตอร์ดังที่กล่าวไปข้างต้น

นอกจากนี้ GSMA ยังแสดงความกังวลในประเด็นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันคลื่นรบกวนกับอาณัติสัญญาณของรถไฟ ของผู้ชนะคลื่น 900 ด้วย พร้อมวิจารณ์ว่า เป็นการโยนความรับผิดชอบของ กสทช. ไปยังโอเปอเรเตอร์

หากใครสนใจสามารถอ่านรายงานเต็มได้จากลิงก์นี้

Get latest news from Blognone

Comments

By: IDCET
Contributor
on 18 July 2018 - 16:29 #1061494

ซึ่งน่าเสียดาย ที่ราคาประมูลในบ้านเราสูงไปมากจนเกินไป ทำให้เหลือเพียงไม่มีเจ้าที่สามารถซื้อมาแข่งขันกับตลาดนอกจากเครือข่ายหลัก 3 เจ้าเดิมที่กลายเป็นธุรกิจผูกขาดเสมือนได้ เพราะ JAS ป่วน และการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพและหมดความน่าเชื่อถือของ กสทช. ทำวงการ 3G/4G วินาศสันตโร แค่ปัญหามือถือโฆษณาเกินจริงเอย สลับรอมเอย ข้อมูลรั่วเอย และปกป้องรัฐแบบไม่ลืมหูลืมตาเอย ยังแก้ไม่ได้เลย พากันย่ำอยู่กับที่ โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจบ หรือต้องรออีกนานแค่ไหน

ถ้าราคาคลื่นถูกกว่านี้มาก เราคงได้เห็นการแข่งขันที่ดีกว่านี้ บางที่อาจได้เห็นค่ายมือถือใหม่เข้ามาทำตลาดในบ้านเราอีกเยอะ เศรษฐกิจก็พัฒนาขึ้นอีก รวมถึงพัฒนาการให้บริการได้เร็วและดีกว่านี้อีกมาก

เราไม่เคยมีโอกาสดีที่จะได้พัฒนาประเทศให้ดีขึ้นแบบรุดหน้าหรือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลยสักครั้ง เพราะปัญหาเดิมๆ ที่ไม่เคยแก้และทำเป็นลืม รวมถึงปัญหาบ้านเมืองที่ยังวุ่นวายก็พลอยทำให้การพัฒนาล่าช้ามากหรือเดินถอยหลังไปอีก โอกาสมาแต่ไม่คว้าไว้ ทำเสียชือและจะรั้งท้ายอาเซียนในไม่ช้า เพราะตอนนี้ทุกประเทศในอาเซียนเริ่มตื่นตัวกับการพัฒนาและปรับปรุงประเทศแล้ว ไม่มีคำว่าถอยหลังสำหรับพวกเขาแล้ว แต่เรากลับยังอยู่นิ่งรอความตายอยู่ตั้งหลายปี ไม่เคยไปไหนหรือก้าวหลุดจากปัญหาเดิมๆ เลย ต้องละทิ้งทุกอย่าง สร้างภาพประเทศ และพัฒนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ถึงจะหลุดจากปัญหาเดิม


ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว

By: jokerxsi on 18 July 2018 - 20:33 #1061557 Reply to:1061494

ผมว่า กสทช. เขา Ok ตอนประมูล 3G กับ TV Digital นะ ยิ่งย้ายค่ายเบอร์เดิมผมว่าเป็นผลงานที่ดีเลย
ส่วนตอน 3G โดนเลื่อนไป 1 ปีผมว่าไม่ใช่ความผิด กสทช. นะ

ผมเห็นด้วย 100% เรื่องราคาคลื่น เอาจริงๆ ผมไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าประมูลได้ราคาถูกหรือถวายพานให้ ตราบได้ที่มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพอย่างดุเดือด ซึ่งการแข่งขันนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้เล่นได้รับทรัพยากรอย่างเพียงพอที่จะต่อสู้ในตลาด

เราได้ประโยชน์จากการแข่งขันของผู้ประกอบการมากกว่ารายรับที่รัฐได้จากการประมูลคลื่นอย่างมากแบบไม่ต้องสงสัยเลย

ผมพึ่งเจอเพื่อนต่างประเทศทำงานพวกชวนคนเก่งๆหรือคนมีเงินจากเอเซียย้ายไปประเทศอื่นแล้วนะ 555

By: gondolaz
AndroidUbuntuWindows
on 19 July 2018 - 12:47 #1061736
gondolaz's picture

