Tags:
Topics: 

จากความพยายามที่จะสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) เพื่อที่จะมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ได้มีผลทำให้อาหารมีราคาสูงขึ้นทั่วโลก (เช่นข้าว และ น้ำตาล) นักพัฒนาจึงได้เริ่มค้นคว้าถึงความเป็นไปได้ที่จะลดผลกระทบของการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพต่อราคาของอาหาร โดยหลีกเลี่ยงการใช้พืชที่มนุษย์สามารถนำมาบริโภคได้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีเอกสารทั้งหมด 3 ฉบับ ที่ได้มีการวิเคราะห์ และชี้แจงถึงอุปสรรค และความเป็นไปได้ของวิธีการต่างๆ ที่สามารถสรุปได้ดังนี้

Nature Reviews Genetics ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรม เพื่อที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของเอธานอลที่ผลิตจากเซลลูโลส (cellulosic ethanol) ซึ่งเป็นผลิตผลของการทำลายโครงสร้างระหว่างน้ำตาลที่ประกอบขึ้นมาเป็นเซลลูโลส ซึ่งน้ำตาลที่ได้มานั้น สามารถนำมาผลิตเป็นเอธานอลได้ อย่างไรก็ตามการผลิตเอธานอลจากเซลลูโลสนั้น เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างสิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์อาศัยเอนไซม์ที่ผลิตจากแบคทีเรียบางจำพวกมาทำลายโครงสร้างของเซลลูโลส ดังนั้นทางนักพัฒนาจึงได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะดัดแปลงพันธุกรรมของพืช ให้ตัวพืชเองนั้นผลิตเอนไซม์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายเซลลูโลส โดยเก็บเอนไซม์ที่ว่านั้นไว้ในส่วนหนึ่งของเซลล์ การทำให้พืชมีความสามารถในการผลิตเอนไซม์ดังกล่าวนั้นช่วยทำให้การผลิตเอธานอลง่ายขึ้น เนื่องจากว่าผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมีความจำเป็นเพียงแค่ต้องปลดปล่อยเอนไซม์ดังกล่าวออกมาจากที่กักเก็บเท่านั้น

อีกความเป็นไปได้ที่ได้รับการกล่าวถึงนั้นคือ ความเป็นไปได้ที่จะเร่งการเจริญเติบโตของตัวพืชเอง หรือเพิ่มปริมาณความจุของเซลลูโลส โดยเพิ่มยีนบางตัวเพื่อเร่งกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช วิธีสุดท้ายที่ได้รับการกล่าวถึงคือการดัดแปลงพันธุกรรมของพืชเพื่อทำให้กระบวนการย่อยสลายของเซลลูโลสนั้นทำได้ง่ายขึ้น เช่นการลดจำนวนเอนไซม์ในพืชที่ผลิตตัวเชื่อม (crosslinks) ระหว่างเส้นใยเซลลูโลส

ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้พันธุวิศวกรรมเพื่อดัดแปลงพืชนั้น จำเป็นที่จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเพราะว่า มีความเป็นไปได้ที่พืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมที่จะไปรุกรานพืชท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้บริโภคได้ ปัญหาของการวิจัยครั้งนี้อยู่ที่ชนิดของพืชที่สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ดีนั้น ส่วนมากจะเป็นพืชที่มีความสามารถในการรุกรานสูง (เนื่องจากว่าพืชเหล่านี้มีความสามารถเจริญเติบโตได้เร็ว และทนต่อสภาพอากาศที่หลากหลาย)

หนึ่งในเอกสารที่ได้รับการกล่าวถึงนั้นได้ระบุถึงความจำเป็นที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาแบคทีเรียบางจำพวกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยศึกษาถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจจะมีประโยชน์ต่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ความเป็นไปได้ที่แบคทีเรียจะสามารถเร่งการเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น

ที่มา - Nature Reviews Genetics และ Science ผ่าน ars technica

Get latest news from Blognone

Comments

By: ekb on 26 May 2008 - 08:04 #52809

โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าคนแห่กันมาปลูกพืชชนิดใหม่นี้กันหมด แืทนที่จะไปปลูกพวกพืชที่นำมากินได้ ก็น่าจะคงยังทำให้อาหารแพงขึ้นอยู่ดีแฮะ

By: obtheair on 26 May 2008 - 11:27 #52833

สมมติ ของเดิม ปลูกปาล์ม 10 ส่วน ทำน้ำมันพืช5ส่วน ทำไบโอดีเซล5ส่วน

ของใหม่ พื้นที่มันมีเท่าเดิม เอาไปปลูกพืชชนิดใหม่ทำไบโอดีเซลไป5ส่วน เหลือพื้นที่ปลูกปาล์ม5ส่วน ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่าจะเอาไปทำน้ำมันพืชครบ5ส่วนอีกรึเปล่า

อย่างนี้ต้องหาพื้นที่ว่างที่ไม่ใช่ป่าและไม่ได้ปลูกอาหารแต่เดิมมาปลูกพืชชนิดใหม่

พื้นที่นั้นคือทะเลทราย

สรุป แขกปลูกพืชชนิดใหม่ แขกผลิตน้ำมันส่งออกขายเหมือนเดิม แขกรวยเหมือนเดิม(เชี่ย)

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 26 May 2008 - 13:04 #52851

เจอคำว่าวิศวพันธุกรรมแล้วรู้สึกแปลกๆ

ไม่ใช่ว่าเค้าต้องใช้ พันธุวิศวกรรม (genetic engineering) หรอครับ - -'

By: Mr.JoH
Writer
on 26 May 2008 - 13:12 #52852 Reply to:52851

+1 พันธุวิศวกรรมครับ

Lastest Science News @Jusci.net


Lastest Science News @Jusci.net

By: ekb on 26 May 2008 - 18:35 #52872 Reply to:52851

ทีแรกผมเข้าใจว่าน่าจะใช้ได้เหมือนกัน แต่ยังไงผมก็แก้ให้แล้วนะครับ ขอบคุณครับ

By: pt on 27 May 2008 - 02:21 #52928

ระวังมันจะกลายพันธุ์เป็นพืชกินคนเพื่อเก็บพลังงาน