ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Blognone ขอแสดงความยินดี ในโอกาสที่ครบรอบสามปีครับ ขออวยพรให้ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน จงประสบแด่ความสำเร็จในหน้าที่การงานทุกท่านครับ

คงเป็นเรื่องปกติสำหรับคนเขียนคอลัมน์ เขียนบทความสารคดี ในสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ไม่เว้นแม้คนเขียนบล็อกอย่างเราๆท่านๆ เมื่อเขียนไปแล้วสักระยะหนึ่งความจำในสมองจะหมดไป หรือเขียนไม่ออก นึกอะไรก็ไม่ค่อยแน่ใจ หรือมิเช่นนั้นก็คิดว่าข้อเขียนนี้มันควรจะมีภาพประกอบ เพื่อให้ข้อเขียนดูน่าอ่านและมีความจูงใจที่ดี

หลังจากที่ผมเขียนบทความไปในตอนที่แล้ว ก็มาคิดว่าผมน่าจะเขียนบทความเกี่ยวกับบล็อกอีกสักสองสามตอน เท่าที่จะมีความบันดาลใจให้เขียนได้

วันนี้ผมจะเขียนต่ออีกตอนหนึ่ง "ศาสตร์และศิลป์ในการเขียนบล็อก"

หลายท่านอาจจะมีข้อกังขาว่า จะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์อะไรกับการเขียนบล็อก นึกอะไรได้ก็เขียนๆไป นั่นละการเขียนบล็อกแบบไทยๆ เรามาดูกันว่า เราจะเขียนกันอย่างไร?

ผมสังเกตุการเขียนบล็อกของคนไทยมานานพอสมควร พอที่จะตั้งเป็นข้อสังเกตุได้ว่า คนไทยเขียนบล็อกด้วยอารมณ์ ไม่ค่อยสนใจหลักการหรือวิธีการสักเท่าไร ยกตัวอย่าง ไม่ค่อยเข้าใจว่า การเขียนบล็อก กับการเขียนไดอารี่ แตกต่างกันอย่างไร

ดังนั้นคนไทยจึงเขียนบล็อกเหมือนๆกันหมด ถึงแม้เว็บไซต์บางแห่งเขาจะพยายามแยกหัวข้อเป็นแต่ละประเภทให้ เช่น พันทิปดอทคอม แต่คนไทยก็เขียนตามอารมณ์ ตามความบันดาลใจที่จะเขียน จึงทำให้บล็อกของแต่ละคนเหมือนๆกันหมด ถ้าดูกันจริงๆแล้วมันเป็นการเขียนไดอารี่ทั้งนั้น