Tags:
Node Thumbnail

ในงาน Dell Technologies ที่ลาสเวกัสวันที่สาม เนื้อหาหลักเป็นการสนทนาในหัวข้อที่ต่อเนื่องจากสองวันแรก นั่นคือภาพรวม และผลิตภัณฑ์ โดยหัวข้อว่าด้วยเรื่องของเทคโนโลยีหรือแนวโน้มเทรนด์ใหญ่ที่จะเปลี่ยนโลกได้

คีย์โน้ตวันนี้เปิดโดย Allison Dew หัวหน้าฝ่ายการตลาดของเดลล์ โดยชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ อาทิ AI, Machine Learning หรือ Blockchain กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องการข้อมูล (data) เป็นตัวขับเคลื่อน และทำให้ธุรกิจทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งมีการยกตัวอย่าง Walmart ที่สามารถตรวจกลับต้นทางของอาหารได้ จากเดิม 7 วัน เหลือเพียงไม่กี่วินาที หรืออีกกรณีคือ Nasdaq ที่พัฒนาระบบจนสามารถตรวจจับความผิดปกติได้ในระดับเรียลไทม์

ถัดจากนั้นเป็นการพูดคุยกับ Ashton Kutcher ดารานักแสดงที่มีหมวกอีกใบเป็นนักธุรกิจและเป็น VC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพหลายแห่งรวมทั้ง Foursquare, Skype, Airbnb, Uber และ Spotify เขาบอกว่าการคัดเลือกสตาร์ทอัพเพื่อลงทุนนั้น มองที่ความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดก่อน และดูว่ามีโอกาสทำเงินได้ สิ่งที่สำคัญคือทีมงาน ผู้ก่อตั้ง และประสบการณ์ของคนเหล่านั้น เพราะเมื่อสตาร์ทอัพเริ่มพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นได้ผล จะมีคนลอกเลียนแบบ ซึ่งตรงนี้ฝีมือของทีมผู้ก่อตั้งจะเป็นตัวชี้วัด

alt="Ashton Kutcher"

เมื่อถามถึงสตาร์ทอัพใหม่ๆ หรือหัวข้อที่สนใจ Kutcher บอกว่า ตอนนี้ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับรถสกู๊ตเตอร์ เพราะมองว่ารถยนต์นั้นมีเต็มถนน แต่จะดีกว่าไหมถ้ามันเป็นสกู๊ตเตอร์ ส่วนหัวข้ออื่นที่สนใจ เช่นการบริหารสินค้าคงคลังในร้านค้า, ทุกอย่างที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพและ AI เขายังเล่าถึงโครงการ Thorn ที่พัฒนาระบบป้องกันเด็กถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาต่อสู่กับปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ที่เกิดมาพร้อมกันเทคโนโลยีเช่นกัน

alt="Ray O'Farrell"

ถัดมาเป็น Ray O'Farrell ซึ่งเป็น CTO ของ VMWare ซึ่งเล่าถึงยุคอุตสาหกรรมแต่ละขั้น ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ 4 เรียกว่า Cyber Physical ที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับสิ่งต่างๆ รอบตัว สิ่งที่ท้าทายคือการสร้างหน่วยประมวลผลในระดับที่ใกล้กับสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิด Edge Computing สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนสูงอย่าง เกษตรกรรม, สุขภาพ และพลังงาน

alt="4 Steps Industrial"

Ray บอกว่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องควรมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์มากกว่าเน้นที่เทคโนโลยี เพราะ IoT ยังเป็นเรื่องใหม่และซับซ้อนมาก ควรสร้างระบบที่ดีที่รองรับการทำงานกับแพลตฟอร์มที่หลากหลาย และควรเป็นแพลตฟอร์มเปิด

สุดท้ายคือ John Roese ซึ่งเป็น CTO ของ DellEMC และประธาน Cloud Foundry Foundation มาพูดถึงทิศทางของ AI ซึ่งเขาชี้ให้เห็นว่าวันนี้เราได้อยู่ร่วมกับ AI ในแบบความสัมพันธ์ระหว่าง คน-เครื่องจักร ไม่ใช่เรื่องของโลกอนาคตแต่อย่างใด

alt="John Roese"

AI ในชีวิตเราตอนนี้สามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบคือ

  1. AI-Enabled ที่ปฏิสัมพันธ์กับคน เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ต่างๆ เช่น ผู้ช่วยอัจฉริยะสั่งงานด้วยเสียง, สมาร์ทโฮม
  2. AI-Driven ที่ทำให้กระบวนการทำงานหลังบ้านดีมากขึ้น ซึ่งคนอาจไม่สัมผัสได้โดยตรง เช่น ระบบบริการลูกค้า, โรงงานอัตโนมัติ
  3. AI-Optimized เน้นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ โดยยกตัวอย่างกูเกิล ที่ซื้อกิจการ DeepMind แล้วนำ AI ของ DeepMind ไปใช้ปรับปรุงระบบความเย็นในศูนย์ข้อมูล จนลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 40% เป็นมูลค่ามหาศาล

alt="AI"

สุดท้าย Ray บอกว่า AI นั้นจะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นและง่ายขึ้น ในทางธุรกิจ AI ช่วยให้ผลตอบแทนการลงทุนคุ้มค่าขึ้น และ AI ยังช่วยแก้ปัญหาที่เดิมติดข้อจำกัดของมนุษย์ได้

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 3 May 2018 - 13:55 #1047655
panurat2000's picture

AI-Enabled ที่ปฏิสัมพัทธ์กับคน

ปฏิสัมพัทธ์ => ปฏิสัมพันธ์