Tags:
Node Thumbnail

เมื่อเวลาราวสามทุ่มของเมื่อวานตามเวลาประเทศไทย SpaceX ได้ทำภารกิจยิงจรวด Falcon 9 อีกครั้ง โดยภารกิจคราวนี้เป็นการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กให้โครงการ Iridium อีก 10 ดวง และ SpaceX ยังได้พยายามเก็บ fairing หรือส่วนปลายของจรวดเป็นครั้งที่สอง แต่ยังคงล้มเหลว

ภารกิจนี้ใช้ชื่อว่า Iridium-5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กรวม 75 ดวงเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งโลก โดยรอบนี้เป็นดาวเทียมชุดที่ 5 แล้วที่ SpaceX ได้ปล่อยออกสู่วงโคจร ซึ่งใช้บูสเตอร์ซ้ำจากภารกิจ Iridium-3 เมื่อเดือนตุลาคม 2017 และภารกิจ Iridium-2 กับ Iridium-4 ก็ใช้จรวดลำเดียวกัน รวม 5 ภารกิจแล้ว SpaceX ใช้จรวดเพียง 3 ลำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม SpaceX ไม่ได้ให้จรวดที่ใช้ในภารกิจนี้บินกลับมาลงจอดแต่อย่างใด โดยหลังแยกตัวจากบูสเตอร์ขั้นที่สอง มันได้ "จำลอง" การกลับมาลงจอด คือทำทุกอย่างเหมือนจะกลับมาลงจอด กาง grid fin และบินกลับมาเหมือนปกติ เพียงแต่บังคับให้ลงทะเลไป

No Description

นอกจากนี้ SpaceX ยังได้พยายามเก็บ fairing หรือส่วนปลายของจรวดที่ปกป้อง payload (ก็คือดาวเทียมในภารกิจนี้) เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่สอง (ครั้งแรกคือในภารกิจปล่อยดาวเทียม Paz) ด้วยการใช้เรือชื่อ Mr. Steven ที่ขึงตาข่ายขนาดใหญ่ไว้เพื่อรับ fairing ที่ตกลงมาจากฟ้า (ดูรูปเรือได้ในลิงก์ข้างต้น) แต่คราวนั้นก็ล้มเหลว โดยหลังจากออกสู่อวกาศ fairing จะแยกออกเป็นสองชิ้น ซึ่ง SpaceX พยายามจะเก็บกลับมา 1 ชิ้นก่อน

น่าเสียดายที่ความพยายามได้ล้มเหลวอีกครั้ง เมื่อร่มชูชีพ (parafoil) กลับหมุนพันกันเพราะความปั่นป่วนของอากาศจากตัว fairing เอง ทำให้ระบบบังคับเลี้ยวของร่มชูชีพทำงานไม่ได้ ส่งผลให้ fairing ตกทะเลด้วยความเร็วสูง และ SpaceX วางแผนจะจำลองการตกของ fairing ด้วยเฮลิคอปเตอร์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา โดย Elon Musk ระบุว่า fairing นี้มีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว การดักจับด้วยเรือก่อนมันจะตกน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดค่าใช้จ่าย (หากตกน้ำแล้วจะเสียไปเลย)

No Descriptionส่วนปลายของจรวด หรือ fairing

อีกประเด็นที่สร้างความฉงนให้ผู้คนคือการถ่ายทอดสดของภารกิจคราวนี้ตัดจบลงก่อนบูสเตอร์ขั้นที่สองจะดับเครื่อง โดย SpaceX ให้เหตุผลว่า National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA ไม่อนุญาตให้เอกชนถ่ายทอดสดภาพของโลกจากอวกาศเพราะบนบูสเตอร์ขั้นที่สองได้ติดตั้งกล้องไว้ ซึ่ง NOAA ระบุว่ากล้องดังกล่าวเข้าข่ายเป็นระบบสำรวจระยะไกล (remote sensing) จึงต้องได้รับใบอนุญาตก่อน โดยกฎนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการปล่อยจรวดหรือดาวเทียมขึ้นไปสอดแนม

ที่มา - Space.com, CNN, Ars Technica

No Descriptionรูปแสดงการวางตัวของดาวเทียม Iridium NEXT เมื่อทำงานเต็มรูปแบบ

Get latest news from Blognone

Comments

By: topty
Contributor
on 31 March 2018 - 16:20 #1041566

ตะข่าย -> ตาข่าย