ผมว่าบ้านเราราคาประมูลถูกก็ไม่ได้ทำให้ โดยรวมได้ประโยชน์อ่ะ คือส่วนนั่นก็เข้ากระเป๋าโอเปอร์เรเตอร์อยู่ดี ไม่ได้ทำให้ค่าบริการถูกลง เลยไม่รู้ว่าจริงๆ มันควรไปทางไหนดี

By: kbt on 19 July 2018 - 13:09 #1061743

มีอะไรรับรองว่า ถ้าราคาประมูลที่ได้ต่ำ แล้วประชาชน หรือ รัฐจะได้ประโยชน์ ??
แต่ด้วย ราคาประมูลที่สูง ของคลื่น 900 และ 1800 ที่ผ่านมา

1.รัฐได้ประโยชน์จากเงินค่าประมูลที่สูงลิบลิ่ว
2.ประชาชนได้ประโยชน์จาก ประสิทธิภาพของเครือข่าย ที่ไทยมีความครอบคลุมและความเร็ว สูงกว่าค่าเฉลี่ย(อย่างที่ในบทความว่าไว้) แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวผมว่าดีกว่าหลายๆ ประเทศในโลกมาก รวมถึงราคาที่ต่ำกว่า
3.บริษัทที่ประมูลคลื่นได้ ได้ประโยชน์ อย่าง AIS และ TRUE ผลประกอบการณ์ก็ดีขึ้นมาก

ถามหน่อยว่ามีใครเสียหาย นอกจากพวกตามจิกกัด กสทช เท่านั้นแหละ

เอาอะไรมารับรองว่า ราคาประมูลต่ำ คุณภาพจะสูงขึ้น ราคาจะลดลง

By: nrml
ContributorIn Love
on 19 July 2018 - 13:55 #1061758 Reply to:1061743
nrml's picture

ตอบเลยว่าไม่มีอะไรมารับรองครับ แต่โดย common sense ก็คิดได้ว่า ถ้าต้นทุนของของที่จะขายมันต่ำ ก็น่าจะมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการตัดราคาลงมาได้มากโดยที่ยังมีกำไรอยู่

By: kbt on 19 July 2018 - 16:43 #1061802 Reply to:1061758

ประเทศไทย คือหนึ่งในประเทศ ที่ค่าโทรศัพท์มือถือ ถูกมากอยู่แล้วครับ ถ้าเทียบกับในบรรดาประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยวนะ และประเทศที่ค่าบริการสูงกว่าไทย นั้น เกือบทั้งหมด มีต้นทุนในด้านใบอนุญาตที่ต่ำกว่าไทยทั้งนั้น

นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องว่า คุณภาพสัญญาณของไทย ดีกว่ามาก (ถ้าไม่นับพวกประเทศที่เล็กๆ อย่างฮ่องกง สิงคโปร์)

ในเมื่อรับรองไม่ได้ว่า ถ้าต้นทุนคลื่นถูกกว่านี้ แล้ว คุณภาพ และ ราคา จะดีกว่านี้ แล้วทำไมถึงต้องเต้นเหยงๆ ให้เปลี่ยนครับ

ลดราคาลงมา ผลประโยชน์อื่นจะได้รึเปล่าไม่รู้ แต่ผลเสียเกิดแล้ว เพราะรัฐจะสูญเสียรายได้ ไปหลายหมื่นล้านบาททันที

ปล. ต้นทุนต่ำ ไม่ได้หมายความว่า บริษัทเอกชน จะยอมนำกำไรส่วนเกิน มาลดราคาสินค้าให้ผู้บริโภคแน่นอน ต้นทุนเค้าต่ำ ถ้าเค้าเก็บกำไรไว้เอง ไม่ดีกว่าหรือ สิ่งที่จะทำให้ราคาลดลง ต้องมาจากการแข่งขันแย่งชิงลูกค้าเท่านั้น เหมือนกันทั้งโลก

By: nrml
ContributorIn Love
on 19 July 2018 - 18:02 #1061820 Reply to:1061802
nrml's picture

เรื่องที่เอาไปเทียบกับต่างประเทศแล้วมันยังถูกกว่าก็ถือว่าดีครับ ซึ่งผลก็น่าจะมาจากการแข่งขันอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาในช่วงที่ยังได้สัมปทานและยังไม่ต้องแบกรับต้นทุนตรงนี้ เรื่องราคา ณ ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่ามันสะท้อนต้นทุนที่ว่าแล้วหรือยังเพราะการประมูลครั้งที่แล้วก็เพิ่งผ่านไปไม่นาน คงต้องรอดูอีกสักสองสามปีก่อน